xs
xsm
sm
md
lg

พริตตี้ระริกระรี้ สีสัน ‘มหกรรมหนังสือฯ’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
     งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ นับเป็นงานที่มีสเกลใหญ่ที่สุดของวงการหนังสือในบ้านเรา ซึ่งดูเหมือนว่า งานนี้จะเป็นแหล่งรวมตัวของหนอนหนังสือผู้รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

     และแน่นอน ธรรมชาติของหนอนหนังสือ ก็น่าจะเป็นพวกรักสงบ เสพติดความเงียบ และจดจ่ออยู่กับหนังสือที่อยู่ตรงหน้า...

     แต่เมื่อแรกย่างเข้าไปในงานมหกรรมหนังสือฯ ความเงียบซึ่งคาดว่าเป็นอุดมคติของบรรดาหนอนหนังสือ กลับไม่มีหลงเหลืออยู่เลย ภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ไม่ได้แตกต่างจากงานรื่นเริง ทั้งงานเต็มไปด้วยเสียงตะโกนแข่งกันขายหนังสือ และบรรดาสาวน้อยน่ารักในชุดสวยแปลกตา ก็เดินถือป้ายโฆษณาหนังสือออกใหม่ให้ว่อน

     อืม... นึกว่าวัฒนธรรมพริตตี้ จะมีแต่ในงานมอเตอร์โชว์

     หรือนี่คือความจริงของโลกทุนนิยมสุดขั้ว ที่บรรดาหนอนหนังสือยุคโบราณต้องยอมรับ



พริตตี้...มีไว้เพื่อ?

     “บูทของเรามีพริตตี้ จุดประสงค์หลักก็คือ เพื่อสร้างสีสันให้กับงานมหกรรมหนังสือฯ”

     เป็นคำยืนยันจาก ศักดิ์ชัย วิจัยธรรมฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์แจ่มใส ต่อคำถามของเราที่ว่า การมีพริตตี้น่ารักๆ หน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพราอยู่หน้าบูทคอยเชิญชวนนักอ่านนั้น ถือเป็นกลยุทธ์กระตุ้นความสนใจ เชิญชวนให้คนมาซื้อหนังสือหรือเปล่า?

     ส่วนรายละเอียดของ ‘สีสัน’ จะเป็นอย่างไรนั้น ศักดิ์ชัย อธิบายถึงเหตุผลและรายละเอียดเกี่ยวกับพริตตี้ ณ บูท ‘แจ่มใส’ ว่า

     “ปีนี้พริตตี้ของบูทเรา จะแต่งตัวแบบสาวเกาหลี เพื่อเป็นการสอดรับและประชาสัมพันธ์หนังสือซีรีส์นิยายเกาหลีของสำนักพิมพ์

     “สำหรับผม ถือว่าเหตุผลหลักของการมีพริตตี้ ก็คือการสร้างสีสัน สร้างความสนุกให้กับประชาชนที่มาร่วมงานมหกรรมหนังสือฯ เช่น ปีนี้เรามีพริตตี้แต่งตัวเป็นสาวเกาหลี เพราะมีเด็กๆ ที่เขาเป็นแฟนหนังสือซีรีส์ชุดนี้ เรียกร้องอยากเห็นตัวละครในนิยายเรื่องโปรด

     “เราไม่ได้ใช้พริตตี้เพื่อหวังว่าจะมีส่วนต่อยอดขาย หรือทำให้ยอดขายหนังสือเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากการมีพริตตี้จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมาจริงๆ ผมถือว่านั่นเป็นผลพลอยได้ เพราะไม่ว่าอย่างไร การที่หนังสือจะมียอดขายดีหรือไม่ ผมถือว่าเนื้อหาของหนังสือมีส่วนสำคัญที่สุด ขณะที่พริตตี้เป็นเพียงส่วนสร้างสีสันให้กับแฟนๆ หนังสือของเรา”

     ด้วยเหตุนี้ จึงมีพริตตี้หน้าตาสวยใส แต่งกายสไตล์เกาหลีคอยยืนส่งยิ้มหวานอยู่ที่บูท แต่เราเชื่อว่า คงไม่ใช่แค่เรียกความสนใจจากแฟนซีรีส์นิยายเกาหลี แต่อาจพ่วงคุณลุงคุณพี่คุณน้าคุณอาผู้ชายทั้งหลายให้แวะเวียนไปเมียงมอง หรือไม่ก็แกล้งเดินหลงเฉียดไปเฉียดมาหลายๆ รอบก็เป็นได้

     และถ้าสังเกตดีๆ เราจะพบว่า พริตตี้หน้าตาน่ารักที่มาปรากฏตัวในงานหนังสือนั้น มีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือสาวๆ พนักงานขายที่แต่งตัวด้วยเครื่องแบบของสำนักพิมพ์ ซึ่งมีหน้าตาน่ารักสะดุดตา และเสียงตะโกนดังแปดหลอดเป็นอาวุธ ส่วนอีกพวก ก็คือพวกที่แต่งตัวเป็นสาวคอสเพลย์ ถือป้ายเดินไปเดินมา ซึ่งพวกหลังนี้มักจะไม่ตะโกนให้เสียกิริยา แต่จะส่งยิ้มหวานมาให้เพื่อดึงดูดนักสะสมหนังสือให้เดินเข้าไปที่บูท

 
     “ที่แน่ๆ เลยก็คือไม่ว่าใครได้เห็นพริตตี้ ก็คงต้องหยุดมองแทบทั้งนั้นแหละ พริตตี้จึงเป็นสีสันของงานมหกรรมหนังสือฯ แต่ถ้าถามว่า จำเป็นต้องมีหรือเปล่า? ก็ต้องถามกลับไปว่า มันก็แล้วแต่เราจะมองมุมไหน สำหรับผม ผมมองว่า การมีพริตตี้ อาจสะท้อนได้ว่างานมหกรรมหนังสือฯ ลดความเคร่งขรึมลง ลดความเคร่งเครียดทางวิชาการไปแล้ว กลายเป็นงานที่เปิดกว้างสำหรับเด็กๆ เยาวชน เป็นงานที่เด็กๆ มาเดินแล้วรู้สึกสนุก มีสีสัน”

     กมลรัตน์ เสราดี หรือ คามอส อดีตบรรณาธิการนิตยสาร animag ผู้คร่ำหวอดกับวงการการ์ตูนญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เคยไปออกบูทในงานหนังสือให้ทรรศนะกับเรา

     แล้วระหว่างความเคร่งขรึม กับความสนุกสนาน บรรยากาศแบบไหนล่ะ จึงจะเหมาะกับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ? เอาเป็นว่า ณ ตอนนี้ พริตตี้ยิ้มละไมรวมถึงการประกวดแต่งกายคอสเพลย์แบบต่างๆ ได้ก่อตัวเป็นปรากฏการณ์ในงานมหกรรมหนังสือฯ แล้ว ซึ่งคามอส มองว่า ความสนุกสนานเหล่านี้ ส่งผลให้...

     “งานมหกรรมหนังสือ กลายเป็นการจัดอีเวนท์งานบันเทิงประจำปี”

งานมหกรรมหนังสือฯ ก็คือ ‘ตลาด’

     ซึ่งความเห็นของคามอสที่กล่าวไปข้างต้นนั้น เป็นไปในทางเดียวกับความเห็นของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนปัญญาชนที่กำลังมาแรงที่สุดคนหนึ่ง

     “ถ้าตอบในฐานะนักเขียน วิธีไหนก็ตามที่ทำให้หนังสือไปถึงมือผู้อ่านได้ก็ดีทั้งนั้น แถมไปกับเหล้าเบียร์ ผงซักฟอกก็ยังโอเค ถ้ามีคนอ่าน แต่ปัญหาก็คือ เขาเป็นคนอ่านจริงๆ หรือไม่ ถ้าดูคร่าวๆ คนที่มางานหนังสือส่วนมากเป็นคอลเลคเตอร์ คือเป็นนักสะสมหนังสือ และเมื่อเขาเป็นนักซื้อ ก็ทำให้ระบบพริตตี้นี่มันเกิดขึ้น

     “ในวินาที่ที่คนซื้อเดินลากกระเป๋าผ่านบูธอย่างรวดเร็ว ก็ต้องมีการเรียกให้หยุด มันเหมือนกับเดินเข้าไปในตลาด อย่างในตลาด คุณก็จะได้ยินเสียงแม่ค้าตะโกนขายของอยู่เสมอ"

     อนุสรณ์ให้ความเห็นอีกว่า แท้แล้วงานเทศกาลหนังสือของเมืองไทย ไม่ว่า งานสัปดาห์หนังสือฯ หรือ มหกรรมหนังสือฯ ก็คือตลาดนี่เอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีพริตตี้เกิดขึ้น เพราะสังคมไทยเป็นสังคมค้าขาย และในตลาด แม่ค้าก็ขายของด้วยวิธีนี้มาตั้งนานแล้ว

     “จุดด้อยมากๆ ของมันก็คือพริตตี้เหล่านั้น อาจจะไม่ค่อยได้ศึกษาหนังสือที่เขาขาย ถ้าเราถามแม่ค้าขายเงาะ ว่าเงาะโรงเรียนมาจากไหน เขาก็ตอบได้ว่ามาจากนาสาร แต่คนที่ขายหนังสือนั้น เขาแต่งตัวแบบนางเอกในหนังสือเลยนะ แต่อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้างในมันเป็นยังไง

     “พริตตี้กับการขายหนังสือจึงยังเป็นเรื่องอิหลักอิเหลื่อ เพราะว่าผู้ขายนั้น ไม่ได้ลงไปยังแก่นของสินค้าจริงๆ”

     และเมื่อถามไปยังผู้ประกอบการที่ไม่นิยมการขายแบบโหวกเหวกโวยวาย หรือการใช้สาวๆ หน้าตาดีมาดึงดูดลูกค้า อย่าง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์สมมติ ก็ได้ความว่า

     “บ้านเราเป็นบุ๊คแฟร์ที่มีเสียงดังมาก เป็นบุ๊คแฟร์ที่มีคนเดินกันมากมายตลอดทั้งวัน และก็เป็นบุ๊คแฟร์ที่มีคนหอบหิ้วหนังสือกันพะรุงพะรัง จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมตัวเลขการอ่านของคนไทยมันถึงมีอยู่แค่ไม่กี่บรรทัดต่อปี ทั้งๆ ที่งานบุ๊คแฟร์ที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนไทยซื้อหนังสือและอ่านหนังสือกันมาก
     "ประเด็นที่น่าคิดคือว่า เรามีวิธีการส่งเสริมการอ่านหนังสือกันอย่างไร หรือเรามีการส่งเสริมการขายอย่างไรบ้าง เพราะสมมติฐานโดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าหากผู้คนได้อ่านหนังสือที่เหมาะควรแก่พวกเขา ตามวัยและหน้าที่ คุณภาพของคนและศักยภาพสังคมจะรุดหน้าและมีพลังในเชิงสร้างสรรค์”

     และเมื่อถามถึง ระบบการขายที่ใช้สาวๆ น่ารัก หรือการตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ของงานหนังสือในปัจจุบัน ปิยะวิทย์ ก็ไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ นอกจากมีข้อสังเกตสั้นๆ ว่า

     “ว่ากันอย่างตรงไปตรงมา คุณภาพในการส่งเสริมการขายเป็นเช่นไร คุณภาพของนักอ่านก็ไม่น่าหนีห่างจากกันเท่าไร หากคุณคิดว่าเรื่องเพศและการเรียกความสนใจด้วยเสียงเป็นวิธีการส่งเสริมการขายของคุณ คุณก็จะได้นักอ่านที่มีลักษณะนิสัย หรือบุคลิกบางอย่างอย่างที่คุณใช้”



เปิดใจแม่ค้าหน้าตาดี

     เพื่อพิสูจน์ให้เห็นกับตา จึงต้องไปสัมผัสที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อดูบรรยากาศและสีสัน งานมหกรรมหนังสือฯ

     แม้ไม่ใช่วันหยุด แต่ผู้คนที่มาเลือกซื้อหนังสือ ก็มีจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะตรงกับช่วงปิดเทอม

     กลยุทธ์กระตุ้นยอดขายของสำนักพิมพ์อย่างหนึ่งคือ การให้คนถือป้ายที่มีข้อความโฆษณาหนังสือ เดินตระเวนไปทั่วบริเวณงาน คนประชาสัมพันธ์หนังสือเหล่านี้ มีทั้ง เด็กมัธยมในชุดคอสเพลย์แปลกประหลาด และสาวหน้าใสในชุดเสื้อยืด (ที่สกรีนชื่อหนังสือตัวเท่าบ้าน!) และกางเกงยีนส์
     หนึ่งในนั้นคือ ธัญญภัสร์ ทิพยเมธาพันธ์ เฟรชชี่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของเมืองไทย

     แต่ละวัน เธอจะเริ่มงานประมาณ 11.00 น. ไปจนถึงประมาณ 1 ทุ่ม หนุ่มๆ ไม่ต้องกลัวว่าเธอจะเดินจนขาลาก เพราะเธอไม่ได้เดินตลอดเวลา มีช่วงพักเหนื่อย

     “ได้ค่าจ้างวันละ 500 บาท หนูไม่แคร์เรื่องรายได้อยู่แล้วค่ะ ปิดเทอมอยากหากิจกรรมสนุกๆ ทำ” ธัญญภัสร์เอ่ยก่อนตั้งหน้าตั้งตาเดินต่อไป

     ใกล้ๆ กัน เสียงตะโกนเชิญชวนให้ซื้อหนังสือ ของ พีรยา สุทธิอนันต์ เจ้าหน้าที่ขายหนังสือประจำบูทของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง มีพลังจนคนที่เดินผ่านไปมาต้องหยุดชะงัก หันไปมองหาต้นเสียง

     เธอเป็นนักศึกษาปี 3 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง ที่ใช้เวลาช่วงปิดเทอมทำงานพิเศษ ทำงานตั้งแต่ 10 โมงเช้า ยาวไปถึง 3 ทุ่ม เธอพูดทีเล่นทีจริงว่า ตะโกนตลอดเวลา แถมสำทับว่า ไม่รู้สึกเจ็บคอด้วย! โดยรายได้จากการทำงานคือ วันละ 350 บาท

     เธอคิดว่ากลวิธีการเรียกลูกค้าเช่นนี้ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าไหม?

     “มีแน่นอนค่ะ ที่ต้องพูดเสียงดัง เพราะกลัวคนไม่ได้ยิน เขาก็ไม่รู้สิค่ะว่า หนังสือเด่นๆ ของสำนักพิมพ์มีเล่มไหนบ้าง และจะไม่เดินเข้ามาในบูธด้วย”

     สาวท่าทางมั่นใจคนเดิมแจงว่า ความที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของหนังสือในบูทสำนักพิมพ์ที่เธอทำงานอยู่เป็นวัยรุ่น วิธีเช่นนี้น่าจะช่วยกระตุ้นให้สนใจหนังสือได้มาก

หัวอกคนอ่าน

     ลองไปหยั่งความเห็นของนักอ่านที่มาเลือกซื้อหนังสือ ต่อ ‘กลยุทธ์ตะโกนขายหนังสือ’ กันดูบ้าง ชนินาถ ตรีมานะพันธุ์ สาววัย 18 ปี บอกว่า เฉยๆ กับพฤติกรรมดังกล่าว

     “ดึงดูดความสนใจได้นะ ทำให้เราสนใจ หันไปมอง บางทีอาจเดินเข้าไปดูหนังสือในบูทนั้น แต่จะซื้อหนังสือที่เขาโฆษณาหรือไม่ ต้องดูเนื้อหาหนังสือก่อนค่ะ”

     ความเห็นของวัยรุ่นสาว ต่างกับ สิทธิพันธ์ รัตนเทวาตย์ พนักงานบริษัทวัย 35 ปี ที่มองว่า หากเป็นพนักงานขายหนังสือที่ตะโกนเสียงดังโหวกเหวกโวยวาย ก็สร้างความน่ารำคาญไม่น้อย ทั้งๆ ที่สิ่งที่นำเสนออาจไม่น่าสนใจเหมือนคำที่หลุดมาจากปาก

     เขาบอกเพิ่มเติมว่า วิธีดังกล่าวสามารถดึงความสนใจให้หันไปมองได้ แต่หากเข้าไปดูในบูทแล้ว หนังสือไม่เจ๋งจริง อาจพานสร้างความไม่ประทับใจต่อสำนักพิมพ์ได้เหมือนกัน

     “แค่มีป้ายแจ้งรายละเอียดหนังสือติดไว้หน้าบูธ หากเราสนใจ ก็จะเข้าไปดูอย่างเต็มอกเต็มใจ เพราะคนที่มาเลือกซื้อหนังสือก็มักจะเข้าไปดูทุกบูทอยู่แล้วครับ”

                แล้วคุณล่ะ รู้สึกอย่างไร? กับพริ๊ตตี้ในงานหนังสือ

                          .................

                    เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
                    ภาพ : ทีมภาพ CLICK

กำลังโหลดความคิดเห็น