xs
xsm
sm
md
lg

ตาดวงใหม่ ในวันที่หมอกควันจางหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มันเหมือนมีหมอกควันสีขาวๆ บังตา”

ประโยคข้างบนนั่นอาจมีสถานะโรแมนติกปนเศร้าถ้าอยู่ในนวนิยายรักสักเรื่อง แต่มันจะเศร้ามาก ไร้โรแมนติก เมื่อโลกทั้งโลกเต็มไปด้วยหมอกควันสีขาวที่ไม่มีวันถูกแสงแดดละลาย แม้แต่ลายมือของตัวเองก็มองแทบไม่เห็น

สำหรับผู้พิการทางสายตา ทั้งแบบที่มืดสนิทหรือยังเห็นรางๆ ย่อมไม่มีความปรารถนาใดมากไปกว่าการกลับมามองเห็นโลกได้อีกครั้ง หากดวงตาของผู้นั้นไม่บอบช้ำเกินเยียวยา การผ่าตัดเปลี่ยนตาก็เป็นความหวังที่ทุกคนรอคอย

ดังกรณีการหวนคืนสู่สายตามหาชนของ เพชรา เชาวราษฎร์ ‘นางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง’ ในโฆษณาเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง ที่มีข่าวว่ามีผู้ยินยอมบริจาคดวงตาให้เธอกลับมามองเห็นอีกครั้ง

แต่อีกมากกว่ามากไม่ได้โชคดีแบบเธอ ข้อมูลจาก ผศ.พญ.ลลิดา ปริยกนก ผู้อำนวยการศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย ระบุว่าในปีหนึ่งมีผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาประมาณ 800-900 ราย แต่มีดวงตาที่ได้รับจากการบริจาคที่สามารถนำมาเปลี่ยนให้ผู้ป่วยได้เพียง 400 กว่าดวงเท่านั้น

‘เปลี่ยนตา’ อะไรกันแน่?

ที่เราเรียกกันทั่วๆ ไปว่า ‘ผ่าตัดเปลี่ยนตา’ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าไม่ได้หมายถึงการเอาดวงตาของผู้บริจาคทั้งลูกใส่ลงไปแทนดวงตาของผู้ป่วย แต่จะเอาเฉพาะกระจกตาใสๆ ที่อยู่บริเวณด้านหน้าสุดของตาดำเท่านั้นไปเปลี่ยนแทนให้แก่ผู้ป่วย ถ้าเปรียบกับนาฬิกาก็เหมือนการเปลี่ยนเฉพาะหน้าปัดใสๆ เพราะฉะนั้น...

“ลูกตาข้างหลังของคนไข้จะยังต้องดีอยู่ เลนส์ตา น้ำในลูกตา ประสาทตา ต้องดี เปลี่ยนแล้วจึงจะมองเห็นได้ ไม่ใช่ว่าตาบอดทุกประเภทแล้วจะเปลี่ยนมามองเห็นได้” ผศ.พญ.ลลิดา อธิบาย

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระจกตาจึงจะทำการผ่าตัดได้ผล เช่น กระจกตาขุ่น บวม เบี้ยว โก่ง หรือเป็นหนอง

“กรณีที่ตาพิการแต่กำเนิด ถ้ายังพอเห็นแสงหรือจับทิศทางแสงได้ หรือเส้นประสาทยังดี เราก็สามารถผ่าตัดเปลี่ยนตาให้คนกลุ่มนี้ได้ แต่ผลจะดีสู้ที่เป็นในผู้ใหญ่ไม่ได้ เพราะการที่คนเราจะเห็นได้ นอกจากต้องมีตาที่ดีแล้ว ยังต้องมีการแปรภาพในสมอง ถ้าเด็กกลุ่มนี้เกิดมาแล้วกระจกตาขุ่นตั้งแต่กำเนิด สัญญาณภาพที่เข้าไปจะไม่ดี สมองไม่ได้รับภาพที่ดี ก็จะทำงานไม่เป็น ยิ่งถ้ามาเปลี่ยนตอนโตก็ยิ่งไม่เห็นใหญ่เลย ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมีความพิการอย่างอื่นร่วมด้วยนอกจากกระจกตา เช่น ตาเล็กผิดปกติ ต้อกระจก หรือมีความพิการของจอตา เมื่อมีความพิการหลายอย่างผสมกัน ผลการผ่าตัดก็จะสู้คนที่เกิดมาตาปกติก่อนไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าอยู่ในกลุ่มที่พอจะเปลี่ยนได้ เราก็ต้องเปลี่ยน”

รอคอยแสงสว่าง

ในแต่ละปีมีผู้บริจาคดวงตาประมาณ 30,000-40,000 คน ดูเหมือนเยอะ แต่จริงๆ ไม่ใช่ว่าบริจาคปุ๊บ แล้วจะเอาดวงตาของผู้บริจาคไปได้เลย ไม่มีใครบอกได้ด้วยว่าผู้บริจาคจะเสียชีวิตลงเมื่อใด และใช่ว่าดวงตาของผู้บริจาคทุกคนจะสามารถใช้งานได้ เพราะหากผู้บริจาคดวงตามีโรคติดต่อ เช่น ซิฟิลิส เอดส์ หรือไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี เป็นต้น ดวงตาคู่นั้นก็ไม่สามารถนำมาเปลี่ยนให้ผู้ป่วยได้ เพราะจะพลอยติดเชื้อไปด้วย

“เรามีประชากร 60 กว่าล้านคน แต่ศูนย์ดวงตาตั้งมา 44 ปีเพิ่งมีคนบริจาคแสดงความจำนงประมาณ 690,000 คน เมื่อเทียบกับประชากรก็จะเท่ากับ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ถือว่าน้อย ถ้าเรารอให้คนมาบริจาคแล้วเสียชีวิตจะเสียเวลาเยอะมาก ปัจจุบัน เราก็มีโครงการที่เราทำอยู่และได้ผลดีมากๆ ถ้าโรงพยาบาลต่างๆ ร่วมมือนะ ทิ้งคำว่า ‘ถ้า’ ไว้ ถ้ากระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลต่างๆ ร่วมมือ มีกฎบังคับให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลทำการขอจากญาติผู้เสียชีวิต เราจะมีตาเพียงพอ เพราะว่าแต่ละวันมีคนเสียชีวิตทุกวัน ถ้ารวมกันทั้งประเทศ”

เป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องจองและรอดวงตานานถึง 4-5 ปี อย่างกรณีของ อนันต์ กลิ่นค้างพลู เขาเป็นโรคกระจกตาเสื่อมทั้งสองข้าง

“ผมเป็นโรคกระจกตาเสื่อมตั้งแต่อายุ 25-26 ตอนแรกตามันจะแดง จะเคือง คัน ตื่นนอนมาเจอแสงไฟ มันจะแสบ เราก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะกรรมพันธุ์จนมาให้หมอตรวจ”

เมื่อปี 2544 เขาได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาข้างซ้าย เนิ่นนานถึงปีนี้ เขากำลังจะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตาอีกข้าง เพราะความขาดแคลน ทางศูนย์ดวงตาจึงทำงานเชิงรุก

“เมื่อปี 2544 ทางศูนย์ดวงตาจึงได้เริ่มโครงการเชิงรุก” คุณหมอลลิดาบอกว่า “ครั้งแรกเราทำที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นโรงพยาบาลนำร่อง ส่งผู้ประสานงานไปเจรจากับญาติผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลเลย ปรากฏว่าทำแค่ครึ่งปี เราได้ดวงตาบริจาคมาประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่เราได้จากทั้งประเทศ หลังจากนั้นเป็นต้นมา เราก็ขยายโครงการไปในโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ บางโรงที่ร่วมมือและมีศักยภาพที่จะทำได้ ก่อนหน้าเราเก็บได้แค่ปีละ 200 กว่าดวงเท่านั้นเอง”

นอกจากต้องรอนานข้ามปีแล้ว การผ่าตัดเปลี่ยนตาก็ยังมีเรื่องยุ่งยากอีกนิดหน่อย ทั้งในขั้นตอนก่อนและหลังการผ่าตัด คุณหมอลลิดาอธิบายว่า

“ก่อนผ่าตัด เราต้องดูว่าคนไข้เป็นโรคอะไร ถ้าเป็นโรคสามัญธรรมดา อย่างนี้ง่าย ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่เตรียมตัวเดินทางมา แต่ถ้าคนไข้มีโรคอื่นด้วย เช่น มีต้อหินร่วมด้วยก็ต้องคุมความดันตาให้เรียบร้อยก่อน ไม่อย่างนั้นเปลี่ยนไปก็จะเสีย หรือพวกที่มีเส้นเลือดงอกเข้าไปในตาดำเยอะ เราก็ต้องทำให้การอักเสบมันลดลงก่อน ถ้าอักเสบมากเปลี่ยนไปก็จะไม่ได้ผล

“เนื่องจากระหว่างที่รอดวงตาของผู้ป่วยอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพ ทำให้เมื่อใกล้ถึงคิว ทางแพทย์จะต้องทำการตรวจสอบก่อน ถ้าดวงตาของผู้ป่วยยังอยู่ในสภาพดี ทางศูนย์ฯ ก็จะติดต่อทั้งคนไข้และแพทย์เพื่อทำการผ่าตัด แต่ถ้าคนไข้เสียชีวิตหรือสภาพดวงตาไม่อยู่ในสภาพที่จะเปลี่ยนได้ ทางศูนย์ฯ ก็จะแทงบัญชีออกไป และเลื่อนผู้ป่วยรายต่อไปขึ้น

“ส่วนหลังผ่าตัด เราจะต้องบอกผู้ป่วยว่าต้องกลับมาหาแพทย์ตามที่นัด เพราะเวลาที่มีการเปลี่ยนเนื้อเยื่อซึ่งเป็นของคนอื่น บางครั้งอาจจะมีปฏิกิริยาต่อต้านเกิดขึ้น ถ้าเปลี่ยนแล้วไม่กลับมาดูเลย พวกนี้จะไม่ได้ผล เพราะจะต้องใช้ยากดภูมิระยะยาว ไม่ให้เกิดการต่อต้าน อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป”


วันที่หมอกควันจางหาย

เราได้พูดคุยกับ นิตยา ไชยคำ วัย 20 ปี เธอก็เหมือนกับอนันต์ คือเป็นโรคกระจกตาเสื่อมทั้งสองข้าง ตั้งแต่อายุ 11 ปี

“อาการมันหนักขึ้น มองไม่เห็นเลย แต่ไม่ใช่มืดนะ มันเหมือนมีหมอกควันขาวๆ บังตา แบบถ้าจะดูนาฬิกาบนผนัง หนูต้องปีนเก้าอี้ขึ้นไปดูใกล้ๆ ถึงจะเห็น”

บังเอิญมีคนใจดีรับเธอมาเลี้ยงดูและรักษาดวงตา เธออาจเป็นคนไข้ไม่กี่คนที่โชคดีที่มารักษาตอนต้นปี 2547 พอถึงปลายปีก็ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตาข้างซ้าย แล้วก็รอมาจนถึงปี 2551 เธอจึงได้รับการผ่าตัดอีกข้างที่เหลือ

“ตอนผ่าครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งที่แล้ว ครั้งก่อนดมยาสลบ แต่ครั้งนี้ใช้ฉีดยา หนูยังรู้สึกตัวอยู่เลยตอนที่หนูผ่า กลัวมาก บอกคุณหมอว่าหนูไม่ไหวแล้วนะคะ หนูใจเต้น ตอนแรกที่เรียกหนูเข้าไปจะผ่า เขาฉีดยาเข้าตาหนู จิ้มเข้าไปเลย 3 เข็ม แค่ฉีดที่แขนเรายังเจ็บ นี่เข้าไปในลูกตา เข็มแรก หนูร้อง หมอก็บอกว่าใจเย็น พอเข็มที่ 3 ก็ไม่รู้สึกแล้วค่ะ มันชาหมดแล้ว คุณหมอก็เอาผ้าปิด ผ่าตัดไปก็สอนนักเรียนแพทย์ไปด้วย หนูได้ยินก็กลัว คุณหมอพูดว่ากำลังเลาะลูกตานะ ได้ยินเสียงกรรไกรกำลังตัด หนูกลัว แต่ไม่ได้ร้องค่ะ อยากหายค่ะ คุณหมอจะทำอะไรก็ทำขอให้หนูหายเป็นปกติ”

เธอเล่าอย่างมีความสุขด้วยดวงตาเป็นประกายว่า

“ก่อนที่หนูยังไม่ผ่าตัด หนูจะไม่สู้หน้าคนนะ มองจ้องหน้ากับใครไม่ได้ ก้มหน้าตลอด ไม่กล้าสบตา เพราะจ้องนานๆ แล้วน้ำตามันจะไหล โดนแสงจ้าๆ หรืออ่านหนังสือนานๆ ก็ไม่ได้ น้ำตาจะไหล หลังจากผ่าแค่ข้างหนึ่ง หนูก็เปลี่ยนไปเลย หนูดีใจมากเลย แต่ก่อนหนูอ่านหนังสือไม่ค่อยเห็น พอทำข้างซ้ายเสร็จ หนูอ่านหนังสือเล่มเบ้อเร่อจนหมดเลย”

ทุกครั้งที่เธอทำบุญ เธอจึงมักจะอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้าของดวงตาทั้งสองข้างที่ตัวเธอเองก็ไม่รู้จักชื่อ

ถามเล่นๆ ว่าเคยดูหนังเรื่อง ‘คนเห็นผี’ มั้ย ที่นางเอกผ่าตัดเปลี่ยนตาแล้วมองเห็นผี

“ได้ดู ก็กลัว มีคนเขาล้อหนูว่าเปลี่ยนตามาแล้วมองเห็นผีมั้ย (หัวเราะ) แต่ไม่เห็นค่ะ”

……

เรารับรู้ได้ถึงความสุขที่ส่งผ่านทางรอยยิ้ม น้ำเสียง และดวงตาใสๆ ของนิตยา แต่เราบอกไม่ได้ว่ามันมากแค่ไหน

อาจเป็นการสรุปที่เฉิ่มเชย... แต่เราทุกคนตระหนักดีว่าเมื่อลมหายใจสุดท้ายหมดหน้าที่ เราต่างต้องจากไปตามลำพัง ไม่มีสัมภาระใดๆ ติดตัว อย่างน้อยที่สุด บางสิ่งจากร่างกายแน่นิ่งนั้นอาจเปลี่ยนคนคนหนึ่งไปทั้งชีวิต

เหมือนแสงแดดที่ละลายหมอกควันสีขาวให้จางหายไป

***********

ตาขาวไปไหน?

เอาลูกตาทั้งลูกมาจากผู้บริจาค แต่ว่าใช้เฉพาะกระจกตาใสๆ ด้านหน้าสุด แล้วลูกตาที่เหลือล่ะ ไปไหน?

คุณหมอลลิดาบอกว่าเอาไปทำสิ่งที่เรียกว่า ‘ตาปลอมกลอกได้’

“ส่วนตาขาว ส่วนนี้เราเอามาใช้ในการตกแต่งลูกตา เช่น คนที่ประสบอุบัติเหตุ ดวงตาเสียหายมาก ต้องเอาออก มันก็จะโบ๋ จะต้องมีวัสดุที่ใส่เข้าไปแทนที่ตาเดิม เราก็จะเอาลูกตาขาวของผู้บริจาคมาหุ้มลูกแก้วเย็บเข้าไป เรียกว่าตาปลอมกลอกได้

“เพราะถ้าเราเอาลูกแก้วฝังไปเฉยๆ เวลาเราใส่ตาปลอมเข้าไป มันจะดูแข็งๆ ไม่เป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเราเอาลูกแก้วใส่เข้าไปในตาขาว ซึ่งบางคนก็อาจจะใช้ปะการังหรือกระดูก แล้วแต่ว่าใครจะซื้อวัสดุแพงหรือถูก พอใส่เสร็จแล้ว เราก็จะเอาใส่เข้าไปในเบ้าตาของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุให้เหมือนตาจริง เย็บกล้ามเนื้อให้ติดกับตาขาว ตาก็จะกลอกได้เหมือนตาจริง แต่ว่ามองไม่เห็น”

*************

เรื่อง : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ


หมายเหตุ ผู้ที่ต้องการบริจาคดวงตาสามารถแสดงความจำนงได้ที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลจังหวัดในแต่ละพื้นที่ หรือที่เว็บไซต์ www.eyebankthai.com หรือ โทร. ไปที่ 0-2256-4039 ถึง 40 เฉพาะเวลาราชการ
อนันต์ กลิ่นค้างพลู กำลังจะได้เปลี่ยนดวงตาอีกข้าง
นิตยา ไชยคำ ชีวิตใหม่ในวันที่หมอกควันจางหายไปแล้ว
หนุ่มน้อยคนนี้ประสบอุบัติเหตุจากพลุที่พุ่งเข้าใส่ใบหน้า
ผศ.พญ.ลลิดา ปริยกนก
โมเดลจำลองแสดงลักษณะภายในลูกตา
กำลังโหลดความคิดเห็น