xs
xsm
sm
md
lg

ผสมผสานศาสตร์นวด สไตล์ตะวันออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“การพัฒนาทางด้านวัตถุนิยม ต่างๆ และในเรื่องของวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงจุดล้มเหลวที่ไม่สามารถไปต่อได้ ผู้คนก็เริ่มย้อนกลับมาใช้ศาสตร์ด้านแพทย์ทางเลือกกันมากขึ้น ” เอื้อมพร แสงสุวรรณ บรรณาธิการบริหารนิตยสารชีวจิตกล่าวสั้นๆ

ในการรักษาปัจจุบัน แพทย์ทางเลือกเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่กำลังเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะศาสตร์การนวดทางตะวันออก ซึ่งสามารถรักษาเยียวยาได้ทั้งในเรื่องของกายและจิตใจได้

“นอกจากจะช่วยเยียวยาทั้งกายและใจได้แล้ว ยังช่วยให้กล้ามเนื้อและโรคบางโรคที่เกิดจากการเดินทางของเส้นประสาทอาจจะมีปัญหานิดหน่อย ช่วยคลายเครียด การสัมผัส พูดคุยระหว่างคนนวดกับลูกค้า ก็สามารถบรรเทาเรื่องจิตใจได้อีกด้วย ”

การนำเข้ามาของศาสตร์การนวดแบบตะวันออก ไทยเองได้นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านที่หลากหลาย ผสมผสานกับการนวดแบบไทย ไม่ว่าจะเป็นการนำศาสตร์การนวดสไตล์เขมร การนวดแบบทุยนา ซึ่งเป็นศาสตร์ของจีน เป็นต้น

ศาสตร์การนวดลังกาสุกะ

ศาสตร์การนวดน้ำมันลังกาสุกะเกิดขึ้นจากการนำเอาอิทธิพลของการนวดแผนไทยแบบต้นตำรับราชสำนัก การประยุกต์กับการนวดจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการบอกเล่าในอดีตนั้นการนวดประเภทนี้เหมาะแก่ผู้หญิงหลังคลอดและเพื่อ
การปวดเมื่อยของผู้ชายเท่านั้น แต่เมื่อมีการนำมาประยุกต์เข้ากับการนวดแบบไทยแล้วจึงทำให้มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร

โดยน้ำมันลังกาสุกะนั้นมีคุณประโยชน์ที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและผิวหนังชุ่มชื้น เพื่อให้ได้ผลในทางที่ดีจึงต้องทำควบคู่ไปกับการประคบร้อนด้วยก้อนหินเพื่อช่วยกระตุ้นให้ระบบการไหลเวียนโลหิตของหญิงวัยหมดประจำเดือนหรือวัยสูงอายุได้ดี และผ่อนคลายเส้นเอ็นให้เนื้อเยื่อพังผืดได้ดี

“ทุยนา” ศาสตร์นวดแบบจีน

“ทุยนา ” ศาสตร์การนวดเช่นนี้มีอายุมานานนับพันปี เป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยลมปราณพลังความร้อนออกจากฝ่ามือ และทุกส่วนของร่างกายที่สามารถใช้นวดได้ แพทย์ทางด้านศาสตร์นี้จึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ในเรื่องของจุดต่างๆ ในร่างกายอย่างแม่นยำ ปัจจุบันการนวดแบบนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มของผู้ที่มารักษาเพื่อบำบัดรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และผู้ที่มีความผิดปกติของหลอดเลือด

นวดศีรษะแบบอินเดีย

วัฒนธรรมอันเก่าแก่ของหญิงสาวชาวภารตะ ที่จะช่วยให้ผมนุ่มสลวย เพื่อบำรุงรักษาเส้นผม ให้แลดูมีสุขภาพที่ดีเงางาม ในแบบต้นตำรับสาวอินเดีย โดยศาสตร์การนวดแบบนี้มักจะมีน้ำมันที่ใช้ในการนวด ที่คนอินเดียเองถือได้ว่าเป็นน้ำมันที่มีพลังอันบริสุทธิ์ เป็นตัวช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียด สามารถช่วยในการบรรเทาอาการปวดศีรษะ ไมเกรน นอนไม่หลับและอาการคัดจมูกที่เกิดจากการคั่งของของเหลวในโพรงไซนัส

จับตะไช ศาสตร์จับเส้น สไตล์ไทย-เขมร

“การนวดสไตล์นี้มีการนำเข้ามาจากทางจังหวัดสุรินทร์ เป็นการผสมผลานการนวดในแบบที่เป็นแบบตำรับชาวสุรินทร์และเขมร ด้วยวิธีการจับเส้น เป็นศาสตร์ที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้านของชาวสุรินทร์ก็ว่าได้”

ด้วยวิธีการลงน้ำหนักมือบนเส้นหรือบนอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย เพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง ต้นคอ อีกทั้งยังช่วยลดอาการปวดท้องน้อยในผู้ป่วยได้อีกด้วย รักษาอาการตกขาวและประจำเดือนมาไม่ปกติของผู้หญิง

“ตอกเส้น” การนวดแบบล้านนา

ศิลปะการสืบทอดกันมาช้านานในแผ่นดินล้านนา สามารถรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ โดยมีอุปกรณ์ในการตอกนั่นคือ ไม้ ที่นำไปตอกลงตามเส้นต่างๆ เพื่อคลายการติดยึดของเส้นเอ็นตามส่วนต่างๆ เช่น ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดเส้นเอ็น โรคกระดูกทับเส้น เป็นต้น

ศาสตร์การนวด “หมอเมืองคอน”

การนวดจับเส้น หรือที่เรียกกันว่า “การนวดแบบเชลยศักดิ์” เป็นการนวดที่ช่วยรักษาโรคมากกว่าการผ่อนคลาย ด้วยวิธีการสังเกตว่ากล้ามเนื้อมัดไหนตึงหรือหย่อนเกินไป ก็จะทำการรักษาตามอาการนั้นๆ ไป ด้วยการไล่ไปตามเส้นเลือด ใช้แรงกดตามกำลังหนักเบา เพื่อเป็นการไล่ลม ให้เลือดได้หมุนเวียนไปตามร่างกายได้อย่างทั่วถึง และให้เลือดได้เข้าไปซ่อมแซมอวัยวะที่ผิดปกติตามจุดต่างๆ

การนวดแบบนี้มักจะได้ผลในการรักษาโรคกล้ามเนื้ออักเสบ เคล็ดขัดยอก ท้องอืด นอนไม่หลับ และยังช่วยไล่ลมบนใบหน้าเพื่อให้ผิวหน้าเปล่งปลั่ง

ศาสตร์การนวดแบบชีวจิต

การนวดแบบชีวจิต เป็นการนวดที่มีการนำมาประยุกต์กันระหว่างการนวดแผนไทยและการนวดกดจุดฝังเข็มตามองค์ความรู้ทางด้านฝังเข็มแบบจีน ด้วยการใช้หลัก ดัน-ต้านแบบไอโซเมตริก สามารถนำมานวดด้วยตัวเอง หรือนวดให้คนรักเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายได้ด้วย

วิธีนวดเช่นนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นการนวดกดจุดและกระตุ้นต่อม เพื่อให้ท็อกซินได้กระจายตัวออกไปให้ทั่วร่างกายกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนของต่อมต่างๆให้ทำงานได้ดีขึ้น

ประเภทสอง เป็นการนวดเพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายอาการปวดเมื่อยหลังจากออกกำลังกายอย่างเต็มที่ การนวดแบบนี้จะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายให้ร่างกายสบายหายปวดเมื่อยและสามารถมีแรงไปออกกำลังกายในวันพรุ่งนี้ได้


เอื้อมพร  แสงสุวรรณ  บรรณาธิการบริหารนิตยาสารชีวจิต

กำลังโหลดความคิดเห็น