xs
xsm
sm
md
lg

19 ปี ‘สืบ นาคะเสถียร’ ไม่มีวันตาย แต่ถูกหลงลืมไปอย่างช้าๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สาวหนุ่มวัย 20 ปลายๆ ลงไป อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สืบ นาคะเสถียร เป็นใคร จึงยิ่งไม่ต้องต่อความยาวสาวความยืดว่า วันนี้คือวันครบรอบการตาย 19 ปีของสืบ นาคะเสถียร

สังคมไทยสูญเสียข้าราชการกรมป่าไม้คนนี้ไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533 ในยุคนั้นที่กระแสการตัดไม้ทำลายป่ารุกรานรุนแรง พื้นที่ป่าลดวูบเหลือเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ พายุเกย์พัดพาไม้เถื่อนลงมาถล่มบ้านชาวบ้าน หนังสือแบบเรียนยังพร่ำสอนแบบเดิมๆ ว่าป่าถูกกทำลายเพราะการทำไร่เลื่อนลอย ฯลฯ
แล้วสืบ นาคะเสถียร ก็ยิงตัวตายกลางป่าห้วยขาแข้ง


มีคนบอกว่าคือการตายที่ก่อเกิดหลายสิ่งหลายอย่างตามมา กระแสการอนุรักษ์ป่าขยายตัวประหนึ่งแรงส่งจากลูกระเบิด มูลนิธิสืบนาคะเสถียรก่อเกิดขึ้นและดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้โดยขนาดองค์กรจะไม่ใช่องค์กรขนาดใหญ่ แต่ด้วยการทำงาน มูลนิธิฯ แห่งนี้กลับมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์และเป็นฐานที่แข็งแรงให้แก่ชาวบ้านในภูมิภาคต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรของตน

ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิฯ คนปัจจุบัน เคยพูดว่าสังคมไทยใช้สืบ นาคะเสถียร เปลืองเกินไปแล้ว

ใช่ที่ว่าความตายมีหน้าที่ในตัวมัน แต่ความตายที่ถูกฉวยใช้มานานเกือบ 20 ปี ความตายนั้นคงเหนื่อยล้าเต็มที เหนืออื่นใด ความตายนั้นจะยังคงเป็นที่จดจำอยู่อีกหรือไม่ เมื่อสังคมรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากเมื่อ 19 ปีก่อน

สืบในความทรงจำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร ‘สารคดี’ พาเราย้อนส่วนหนึ่งของความทรงจำกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ณ ที่ซึ่งตัวเขาได้ร่วมรับรู้ถึง ‘ภารกิจ’ โครงการอพยพสัตว์ป่าเขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งเป็นโครงการอพยพสัตว์ป่าครั้งแรกของไทย และได้รู้จักชายผู้นี้

“เมื่อปี พ.ศ. 2529 มีโครงการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน เนื่องจากตอนนั้นรัฐบาลมีโครงการจะสร้างเขื่อนที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตอนนั้น เรากำลังจะพักกินข้าวกันกลางอ่างเก็บน้ำ เลยพายเรือไปที่ต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นตาย เพื่อจะผูกเชือกยึดเรือเอาไว้ ซึ่งต้นไม้นั้นก็มีโพรงอยู่ แล้วเราก็สังเกตเห็นเงาอะไรดำๆ ปรากฏว่า มันคืองูจงอาง ตัวใหญ่ขนาด 2 เมตรกว่า พวกเราก็ตกใจกันมาก อันตรายมาก แต่เราก็โล่งใจเพราะงูมันกระโดดลงน้ำ ไม่ได้กระโดดลงเรือ”

ท่ามกลางความโล่งใจที่ สัตว์ร้ายผู้น่าเกรงกลัวในสายตาใครๆ ว่ายน้ำหนีไป แต่ชายคนหนึ่งกลับไม่ยอมให้มันขาดใจตายกลางอ่างเก็บน้ำที่กว้างใหญ่เกินกว่าแรงของมันจะพาตัวเองไปถึงฝั่ง

“คุณสืบบอกว่า ไม่ได้นะ ปล่อยมันไปไม่ได้ เราต้องไปช่วยชีวิตมัน เพราะงูมันอาจจะหมดแรงตายก่อน ว่ายน้ำไปไม่ถึงฝั่ง พวกเราก็เลยติดเครื่องเรือ แล่นไปใกล้ๆ แล้วก็เอาสวิงอันใหญ่ๆ ช้อนงูขึ้นมา ต้องช้อนกัน 2 ครั้งกว่าจะได้ตัว พอไว้ในเรือได้ แต่มันก็ยังอยู่ในตาข่ายสวิงนะ ทุกคนก็มองหน้ากันเลิ่กลั่ก ว่า ‘เฮ้ย! แล้วใครจะไปจับงูใส่กระสอบวะ’ ยังไม่ทันที่ใครจะคิดอะไร คุณสืบก็เดินไปที่ตาข่าย แล้วก็เอื้อมมือไปจับคองูขึ้นมา แล้วคุณสืบก็กดให้ปากงูกัดไว้กับกราบเรือ แล้วมันก็พ่นพิษออกมา นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้เห็นพิษงูจงอาง สีเหมือนน้ำปัสสาวะ นองทั่วเรือเลย ตอนนั้นเรายังคิดกันว่า ถ้าโดนพิษมันเข้าไปคงตายกันแน่ๆ

“เมื่อคุณสืบจับงูใส่กระสอบเสร็จเรียบร้อย ผมก็เดินไปตบไหล่ ชื่นชม ‘โห พี่สืบ โคตรมืออาชีพเลยพี่’ แล้วคุณสืบก็เดินมาแตะไหล่ผม บอกว่า ‘จอบ (วันชัย) นี่ก็เป็นครั้งแรกในชีวิตพี่ที่จับงูจงอาง’ นั่นคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า อะไรที่จะเป็นอันตรายกับลูกน้อง คุณสืบก็จะทำเอง เขาเป็นคนที่มีภาวะความเป็นผู้นำสูง แล้วก็มีความรับผิดชอบมาก”

สืบไม่มีวันตาย

ในความคิดคำนึงของวันชัย เขาเชื่อว่าสืบไม่มีวันตาย

“ผมตั้งข้อสังเกตในฐานะนักข่าวนะ ผมว่า 19 ปีที่คุณสืบตาย ถือว่าเป็นระยะเวลาที่นาน แต่ทำไม วันที่ 1 กันยายนของทุกปีก็ยังมีคนพูดถึงสืบอยู่ ถ้าเทียบกับคนดังคนอื่นๆ ในประเทศไทย ที่ตายไปแล้ว เป็น 20 ปี ผมก็มองว่า ไม่มีใครที่ถูกพูดถึงได้นานขนาดนี้ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าคุณสืบศักดิ์สิทธิ์จริง รวมถึงประเพณี กิจกรรมต่างๆ เช่น ทุกๆ ปี มูลนิธิ สืบนาคะเสถียร ก็จะไปจัดงานรำลึกที่ห้วยขาแข้ง วางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ของท่าน หรือบางปีก็จัดงานคอนเสิร์ตรำลึก แต่นอกเหนือจากกิจกรรมเหล่านี้แล้ว ผมก็ยังมองว่า คนทั่วไป หรือแม้แต่สื่อมวลชนก็ยังคงสนใจประเด็นเหล่านี้อยู่เสมอๆ ทำไม เรื่องราวของคนคนหนึ่งจึงยังได้รับความสนใจอยู่ตลอด”

วันชัย โยนคำถามและตอบกลับด้วยตนเองว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องมาจากการตายของสืบ เป็นการตายที่ไม่ค่อยธรรมดา คือการยิงตัวตายเพื่อรักษาผืนป่า

“ผมว่านี่เป็นสาเหตุที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้คนที่ได้รับรู้ว่า มีคนคนหนึ่งยิงตัวเองตายเพื่อปกป้องผืนป่าที่เขาหวงแหน ซึ่งมันเป็นอะไรที่ไม่ธรรมดา ใช่ไหม ผมว่านี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง ยิ่งใครได้ศึกษาชีวิตของเขา ก็จะยิ่งเห็นว่าคุณสืบเป็นคนเด็ดเดี่ยวและจริงจังเสมอกับการต่อสู้เพื่อผืนป่า”

ในความเห็นของวันชัย เหล่านี้ไม่เพียงทำให้คนสะเทือนใจ แต่ยังส่งให้หลายๆ คน อยากจะรำลึกถึงสืบเสมอ และส่งผลให้ป่าห้วยขาแข้งกลายเป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับพวกตัดไม้ที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง เพราะมีสายตายของสังคมจับจ้องอยู่

สืบไม่มีวันตาย แต่อาจมีวันลืม?

สืบไม่มีวันตาย แต่ความทรงจำเกี่ยวกับสืบจะมีสภาพและรูปทรงแบบไหนในสมองของคนรุ่นใหม่ ศศินเล่าว่าคนในยุคที่สืบเสียชีวิตก็คือผู้ที่ยังคงบริจาคให้แก่มูลนิธิฯ มาจนทุกวันนี้ และคงเป็นไปไม่ได้ที่จะพึ่งพิงคนรุ่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ

น่าสนใจว่าสืบอาจเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้คนหนึ่ง แต่เขากลับไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ของภาคประชาชนในปัจจุบันสักเท่าไหร่

ศศินวิเคราะห์อย่างน่ารับฟังว่า การต่อสู้ในยุคของสืบเป็นการต่อสู้เพื่อป่า เพื่อสัตว์ป่า โดยที่ยังไม่มีเรื่องคนและสิทธิในการจัดการทรัพยากรเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อสังคมไทยเริ่มเข้าสู่ยุคเร่งเครื่องทางเศรษฐกิจในช่วงพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ทุนนิยมฟองสบู่จึงเฟื่องฟูขึ้น การรุกรานของทุนเคลื่อนจากป่าสู่ภาคชนบท ซึ่งมันไปกระทบกับผู้คนและสิทธิของชุมชนโดยตรง

“มันจึงเกิดกระบวนการต่อสู้พวกนี้ขึ้นมาตามลำดับ มันเป็นเรื่องที่กระทบกับคนเยอะมาก 19 ปีที่ผ่านมาหลังการเสียชีวิตของคุณสืบ พื้นที่ป่ามันไม่ลด แต่ว่าการรุกรานสิ่งแวดล้อมมันไปเล่นอยู่บนฐานของคน ของทรัพยากรชุมชน คุณสืบจึงไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ตรงนี้แล้ว”

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้สืบยังคงถูกจดจำ...จดจำอย่างมีนัยสำคัญต่อการต่อสู้ของภาคประชาชนที่เข้มข้นขึ้นทุกวี่วัน

ศศินมองไปถึงการรีแบรนด์สืบให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงและสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ และเพื่อให้มูลนิธิสืบฯ สามารถทำงานต่อไปได้ แต่เขาก็บอกไว้อย่างเด็ดเดี่ยวด้วยว่า

“ถ้ารากของการอนุรักษ์มันฝังอยู่ในสังคมไทยอย่างแน่นหนาแล้ว การที่ชื่อคุณสืบจะหายไป มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่”

*****

แรงบันดาลใจจากผู้ชายชื่อสืบ นาคะเสถียร

น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ องค์การสวนสัตว์ ฝ่ายอนุรักษ์, วิจัย และการศึกษา เขาคือหนึ่งในทีมงานผู้ดำเนินการผสมเทียมเจ้าหมีแพนด้าน้อยหลินปิง ผู้มีสืบเป็นแรงบันดาลใจในชีวิต

เขารับรู้ผลงานและชีวิตของสืบ ตั้งแต่ตอนเรียนปี 3 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนิตยสารสารคดีและรายการสารคดีส่องโลกที่นำเสนอเรื่องราวของเจ้าหน้าที่ป่าไม้คนหนึ่งชื่อสืบ ในการช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน กระทั่ง ปี 2532 ได้ไปที่ห้วยขาแข้ง ได้พูดคุย ได้ร่วมงานกับสืบเป็นครั้งแรก และเห็นถึงความตั้งใจจริงในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขาจึงมีสืบเป็นฮีโร่ในดวงใจนับแต่นั้น

“ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ทราบข่าวการยิงตัวตายของท่าน เราอยู่ในช่วงค้นหาความหมายชีวิต จึงคิดทบทวนว่าหากจบมาอยากทำงานในลักษณะนี้ ตามอุดมการณ์ของท่านในการอนุรักษ์วิจัยสัตว์ป่า ตอนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่อเมริกา 5 ปี ผมจะมีรูปพ่อที่พกติดกระเป๋าสตางค์ตลอดเวลา และอีกรูปที่แขวนติดฝาผนังอยู่เป็นรูปหมอบุญส่ง (เลขะกุล) และสืบ (นาคะเสถียร) หากเกิดปัญหาในชีวิต หรือท้อแท้จะแหงนหน้ามองรูปของท่านทั้งสอง”

เขามองว่า ผ่านมา 19 ปีหลังการเสียชีวิตของสืบ จิตวิญญาณ จิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ของสืบ ยังไม่เลือนหายไปไหน

“พอสืบเสียชีวิต สังคมเกิดการตั้งคำถามเรื่องการดูแลอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมว่าดีพอหรือยัง รวมไปถึงบทบาทของรัฐและเอกชนต่อเรื่องนี้ มีการตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สังคมไทยตื่นตัวในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย แม้จะไม่เข้มข้นเหมือนแต่ก่อน แต่จิตวิญญาณของสืบยังคงอยู่ แต่จะมีรูปแบบอย่างไรขึ้นกับองค์ประกอบหลายอย่าง

“ป่าห้วยขาแข้งฝั่งตะวันตกเป็นมรดกโลก ได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งเอ็นจีโอ คนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศใช้ป่าห้วยขาแข้งเป็นห้องเรียน ฝึกงาน และทำงาน เกิดการสร้างบุคลากรด้านการอนุรักษ์ ตอนนี้เสียงของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าดังขึ้นกว่า 19 ปีก่อน เมื่อพูดไปก็มีคนฟัง ช่วยคิด ตั้งคำถาม และอยากเป็นแนวร่วม นอกจากนั้น การวิจัยสัตว์ป่าก็พัฒนาขึ้น มีบุคลากรในระดับปริญญาเอก แสดงถึงศักยภาพของประเทศในด้านเหล่านี้”

การกลับมาคิดทบทวนในเรื่องที่ว่า ทำไมคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า ถึงมีค่ามากมายมหาศาลจนทำให้คนคนหนึ่งยอมแลกได้ด้วยชีวิต เพื่อปกปักรักษาไว้ให้คนรุ่นต่อๆ ไป คือสิ่งที่สัตวแพทย์ท่านนี้คิด

“เราในฐานะคนที่รับมรดกเหล่านั้นมา หากไม่มีสืบ ทรัพยากรอาจลดน้อยลงไปกว่านี้ เราต้องรักษาให้ดี ทำทุกอย่างเพื่อให้ป่าไม้และสัตว์ป่าในเมืองไทยไม่ลดน้อยลงไปกว่านี้ สำคัญที่สุดคือการหาจุดสมดุลในการใช้และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ”

น.สพ.ดร.บริพัตร มองว่า มันก็ไม่ต่างจากคนที่ต้องการทำงานด้านสังคมที่ต้องศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองและประชาธิปไตย จากเรื่องราวของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 จากประวัติของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์, จิตร ภูมิศักดิ์ และเสกสรร ประเสริฐกุล คนที่อยากเป็นนักอนุรักษ์หรือทำงานด้านสัตว์ป่าก็จำเป็นต้องศึกษาเรื่องราวของสืบเช่นกัน

**********

เรื่อง-ทีมข่าว CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น