เขาให้เหตุผลว่าเพราะความแออัดยัดเยียดจึงทำให้ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) มีแนวคิดจะย้ายสถานีขนส่งทั้งหมอชิตและเอกมัยไปยังสถานที่แห่งใหม่ โดยเฉพาะ สถานีขนส่งหมอชิต ซึ่งมีงานศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าวิทยาเขตธนบุรี ระบุว่า มีผู้คนมาใช้บริการถึงปีละ 50 ล้านคน ซึ่งถ้าจะให้ดีต้องมีพื้นที่ 100 ไร่ เพื่อรองรับปริมาณคนขนาดนี้ ไม่ใช่แค่ 70 ไร่อย่างที่เป็นอยู่ อีกทั้งพื้นที่ของขนส่งหมอชิตก็เป็นพื้นที่ที่เช่าจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งกำลังจะหมดสัญญาเช่าในปีหน้าอยู่รอมร่อ
ตอนนี้จึงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาว่า ขนส่งหมอชิตควรจะไปอยู่ที่ไหน แต่จากการเปิดเผยของ วุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้จัดการใหญ่ บขส. บอกว่า พื้นที่ใหม่น่าจะอยู่ระหว่างดอนเมืองกับนวนคร เพื่อที่ประชาชนจะได้เดินทางสะดวก และพื้นที่ใหม่นี้จะเป็นที่ดินของ บขส. เอง โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณเพื่อซื้อที่ดิน 3 พันล้านบาทสำหรับที่ดินเนื้อที่ประมาณ 100-150 ไร่
ว่ากันว่า บขส. ก็เตรียมเงินของตัวเองไว้แล้ว 2 พันล้าน ส่วนที่เหลือจะใช้วิธีกู้จากสถาบันการเงิน โดยโครงการนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี
ดูเหมือนว่าประเด็นนี้จะมีคนเห็นด้วยมากกว่าคัดค้าน เพราะนอกจากเรื่องความแออัดของสถานที่แล้ว การย้ายสถานีขนส่งขนาดใหญ่อย่างหมอชิตออกไปยังจะช่วยลดปัญหาการจราจรในย่านนั้น และนอกจากเรื่องย้ายสถานที่แล้ว ประชาชีก็ยังแอบหวังว่า บขส. จะดูแลเรื่องอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเรื่องความสะอาดของสถานที่ ร้านอาหาร ห้องน้ำ ที่คนใช้บริการไม่แน่ใจในสุขภาพอนามัยของตัวเองนัก ไหนจะบรรดามาเฟีย ผู้มีอิทธิพลอีก ไหนจะเรื่องการค้าขายอาหารที่ราคาแพงแบบไม่สมเหตุสมผล ฯลฯ
เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ทาง บขส. ลืมไม่ได้ก็คือผลกระทบที่จะตามมากับผู้คนหลากหลายกลุ่มที่ชีวิตเกี่ยวพันกับหมอชิต ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ขายที่นั่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่สำคัญคนที่ต้องใช้บริการขนส่งหมอชิต ถ้าหากย้ายไปจริงๆ จะเกิดอะไรกันขึ้นบ้าง
เสียงค้านของคนเดินทาง
โครงการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ไปชานเมืองในครั้งนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแบบเต็มๆ คงหนีไม่พ้นผู้โดยสารที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน
สมบูรณ์ (สงวนนามสกุล) หนุ่มลูกอีสานที่จากบ้านเกิดมาทำงานในเมืองกรุงนับสิบปี เล่าว่าทุกครั้งที่เขาเดินทางกลับบ้านเกิดในช่วงเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงกรานต์หรือปีใหม่ ก็จะใช้บริการรถโดยสารที่สถานีขนส่งหมอชิตแห่งนี้ ด้วยสะดวกในการเดินทางจากที่พักย่านลาดพร้าวเพื่อมาต่อรถที่นี่ แต่ถ้าหากย้ายไปไกลถึงรังสิตหรือดอนเมือง เขาก็คงต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นเพื่อเดินทางกลับบ้านแน่นอน
“ที่เดิมเคยนั่งรถเมล์ต่อเดียวถึง แต่ถ้าหากย้ายไป หลายคนจะลำบากต้องเสียค่ารถหลายต่อ ยิ่งคนหาเช้ากินค่ำเงินทุกบาททุกสตางค์มีความหมาย บางคนตั้งใจจะเอาเงินเก็บซื้อของไปฝากญาติพี่น้องทางบ้านตอนปีใหม่หรือสงกรานต์ แต่ต้องมาเสียค่ารถค่าเดินทาง ยิ่งตอนกลับยิ่งมีสัมภาระของเยอะ ทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง บางทีต้องขึ้นแท็กซี่อีกก็ยิ่งเปลือง เพราะมันไกลขึ้น”
ทางด้าน ดาว สาวจังหวัดชัยภูมิที่ใช้บริการสถานีขนส่งหมอชิต 2 มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เปิดใจว่า เธอไม่ค่อยเห็นด้วยกับการย้ายสถานีขนส่งหมอชิตไปที่ใหม่เท่าใดนัก เพราะถ้าบริษัทขนส่งไม่มีแผนในการรองรับขนถ่ายผู้โดยสารจากสถานีขนส่งที่ดีพอ จะกลายเป็นยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มภาระในการเดินทางกับคนต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางมากรุงเทพฯ อย่างมาก
“รู้สึกว่ามันไกลจากที่หนูอยู่และไม่สะดวกในการเดินทาง ปกติเวลาเทศกาลคนก็จะเยอะอยู่แล้ว ก่อนจะถึงขนส่งหมอชิตรถก็จะติดมาก แต่ถึงย้ายไปที่ใหม่มันก็น่าจะติดเหมือนเดิม เพราะว่าคนก็จะมุ่งไปที่นู่น มันก็จะไปติดทางโน้นแทน การเดินทางก็น่าจะลำบากกว่า เพราะว่าที่ดอนเมืองยังไม่มีรถไฟฟ้าอะไรเลย จากตรงที่หนูอยู่แถวพระราม 3 ก็มีรถสายเดียวถึงที่หมอชิตเลย ถ้าไปที่โน่นก็ไม่รู้จะขึ้นรถอะไรไป”
ดาวกล่าวว่า ถ้าหากจะย้ายสถานีขนส่งหมอชิตไปที่ใหม่จริงๆ สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือเรื่องการเดินทางรถรับส่งผู้โดยสารไปที่นั่น
“ปกติผู้มีรายได้น้อยเขาก็ต้องขึ้นรถเมล์รถโดยสาร ถ้าย้ายไปที่โน่นก็ต้องเสียค่ารถเพิ่มขึ้น ถ้าจะย้ายก็ย้ายได้ แต่ไม่ใช่หมายถึงว่าย้ายแล้วปิดที่นี่ไปเลย อาจจะเป็นสถานีขนส่งสองที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจจะอยู่ที่นี่ สายเหนือไปอยู่ที่โน่น มันจะได้ไม่ไปที่โน่นที่เดียว เพราะถ้าไปทั้งสายอีสาน ทั้งสายเหนือ มันก็ไปแออัดอยู่ที่โน่นเหมือนเดิม”
เสียงคนทำมาหากิน
ฟากฝั่งคนที่หากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอยู่ในหมอชิต 2 ก็ร่วมแสดงความคิดเห็นว่าหากมีการย้ายหมอชิตจริงๆ ก็เป็นอันต้องงานเข้ากันไปตามระเบียบ
สมนึก มณีมูล อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างในหมอชิต 2 แสดงความคิดเห็นว่า การที่จะย้ายหมอชิตไปที่อื่นนั้นเป็นเรื่องไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากตรงบริเวณเดิมมีความเหมาะสมอยู่แล้วทั้งในเรื่องทำเลที่สะดวกสบายในการเดินทาง ใกล้ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส และเอ็มอาร์ที
“ผมว่าไม่เวิร์กหรอก ผลกระทบมันเยอะ ถ้าโครงการรถไฟฟ้าตามหมอชิตไปไม่ทันก็งานเข้าสิครับ ถ้าหากคิดจะย้ายจริงๆ ก็ต้องเชื่อมระบบขนส่งไปก่อน ถ้าย้ายไปก่อนโดยที่รถเมล์ รถไฟฟ้ายังอยู่ที่เดิมก็ยุ่งเลย”
ผลกระทบในส่วนของอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างอย่างสมนึกก็มีบ้าง หากต้องย้ายหมอชิต สมนึกบอกว่า
“หากย้ายไปจริงๆ ในส่วนของอาชีพเราก็คงต้องย้ายตามไปด้วย เพราะเราหากินอยู่กับหมอชิต คอยรับส่งผู้โดยสารจากหมอชิตไปสถานที่ใกล้เคียง เช่น เจเจมอลล์ ตลาดนัดจตุจักร เซ็นทรัลลาดพร้าว เมเจอร์รัชโยธิน”
ผู้โดยสารบางรายที่มาจองตั๋วโดยสารไว้ในเวลาช่วงที่ไม่มีตารางเวลารถออกก็ต้องรอประมาณ 5-6 ชั่วโมง ซึ่งเวลาอย่างนั้น สามารถทำกิจกรรมหลายๆ อย่างได้เช่น ดูหนัง หรือช้อปปิ้ง
สมนึก เสนอทิ้งท้ายอีกว่า หากทาง บขส. เห็นว่าที่หมอชิต 2 คับแคบและแออัดเกินไป เขาเสนอว่าให้เช่าพื้นที่บริเวณใกล้เคียงขนาด 35 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และขยับขยายปรับปรุงเป็นหมอชิต 2 จะเป็นทางออกที่ดีกว่าการย้ายไปอยู่ที่ใหม่เลย
ในมุมของ นิรัน พลอยสวน เจ้าของร้านอาหารในหมอชิต 2 ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ถ้าย้ายไปจริง ผลกระทบกับอาชีพเขาเกิดขึ้นโดยตรง เพราะต้องมีการไปประมูลพื้นที่เช่าร้านใหม่จากเจ้าของพื้นที่ ซึ่งไม่สามารถรู้ได้เลยว่าที่ใหม่จะเหมาะกับขายอาหาร และขายดีเหมือนเดิมหรือไม่
“เราคงไม่ย้ายตามไปหรอกนะ คงหาที่ขายใหม่ไปเลย ซึ่งหากมีการย้ายไปร้านค้าต่างๆก็ต้องย้ายตามด้วย และถ้าเราไปแล้วได้ทำเลใหม่ที่ไกลๆ คน เราก็เสียเปรียบเขา”
หมอชิต...ชื่อนี้ได้แต่ใดมา
สมัยอดีตพื้นที่บริเวณหมอชิต (เก่า) รกร้างว่างเปล่า จึงมีคนเอาของไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกันที่นั่นคล้ายตลาดนัด ต่อมาขยายเป็นตลาดใหญ่โต สันนิษฐานกันว่าหมอชิต-นายชิต นภาศัพท์ นายห้างขายยาเมืองชลฯ เจ้าของห้างขายยาตรามังกรที่ปรุงยานัตถุ์สูตรของบรรพบุรุษ เป็นคนแรกสุดที่เปิดร้านในตลาด หรืออาจเปิดร้านใหญ่โตจนเป็นจุดสังเกตให้คนเรียกกันว่า หมอชิต ที่ต่อมากลายเป็นสถานีขนส่งสายเหนือ
กว่าจะเป็น...หมอชิต 2
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2536 กรุงเทพมหานคร โดย ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา และพันเอก วินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในขณะนั้น ต้องการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่ตลาดหมอชิต ในการสร้างโรงจอดรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (BTS)
กรมการขนส่งทางบก และ บขส. จึงได้ย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จากตลาดหมอชิต มาในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณ ถ.กำแพงเพชร 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร ในชื่อ สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 (หมอชิตใหม่) ดีเดย์เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2541 เป็นต้นมา
……
*อ้างอิงข้อมูลจาก เว็บไซต์ บริษัท ขนส่ง จำกัด
******
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK