พลันที่มีการเปิดขาย "พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง" ในวันแรก ด้วยวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทสำหรับผู้สูงอายุ (ตั้งแต่) วัยแซยิด ที่มารอต่อคิวแย่งซื้อกันอย่างล้นหลาม กระทั่งจำหน่ายหมดภายใน 10 นาทีนั้น มองมุมหนึ่ง ช่างน่าตื่นตาตื่นใจ ที่คนสูงวัยหอบเงินมาซื้อพันธบัตรกันราวได้เปล่า
ทว่าอีกมุมหนึ่ง ก็ไม่น่าสงสัยนักว่าทำไมประชาชนถึงสนใจกันหนักหนา เหตุผลง่ายๆเพียงเพราะว่าตัวเลขผลตอบน่าสนใจมิใช่น้อย ก็เล่นให้ดอกเบี้ย ‘สูง’ กว่าการออมเงินทั่วไป ใครที่มองการณ์ไกลก็เห็นเป็นเรื่องยั่วน้ำลายกันทั้งนั้น
…..
นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ใหม่ สำหรับการต่อคิวแย่งกันซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ของรัฐบาลที่ออกมาเสนอขายกันในวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 เป็นวันแรกและรอบแรกสำหรับคนสูงอายุ ที่ธนาคารบางแห่งขายหมดเกลี้ยงภายในชั่วพริบตาเดียว และมีผู้สนใจเข้าไปรอรับบัตรคิวกันตั้งแต่เช้ามืด
การซื้อขาย "พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง" ครั้งนี้ รัฐบาลได้วางกรอบไว้สองรอบ คือ รอบแรก จะให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปได้สิทธิ์ซื้อก่อนใครในวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2552 ในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ซื้อได้ขั้นต่ำตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 1 ล้านบาท
และรอบที่ 2 แบ่งเป็น 2 ล็อต คือ ล็อตแรก วันที่ 15-16 กรกฎาคม 2552 เปิดจำหน่ายวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ซื้อได้ขั้นต่ำตั้งแต่ 1 หมื่นบาทถึง 1 ล้านบาท แต่หลังจากที่เปิดขายไปรอบแรกแล้วประชาชนให้ความสนใจกันมาก จึงทำให้ขุนคลัง "กรณ์ จาติกวณิช" เพิ่มวงเงินจำหน่ายพันธบัตรเป็น 5 หมื่นล้านบาท
ล็อตที่ 2 คือวันที่ 17-21 กรกฎาคม 2552 ในวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท จะขายให้แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจกำหนดวงเงินขั้นต่ำที่ 1 หมื่นบาท แต่ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง
ในขณะนี้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องตื่นแต่ไก่โห่ เพื่อไปรับบัตรคิวกันตั้งแต่ตีสี่ แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มที่ยังมึนงงกับพันธบัตรรัฐบาลในครั้งนี้
บางคำถาม...บางความเห็น
“มันคืออะไรเหรอครับ?”
เป็นคำถามซื่อๆ ง่ายๆ ตรงไปตรงมา จาก เฉลิมพล สุวรรณรัตน์ หนุ่มน้อยหน้าคมวัยต้น 20 ปี ที่หารายได้พิเศษด้วยการขายกาแฟสดริมทางเท้า ระหว่างชงเครื่องดื่ม เฉลิมพลหันมาตอบคำถามของเราที่ว่า “จองพันธบัตรหรือยัง?” ด้วยการถามกลับ ก่อนขยายความอีกเล็กน้อย
“มันคืออะไรครับ? ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพันธบัตรเลย ชีวิตช่วงนี้ก็มีแต่เรียนกับทำงานพิเศษ ไม่ได้สนใจจะไปจองอะไรกับเขา ข่าวเรื่องนี้ผมก็ไม่ได้ติดตาม”
พันธบัตรที่ว่า มีผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเท่าไหร่? วงเงินเริ่มต้นและวงเงินสูงสุดที่ประชาชนคนไทยสามารถจองได้คือจำนวนเงินเท่าไร ? ข้อดีอื่นๆ ของการมีพันธบัตรไว้ในครอบครอง อะไรคือเหตุผลของการออกนโยบายพันธบัตรออมทรัพย์ครั้งมโหฬารนี้ ...ทั้งหลายทั้งปวงไม่อยู่ในความสนใจของเฉลิมพล
“ผมไม่ได้ติดตามข่าวเลยครับ วันๆ ก็เรียน แล้วก็ทำงาน” ชายหนุ่มย้ำ ก่อนจะก้มหน้าก้มตาปรุงความหวานมันในแก้วกระดาษต่อไป
ความไม่อินังขังขอบกับพันธบัตรออมทรัพย์ ที่เฉลิมพลแสดงออกอย่างไม่ปิดบัง ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความกระตือรือร้นของ พรรณี สุประพากร อาม่าวัยแซยิด ที่มีอาชีพขายหนังสือพิมพ์ริมทางเท้า เพราะในคำถามเดียวกันกับที่ถามเฉลิมพลนั้น สำหรับอาม่าแล้ว พันธบัตรรัฐบาลงวดนี้ มันช่าง...เย้ายวนใจ
“อยากได้ๆ อาม่าอยากได้ แต่ก็ไม่มีเงินหรอก อาม่าไม่มีเงินมากถึงขั้นจะไปซื้อได้ ถ้ามีเงินอาม่าก็ไปตั้งแต่วันแรกแล้วล่ะ เขาให้ดอกเบี้ยตั้ง 5 % ใช่ไหมล่ะ โอ้โฮ! ได้เยอะกว่าฝากเงินที่แบงก์อีกนะ”
อาม่า บอกว่า อยากให้รัฐบาลมีนโยบายจำหน่ายพันธบัตรให้ประชาชนแบบนี้บ่อยๆ
“มีตลอดทั้งปีเลยยิ่งดี อาม่าจะได้เก็บเงินไว้ไปซื้อพันธบัตร อาม่าก็แก่แล้วนะ มีพันธบัตรเก็บไว้ก็น่าจะเอาไว้เป็นทุน เป็นเงินออมไว้เลี้ยงตัวเอง ไม่ต้องเดือดร้อนลูกๆ แต่ก็นั่นแหละ อาม่าไม่มีเงินเยอะพอจะไปซื้อมาเก็บไว้”
น้ำเสียงอาม่าที่ตื่นเต้น อยากซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ครั้งนี้มาก กอปรกับสีหน้าแววตาผิดหวังทั้งพร่ำบ่นกับตัวเองว่าไม่มีเงินมากพอจะซื้อพันธบัตร ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะถามว่า “อาม่าไม่มีเงินเก็บสักหมื่นเลยเหรอ? เขาให้ซื้อขั้นต่ำได้ด้วยเงิน 10,000 บาท แล้วก็ซื้อได้สูงสุด ไม่เกิน 1 ล้านบาท”
ได้ยินอย่างนั้น อาม่าทำตาโตทั้งอุทานออกมาว่า “หา! มีตังค์หมื่นนึงก็ซื้อได้แล้วเหรอ? ถ้างั้นอาม่าก็ซื้อได้นะ อาม่ามีตังค์พอ หมื่นเดียวจริงๆ เหรอ งั้นอาม่าจะไปบอกลูกให้ลูกพาไปซื้อ”
แล้วอาม่าจะไปซื้อทันไหม? เราก็ได้แต่เอาใจช่วย ขอให้อาม่าหอบเงินออมที่มีไปซื้อพันธบัตรได้อย่างใจหวัง แม้จะออกตัวช้าไปนิด และหลงเข้าใจผิดมา 3 วันเต็มๆ ว่าต้องมีเงินเป็นแสนขึ้นไป จึงจะมีสิทธิ์ซื้อพันธบัตรได้
เอ้า! สู้เขานะ อาม่า
.......
มองมุมนักลงทุน
พันธบัตรคืออะไร? ให้ผลตอบแทนเช่นไร? คุ้มค่าไหม ที่จะหอบเงินออมเป็นหมื่น เป็นแสน และมีอีกไม่น้อยหอบเงินเป็นล้านบาท ไปซื้อพันธบัตรมาเก็บไว้? เราลองเก็บบางคำถามจากประชาชนมาขอความกระจ่างจากนักลงทุน อาจช่วยให้เกิดความกระจ่างได้มากขึ้น
โดยในทัศนะของนักลงทุน มองว่าการซื้อพันธบัตรถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าลงทุน เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นในช่วงเดียวกัน อาทิ หุ้นกู้ ปตท. ที่มีอายุหุ้นกู้ 3 ปี จ่ายดอกเบี้ยคงที่ 3.20% ต่อปี , อายุ 7 ปีดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.53% และอายุหุ้นกู้ 15 ปีดอกเบี้ยเฉลี่ย 5.16% ต่อปี
ทวีสุข ธรรมศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทที่ปรึกษา ทริปเปิ้ลทรีส์ จำกัด แนะนำการออมรูปแบบการลงทุนในการซื้อพันธบัตรว่า
“เป็นการลงทุนที่ดีมาก ถือว่าเป็น best choice ในตอนนี้ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการในการฝากเงินกับธนาคารทั่วไป ถือว่าเป็นเรื่องที่ฉลาดของรัฐบาลที่อออกพันธบัตรมาเพื่อระดมเงินลงทุนในประเทศ แทนที่จะไปกู้เงินนอกประเทศทั้งหมด”
สำหรับประชาชนคนทั่วไปถือเป็นเรื่องที่เหมาะการลงทุนกับการออมเงินครั้งนี้ที่จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะได้รับดอกเบี้ยที่น่าสนใจแล้วยังมีความเสี่ยงที่ต่ำมาก
“การลงทุนรูปแบบอื่นที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับพันธบัตรไทยเข้มแข็งตัวนี้ก็อาจจะเป็นในรูปแบบการซื้อหุ้นกู้ แต่นั่นก็มีความเสี่ยงสูง ถ้าหากเป็นคนทั่วไปที่มีเงินเย็นการลงทุนการซื้อพันธบัตรนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเป็นการลงทุนกับรัฐบาลซึ่งมีความปลอดภัยอยู่แล้ว”
……..
ร่วมด้วยช่วยออม
เราไปสังเกตการณ์การเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งรอบ 2 สำหรับประชาชนทั่วไป ที่ธนาคารพาณิชย์ บริเวณชุมชนบางกระบือ เขตดุสิต เพื่อพูดคุยกับผู้ซื้อพันธบัตร
มาลี นามสัจจพร อายุ 66 ปี อดีตแม่ค้าขายอาหารสดและอาหารแห้ง ซึ่งมีร้านตั้งอยู่ในบ้านบริเวณแยกพิชัย เขตดุสิต เล่าย้อนความหลังให้เราฟังว่า เธอเปิดร้านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517-2551 พอหยุดขายของ เงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเธอและสามี เป็นเงินที่เก็บสะสมมาจากตอนขายของ และเงินเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้มาจากลูก 4 คนที่ต่างมีหน้าที่การงานกันหมดทุกคน
ก่อนหน้านั้น เธอมักนำเงินไปฝากธนาคาร และพันธบัตรไม่ได้อยู่ในความคิดของเธอเลย แต่ด้วยคำแนะนำของลูกที่พูดถึงข้อดีของพันธบัตรทำให้เธอสนใจ จึงนำเงินที่เก็บสะสมไว้ และเงินที่ได้มาจากลูกๆ มาซื้อพันธบัตร แม้จะมีเสียงคัดค้านจากสมาชิกในครอบครัวบางคนก็ตาม แต่สุดท้าย เธอก็เชื่อในการตัดสินใจของตัวเอง พร้อมเปรียบเทียบให้ฟังว่าการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ไม่ต่างจากการตอบรับหรือปฏิเสธเวลามีคนชวนไปเที่ยว
“เวลามีคนชวนไปเที่ยว เราปฏิเสธ พอเขากลับมาเล่าสิ่งที่ได้พบได้เจอให้ฟัง กลับมานั่งเสียดายว่ารู้อย่างนี้น่าจะไปด้วย จะมีประโยชน์อะไร เพราะเหตุการณ์ได้ผ่านไปแล้ว”
ตอนเปิดขายพันธบัตรฯ รอบแรกสำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เธอก็ได้ซื้อไว้เหมือนกัน การมาซื้อพันธบัตรฯ ครั้งที่สอง เธอมานั่งรอหน้าธนาคารตั้งแต่ 6 โมงเช้า และไม่ปล่อยให้โอกาสทองหลุดลอยไป โดยการซื้อในจำนวนสูงสุดที่กำหนดไว้ คือ 1 ล้านบาท
“ธนาคารให้ดอกเบี้ยเงินฝากน้อยมากเลย แต่พันธบัตรตัวนี้ให้ดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ซึ่งคนฝากเงินย่อมอยากได้ดอกเบี้ยสูงๆ อยู่แล้ว ยิ่งเราอายุเยอะ ไม่ได้ทำงานอะไร จึงไม่มีรายได้ประจำ เงินตรงนี้ก็น่าจะสร้างความมั่นคงในชีวิตให้เราได้ในภายภาคหน้า คิดว่าจะเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและใช้ในการท่องเที่ยวตามประสาคนแก่”มาลีกล่าวพร้อมหัวเราะร่วน
เธอยอมรับว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับพันธบัตรมากนัก จะให้ไปศึกษาเพิ่มเติมในช่วงวัยนี้ที่หูตาเริ่มฝ้าฟางเพื่อให้รู้อย่างถ่องแท้ถึงข้อดี-ข้อเสีย หรือรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ของพันธบัตร คงยาก แต่เพราะพันธบัตรตัวนี้ออกโดยรัฐบาล จึงเพิ่มความเชื่อมั่นว่าคงไม่ถูกโกงหรือหมกเม็ดเหมือนการลงทุนประเภทอื่นที่มีเอกชนเป็นคนดูแล
“คนสมัยนี้ขี้โกง จะให้ไปลงทุนประเภทอื่นก็ไม่กล้าเสี่ยง”หญิงวัย 66 ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดทีเดียว
นอกจากมาลีแล้ว สุไกร พิลากุล อายุ 65 ปี แม่ค้าขายอาหาร บริเวณชุมชนบางกระบือ ที่เปิดบริการมากว่า 10 ปี ก็เป็นอีกคนที่สนใจพันธบัตรอยู่แล้ว สุไกรพลาดหวังจากการไปซื้อพันธบัตรฯ รอบแรกสำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะมัวแต่ยุ่งวุ่นวายกับการจัดเตรียมอาหารเพื่อจำหน่าย ทำให้มาซื้อในเวลาค่อนข้างสาย สุดท้ายเลยชวดตามระเบียบ โดยการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งเป็นการซื้อพันธบัตรครั้งที่สามในชีวิตของเธอ แน่ละว่า เงินที่นำมาซื้อพันธบัตรทุกบาททุกสตางค์ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของเธอทั้งนั้น
ด้วยความที่พันธบัตรตัวนี้ดำเนินการโดยรัฐบาลและโทรทัศน์หลายช่องก็นำเสนอข่าวค่อนข้างถี่ จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ทำให้สุไกรให้ความสนใจพันธบัตรดังกล่าวเป็นพิเศษ
“เห็นรัฐบาลออกมาบอกถึงข้อดีของพันธบัตรฯ ที่ให้ดอกเบี้ยสูง ก็สนใจ ซื้อไม่กี่หมื่นบาทหรอกค่ะ”สุไกรในชุดผ้ากันเปื้อนกล่าว
แม้เธอไม่ค่อยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับพันธบัตรมากนัก แต่คำบอกเล่าของคนรู้จักในเรื่องดอกเบี้ยที่สูงมากๆ เมื่อเทียบกับที่ได้จากเงินฝากในธนาคาร ทำให้เธอไม่ลังเลที่จะซื้อพันธบัตรตัวนี้ โดยมีหลานๆ และคนรอบข้างคอยช่วยเหลือในการจัดเตรียมเอกสาร
“ค้าขายกำไรก็น้อย เงินเก็บก็ใช่ว่าจะมากมายอะไร ใช้จ่ายก็ประหยัด พันธบัตรฯ นี้มีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ก็สร้างความเชื่อมั่นได้มากเลย เห็นญาติๆ ที่เกษียณอายุราชการซื้อพันธบัตรเก็บไว้ เราก็คิดว่าเป็นการออมเงินที่ดี จะได้มีเงินใช้ตอนอายุมากขึ้น และเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาให้หลานๆ” สุไกรกล่าวทิ้งท้าย
....
การลงทุนในรูปแบบการระดมทุนของรัฐบาลครั้งนี้ ถือว่าได้รับความร่วมมือที่ดีต่อประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะสามารถขาย ‘พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง’ ได้หมดเกลี้ยงภายในระยะเวลาอันสั้น แต่แท้ที่สุดแล้วเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ถูกระดมมานั้น ก็สุดแล้วแต่รัฐบาลที่จะนำมาบริหารประเทศอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อคืนกำไรให้กับประชาชนอีกดอกหนึ่ง
....
เรื่องโดย : ทีมข่าวคลิก
ภาพโดย : ทีมภาพคลิก