ย้อนกลับไปยังวัยฝันวันเยาว์ หลาย ๆ คนคงเคยเห็นโทรศัพท์บ้านที่มีแป้นหมุนเป็นวงกลม ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนโต๊ะทำงานของคุณพ่อ เวลาจะโทรแต่ละครั้งก็ต้องใช้นิ้วสอดเข้าไปในแป้นหมุน และบรรจงหมุนตัวเลขของเครื่องปลายทางทีละตัว ทีละตัว…
วันเวลาเปลี่ยนไป อะไรๆ ก็เปลี่ยนตาม จากโทรศัพท์แป้นหมุนเมื่อครั้งโบราณ พัฒนามาเป็นโทรศัพท์มือถือเครื่องจิ๋ว และในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือแบบที่เราคุ้นเคยมานานก็กำลังจะมีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่
ใครเลยจะคิดว่า วันหนึ่งเราจะสามารถแชตกันบนโทรศัพท์ เข้าไปดูเวปไซต์ได้ทุกที่ทุกเวลา ดูหนัง ฟังเพลง และทำสิ่งอื่นๆได้อีกมากมายบนโทรศัพท์เครื่องจิ๋วที่ ‘ฉลาดขึ้น’ ทุกวัน
คนในยุคปัจจุบันเรียกโทรศัพท์ ‘ฉลาดๆ’ เหล่านี้ว่า ‘Smart Phone’
................
‘Smart Phone’ คืออะไร
ถึงแม้ว่าหน้าที่ของโทรศัพท์มือถือคือการโทรเข้า โทรออก และส่งข้อความ แต่โทรศัพท์ที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ มีส่วนหนึ่งที่สามารถทำได้มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ (หนัง เพลง) หรือการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราเรียกโทรศัพท์เหล่านี้ว่าเป็น Smart phone แต่ไม่ได้หมายความว่า โทรศัพท์ที่สามารถฟังเพลง เล่นไฟล์ภาพได้จะเป็น Smart phone ไปเสียทุกเครื่อง เพราะหัวใจสำคัญของ Smart phone ก็คือการมี OS หรือ Operating System ในการจัดการโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็น Symbian, Windows mobile, Windows ce, หรือ iPhone Os ล้วนเป็นระบบปฏิบัติการพื้นฐานของ Smartphone ที่สามารถจัดการโปรแกรมต่างๆ บนเครื่องมือถือตัวเล็กๆ ในมือ ให้กลายเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดย่อมๆ ที่ใช้การได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
ผู้ที่ผลิต Smart phone ออกมาเป็นเจ้าแรกคือ IBM ภายใต้ชื่อ เรียกว่า Personal Communicator แต่คำว่า Smart phone นั้น ถูกนำมาใช้ครั้งแรกกับโทรศัพท์ของไมโครซอฟ รุ่น Orange SPV E100 ที่กำเนิดขึ้นมาเมื่อปี 1999 นี่เอง
ในเบื้องแรก อุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็กที่ใช้ปากกา Stylusในการควบคุมนั้น มีชื่อเรียกอยู่แล้วว่า PDA (Personal Digital Assistant) ซึ่งมีการผลิตจากสองค่ายหลักคือค่าย Plam และ Pocket PC แต่ต่อมาก็มีการเอาความสามารถด้านโทรศัพท์บวกเข้าไปแล้วเรียกอุปกรณ์เหล่านี้ว่า PDA Phone ส่วน Smart phone นั้นก็คือ PDA Phone ที่ไม่ได้ควบคุมการทำงานด้วยปากกา Stylus นั่นเอง (แต่ในปัจจุบันมีเทคโนลีทัชสกรีนที่เข้ามารองรับในส่วนนี้แล้ว)
และแน่นอนว่า ความสามารถแบบคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นมาในโทรศัพท์มือถือ ย่อมทำให้วิธีการใช้โทรศัพท์ของคนยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
เป็นมากกว่าโทรศัพท์
เมื่อก่อน ถ้าเราเห็นใครสักคนควักโทรศัพท์มือถือออกมาจากกระเป๋า เราก็เดากริยาต่อไปของได้อย่างไม่ยากว่าเขาจะต้องกดเบอร์ พูดคุย วางสาย และเก็บมือถือเข้ากระเป๋าไปในที่สุด แต่มาบัดนี้ หากมีคนหยิบมือถือออกมาจากกระเป๋า สิ่งที่เขาทำอาจจะไม่ใช่การกดเบอร์โทรออกเพียงอย่างเดียว
ภาพที่เราเห็นตรงหน้า อาจจะเป็นเอาเอานิ้วไปจิ้มๆ เขี่ยๆ ที่หน้าจอแล้วอมยิ้มอยู่คนเดียว หรืออาจจะเป็นการยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป หรือในบางครั้งก็เอาโทรศัพท์เสียบต่อกับหูฟัง แล้วก็นั่งกระดิกขาโยกหัว เมื่อโทรศัพท์มันทำได้มากกว่าโทรศัพท์ การใช้งานเครื่องมือมันก็ซับซ้อนขึ้นไปตามความสามารถที่มันมี
วิโรจน์ เรืองแสงศิลป์ เว็บมาสเตอร์ของ www.smart-mobile.com เป็นอีกคนหนี่งที่ใช้โทรศัพท์มากกว่าการโทรเข้า ออก หลักๆ แล้ววิโรจน์ใช้ไอโฟนเพื่อจัดการและดูเว็บไซต์ เพราะค่อนข้างสะดวกสบายกว่าอุปกรณ์พกพาประเภทอื่น เพราะหน้าจอของไอโฟนมีความละเอียดสูงมาก แม้ย่อเว็บฯ ให้เล็กขนาดไหน ก็ยังสามารถที่จะอ่านตัวอักษรได้อย่างไม่ลำบากนัก
“ผมสนใจเทคโนโลยีใหม่ มัลติทัช ที่แอปเปิลนำเสนอ แม้จริงๆ แล้ว แอปเปิลไม่ได้เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ด้วยตัวเองก็ตาม เพราะเคยมีผู้คิดค้นก่อนหน้าแล้ว เพียงแต่ไม่ได้นำมาใช้ในเชิงการค้า และความสามารถอย่างการ ย่อ/ขยายรูปภาพ, หน้าจอเว็บฯ ก็เป็นฟังก์ชั่นหลักที่ผมใช้เป็นประจำอยู่แล้ว แถมไอโฟนสามารถปลดล๊อคได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ไอโฟนที่นำเข้ามาเป็นเพียงเครื่องหิ้ว แต่สามารถขายในตลาดบ้านเราได้หลายหมื่นเครื่องเลยทีเดียว”
แต่ฟังก์ชั่นที่เป็นหมัดเด็ดเด่นๆ ของไอโฟนที่ผู้ใช้รายอื่นๆ ชื่นชอบอาจจะเป็นเรื่องของการดูภาพยนตร์ หรือฟังเพลง แต่สำหรับวิโรจน์เขาแทบไม่ได้ใช้งานฟังก์ชั่นเหล่านี้เลย โดยไอโฟนตอบสนองการทำงานของวิโรจน์เพียงการจัดการเว็บฯ เมื่อต้องเข้าไปดูเว็บไซต์หากทำงานนอกบ้านเท่านั้น
ผิดกับนักดูหนังฟังเพลงอย่าง พงษ์นที เจริญเพชรกุล หรือที่วงการ Gadget เมืองไทยรู้จักกันดีในนาม Doggold โทรศัพท์ของเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่โทรศัพท์เช่นกัน หากแต่มันคือเครื่องเสียงชั้นยอดและโฮมเธียเตอร์ขนาดย่อมที่พกพาไปได้ทุกที่
“ผมใช้โทรศัพท์ Meizu รุ่น M8 มันเริ่มต้นมาจากการใช้ Mp3 ของเขาก่อนแล้วติดใจ (Meizu M6) พอ Meizu ออกโทรศัพท์รุ่น M8 ผมก็เอามาลองใช้ ผมคิดว่ามันน่าจะตอบสนองความต้องการของผมได้ครบ เพราะนอกจากการโทรเข้าออกแล้ว ผมชอบใช้โทรศัพท์ฟังเพลงกับดูหนังเป็นหลักด้วย แล้วก็มีการใช้โปรแกรม Out look เพื่อเตือนการทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนอินเตอร์เนตนั้นผมก็ใช้เบราเซอร์ดูเวปธรรมดาทั่วๆ ไป”
ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการงานหรือความบันเทิงเท่านั้นที่ Smart phone ตอบสนองความต้องการของคนใช้ได้ เรื่องของการสร้างชุมชนและเครือข่ายทางสังคม กลับมามีเอี่ยวกับ Smart phone ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
“ตอนนี้ BB (โทรศัพท์ยี่ห้อ BlackBerry) เริ่มฮิต ราคาไม่แพงมาก สำหรับคนที่สามารถซื้อได้เขาก็เปลี่ยนกัน เพื่อนๆ ส่วนใหญ่เขาก็เปลี่ยนจากไอโฟนมาเป็น BB กันเกือบหมดแล้ว บางคนก็แบบอยากลอง บางคนเห็นคนอื่นใช้ก็อยากใช้บ้าง เป็นเหมือนแบบไอเท็มที่ต้องมี ตอนนี้ทุกคนเวลาเจอกัน ก็จะไม่ถามแล้วว่าเบอร์มือถือเบอร์อะไร แต่จะถามว่า ‘Pin’ BB กันก่อนเลยว่า Pin เบอร์อะไร หรืออย่างใน MSN เวลาใครได้เครื่องใหม่มา ก็จะเขียนชื่อ Pin ของเขาไว้เลยว่าเบอร์อะไร ซึ่ง ‘Pin’ นี่มันคล้ายกับอีเมล์แอดเดรสของ MSN ที่ใช้แอดเวลาต้องการแชทกัน แต่สำหรับ BB เราจะใช้ ‘Pin’แอดเพื่อส่งเท็กซ์หรือ BBN คุยกันสำหรับสมาชิกที่ใช้ BB โดยเฉพาะ”
รสริน ปั้นเอี่ยม Planning Manager บริษัท Zenith Optimedia เป็นอีกคนหนึ่งที่เปลี่ยนมาใช้ BB หรือแบล็คเบอร์รี่ (BlackBerry) ด้วยความประทับใจในฟังก์ชั่นพิเศษที่สามารถส่ง 'เท็กซ์' (Text) หรือข้อความคุยระหว่างผู้ที่ใช้ BB เหมือนกันได้
“ส่วนตัวจริงๆ ชอบ BB มาตั้งแต่สมัยที่ดูซีรีย์ต่างประเทศแล้ว เพราะเป็นคนชอบเท็กซ์ ไม่ชอบทัชสกรีน อยากได้มือถือที่เท็กซ์ได้ เป็นโมเดลมือถือที่มีแป้นพิมพ์แบบครบเลย ไม่ต้องมานั่งจิ้มๆ แบบทัชสกรีน แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เครื่อง BB รุ่นเก่าจะมีแต่เครื่องใหญ่ๆ ซึ่งเราไม่ชอบ แต่พอมาเจอกับรุ่นล่าสุดที่เขาเพิ่งออกอย่าง Curve ออกรุ่น Bold มาซึ่งกะทัดรัดขึ้น เครื่องมันสวยดูดีก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนดีกว่า พอได้มาใช้ก็รู้สึกชอบ”
ในโลกที่ความแตกต่างคือพระเจ้า
นอกจากความเป็นโทรศัพท์ที่เหนือกว่าโทรศัพท์ในแง่ของการใช้งานแล้ว Smart phone ยังเป็นเสมือนเหรียญตราที่ใช้บอกกล่าวกับคนอื่นว่า คุณคือใคร มีรสนิยมอย่างไร มีไลฟ์สไตล์แบบใด และยืนอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้
บางครั้งของใช้ชิ้นหนึ่งมันก็มีความหมายไปไกลกว่าอรรถประโยชน์ของมันอย่างคาดไม่ถึง!
ก่อนหน้านี้ การใช้ Smart phone จะจำกัดวงอยู่ในหมู่ชนชั้นที่มีรายได้ต่อเดือนค่อนข้างมาก และแอพพลิเคชั่นที่ใช้กันก็จะเป็น แอพพลิเคชั่นที่รองรับความต้องการในการติดต่อสื่อสารด้านธุรกิจ แต่การมาถึงของ Smart phone ของบริษัทแอปเปิ้ล ก็ได้ทลายกรุทะลุกรอบข้อจำกัดเหล่านั้นออกมา
iPhone คือ Smart phone ที่เราเห็นกันมากที่สุดในปัจจุบัน แน่นอนว่าความสามารถของมันทำได้มากกว่าการโทร หรือการสื่อสารธุรกิจแน่นอน และตัวของไอโฟนเอง ก็ยินดีที่จะ ‘เป็น’ มากกว่ามือถือ หากแต่พร้อมที่จะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่คนรุ่นใหม่ต้องการ
วิโรจน์ เรืองแสงศิลป์ กล่าวว่า “ผู้ใช้งานไอโฟน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ใช้งานในระดับ Advance User ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมีพื้นฐานการใช้งานค่อนข้างดี ส่วนที่เหลือเป็น Basic User ซึ่งหันมาใช้ไอโฟน เพราะรูปร่างหน้าตา ลูกเล่นที่แตกต่าง และอาจจะเป็นไปตามกระแส
“ไอโฟนเข้ามาเจาะตลาดโทรศัพท์มือถือในบ้านเราได้เด่นชัดมากขึ้น หากนับรวมทั้งหมด ทั้งเครื่องที่ผู้ใช้นำเข้ามาด้วยตัวเองจากต่างประเทศและเครื่องที่ขายอย่างถูกต้องในเมืองไทย น่าจะมีจำนวนมากจนเรียกว่าอยู่ในระดับแถวหน้าได้เลยทีเดียว”
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จำนวนสาวกไอโฟนในเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมา แต่ขณะเดียวกัน Advance User (กลุ่มผู้ใช้งานในระดับสูง) ยังคงมีจำนวนเพียงแค่ 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะเป็นผู้ใช้งานในระดับ Basic User และ Basic User นี่เองที่ทำให้โทรศัพท์มือถือราคาแพงกับแฟชั่นกลายเป็นเรื่องเดียวกันจนได้
และเมื่อมีคนนิยมใช้งานไอโฟนมากขึ้น จนอาจจะเรียกได้ว่า ‘โหล’ กลุ่มผู้ใช้ผู้รักความแตกต่างและไม่อยากถูกเหมารวม จึงต้องเดินทางไปหาทางเลือกอื่นที่เฉพาะเจาะจงลงไปกว่าที่เป็น
และ BlackBerry ก็คือทางออกนั้น
รสริน เล่าว่า คนส่วนมากคนที่หิ้วเครื่อง BB เข้ามาจากต่างประเทศ ก็มักจะหิ้วมาทีละ 2-3 เครื่อง โดยแกะกล่องออก แล้วหิ้วติดตัวขึ้นเครื่องบินมาเมืองไทย คล้ายๆ กับตอนช่วงที่ไอโฟนฮิตในบ้านเราเมื่อปีที่แล้ว “ช่วงที่ BB เริ่มฮิต มันจะเหมือนสมัยไอโฟนตอนแรก ที่คนอยากจะหิ้วเท่าไหร่ก็หิ้ว เพราะว่าคนยังแบบไม่ค่อยรู้ แต่ว่าช่วงหลังอาจจะกลัว ไม่กล้าหิ้วกันเอิกเกริกเพราะสรรพากรก็คงเริ่มรู้แล้ว”
และจากกระแสความฮิตของมือถือ BB ที่เริ่มมาจากดาราฮอลลีวูดและเซเลบริตี้คนดังในต่างประเทศนี่เอง ที่ทำให้เหล่าดาราและเซเล็บหลายคนในเมืองไทยเริ่มนำ BB เข้ามาใช้เป็นกลุ่มแรก ก่อนจะค่อยๆ แพร่หลายในหมู่คนทำงานออฟฟิศ โดยรสรินบอกว่า ตอนแรกนั้นส่วนใหญ่จะใช้กันในกลุ่มผู้บริหารก่อน
“เท่าที่รู้ตั้งแต่ประมาณต้นปีหรือปลายปีที่แล้ว มันเริ่มมาจากดาราก่อน ต่อมาก็คนทำงานออฟฟิศแหละที่ไปซื้อมาจากเมืองนอก เพราะว่าราคาเมืองไทยตอนนั้นมันยังแพงอยู่ ใครไปกลับมาก็เริ่มมีการทยอยฝากซื้อกัน จนตอนหลังมันฮิตมาก มาบุญครองก็เลยเอามาขาย ราคาก็เลยยิ่งถูก”
โดยรุ่นท็อปฮิตในเมืองไทยนั้น ได้แก่ BB Curve, BB Bold และ BB Storm ที่เพิ่งเปิดตัวไปในเมืองไทย ซึ่งมีหน้าจอแบบทัชสกรีน คนที่ชอบระบบทัชสกรีน แต่ไม่อยากใช้ไอโฟนจึงมักจะเลือกรุ่นนี้เป็นส่วนใหญ่ รสรินเองยอมรับว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนเปลี่ยนมาใช้มือถือ BB กันเยอะขึ้น เพราะต้องการฉีกจากมือถือไอโฟนที่เคยฮิตมากมาก่อน และมีคนใช้กันเยอะจนเริ่มเฝือในเมืองไทย
ส่วน พงษ์นที ผู้หลงใหลในโทรศัพท์สัญชาติจีนอย่าง Meizu นั้น ดูเผินๆ โทรศัพท์ที่เขาใช้นั้นอาจจะไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่าเขามีทัศนคติกับเรื่องแฟชั่นหรือความโหลอย่างไร แต่สิ่งที่โทรศัพท์แบรนด์จีนนี้เปล่งเสียงออกมาให้เราได้ยินก็คือ คนที่เลือกมันมาใช้ ย่อมเป็นคนที่มีความรู้ทางด้านไอทีมากถึงมากที่สุด พร้อมจะแก้ปัญหา ทั้งยังชอบในสิ่งที่ดีกว่าและท้าทาย โดยไม่ยึดติดกับแบรนด์ดัง
“Meizu มันเหมือนไอโฟนไหม? จะว่าไปมันเหมือนกับ ไอพอดทัช Gen 1 เสียมากกว่า ถ้าจะเรียกว่าเป็นการก๊อปปี้ก็เรียกได้ สำหรับในด้านรูปแบบนะ แต่สำหรับการใช้งานนั้น Meizu มันยืดหยุ่นมากกว่าของในตระกูลแอปเปิ้ล อย่างการเล่นหนัง Meizu สามารถรองรับไฟล์ภาพเคลื่อนไหวได้เกือบทุกฟอร์แมต ไม่ต้องแปลงไฟล์ก่อน และสามารถลากลงมาได้เลย เป็นเพราะว่ามันเป็นวินโดว์เบส ซึ่งเราคุ้นเคยกับมันมากๆ อยู่แล้ว
“และถ้าถามว่ากลัวของจีนไหม ผมว่าผมไม่กลัว ผมเคยใช้เครื่อง Mp3 รุ่น M6 ของ Meizu มาแล้วและรู้สึกว่ามันดีกว่าไอพอด อีกอย่างบริษัทของจีนนั้นมีหลายเกรด บางบริษัททำของก๊อป แบบก๊อปแต่รูปทรง แต่ Meizu นี่เป็นโทรศัพท์ทางเลือกที่ดี หากไม่อยากใช้ไอโฟน ไม่อยากใช้แบล็คเบอรี่"
Smart ได้ แม้ไม่ได้ใช้ Smart phone
ถึงแม้ว่า Smart phone แต่ละยี่ห้อจะมีความแตกต่างกันทางบุคลิกหรือรายละเอียดอย่างไร Smart phone ก็ยังเป็น Smart phone เหมือนกันอยู่วันยังค่ำ
และอย่าลืมว่า ในโลกนี้มิได้มีแต่คนที่อยากได้อยากมี Smart phone ไปเสียทั้งหมด ยังมีคนบางคนนิยมใช้โทรศัพท์เพราะมันเป็นแค่โทรศัพท์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยที่มีเหตุผลต่างๆ กันไป อาจจะอยากได้ Smart phone แต่ไม่มีสตางค์พอที่จะซื้อ หรือมีสตางค์จะซื้อ แต่ก็อาจจะใช้ไม่เป็นอยู่ดี ฯลฯ
บางทีเขาเหล่านี้คือผู้ถือครองความแตกต่างที่แท้จริง
“เดี๋ยวนี้โทรศัพท์ทุกเครื่อง มันโดนใส่ความสามารถพิเศษเยอะมาก อย่างเช่นถ่ายรูป ฟัง MP3 ได้ ฟังวิทยุ FM ได้ หรือแม้กระทั่งดูทีวีได้ แต่ในชีวิตจริงของเราก็คงไม่นั่งดูทีวีกับจอแบบนี้ เราก็คงไปนั่งดูทีวีจริงๆ หรืออย่างเครื่องผมเองก็ถ่ายรูปได้ แต่เชื่อไหมว่าใช้มา 3 ปี ไม่เคยถ่ายรูปเลย เพราะงานของเราเวลาต้องถ่ายรูปก็ใช้กล้องจริงๆ เลย ของมันถูกออกแบบให้เป็นโทรศัพท์ ไม่ได้ให้เป็นกล้อง หรือเวลาอยากจะฟัง MP3 จะไม่ฟังจากโทรศัพท์ ก็จะหยิบ MP3 ซึ่งเป็น recorder ขึ้นมาเสียบในหูฟังแทน หรืออย่างในมือถือมันจะมีฟังก์ชั่นที่เตือนการนัดหมายเรา แต่ผมก็ไม่เคยใช้มัน ผมก็ยังชอบใจที่จะจดลงสมุดแล้วก็อ่านมันมากกว่า”
สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีผู้ที่ยังคงใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นธรรมดา ราคาน่าคบ (NOKIA 2650) มองว่า โทรศัพท์มือถือก็ยังคงเป็นแค่เครื่องมือที่ใช้ติดต่อสื่อสารเท่านั้น
เช่นเดียวกับ มยุรี ธิแก้ว แม่บ้านคนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่า โทรศัพท์นั้น ใช้โทรเข้าออกได้ก็เพียงพอแล้ว
“ไม่รู้จะเอามันไปทำอะไร สมาร์ทโฟนอะไรเนี่ย ต่อให้ซื้อมาก็ใช้ไม่เป็น ทุกวันนี้ใช้โทรศัพท์ธรรมดาส่งข้อความยังไม่ได้เลย อีกอย่างราคามันก็แพง เรามันคนรุ่นเก่าน่ะ ใช้โทรเข้าโทรออกได้ก็เก่งแล้ว”
โปรดสังเกตคำว่า ‘รุ่นเก่า’ นั่นอาจหมายความว่า คนรุ่นหลังจากนี้ จะมีแนวโน้มในการใช้โทรศัพท์ที่เป็นมากกว่าโทรศัพท์เยอะขึ้นแน่นอน และจากที่ Smart phone เคยเป็นมือถือแห่งอนาคต ก็จะกลายมาเป็นมือถือแห่งปัจจุบันในที่สุด
แต่ไม่ว่าใครจะสมัครใจใช้โทรศัพท์ที่ ‘สมาร์ท’ แค่ไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการรู้ตัวอยู่เสมอว่า เรากำลังใช้เครื่องมือนั้นๆ เพื่ออะไร คุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งคำตอบของคำถามเหล่านี้ล้วนชัดเจนอยู่ในหัวใจของคนใช้ทุกคนอยู่แล้ว
...............
เรื่องโดย : ทีมข่าวปริทรรศน์