“เอเอฟอยู่ได้เพราะแฟนคลับ คือทรูเองต้องเอาวิชั่นใหม่ ต้องทำให้แมสมากกว่านี้ ให้คล้ายเดอะสตาร์ก็ได้ ปีนี้การที่เขาไปออกวู้ดดี้ เกิดมาคุย ออกตาสว่าง ซึ่งเป็นฟรีทีวี นี่คือมาถูกทางแล้ว แล้วพยายามดันเด็กออกไปในแง่ที่ปล่อยไปหากค่ายไหนสนใจก็ยกให้เขาไป คือถ้ามองแบบคนข้างนอก เรายังมองว่าทรูยังสู้ค่ายอื่นไม่ได้ คือชอบขายยกเข่ง คนไหนอยากดัน จะดันอยู่อย่างนั้น เด็กเอเอฟยังไปไม่สุด”…. แฟนคลับแม่ลูก 2 ของรอน เอเอฟ 5 (ไม่ประสงค์ออกนาม) แต่ทุ่มหลายอย่างให้แก่ศิลปินเอเอฟ บอกกับ M-Lite รับเรียลลิตี้ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ปีที่ 6 ที่กำลังเริ่มต้นขึ้น
กรรมวิธีของการ “ปั้นคน” ของแต่ละรายการย่อมแตกต่างกัน 5 ปีที่ผ่านของทรู วิชั่นส์ ผู้ผลิตรายการที่พึ่งตัวเลขของการโหวต แต่ผู้มีอิทธิพลต่อนักร้องสายเอเอฟตัวจริง นอกจากต้นสังกัดแล้ว คงต้องบอกว่าบรรดาแฟนคลับที่มีทั้งป้ายไฟ เสื้อคลับ อุปกรณ์เชียร์ เสียงกรี๊ด อีกทั้งเงินลงทุน สำคัญกับพวกเขาไม่น้อย มีทั้งทัพหน้า ทัพหลัง ปั่นกระทู้ บิลต์ให้โหวต ประชาสัมพันธ์หลังไมค์ ทุกตำแหน่งมีหน้าที่ผลักดันนักล่าฝันแต่ละV ที่ตนเองเชียร์แบบสุดใจ บนข้อครหาของคนที่ไม่ชอบว่า “ไร้สาระ” บทบาทที่ทำให้นักล่าฝันเหล่านี้ ยืนอยู่บนเวทีนักร้องได้เฉกเช่นทุกวันนี้ พวกเธอคือ “แม่บุญทุ่ม” ทั้งกาย ใจ และเงิน ตัวจริง !?
“แม่บุญทุ่ม” ทัพหลัง ...พลังทรัพย์
“มีผู้ใหญ่ที่เขาดูแลหรือชอบ ต้องยอมรับว่ามีผู้ใหญ่ที่เชียร์เอเอฟเยอะ ออกทีหลายๆ ล้านมีบางคนซื้อบัตรคอนเสิร์ตให้ ไม่ต้องโอนคืนก็มีเพราะเขาสงสารที่ตามน้องไปเรื่อยๆ มีจริงๆ นะ เขามีเงินตรงนี้ บางทีไม่ได้เอารถไปเรานั่งแท็กซี่เขาก็สงสารเพราะใช้เงินเยอะ แฟนคลับบางคนหางานให้ บางคนบอกว่าแฟนเขาเป็นตำรวจ เขาอยากชวนนัททิวไปเล่น คอนเสิร์ตบางงาน คนจัดก็เป็นแฟนคลับ เพื่อหารายได้ให้แก่น้องๆ ” ... นั่นคือคำกล่าวของแฟนคลับผู้ใกล้ชิดกับแชมป์อย่างนัททิว เอเอฟ 5 บอกกับเราถึงบรรดาผู้มีอันจะกินแต่แลกกับความสุขที่ได้ทำให้แก่คนที่เขาชื่นชอบ
คนส่วนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง และการติดตามล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินทั้งนั้น พอถามว่า คนเชียร์เอเอฟฐานะค่อนข้างดีจริงหรือไม่ แอนตอบกับเราชัดเจน.. “ทรูขายทุกอย่างนะ ไม่เหมือนเดอะสตาร์ เดอะสตาร์คุณสามารถดูฟรีทีวีได้ ดูข้างนอกได้ นี่ดูก็เสียตังค์แล้ว ไม่มีอะไรฟรีจริงๆนะ เงินทั้งนั้น พอไม่มีป้ายไฟ ไม่มีมาเชียร์ก็จะหงอยๆ เหงาๆ ฟีดแบ็กกลับไปหาน้อง เขาจะรู้สึกว่าเขาจะยืนอยู่ตรงนี้ได้นานแค่ไหน แฟนคลับของฉันไปไหนหมด “
แฟนคลับระดับตัวแม่ และทำหน้าที่ดุจญาติแท้ๆของ “รอน” อย่าง “ผึ้ง” บอกกับเราว่าในชีวิตจริงเธออาจยังไม่มีใครทราบทั้งหมดว่าเธอหมดเงินไปหลายแสน หลากข้อวิจารณ์ที่ตามมาเธอบอกกับเราว่าตั้งรับและเรียกมันว่า “ความสุข และ “สนุก” กับมัน
“มันเหมือนวิเคราะห์การตลาด สนุกดี ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าต้องมาบ้าบออะไรได้ขนาดนี้ มันเหมือนการปลดปล่อย น้องเขาก็จะได้อะไรดีๆกลับมาด้วย เราทำหมดป้ายไฟ อุปกรณ์เชียร์ คนรถ พี่เลี้ยงเด็กทำป้ายไฟกันหมด ที่บ้านก็ไม่เข้าใจเท่าไหร่ เพื่อนๆที่สนิทก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง แต่คุณพ่อแม่รู้เขาจะรู้ว่าเราไปไหน”
“เปลืองเงินมั้ย ก็เยอะค่ะ วีกแรกๆ ก็เยอะหน่อย หมดไปหลัก6 ต้นๆ เราทำแล้วก็คิดเสียว่าเป็นค่าเทอมลูกแล้วกัน แล้วที่คิดแบบนั้นไม่ใช่ว่าตัวเองต้องมาเสียสติกับตรงนี้ ไม่มองว่าเสียเงินบ้าๆบอๆ เพราะคนที่เขาไม่เข้าใจ ก็คือไม่เข้าใจค่ะ แต่คนหมดเยอะกว่าเราก็มี เสียเป็นล้านๆ ก็มี”
ทัพหน้า...พาเพลิน
“แอน” พนักงานสาวบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง บอกว่านอกจากทัพหน้า ทัพหลัง หรือโพสต์รูปแล้ว ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของเธอที่มีส่วนทำให้เธอตัดสินใจเชียร์ “นัททิว เอเอฟ5” หรือ “ณัฏฐ์ ทิวไผ่งาม” โดยเหตุผลของเธอไม่แตกต่างจากแฟนคลับทั่วไป คือความใกล้ชิด และความผูกพันที่เป็นข้อผูกมัดทำให้ตามคนที่เธอชอบไปได้ทุกที่
“ตอนที่เขาออกจากบ้านก็ร้องไห้เลย เสียดาย แต่พอเขาออกแล้วใครจะได้ มาเชียร์เขาจริงจังตอนออกจากบ้านมา แต่ที่เขาอยู่บนเวทีก็แค่ส่งเขาขึ้นรถตั้งแต่ออกจากบ้านตามเขาตลอด ไปไหนก็ตามทุกที่ ทุกงาน ยิ่งศุกร์เสาร์อาทิตย์ยิ่งหนัก ไปซ้อมที่ไหนก็ตามไปหลายชั่วโมง แล้วเพิ่งเปิดอัลบั้มเขาไง เราก็รอ”
“เราก็ไปกับแก๊งเรา ฉันถือดอกไม้ เธอถือป้ายไฟใหญ่ๆหลายอันสีเขียว มีงานอีเวนต์ก็ใส่แต่เสื้อคลับ ให้รู้ว่าฉันเชียร์นัททิวนะ ต่างจังหวัดก็ไป นั่งเครื่องไปก็ไม่มีข้อแม้ ตารางงานเรามีอยู่แล้ว ก็โทร.เช็คเจ้าของงานหรือทางห้างเลยว่าแฟนคลับเข้าได้หรือเปล่า”
นั่นคือตำแหน่งทัพหน้าที่เธอบอกกับเราว่า ระยะทางไม่ใช่ปัญหาของเธอพร้อมทั้งยอมรับว่าแฟนคลับแต่ละคนมีจุดประสงค์ต่างกัน รับคนที่อยากอยู่ใกล้นักล่าฝันแต่สำหรับตนนั้นไม่ใช่
“ที่ตามไม่ได้อยากได้อะไร แค่อยากพูดคุยเหมือนทักทายบ้างแค่นั้น มันคืออีกสังคมหนึ่งเลย ใครจะมาคิดว่าเรียกร้องให้น้องทำนั่นทำนี่ให้แบบนี้ คุณอยากให้น้องรักหรือเปล่า แต่มันจะมีกลุ่มหนึ่งที่รักแบบต้องการให้น้องมาอยู่ใกล้ มาอยู่ด้วย มีนะ บางครั้งคนเยอะก็วุ่นวายบ้าง แต่ทะเลาะกันอย่างไรถึงเวลาก็มาเชียร์น้อง”
“เราเองก็ตามเท่าที่พอจะตามได้ ค่าใช้จ่ายก็เยอะนะ หลักแสนไม่ได้หลักหมื่น ตั้งแต่โหวตมา บางครั้งก็บ่นว่ากรอบแกรบแล้ว แต่ก็มีไปต่างจังหวัด ยิ่งน้องเปิดตัวอัลบั้มใหม่ ยิ่งมีไปคอนเสิร์ตเยอะมาก ”
แอนยอมรับว่าแฟนคลับมีความสำคัญกับนักล่าฝัน เศรษฐกิจที่ซบเซาไม่ได้ทำให้คนรักเอเอฟ ทุ่มน้อยลง…“คนที่เขาเคยให้ก็ไม่กระทบนะ แฟนคลับมีหลายกลุ่มคนไหนเคยให้ก็จะให้แบบไม่มีข้อกังขา หิ้วกันทีเยอะแยะไปหมดของน้องนัททิวน่ะ แต่เราเองเรากระทบนะ บอกน้องเลยว่าเราไม่ค่อยได้ซื้อซึ่งน้องเขาก็เข้าใจ”
ปั่นกระทู้-บิลต์โหวต กระบวนการซุ่มโหวต
Pantip.com รวมไปถึงเว็บของแฟนคลับแต่ละเว็บ ที่เรียกต่างกันไป ทั้งบ้าน รัง ร้านกาแฟ (แล้วแต่แฟนคลับจะเลือกใช้) แต่ละหลังมีการตกแต่งเว็บ ปั่นกระทู้ โพสต์รูป ส่งคลิป ทุกอย่างที่นักล่าฝันที่ตนเองชอบ กระบวนการเริ่มตั้งแต่สร้างเว็บไซต์ตั้งแต่นักล่าฝันเริ่มเข้าบ้าน อีกทั้งนัดโหวตในบอร์ด เพื่อให้นักล่าฝันรอดปากเหว จนกระทั่งจบซีซัน
“คือบอร์ดเนี่ยไม่มีคนนั่งประจำนะ” ..คนดูแล www.nat-tol.com บอกกับเราแบบนั้น โดยระดับคนเข้าเว็บ ณ วันที่ 19 ก.ค.2007 อยู่ที่ประมาณ 10,000 คนมาถึงปัจจุบันก็ลดลงไม่มากนัก ภายในเว็บจะเป็นเว็บบอร์ดกระทู้ รายงานส่งข่าวการจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงมีให้โพสต์รูปหรือคลิปให้แฟนคลับได้โหลดกันในเว็บได้ โดยในกลุ่มแฟนคลับก็ไม่ได้มีการตั้งกลุ่มตั้งทีมในการจัดทำเป็นทางการ แต่ที่ทำขึ้นก็ด้วยความชื่นชอบส่วนในเรื่องการปั่นกระทู้ คือเป็นการคุยกันในกระทู้ด้วยคนไม่กี่คน อาจจะ 1-2 คนเท่านั้น เพื่อที่จะทำให้ดูว่ากระทู้นั้นมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา บางกระทู้ก็มีความคิดเห็นเป็นร้อย แต่คุยกันจริงๆ ไม่กี่คน นั่นเรียกว่าการ “ปั่นกระทู้”
ฟากเว็บของรอน ชื่อเล่น “ผึ้ง” วัย 42 ลูก 2 คน รับหน้าที่ดูแลระบบ บิลต์โหวตบอกกับเราว่าแต่ละสัปดาห์เธอจะมาผลักดันให้แฟนคลับของ “รอน เอเอฟ 5 “โหวต แต่การโหวตที่ว่าไม่ใช่หลับหูหลับตา แต่มีที่หมายเป็น 5 อันดับสุดท้ายของแต่ละสัปดาห์
“บิ้ลต์โหวตคือการชวนกันมาโหวต มีกระบวนการ ไม่โหวตมั่ว แบบไม่ให้รอนติด 1 ใน 5 ระดับต้น ไม่ให้รั้งท้ายแต่ 3 -5 อันดับสุดท้าย อย่างที่เราดูขึ้นมาเนี่ยส่วนใหญ่ที่ขึ้นอันดับแรกๆเนี่ย แฟนคลับที่โหวตโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ แต่ถ้าคนที่เล่นเป็นจะมาโหวตกันหลังเที่ยงคืนวันศุกร์ เพราะว่าคะแนนไม่โชว์ เหมือนเอาเงินลงไป 10 บาท แต่อีก 90 บาท กั๊กไว้ก่อน ต้องมีจังหวะการโหวต บางพวกถ้ารักแล้วรักเลย ร้องห่วยกูโหวตว่างั้นเถอะ พวกนี้คือแฟนคลับจัดตั้ง ในบอร์ดนัดมาเลยว่ากี่โมงเราก็บิลต์ไปว่า กี่โหวต เซต A B C D ใครก็โหวต แบ่งออกมา มีหลังไมค์บอกกับแฟนคลับในรายละเอียด ให้เปอร์เซ็นต์มันขึ้น”
กระบวนการสามทัพของเหล่าบรรดาแฟนคลับเอเอฟนั้นได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่ซีซันแรกๆ แล้ว แม้ว่าจะยังดูไม่ชัดเจนในช่วงปีที่ 1-2 อย่างป้ายไฟหรืออุปกรณ์เชียร์ที่ทุ่มทุนเทใจกันอย่างไม่มีอั้น หรือระบบการโหวตที่ลึกซึ้งเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาได้ แม้ว่ากระแสเอเอฟดูจะค่อยๆ เบาบางลง ในขณะที่กลุ่มแฟนคลับยังคงเหนียวแน่นคงกระพัน เหมือนเป็นการสืบทอดมรดกสามทัพต่อๆ กันจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนในซีซันนี้จะเป็นอย่างไร เราทุกคนคงต้องคอยติดตามดูผลงานเส้นทางล่าฝันของพวกเขาต่อไป