xs
xsm
sm
md
lg

“ออฟฟิศซินโดรม” ภัยร้ายวัยทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุณเป็นอีกคนหนึ่งใช่ไหมที่ทำงานในออฟฟิศกว่า 8-10 ชั่วโมงต่อวัน อาการปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ หากพูดถึงอาการเหล่านี้มักจะเกิดกับคนที่ทำงานนั่งหลังขดหลังแข็งอยู่ในออฟฟิศทั้งวัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ออฟฟิศซินโดรม” (Office Syndrome)

ภัยของโรคนี้มีโอกาสเกิดได้กับคนที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ในวัยเริ่มทำงาน เมื่อร่างกายถูกใช้งานหนักเกินไปร่างกายจะเกิดภาวะของความที่ไม่สมดุลได้ เมื่อไหร่ที่รู้สึกมีอาการปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดบ่า ไหล่ แล้วปล่อยวันเวลาให้มันผ่านล่วงเลยไปอาจทำให้เกิดอาการเรื้อรังจนกลายเป็น “ภาวะกระดูกเสื่อม” หรือ “ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง” ได้

ดร.มนต์ทณัฐ (รุจน์) โรจนาศรีรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ไคโรแพรคติก ไคโรฟิต กล่าวว่า อาการออฟฟิศซินโดรม เกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวกระดูกสันหลังที่ผิดรูป โครงสร้างของร่างกายจึงกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง จนกลายเป็นอาการของออฟฟิศซินโดรม โรคที่เกิดกับคนทำงานออฟฟิศ

กลุ่มเสี่ยงออฟฟิศซินโดรม

อาการของออฟฟิศซินโดรมไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่พนักงานออฟฟิศเท่านั้น แต่เชื่อหรือไม่ นักวิ่ง นักกอล์ฟ นักมวย นักแข่งรถยนต์ แม้กระทั่งนักแสดง ยังมีอาการของออฟฟิศซินโดรม เพราะลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันของทุกๆ อาชีพทำให้ลักษณะของโครงสร้างกระดูกสันหลังผิดรูปไปจากเดิม

“ร่างกายของคนเราก็เปรียบเหมือนกับต้นไม้ ไม่ว่าจะดัดไปทางไหนก็ได้ แต่อยู่ที่ว่าจะเป็นไปในทางที่ถูกหรือผิดแค่นั้นเอง ทุกอาชีพจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการของออฟฟิศซินโดรม”

ไคโรแพรคติก ศาสตร์บำบัดอย่างธรรมชาติ

เมื่อเกิดอาการของออฟฟิศซินโดรม หลายคนอาจเลือกวิธีการรักษาด้วยวิธีการรับประทานยาแก้ปวด หรือการผ่าตัด ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีที่จะทำให้หายขาดจากการเกิดอาการได้อย่างถาวร เพราะการเกิดอาการของออฟฟิศซินโดรมนั้นเกิดจากความสัมพันธ์ของโครงสร้างกระดูกสันหลังและระบบของร่างกายที่เชื่อมโยงกันระหว่างเนื้อเหยื่อ

ศาสตร์ทางการแพทย์แบบไคโรแพรคติกจึงออกแบบให้มีการจัดแนวของกระดูกสันหลัง ที่ทำการแก้ไขโครงสร้างที่ผิดปกติให้กลับคืนสู่สภาพเดิม จากการทำกายภาพบำบัด การนวด การออกกำลังกายที่เหมาะสม และปรับลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวันให้ถูกต้องตามหลักธรรมชาติของร่างกาย

ป้องกันก่อนสายเกินแก้

คุณคงไม่อยากให้อาการของออฟฟิศซินโดรมเกิดกับคุณในช่วงอายุที่ยังน้อยอย่างนี้ ดังนั้นควรดูแลโครงสร้างของร่างกายคุณให้ดี ด้วยการหันมาใส่ใจทุกๆ อิริยาบถในการเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ อย่างน้อยทุก 1-2 ชั่วโมง และจัดร่างกายให้อยู่ในท่วงท่าที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น การนั่ง ยืน เดิน นอน รวมถึงการออกกำลังกายที่ถูกวิธีและเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ

แต่หากอาการเหล่านี้ได้เกิดขึ้นกับคุณแล้ว หลังการได้รับการจัดกระดูกให้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ก็ควรดูแลตัวเองอย่างดีเพื่อความมั่นคงและความสมบูรณ์ของโครงสร้างที่ถูกต้อง และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายบริเวณหน้าอก หลัง ไหล่ ขา อาจจะด้วยการว่ายน้ำ ปั่นจักรยานก็จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อของคุณให้กลับมาอยู่ในสภาพพที่เป็นปกติได้

นอกจากนี้ ดร.มนต์ทณัฐ (รุจน์) ทิ้งท้ายอย่างน่าคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ There’s no shortcut การออกกำลังกายไม่มีทางลัด เพราะสิ่งที่คุณทำคือสิ่งที่คุณจะได้ ดังนั้นควรเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีและท่วงท่าในการดำเนินชีวิตให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการ “ออฟฟิศซินโดรม” มาเยือนตัวคุณได้




ดร.มนต์ทณัฐ (รุจน์) โรจนาศรีรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ไคโรแพรคติก  ไคโรฟิต

กำลังโหลดความคิดเห็น