xs
xsm
sm
md
lg

1 ปี 1 เดือน นาร์กีส...อธิษฐานกับความตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



 
     หลังจากหอบหิ้วความเร็วลมอันบ้าคลั่งราว 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กลืนกินและปลิดลมหายใจผู้คนนับแสนชีวิตแถบปากแม่น้ำอิรวดีไปอย่างราบคาบ ตราบจนบัดนี้ 1 ปี 1 เดือนให้หลัง พิษสงของไซโคลน 'Nargis' ยังคงสร้างรอยแผลร้าวลึกให้กับผู้ที่หลุดรอดจากกรงเล็บมหาวายุ 

 
     ‘ปริทรรศน์’ ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวบางแง่มุมของชีวิตที่ยังดำเนินต่อไป พร้อมสภาพจิตใจที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นฟู ....ไม่น้อยไปกว่าซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือน

                 ..................

เรื่องเล่าจากปากแม่น้ำ

     “สภาพจิตใจของพวกเขายังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะคนที่พบกับความสูญเสียต่อหน้าต่อตา เห็นทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเต็มๆ ตา อย่างเด็กชายคนหนึ่ง อายุประมาณ 8 ขวบ เขามีน้องสาวอายุประมาณ 5 ขวบ ตอนเกิดพายุ น้องสาวของเขาร้องขอความช่วยเหลือ ร้องบอกพี่ชายว่า ‘ช่วยหนูด้วยๆ’ แต่ตัวพี่ชายก็ต้องพยายามช่วยชีวิตตัวเองก่อน เพราะมือเขาก็จะหลุด เขายังไม่สามารถปล่อยมือจากสิ่งที่ยึดไว้ได้ เขาเห็นน้องสาวค่อยๆ ลอยหายไปต่อหน้าต่อตา เด็กผู้ชายคนนี้ร้องไห้อยู่ตลอด จนทุกวันนี้เขาก็ยังซึมเศร้าอยู่”


     เป็นคำบอกเล่าจาก ‘บอมบ์’ หญิงสาวอาสาสมัครชาวกะเหรี่ยง ที่เต็มใจเดินทางเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลพม่าไม่อนุญาตให้ความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ เข้าไปถึง วิธีที่บอมบ์ใช้ คือปลอมตัวให้ดูไม่แตกต่างจากผู้คนในพม่า ซึ่งหน้าตาของเราชาวไทยและพม่าก็ไม่ได้แตกต่างกันมากมาย ทั้งอาศัยการช่วยเหลือจากเพื่อนในย่างกุ้ง ทำให้เธอสามารถเข้าไปยังหมู่บ้านที่ทางการพม่าสกัดความช่วยเหลือ

     ด้วยเหตุนี้ บอมบ์จึงขอไม่ให้เราเปิดเผยชื่อ-นามสกุล ไม่เช่นนั้นเธอจะถูกห้ามไม่ให้เดินทางเข้าพม่าอีก แต่จะชื่อเรียงเสียงใด ก็คงไม่สำคัญไปกว่าสิ่งที่เธอทำ สิ่งที่เธอพบเห็น แล้วถ่ายทอดให้เราได้รับรู้

     “อีกคนเป็นเด็กวัยรุ่น ตอนเกิดเหตุเขาไปเที่ยวบ้านแฟน ซึ่งอีกไม่นาน 2 คนนี้เขาก็จะแต่งงานกันอยู่แล้ว เด็กหนุ่มคนนี้เขาได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าเลย ว่าครอบครัวแฟนของเขาโดนพายุพัดแล้วก็โดนเศษอะไรต่างๆ ที่พายุพัดมา ฉีกร่างกายเป็นชิ้นๆ เขาเห็นเพราะขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ กอดต้นไม้เอาไว้แน่นเลย ได้เห็นภาพทุกอย่างชัด

     "เพราะฉนั้น แม้จะรอดชีวิตก็จริง แต่สิ่งที่ได้เห็นมามันก็ทำให้สภาพจิตใจเขาแย่มาก ควบคุมสติตัวเองไม่ได้ พยายามจะฆ่าตัวตาย เขาเคยขึ้นไปอยู่บนตึกสูง 6 ชั้น แล้วก็กระโดดลงมา แต่ปรากฏว่ามีกันสาดรองอยู่ เขาก็บาดเจ็บแต่ยังไม่ถึงตาย และทุกวันนี้เขาก็ยังซึมเซาอยู่ ยังมีอีกหลายคนที่อยู่ในสภาพจิตใจย่ำแย่ โดยเฉพาะคนที่เขาเห็นความสูญเสียไปต่อหน้าต่อตา ซึ่งทุกคนต้องการเวลาอีกเยอะในการฟื้นฟูสภาพจิตใจ”


     นอกจากความสูญเสียของเด็กหนุ่มต่างวัยแล้ว บอมบ์เล่าเพิ่มเติมถึงสภาพจิตใจที่บอบช้ำของคนในวัยอื่นๆ ที่เธอได้พบ
 
     ดังกรณีของครอบครัวหนึ่ง แม่มีลูกอยู่ 5 คน ตลอดเวลาที่เกิดพายุและน้ำทะเลท่วมสูง แม่พยายามยึดมือของลูกๆ ไว้แน่นมาก ไม่ยอมปล่อย แต่เพราะต้องรอความช่วยเหลือนานถึง 12 ชั่วโมง ความเหนื่อยล้า บวกกับความหวังที่เดินทางมาไม่ถึงสักที ทำให้แม่คิดว่าคงไม่มีทางรอดชีวิตแน่แล้ว ทั้งล้าทั้งหมดเรี่ยวแรง จึงจำต้องปล่อยมือลูกๆ ไป แต่ปรากฏว่า เมื่อปล่อยมือไปไม่นาน ความช่วยเหลือก็มา เธอจึงรอดชีวิต แต่ลูกๆ ทั้ง 5 คน เสียชีวิตทั้งหมด

                 ...............

การรอคอย

     “ก่อนที่จะเข้าไปในพม่า ข่าวที่ได้รับรู้มามันก็เป็นไปในทำนองที่ว่าพายุนาร์กีสน่ากลัวมาก คนส่วนมากที่ตายก็ตายเพราะพายุ แต่เมื่อเข้าไปจริงๆ แล้ว ทำให้รับรู้ว่าเปอร์เซ็นต์ของคนที่ตาย เขาตายเพราะความอดอยาก ตายเพราะรอความช่วยเหลือต่อไปไม่ไหว มากกว่าจะตายเพราะนาร์กิส”


     ไม่ใช่แค่เรื่องราวของแม่ที่สูญเสียลูกๆ หรือพี่ชายที่จำต้องปล่อยมือน้องสาว แต่ความสูญเสียอันเนื่องมาจากการต้องรอความช่วยเหลือนานถึง 12 ชั่วโมง ท่ามกลางสภาพจิตใจและวิบัติภัยที่เลวร้าย นับเป็นเหตุปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูง

     แล้วในระหว่าง 12 ชั่วโมงอันยาวนานนั้น พวกเขาต้องพบเผชิญกับสิ่งใด? เมื่อบอมบ์ได้เข้าไปคุยกับชาวบ้านที่นั่น ทำให้ได้รู้ว่า

     “จริงๆ แล้ว ชาวบ้านเขาบอกว่าเขาได้รับข่าวจากรัฐบาลแล้ว รัฐบาลประกาศออกมาว่า วันนี้ (วันที่2 พ.ค. 2551) จะมีพายุมา ความเร็วประมาณ 60 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง ซึ่งในละแวกนั้นเขาบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดามาก สำหรับพวก เพราะปรกติแล้ว บริเวณนั้นมักจะมีพายุความเร็ว 60-80 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง เกิดขึ้นเป็นประจำ ดังนั้น ผู้คนที่นั่นจึงไม่ได้ระมัดระวัง


     “แต่ปรากฏว่า เมื่อพายุมา เกิดพายุนานถึง 3 ชั่วโมง คือเริ่มตั้งแต่บ่ายสามโมง ถึง 6 โมงเย็น จากนั้น หลังพายุเริ่มสงบ ระดับน้ำทะเลก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนประมาณ 3 ทุ่ม น้ำทะเลก็ยังเพิ่มสูงขึ้น กระทั่งสูงท่วมหัวคน”


     สรุปก็คือ มีคลื่นยักษ์เกิดขึ้นในช่วงกลางดึก ทุกคนก็เริ่มวิ่งไปรวมกันอยู่ในที่ที่เขาคิดว่าปลอดภัย

     “ชาวบ้านบอกว่ามันเป็นเรื่องยากมากสำหรับเขา แต่ทุกคนก็พยายามวิ่งไปที่นั่นให้เร็วที่สุด ซึ่งระยะทางจากบ้านไปถึงที่ที่ทุกคนไปรวมตัวกันนั้น ปรกติ เมื่อตอนไม่มีลม ไม่มีพายุ ไม่มีน้ำท่วม เขาใช้เวลาเดินเท้าแค่ 5 นาที แต่ในระหว่างที่น้ำขึ้น ต้องใช้เวลาเดินทางกันหนึ่งชั่วโมงครึ่ง กว่าจะไปถึงบ้านที่ทุกคนใช้หลบพายุ แล้วคนก็เยอะมาก ยืนออกันอยู่ ไม่มีที่จะนั่ง ”


     คนที่ตาย ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่ออกไปทำงานนอกบ้าน และตอนน้ำขึ้น ศพที่ลอยมาในหมู่บ้านนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นศพที่ลอยมาจากหมู่บ้านอื่น แล้วศพจากหมู่บ้านนี้ก็จะลอยไปที่หมู่บ้านถัดไป ซึ่งศพที่ลอยมาก็จะมีทั้งคนทั้งสัตว์เกลื่อนกันอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าตามหาดทรายหรือท้องทุ่ง

     “จะมีคนรอดชีวิตอีกมาก หากความช่วยเหลือเข้าไปทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองอาทิตย์หลังเกิดเหตุ หลายคนที่ตายเราเชื่อว่าเขาตายเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว หิวด้วย เพราไม่มีอาหารเหลืออยู่เลย ช่วงเวลาที่เกิดพายุ 3 ชั่วโมง น้ำขึ้นอีก 3 ชั่วโมง และใช้เวลาอีกกว่า 6 ชั่วโมงที่น้ำจะลด รวมแล้วคือ ราวๆ 12 ชั่วโมงเต็ม ที่พวกเขาต้องเผชิญกับความหิว ความบาดเจ็บ”


     อย่างที่รู้กันว่า ในช่วง 2 อาทิตย์แรก หลังเกิดพายุนาร์กีสพัดถล่มปากแม่น้ำอิรวดีนั้น ไม่มีใครเข้าไปในบริเวณดังกล่าวได้ เพราะว่ารัฐบาลพม่าไม่ยอมให้ต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเลย บอมบ์บอกว่า ยิ่งสีผม สีผิวแตกต่างจากชาวเอเชียแล้วล่ะก็ จะยิ่งถูกห้ามและเข้มงวดอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีใครกล้าเข้าไป?

     “พูดตรงๆ แล้ว การเข้าไปที่นั่นเป็นเรื่องลำบากมาก เพราะเราไม่สามารถติดต่อกับใครข้างนอกได้ เมื่อเข้าไปแล้วก็เหมือนกับเราต้องขาดการติดต่อเลย จะส่งข่าวถึงข้างนอกได้ ก็ทำได้เพียงแค่ส่งอีเมล์สั้นๆ เท่านั้น ไม่สามารถจะส่งภาพวิดีโอหรือภาพเคลื่อนไหวอะไรได้ เพราะฉนั้นเวลาที่เราส่งข่าว จึงมักจะเป็นข่าวที่ไม่ได้เอ่ยถึงผลกระทบอะไรมากมาย”

     บริเวณที่บอมบ์เข้าไปได้ลึกที่สุดคือหมู่บ้านที่อยู่ห่างทะเลแค่ประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งบริเวณนั้นจะมีเรือทหารเฝ้าอยู่ เพราะเป็นบริเวณชายแดน พื้นที่ที่บอมบ์เข้าไป ต้องเดินทางด้วยเรือ ซึ่งมีต้นปาล์ม ต้นมะพร้าวขึ้นหนาแน่นและทางน้ำแคบมาก ต้องใช้เรือหางยาวในการเดินทางเท่านั้น ความช่วยเหลือจากองค์กรใหญ่ๆ เข้าไปไม่ถึงและหมู่บ้านเหล่านี้ไม่อยู่ในการรับรู้ เพราะถูกปิดกั้น

     บอมบ์เล่าว่า เมื่อแรกที่เธอไปถึงหมู่บ้านที่ประสบภัยแห่งหนึ่ง ตามหาดทรายยังมีศพให้เห็นและยังมีโครงกระดูกที่มีหนังติดกระดูกอยู่ ทั้งคนทั้งสัตว์ หนึ่งเดือนผ่านไปก็ยังเก็บศพไม่หมด แม้จะเริ่มมีอาสาสมัครเดินทางเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้น ก็ยังเก็บศพไม่หมด ศพเริ่มส่งกลิ่นแรงมาก ทั้งชาวบ้านและอาสาสมัครต้องช่วยกันเก็บ ช่วยกันฝังแบบง่ายๆ เพราะรัฐบาลไม่ช่วยเลย องค์กรใหญ่ๆ ที่เข้ามาไม่ถึงพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่สามารถมาช่วยจัดการได้ และเพราะฝังศพกันแบบง่ายๆ เท่าที่กำลังความสามารถจะทำได้ เมื่อถึงเวลาเพาะปลูก เริ่มไถนาไปได้ไม่เท่าไหร่ โครงกระดูกก็โผล่พ้นดินมาให้เห็นเป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้าน

     “เขากลัวจนไม่รู้จะกลัวกันยังไงแล้ว”

                  ...............

ภัยแฝง


     เป็นตลกร้ายที่หัวเราะไม่ออก เพราะใช่จะมีเพียงความช่วยเหลือที่ถูกปิดกั้น แต่ยังมีความลักลั่น ไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่ไหลบ่ามาอย่างมากมายด้วย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ หมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งบอมบ์ขอไม่เปิดเผยชื่อหมู่บ้าน เพื่อความปลอดภัยของผู้คนที่นั่น

     “สิ่งที่เราเห็นในการรายงานข่าวจากโทรทัศน์ กับความเป็นจริง มันคนละเรื่องกันเลย มันกลายเป็นเรื่องตลก ยกตัวอย่างเช่น ทางการเขานำผู้ประสบภัยไปไว้ในเต็นท์ที่สร้างไว้สำหรับให้พักพิงชั่วคราว คือในโทรทัศน์ เราจะเห็นเขานำสิ่งของต่างๆ ไปแจกชาวบ้าน แต่จริงๆ แล้ว อะไรที่เป็นสิ่งมีค่า เจ้าหน้าที่รัฐก็จะยึดคืน เราก็พูดไม่ออก แล้วก็ทำอะไรไม่ได้


     "หรือกรณี ‘รถไถ’ ที่มีผู้บริจาคให้กับผู้ประสบภัย แล้วมีการเผยแพร่ภาพออกอากาศ ปรากฏว่าจริงๆ แล้ว เขาก็ให้ชาวบ้านจริงๆ นั่นแหละ แต่เขาให้ไปเฉพาะตัวเครื่องนะ คือมีแต่โครงข้างนอก แต่เครื่องยนต์กลไกต่างๆ ข้างในและเชื้อเพลิง ชาวบ้านต้องหาซื้อเอาเอง และทุกคนที่รับเครื่องนี้ไปจากรัฐบาลก็จะเป็นหนี้รัฐบาล คนละหลายแสนจั๊ต และต้องใช้คืนภายในสามปี แบ่งเป็นสามงวด ก็คือ ปีละงวด เพราะฉนั้นภาพที่เห็นในทีวีว่าทางการเขาแจก แต่จริงๆ แล้วชาวบ้านไม่ได้รับอะไร”


     นอกจากอาสาสมัครสาวใจดีอย่างบอมบ์แล้ว ‘ทู โพ’ ชายชาวกะเหรี่ยงวัย 54 ปี อาสาสมัครและตัวแทนจาก มูลนิธิคริสเตียนบริการ เป็นอีกคนหนึ่งที่เดินทางเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัย และให้เกียรติพูดคุยกับเราในวาระครบรอบ ‘1 ปี 1 เดือน นาร์กีส’

     แม้ในประเด็นอันว่าด้วยความลักลั่นของรัฐบาลพม่า ความเห็นของทู โพ จะมีให้เพียงระดับแตะผิวน้ำ ต่างจากบอมบ์ที่อาจเก็บเกี่ยวและบอกเล่าภาพความลักลั่นในเชิงลึก เพราะเธอปลอมตัวและไม่เปิดเผยชื่อ แต่สำหรับทู โพ แล้ว การเดินการทางเข้า-ออกพม่า เป็นไปอย่างเปิดเผย ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ เพราะไปในนามองค์กรศาสนาเพื่อทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ให้องค์กรคริสตจักรได้รับทราบเพื่อดำเนินการ ติดต่อประสานงานกับนานาชาติ เพื่อขอความช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบภัย

     อย่างไรก็ดี บางคำบอกเล่าจากทู โพ ก็ยังแฝงไว้ด้วยคำถามในการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ประสบภัย เป็นต้นว่า

     “ได้ข่าวมาหลายอย่าง เช่น ถ้าสร้างเต็นท์ เขาก็สร้างชั่วคราวแล้วก็ถอนออก แล้วก็บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารต่างๆ ที่ส่งไป เขาก็อาจจะเก็บครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งไว้ซื้อขาย เก็บไว้ให้คนมีเงินมาซื้อ ก็ถ้ารัฐบาลเขาอยากจะทำ แล้วจะพูดยังไงล่ะ รัฐบาลพม่าเขามีอำนาจสูงมาก ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ได้แต่หวังว่า พวกเขาก็ต้องทำความเข้าใจกัน ระหว่างรัฐบาล องค์กรเอกชนต่างๆ และผู้นำชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน


     “ความช่วยเหลือมีเข้าไปเยอะมาก แต่จะเข้าไปถึงได้ลึกแค่ไหนผมก็ไม่แน่ใจ แต่ก็รู้ข่าวมาว่า เงินช่วยเหลือจากนานาชาติที่มีเข้ามาประมาณ 100 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นหมื่นกว่าล้าน ก็อยู่ในมือของรัฐบาล ซึ่งเขาบอกว่าจะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ตอนนี้เงินช่วยเหลือจากองค์กรอื่นๆ ไม่มีมาแล้ว เพราะแต่ละองค์กรเขาก็กลัวว่าเงินจะไปไม่ถึงผู้ประสบภัย เหมือนกรณีเงิน 100 กว่าล้านดอลลาร์ในช่วงแรก ที่ยังอยู่กับรัฐบาล”


     นอกจากนี้ ทู โพ ยังแสดงความเห็นเพิ่มเติมถึงปัญหาใหญ่ที่ควรใส่ใจ โดยยืนยันว่า

     “อย่างแรกสุดเลย ผมมองไปที่เด็ก เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ เด็กๆเขาไม่มีที่เรียนเลย โรงเรียนเสียหาย เท่าที่ผมได้เห็นมา ความช่วยเหลือเกี่ยวกับเด็กเหล่านี้ก็มีบ้าง อย่างการสร้างเต็นท์ให้เป็นที่พัก ให้เขาได้มีที่เล่น ที่เรียน มีอาหารให้ทาน และมีครูอาสาสมัครมาสอนหนังสือบ้าง”


     แต่จะสร้างศูนย์สำหรับเด็กขึ้นมาแบบถาวรเลยคงไม่ได้ เพราะรัฐบาลก็สั่งให้ผู้ประสบภัยย้ายออกจากพื้นที่พักพิงกลับไปยังที่เดิมของตัวเองแล้ว จากแรกเริ่มที่ยอมให้ผู้ประสบภัยมาพัก เนื่องจากแต่ละหมู่บ้านยังมีศพเกลื่อนกลาด และเพื่อหนีจากปัญหาน้ำดื่มไม่สะอาด รวมถึงหวั่นกลัวระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นอีก แต่แล้วไม่นานนัก รัฐบาลก็สั่งย้ายผู้ประสบภัยให้กลับไปยังหมู่บ้านเดิม

     ทู โพ แสดงความเห็นที่ไม่อาจมองข้าม ต่อกรณีดังกล่าว

     “เหตุผลที่เขาสั่งย้ายผู้ประสบภัยกลับไปในพื้นที่ประสบภัย ก็อาจจะเป็นเพราะรัฐบาลพม่าไม่อยากให้ชาวต่างชาติเข้าถึง คือ ถ้าหากยังมีศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบภัย ความช่วยเหลือจากนานาชาติก็จะมาถึงได้ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าหากไม่มีศูนย์ฯ ที่ว่านี้ ผู้ประสบภัยก็ต้องกลับไปอยู่ตามหมู่บ้าน ความช่วยเหลือที่ถูกส่งมาจากองค์กรต่างๆ ก็จะต้องถูกส่งผ่านรัฐบาล หรือถ้าหากจะเข้าไปเองก็ต้องเดินเท้าเข้าไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วก็ต้องเดินทางต่อด้วยเรือเท่านั้น ใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะไปถึงแต่ละพื้นที่ การเดินทางลำบาก”

                   ................


วันนี้...เดินต่อ

     “มีคำกล่าวที่ว่า เมื่อ 50 กว่าปีก่อน ประเทศพม่าพัฒนามากกว่าประเทศไทย 50 เท่า แต่วันนี้ คนพม่าเหมือนเดินอยู่ในความมืดที่ไม่รู้อนาคต มองไม่เห็นอะไร...

     “พี่น้องผู้ประสบภัยเหล่านี้ ขาดโอกาสหลายสิ่งหลายอย่าง เพราะฉนั้น ถ้ามีโอกาสช่วยให้เขาได้พัฒนาขึ้นได้ก็เป็นสิ่งดี ยิ่งสำหรับเด็กๆ ที่เขากำพร้าพ่อแม่

     "เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ พม่าเป็นประเทศปิด เมื่อปิดประเทศก็ทำให้หลายสิ่งหลายเอย่างเป็นเรื่องลำบากมาก พูดถึงความหวัง ก็มีน้อย ตราบที่พวกเขายังอยู่อย่างนั้น จนกว่าพวกเขาจะมีอิสระมากขึ้น”


     ทู โพ ได้รับสัญชาติไทยแล้ว เขามาอยู่ไทยได้นับ 40 ปี แต่ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยงที่มีพื้นเพอยู่ฝั่งไทยหรือพม่า ก็ไม่สำคัญหรอก เพราะ...

     “เมื่อก่อนเราก็ข้ามไปมาหาสู่กัน ไม่มีหรอกเส้นแบ่งว่านี่ฝั่งไทยนั่นฝั่งพม่า ผมเข้าไปเรียนภาษาในพม่า เพื่อนพม่าก็เข้ามาฝั่งไทย เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น” ทู โพ เอ่ยกับเราด้วยน้ำเสียงสบายๆ


     การถามไถ่ถึงท่าทีหรือการปฏิบัติที่ทางการพม่ามีต่อประชาชนคล้ายเป็นหนังม้วนเก่าที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนฟิล์มเริ่มขาดและเปื่อยยุ่ย เพราะคงไม่เกินเลยความจริงไปมากนัก หากจะกล่าวว่า คนตัวเล็กๆ อย่างอาสาสมัครทั้งสอง คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายของผู้นำพม่าได้

     แม้ชีวิตของพี่น้องผู้ประสบภัยที่นั่นจะยากลำบากหรือต้องทนทุกข์จากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้นำประเทศของตนสักเพียงใด นั่นไม่ใส่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก เพราะสำหรับบอมบ์ และทู โพ มีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่านั้น

     “อุปสรรคจากรัฐบาลพม่าเป็นอะไรที่เรารู้ๆ กันดีอยู่แล้ว จะขอไม่พูดถึง แต่อุปสรรคสำคัญนอกเหนือไปจากนั้น ก็คือการคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเดินทางที่ต้องใช้เรือ ถ้าไม่มีคนรู้จัก เราจะหาเรือเพื่อเดินทางเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ยากมาก ถ้าเราเข้าไปไม่ถึง พวกเขาก็ไม่สามารถออกมารับความช่วยเหลือได้ ไม่สามารถออกมาหาอาหารได้เลย เพราะเรือของเขามันพัง เสียหายไปหมดแล้ว เมื่อครั้งที่เราเข้าไปถึง ก็ช่วยกันกู้เรือของเขาขึ้นมา สภาพที่เห็นคือมันเป็นเรือที่พร้อมจะล่มได้ตลอดเวลา แต่เราก็ไปถึงที่หมายได้ในที่สุด เพราะมีชาวบ้านคนหนึ่งเขาคอยวิดน้ำออกจากเรือตลอดเวลา

     "ลักษณะของหมู่บ้านที่ไปครั้งนั้น ก็คือ ทางน้ำมันแคบมาก เรือไม่สามารถจะแล่นสวนกันได้ เข้าไปได้ทีละลำ แล้วถ้าเรือจะเลี้ยวกลับมาก็ยาก ต้องมีคนลงไปในน้ำแล้วค่อยๆ หมุนหัวเรือกลับมา เป็นอะไรที่ยากลำบาก ” บอมบ์ บอกเล่าถึงการเดินทาง

     1 ปี หลังวิบัติภัยนาร์กิส  บอมบ์ และ ทู โพ ยังคงเดินทางเข้าไปในพม่าอย่างต่อเนื่อง ทั้งเธอและเขาจะเดินทางไปยังพื้นที่ประสบภัยอีกในราวปลายปีนี้

     จากคำบอกเล่าของทั้งคู่ ชาวบ้านเริ่มเพาะปลูกได้แล้ว แม้ข้าวที่ได้จะยังไม่มากมายอย่างที่หวังแต่ก็พอประทัง บ่อน้ำบาดาลที่ช่วยกันขุดก็เริ่มมีน้ำให้ดื่มกินได้ ถ้วยชาม ภาชนะจำเป็น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากพี่น้องชาวไทยยังมีส่งให้อย่างต่อเนื่อง แม้สภาพจิตใจของผู้ประสบภัยจำนวนไม่น้อยยังน่าเป็นห่วง เพราะพวกเขายังหวาดผวาคลื่นลม และภาพความตายของบุคคลอันเป็นที่รักยังคงฉายชัด

 
     ในท่ามกลางระบอบเผด็จการอันบ้าคลั่ง และความช่วยเหลือที่ประเดประดังจากนานาชาติซึ่งมีทั้งที่ถูกส่งไปถึงและไม่ถึงมือผู้ทุกข์ยาก อาสาสมัครอย่างบอมบ์ และทู โพ ก็ไม่ท้อ ทั้งไม่ขอฝากความหวังใดไว้กับผู้นำพม่า ไม่ฟูมฟายต่อวิบัติภัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม พวกเขาเพียงเชื่อมั่นในแรงอธิษฐานและความเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดังที่บอมบ์ย้ำทิ้งท้ายกับเรา

     “จากที่ได้เห็น ยอมรับว่าทุกองค์กรให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ ทำทุกอย่างกันได้ดีมากๆ ทุกคนทุ่มเทและร่วมแรงร่วมใจกัน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ หรือเป็นองค์ในนามศาสนาใดก็ตาม อยากให้กำลังใจว่าอย่าเพิ่งท้อ พยายามกันต่อไป เพราะสิ่งที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญคือ ทำอย่างไร ความช่วยเหลือจึงจะเข้าไปถึงผู้ประสบภัยจริงๆ”


     ต่อเมื่อพยายามอย่างเต็มที่แล้ว...

     “อธิษฐานเผื่อพวกเขา”

     คือภารกิจของอาสาสมัครตัวเล็กๆ คนนี้

                    ..............

เรื่องโดย : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
เอื้อเฟื้อภาพ : ทู โพ

















กำลังโหลดความคิดเห็น