ในยุคสมัยที่ท้องฟ้ามืดดำไปด้วยหมอกควัน เปลวไฟจากไฟแช็กร้อนแรงราวกับจะแผดเผา สิงห์อมควันค่อยๆ บรรจงจ่อปลายบุหรี่เข้ากับดวงไฟ เมื่อจุดติดดีแล้วจึงโยนไฟแช็กไว้ที่กลางโต๊ะ แล้วนั่งจมลงบนโซฟา สองแขนก่ายพนักพิง ในมือคีบบุหรี่ด้วยท่วงท่าที่สาวๆ เห็นคงอ่อนระทวยกันเป็นแถบ แล้วเคลื่อนบุหรี่ในมือมาอุดปากไว้ สูบเข้าไปแล้วพ่นควันสีเทากระจัดกระจายขึ้นฟ้า
จน...เครียด...กลุ้ม...เซ็ง...คิดไม่ออก...อัดบุหรี่อีกเฮือกหนึ่งให้ควันไหลออกจากรูจมูกพรั่งพรู แล้วบดขยี้ส่วนที่เหลือลงกับจานเขี่ยจนแหลกละเอียด แล้วแอบกระแอมไอออกมาเบาๆ
ดูเหมือนนี่จะเป็นหนทางง่ายๆ ที่หลายคนใช้เขี่ยทุกข์ออกจากอก แต่ในความจริงแล้วความทุกข์นั้นไม่ได้ห่างหาย แถมยังได้โรคภัยไม่ได้รับเชิญแบกเพิ่มเป็นภาระ
และในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันรณรงค์งดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) ‘ปริทรรศน์’ จึงขอนำเสนอสถานการณ์บุหรี่ต่อสาธารณชนและสังคมไทย
เลิกซื้อ เลิกสูบ ?
การขยายเพดานจัดเก็บภาษีบาปจากบุหรี่ มีผลทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นประมาณ 11 -16 บาทต่อซอง ซึ่งบุหรี่ไทย เช่น สายฝน กรองทิพย์ กรุงทอง ปรับเพิ่มซองละ 11 บาท โดยราคาปัจจุบันอยู่ที่ซองละ 45 บาท เสียภาษีอยู่ที่ 23.92 บาทต่อซอง โดยอัตราใหม่จะทำให้ราคาขึ้นไปที่ซองละ 56 บาท และเสียภาษีซองละ 34.92 บาท
ส่วนบุหรี่นอก เช่น แอลเอ็มจะปรับเพิ่มซองละ 12 บาท และมาร์ลโบโรจะปรับเพิ่มซองละ 16 บาท จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ซองละ 63 บาท เสียภาษีที่ซองละ 32.68 บาท อัตราใหม่จะทำให้ราคาปรับเพิ่มเป็นซองละ 79 บาท และเสียภาษีซองละ 48.60 บาท
ในกรณีนี้อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้สิงห์อมควันหลายคนอยากจะเลิก (ซื้อ) บุหรี่เพื่อลดค่าใช้จ่าย
“เลิกซื้อแล้วครับ แต่ยังไม่เลิกสูบ” แซ้ง พ่อค้าขายอาหารตามสั่งพูดด้วยสีหน้าแอบเซ็งหลังจากราคาบุหรี่พุ่งสูงขึ้น
“ใช้บริการบุหรี่แบ่งขายอยู่ครับ ไม่มีตังค์ซื้อเป็นซอง” ฮอลล์ เด็กหนุ่มในชุดนักศึกษาที่ต้องใช้บริการบุหรี่แบ่งขาย
“ใบจาก+ยาเส้น ตราแมวแดงสูบได้จนปอดพัง” เตี๊ยม ชายหนุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากราคาบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นจึงต้องหันเหจากการสูบบุหรี่ไปมวนยาเส้นแทน
การสูบบุหรี่นั้นเป็นพฤติกรรมของความเคยชิน ถ้าว่ากันตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์แล้ว การสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมโหยหาความสุขในวัยเด็ก เนื่องจากระหว่างที่มีพัฒนาการทางจิต ทำให้พวกเขาติดอยู่ที่ความสุขทางปาก เหมือนเด็กติดนมแม่ บวกกับพฤติกรรมของเด็กผู้ชายที่ติดแม่มากกว่าเด็กผู้หญิง จึงทำให้กลุ่มผู้สูบบุหรี่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอย่างเห็นได้ชัด สรุปก็คือกลุ่มผู้ชายที่ติดบุหรี่ก็คือกลุ่มผู้ชายที่โหยหาความรักจากแม่นั่นเอง
แต่เมื่อเติบโตขึ้น สังคมไม่ได้ยอมรับพฤติกรรมของผู้ชายที่ติดนมแม่ การหาบุหรี่มาสูบในเวลาเครียดๆ ก็เพื่อทดแทนความสุขทางปากที่มีมาแต่ดั้งเดิมนั่นเอง ประกอบกับคนเรามักมีพฤติกรรมถดถอยสู่วัยเด็ก เวลาที่เผชิญกับความเครียดที่ยากจะเอาชนะได้ ดังนั้นจึงพบอยู่เสมอๆ ว่า เวลาที่คนพวกนี้เครียด จะต้องมองหาบุหรี่มาจุดสูบระบายความเครียด
เคยชินกับนิโคติน
เคยถามบางคนที่สูบว่าทำไมไม่เลิก ก็เคยได้คำตอบว่า
"ลงทุนสูบมามากแล้ว จะเลิกก็เสียดาย"
"คนที่สูบไม่เห็นเป็นอะไร คนที่เลิกแล้วตายเร็วกว่าคนที่สูบอีก" หรือ
"เลิกบุหรี่แล้วทำให้อ้วน"
ซึ่งเหตุผลต่างๆ ที่นำมาแก้ตัวนั้น ความจริงแล้วเป็นการติดสารนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่นั่นเอง
ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี กล่าวว่า การติดบุหรี่เป็นการติด 2 ทางร่วมกันคือ การติดทางร่างกาย และการติดทางจิตใจ
“การติดทางร่างกาย คือการที่ร่างกายติดสารนิโคติน เกิดจากการสูบบุหรี่อยู่เป็นประจำจนร่างกายติดสารนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดที่อยู่ในบุหรี่ เมื่อหยุดสูบบุหรี่สารนิโคตินในร่างกายจะลดลงทำให้เกิดอาการขาดนิโคติน ได้แก่ อาการหงุดหงิด กระวนกระวาย คิดอะไรไม่ออก ต้องหาบุหรี่มาสูบเพื่อเติมนิโคตินให้เพียงพอดังเดิม เมื่อหยุดสูบบุหรี่ภาวะเสพติดทางร่างกายจะค่อยๆหายไปในเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ดังนั้น ถ้าเราสามารถทนหยุดสูบบุหรี่ได้เพียง 3-4 สัปดาห์ ร่างกายของเราก็จะพ้นจากภาวะติดบุหรี่
“การติดทางจิตใจ คือการสูบบุหรี่จนติดเป็นนิสัย เกิดจากการเรียนรู้ว่าการสูบบุหรี่ทำให้หายเครียด เพลิดเพลิน หายเบื่อ สมองแล่น ทำให้เกิดการติดอกติดใจอยากสูบเรื่อยๆ จนติดเป็นนิสัยหรือเป็นความเคยชินอย่างหนึ่ง เมื่อไรที่รู้สึกเครียดหรือเบื่อๆ ก็จะคิดถึงบุหรี่
"ภาวะเสพติดทางจิตใจเป็นสาเหตุสำคัญของการกลับมาสูบใหม่หลังจากเลิกได้แล้ว ดังนั้น ผู้ที่พยายามเลิกสูบบุหรี่และผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว ยังต้องปฏิบัติตนเพื่อการเลิกสูบบุหรี่ต่อไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นนิสัยหรือเป็นความเคยชินอันใหม่ที่ไม่มีการสูบบุหรี่”
นอกจากนั้น ผศ.นพ.สเปญยังบอกอีกด้วยว่าความจริงแล้วการต่อสู้กับการติดทางใจมีหลายวิธี หลีกเลี่ยงสิ่งยั่วยุ หรือกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความอยากสูบบุหรี่ เช่น ไม่พกบุหรี่ติดตัว ทิ้งอุปกรณ์สูบบุหรี่ทั้งหมด ไม่เข้าใกล้คนที่กำลังสูบบุหรี่ เลือกที่นั่งในบริเวณที่ห้ามสูบบุหรี่ ถ้าดื่มกาแฟหรือเหล้าแล้วอยากสูบบุหรี่ก็ให้หยุดดื่มหรือเปลี่ยนไปดื่มอย่างอื่นแทน
“ควรเบี่ยงเบนความสนใจ โดยหาวิธีอื่นๆ ในการจัดการกับความเครียด วิธีจัดการกับความเครียดนั้นมีมากมายหลายวิธี บางคนใช้วิธีดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา บางคนใช้วิธีปิดห้องแล้วตะโกนดังๆ แต่คนที่สูบบุหรี่มีวิธีที่ง่ายและรวดเร็วกว่านั้นคือสูบบุหรี่ ไม่ว่าเครียดจากอะไรก็ตามสูบบุหรี่แล้วจะสบายไปสักพักหนึ่งอย่างทันอกทันใจ ทำให้ไม่สามารถทนใช้วิธีอื่นๆ ซึ่งอาจจะได้ผลเช่นกันแต่ช้ากว่า
“ดังนั้น ผู้ที่ใช้บุหรี่เพื่อลดความเครียดและต้องการเลิกสูบบุหรี่คงต้องศึกษาหรือสังเกตดูพรรคพวกเพื่อนฝูงที่ไม่สูบบุหรี่ว่าเขาจัดการกับความเครียดอย่างไร ถึงยังมีชีวิตรอดอยู่ได้ทั้งๆ ที่เขาก็เครียดเหมือนกัน ทดลองใช้วิธีจัดการกับความเครียดแบบต่างๆ ดูแล้วจดจำวิธีที่ชอบเอาไว้ใช้
“กำหนดวันที่จะหยุดสูบอย่างเด็ดขาด เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวและทำใจ อาจจะกำหนดโดยใช้วันที่มีความหมายพิเศษบางอย่าง เช่น วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน วันเกิดลูก หลังจากนั้นให้ใช้เวลาช่วงนี้ค่อยๆ พยายามลดการสูบบุหรี่ลง โดยจำกัดจำนวนบุหรี่ที่จะสูบในแต่ละวันลงเรื่อยๆ”
บุหรี่มือสอง
บางครั้งตัวเองไม่ได้สูบแต่ต้องไปนั่งสูดควันบุหรี่ เพราะบุหรี่ไม่ได้มีผลเสียแค่ต่อคนสูบเท่านั้น ควันหลงจากบุหรี่ยังส่งผลทำอันตรายคนรอบข้างได้อย่างร้ายกาจ
ไม่รักตัวเองแล้วเอาของเสียๆ ไปเข้าร่างกายเพื่อน เอาของเสียๆ ไปเข้าร่างกายพ่อ แม่ เอาของเสียๆ ไปเข้าร่างกายสามี ภรรยา เอาของเสียๆ ไปเข้าร่างกายลูกหลาน
ไม่รักเพื่อน, พ่อ แม่, สามี ภรรยา, ลูก หลาน บ้างหรือ?
อยากให้พวกเขาตายเร็วนักหรือ?
กัมปนาท พรภิรมย์ คุณพ่อลูก 3 ที่ตัดสินใจเลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่หลายๆ คนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีว่า ‘เพื่อคนที่คุณรัก’
“ลูกคือสาเหตุสำคัญ บุหรี่ขนาดเท่านิ้วก้อย ถ้าเอาชนะมันไม่ได้ แล้วจะไปชนะอะไร” กัมปนาทพูดถึงแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขาเลิกบุหรี่ได้ แล้วเมื่อเราถามต่อไปอีกว่าจริงๆ แล้วบุหรี่เลิกยากแค่ไหน เขาก็เล่าให้ฟังว่า
“จริงๆ แล้วการเลิกบุหรี่ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะบุหรี่นั้นอ่อนกว่ายาเสพติดชนิดอื่นตั้งเยอะ เพียงแต่ใจจะแข็งพอหรือไม่ เชื่อว่าพ่อทุกคนสามารถทำทุกอย่างเพื่อลูกได้ แค่การเลิกบุหรี่ทำไมจะทำไม่ได้
“เมื่อก่อนผมสูบบุหรี่ตลอดเวลา ควันก็อบอวลอยู่ในห้อง ผมเลิกบุหรี่ด้วยแรงดลใจจากลูกเป็นสำคัญ เพราะเป็นห่วงสุขภาพลูก เวลาที่พาลูกไปไหนก็จะห้ามทุกคนที่อยู่ใกล้ไม่ให้สูบบุหรี่ด้วย อยากฝากถึงพ่อทุกคนที่สูบว่าถึงตัวเองจะไม่ตายเพราะบุหรี่ก็อาจทำให้ลูกของเราต้องได้รับอันตรายได้
“ถามว่าตอนงดสูบบุหรี่เป็นอะไรไหม บอกได้เลยว่าไม่เป็นไรเลย แล้วที่หลายคนบอกว่าเลิกไม่ได้นั่นมันเป็นเพราะความเคยชินมากกว่า ฝึกทำไปเรื่อยๆ ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ข้อสำคัญอยู่ที่อย่าท้อแท้ ถ้าต้องกลับไปสูบบุหรี่อีกอย่าไปกังวล เพราะถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่หลายคนอาจต้องใช้ความพยายามหลายครั้งกว่าจะเลิกได้"
เตือน! ก่อนบุหรี่ฆ่าคุณ
31 พฤษภาคม วันงดสูบบุหรี่โลกเวียนมาอีกหน หลายหน่วยงานพยายามออกมาร่วมกันรณรงค์เตือนพิษภัยของการสูบบุหรี่ เพื่อให้สังคมไทยปลอดควัน และช่วยหยุดเด็กไทยไม่เริ่มต้นสูบบุหรี่
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดคำขวัญรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ปีนี้ว่า ‘บุหรี่มีพิษ ร่วมคิดเตือนภัย’ จากภาษาอังกฤษ ‘Tobacco Health Warning’
“โดยแต่ละปีมีคนไทยที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 42,000 คน และพบว่าประเทศไทยมีผู้ที่อายุมากกว่า 15 ปี เสพติดบุหรี่ถึง 9.5 ล้านคน โดยเป็นเยาวชนไทยสูบบุหรี่ถึง 1,270,721 คน และพบว่าโทรทัศน์เป็นแหล่งสำคัญที่สุดที่ให้ข้อมูลพิษภัยของบุหรี่คือ 82 เปอร์เซ็นต์ ข้างซองบุหรี่ 36 เปอร์เซ็นต์ สื่อสิ่งพิมพ์ 22 เปอร์เซ็นต์ บุคลากรสาธารณสุข 21 เปอร์เซ็นต์ เพื่อน/ญาติ 18 เปอร์เซ็นต์ วิทยุ 15 เปอร์เซ็นต์ คนในบ้าน 10 เปอร์เซ็นต์ ครู 1.7 เปอร์เซ็นต์ พระ 0.8 เปอร์เซ็นต์ และสาเหตุที่สัดส่วนการได้รับความรู้จากข้างซองบุหรี่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากคนไทยที่สูบบุหรี่ครึ่งหนึ่งสูบบุหรี่มวนเอง ซึ่งไม่มีคำเตือน ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากคนไทยทุกคนร่วมใจกันเตือนพิษภัยบุหรี่
“ขณะนี้บริษัทบุหรี่ได้ทำซองให้มีสีสันเพื่อลดทอนประสิทธิภาพของคำเตือน และบางบริษัททำผิดกฎหมายด้วยการยังคงมีคำว่า light, mild หรือรสอ่อน ปรากฏอยู่บนซอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีกฎหมายห้าม ขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐาน เพื่อให้มีการจัดการตามกฎหมายต่อไป”
หยุดจุด หยุดสูญเสีย
จากนี้ ‘ปริทรรศน์’ จะเปิดเผยถึงผลกระทบของการสูบบุหรี่มาบอกให้สังคมทราบว่า ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่สูบบุหรี่ และการสูญเสียจะไม่เกิดขึ้นหากไม่เริ่มต้นสูบ อย่างไรก็ตาม หากผู้สูบเลิกได้ก่อน ร่างกายจะฟื้นตัวได้ แต่ถ้าหากไม่เลิกจะพบกับความสูญเสีย เพราะการรักษาโรคร้ายแรงจากการสูบบุหรี่ทำได้เพียงประคับประคองคนไข้ให้มีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถที่จะทำให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมได้
ชาย เมืองสิงห์ ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดสมองตีบ บอกว่า ผลพวงจากโรคเส้นเลือดสมองตีบมาจากการสูบบุหรี่ ทำให้ไปไหนเคลื่อนไหวไม่ได้ จำได้ดีว่าต้องเข้าโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม ต้นปีนี้เอง ตลอดเวลามีความตั้งใจจะเลิกสูบบุหรี่ แต่ยังเลิกไม่ได้
“ผมเคยรับปากหลวงพ่อที่นับถือว่าจะเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ แต่เลิกได้ 3 เดือนกลับมาสูบอีก เพราะเวลาเดินทางไปไหนต่อไหนมีเวลาว่างก็จะสูบบุหรี่ เวลาแต่งเพลงก็จะสูบบุหรี่ และเมื่อป่วยจึงเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด หลังเลิกบุหรี่สมองดีขึ้น ทำอะไรก็ไม่เหนื่อยมาก รู้สึกสมองปลอดโปร่ง”
ซัน ใจเผื่อแผ่ ป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง บอกว่า ตนเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่ตอนอายุ 7 ขวบ พออายุ 30 ปีเริ่มมีปัญหาเป็นโรคถุงลมโป่งพองแล้ว
“สิ่งนี้ทำให้ชีวิตเปลี่ยน ความจำก็ไม่ดี ระบบขับถ่ายก็เสีย ชีวิตต้องอยู่กับท่อออกซิเจนตลอดเป็นเวลาหลายสิบปี ถ้าไม่เลิกบุหรี่ก็คงเสียชีวิตไปแล้ว ตอนนี้ไม่ต้องใช้ชีวิตที่มีท่อออกซิเจนแล้ว”
การุญ ตระกูลเผด็จไกร ป่วยด้วยโรคมะเร็งกล่องเสียง ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงแห่งประเทศไทย บอกว่า คนที่ถูกตัดกล่องเสียงจะรู้สึกว่าตนเองหมดสภาพความเป็นมนุษย์ ชีวิตของคนที่อยู่บนเส้นทางนี้ หลายคนครอบครัวแตกแยก ตกงาน เพราะไม่สามารถสื่อสารได้
“ผมต้องใช้เวลากว่า 3 ปีถึงจะพูดได้ และในแต่ละปีต้องสะเทือนใจที่เห็นคนเป็นร้อยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ดังนั้น จึงคิดว่าสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงฯจะเป็นวิทยากรรณรงค์ไม่สูบบุหรี่เพื่อสะสมบุญดีกว่าการสะสมควันบุหรี่
“และวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ สมาคมผู้ไร้กล่องเสียงฯจะจัดกิจกรรมอบรมผู้ไร้กล่องเสียงให้เป็นวิทยากรรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ และจะเดินรณรงค์จากสะพานควายไปยังสวนจตุจักรเพื่อใช้โอกาสวันงดสูบบุหรี่โลกนี้เตือนสติประชาชนไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่”
คนทั้งโลกต่างรู้ดี เหล้าและบุหรี่ คือมือสังหารผู้เหี้ยมโหด แต่เคยสะดุดใจกันหรือไม่? ยิ่งนานวันจำนวนผู้ตกเป็นทาสของมันยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ
***********
Quit Smoking
แผ่นปะนิโคติน
การให้นิโคตินทดแทนในรูปของแผ่นปะนิโคติน หลักการคือการให้นิโคตินแก่ร่างกายในขนาดต่ำๆ เพื่อระงับอาการขาดนิโคตินแล้วค่อยๆ ลดขนาดยาลงเรื่อยๆ จนหมด สามารถใช้แผ่นปะนิโคตินได้ตลอดเวลารวมทั้งเวลานอนด้วยทำให้เมื่อตื่นขึ้นมาเราจะไม่ค่อยหิวบุหรี่
แต่การใช้แผ่นปะก็มีข้อจำกัดคือ เมื่อเริ่มใช้นิโคตินทดแทนผู้สูบบุหรี่ต้องหยุดสูบทันที การใช้ยาไปด้วยแล้วค่อยๆ สูบน้อยลงจะทำให้เลิกสูบบุหรี่ไม่สำเร็จ นอกจากนั้น ปริมาณนิโคตินโดยรวมที่ร่างกายได้รับเข้าไปอาจมากเกินไปทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น การใช้แผ่นปะจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
มะนาว
รับประทานมะนาวฝานพร้อมเปลือก เคี้ยวนานๆ 3-5 นาที จากนั้นดื่มน้ำ 1 อึก ทุกครั้งที่อยากบุหรี่ ทำให้สูบรสบุหรี่ไม่อร่อย ขม เฝื่อน จนไม่อยากสูบอีก ผลการวิจัยพบว่า ในวิตามินซีจะมีสารที่ช่วยลดความอยากของนิโคตินได้ และช่วยฟื้นฟูร่างกายที่ทรุดโทรมให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า จึงมีการนำมาใช้เพื่อช่วยเลิกบุหรี่ โดยเทคนิคการรับประทานผลไม้รสเปรี้ยวที่มีวิตามินซีสูง โดยเฉพาะมะนาว พบว่า เมื่อนำไปใช้แล้วมีประสิทธิภาพได้ผลดีมาก เนื่องจากมะนาวมีผลต่อการทำงานของต่อมรับรสขม ทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป
การเลิกบุหรี่ด้วยการกินมะนาวส่วนใหญ่จะสามารถเลิกบุหรี่ได้ภายใน 2 สัปดาห์ และไม่อยากบุหรี่อีก ถือว่าชนะนิโคตินได้ อย่างไรก็ตาม แม้อาการทางกาย คือความอยากจะหมดไปแต่ อาการทางใจบางครั้งจะยังมีอยู่ เช่น เศร้า หงุดหงิดเหมือนคนอกหัก คนรอบข้างต้องให้กำลังใจ และตั้งใจเลิกอย่างเด็ดขาด จะสามารถเลิกได้อย่างแน่นอน
หมากฝรั่ง
เคี้ยวจนลืมควันบุหรี่ ถือเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่หิวกระหายสารนิโคตินจากควันบุหรี่ โดยปริมาณนิโคตินที่ผสมอยู่ 2 มิลลิกรัม ถือว่าไม่มากและไม่น้อยเกินไปสำหรับนักอมควันทั่วไป เพราะสารนิโคตินที่แฝงอยู่ในเนื้อหมากฝรั่งจะค่อยๆ ปลดปล่อยออกมาอย่างช้าๆ โดยใช้เวลาอยู่ในปากเราได้ถึง 40 นาที แต่ให้ใช้ได้ประมาณ 8-10 เม็ดต่อวัน เพื่อให้เกิดผล ควรหยุดการสูบบุหรี่ รวมทั้งงดดื่มเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำอัดลม 15 นาทีก่อนใช้ และควรเคี้ยวครั้งละ 1 เม็ด
สำหรับผู้ที่มีความต้องการสารนิโคตินมากให้ใช้ 2 เม็ดได้ แต่ไม่ควรทำบ่อย ส่วนการเคี้ยวไม่ควรเคี้ยวเร็วจนเกินไป ให้มีจังหวะหยุดเป็นพักๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง เช่น การระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร การปวดมวนในท้องหรือท้องอืด
เมื่อความต้องการบุหรี่ลดลง ควรลดจำนวนในแต่ละวันลงตามลำดับ เพราะจากผลวิจัยพบว่า ใช้เวลาเพียง 21 วันเท่านั้นก็โบกมืออำลาบุหรี่ได้เลย ส่วนในรายที่ติดมากๆ อาจใช้เวลาถึง 3 เดือน
บุหรี่ไฟฟ้า
มีส่วนประกอบหลักสำคัญ ได้แก่ 1.แบตเตอรี่ 2.ตัว Atomizer และ 3.ไส้นิโคตินหรือที่เรียกว่า Cartridge ไส้นิโคตินจะบรรจุของเหลวที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก และมีสารที่เรียกว่า โพรไพลีนไกลคอลและมีนิโคตินในปริมาณต่างๆ ตั้งแต่ 0 มิลลิกรัมไปจนถึง 24 มิลลิกรัม เมื่อของเหลวที่บรรจุใน Cartridge โดนคลื่นอัลตราโซนิกหรือความร้อนจาก Atomizer ก็จะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นไอน้ำ เปรียบได้กับควันบุหรี่ปลอมๆ ถือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีที่จะสร้างความรู้สึกเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ คงไว้ซึ่งสุนทรีย์ในการสูบ และไม่มีกลิ่น ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องลมหายใจ ฟันไม่เหลือง และตัดปัญหาเรื่องควันบุหรี่มือสองได้
บุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้คนที่ติดบุหรี่ สามารถหลีกเลี่ยงจากโรคร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ หรือสามารถเลิกสูบบุหรี่จริงได้อย่างถาวร โดยที่ไม่รู้สึกว่าขาดบุหรี่
**********
เรื่อง - เพลงมนตรา บุปผามาศ
ถ่ายภาพ - พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร