xs
xsm
sm
md
lg

ออกซิเจนชายหาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถ่ายรูปหมู่ ค่ายตะลุยโลกวิทย์ ฟิตเรื่องธรรมชาติ
ต้นเดือนพฤษภาคม ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว ขณะที่ขบวนรถ‘ค่ายตะลุยโลกวิทย์ ฟิตเรื่องธรรมชาติ’ เคลื่อนตัวไปอย่างไม่มีวี่แววว่าจะหยุด เต็นท์เด็กชายอายุ 12 ขวบและเพื่อนๆ ที่ร่วมเดินทางกว่า 50 ชีวิต ต่างนั่งคุยกันเสียงดังจอแจ บางคนหงุดหงิด บางคนบ่นว่าเมื่อไหร่จะถึงจุดหมาย จากนั้นอีกไม่นานขบวนรถดังกล่าวก็เข้ามาจอดเทียบท่า ที่ศูนย์ฝึกอบรมที่ 3 (ชะอำ) จ.เพชรบุรี แหล่งเรียนรู้ธรรมชาติของ ‘ป่าชายหาด’ ป่าที่มีความอดทน แข็งแรง แต่ซ่อนไปด้วยความอ่อนไหว

เต็นท์-ภคธร ไทยะกุล เด็กชายอายุ 12 ปี ที่มีดวงตากลมโตสดใส และมีอารมณ์ขันอยู่ตลอดเวลา เด็กชายศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลสามเสน เขาและเพื่อนๆ ที่เป็นสมาชิกของนานมีบุ๊ค ได้เข้าร่วมสมัครออกค่าย ‘ตะลุยโลกวิทย์ ฟิตเรื่องธรรมชาติ’ โดยเด็กๆ ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ มีตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ไปจนถึง 14 ขวบ แต่ช่องว่างระหว่างอายุที่ห่างกันมาก กลับไม่ได้ทำให้เป็นอุปสรรคในการเดินป่าชายหาดในครั้งนี้เลย

เด็กชายอายุ 12 ปี เล่าให้ฟังว่า เช้าตรู่ในวันนั้นของต้นเดือนพฤษภาคม เป็นการเดินป่าชายหาดครั้งแรกของชีวิต เต็นท์และเพื่อนๆ ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ออกสำรวจป่าชายหาดที่มีระยะทางประมาณ 500 เมตร พร้อมกับสมุดจดบันทึกคนละเล่ม

อลงกต ศรีวิจิตรกมล นักวิชาการเผยแพร่ 6C ศูนย์ฝึกอบรมที่ 3 (ชะอำ) และวิทยากรพิเศษ ได้เตรียมสถานที่เดินป่าให้เด็กๆ แบ่งออกเป็น 6 ฐาน มีดังนี้ 1.แลรู เป็นฐานที่ให้เด็กๆ สังเกตว่า ปากของรูแย้จะมีลักษณะอย่างไร แล้วให้วาดภาพที่เห็นลงในสมุดบันทึก อลงกต อธิบายว่าตัวแย้มีลักษณะคล้ายกิ้งก่า แต่ไม่มีสันหนามที่เรียวยาวและแบนเล็กน้อย มีเกล็ดเป็นปุ่มเล็กๆ หางกลมแบน 2.เปาะแปะ เป็นฐานที่ให้เด็กๆ ในกลุ่มนำลูกของต้นถอบแถบเครือ มาถือไว้คนละ 1 ลูก แล้วบีบพร้อมกันก็จะมีเสียงดังเปาะแปะ 3. สนทุเรียน เป็นต้นสนที่ขึ้นตามป่าชายหาดทั่วไป ลำต้นสูง มีลูกเล็กๆ คล้ายทุเรียน ฐานนี้จะให้เด็กๆ วาดภาพต้นสนทุเรียน 4.รอยดำลึกลับ ที่เกิดจากต้นไม้ในป่า ตามวิทยาศาสตร์เรียกว่า‘ไลเคน’ จะเกิดรอยด่างดำตามลักษณะมวลอากาศในบริเวณที่ต้นไม้อาศัยอยู่ ถ้าอากาศบริสุทธิ์ไลเคนก็จะขึ้นจำนวนมาก 5.ลานดอกไม้ จะพบดอกแพงพวยที่มีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย มีดอกสีชมพู กับสีขาว และพบดอกพู่ชมพูมีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ยเหมือนกัน และ 6.พักกายชายป่า เป็นฐานสำหรับนั่งพัก และให้เด็กๆ นั่งหลับตาทำสมาธิแล้วใช้หูฟังว่าในระยะที่นั่งอยู่ได้ยินสัตว์ส่งเสียงมาจากทางทิศไหนบ้าง แล้วให้วาดลงในสมุดบันทึก

หลังจากที่เดินสำรวจป่าชายหาดแล้ว เต็นท์ได้เล่าบรรยากาศการเดินป่าให้ฟังว่า เขาและเพื่อนๆ เดินย่ำไปบนดินทรายผสมดินร่วน ไปตามฐานต่างๆ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนมากๆ ทำให้เสื้อของเขาและเพื่อนๆ ต่างชุ่มไปด้วยเหงื่อ แต่เต็นท์ก็บอกว่าทำให้เขาและเพื่อนๆ ได้ออกกำลังกาย ได้รู้จักความสามัคคีเพราะจะต้องเดินป่าเป็นกลุ่ม กลุ่มของเขาก็มีปัญหาบ้าง เพราะมีเพื่อนบางคนเดินช้าประกอบกับอากาศที่ร้อนมากจึงทำให้บางคนหงุดหงิด และงอแงบ้างเป็นธรรมดา แต่ทุกคนก็เดินครบทั้ง 6 ฐานโดยไม่มีใครร้องไห้กลับก่อนเพื่อนๆ ในกลุ่มเลย

“ตอนที่ผมและเพื่อนๆ ในกลุ่มเดินในป่า มันร้อนมาก บางคนก็บ่น แต่บางคนก็สนุกไปกับฐานต่างๆ ซึ่งพี่วิทยากร ได้ให้ความรู้กับผมว่าต้นไม้ที่อาศัยอยู่ต้องมีความอดทนต่อความแห้งแล้งมาก ทำให้ผมได้ท่องเที่ยวเดินป่า ทำให้ผมรู้จักการสังเกต ผมเห็นต้นเสมา ต้นสบู่แดง ผมเห็นตัวแย้ที่ผมไม่เคยเห็นตัวเป็นๆ มาก่อน แต่ผมอยากเห็นงูกะปะมากกว่า พี่วิทยากรยังบอกอีกว่าเวลาเดิน อย่าแกล้งกัน ถ้าหากเจองูก็ให้เดินเฉยๆ อย่าไปทำอะไรมัน แล้วมันจะไม่ทำอะไรเรา ผมชอบฐานเปาะแปะ ของลูกถอบแถบเครือที่สุด เพราะเวลาบีบแล้วมีเสียงดังสนุกดี และชอบฐานแลรูด้วยครับ” เต็นท์ เล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี

เด็กชาย ยังบอกอีกว่า ในตอนที่เรียนในห้อง เขาไม่เคยรู้เลยว่ามีป่าชายหาด รู้แค่ว่ามีป่าชายเลน ดังนั้นการที่มีโอกาสได้เดินป่าครั้งนี้ ทำให้เขาเริ่มชอบการเดินป่าซะแล้ว เพราะทำให้เขาได้ฝึกความอดทน ได้เรียนรู้ชีวิตของต้นไม้และสัตว์ป่า ที่สำคัญเราห้ามเอาขยะไปทิ้ง ถ้าหากเจอขยะก็ควรเก็บมาทิ้งถังขยะ ไม่ทำลายต้นไม้และสัตว์ในป่า หากคราวหน้าเต็นท์มีโอกาสได้เดินป่าชายหาดอีกครั้ง เขาบอกว่าจะเตรียมเสื้อผ้าที่ใส่สบายๆ ระบายความร้อน เตรียมอุปกรณ์ เช่น หมวก พัด และร้องเท้าผ้าใบ เพื่อกันแดด ป้องกันหนาม และอันตรายต่างๆ

ขณะที่ น้องออย-ชัญญา ตั้งคณะกุล อายุ 14 ปี เธอมีความรู้และแนวความคิดที่โตกว่าอายุมาก เธอศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวน เธอได้เล่าประสบการณ์เดินป่าให้ฟังว่า จากที่เรียนมาก็เคยรู้เหมือนกันว่ามีป่าชายหาด แต่ก็ไม่รู้รายละเอียดของป่าว่าเป็นยังไง เมื่อออยได้เข้ามาสำรวจป่าแล้วก็พบว่าพืชที่อาศัยอยู่ต้องมีความอดทน ส่วนใหญ่จะมีรากใหญ่แข็งแรงเพื่อยึดดิน และกิ่งก้านก็จะพลิ้วตามลม

“ได้เดินป่าชายหาด แล้วรู้สึกสนุกดีค่ะ ได้เจออะไรแปลกๆ ตามฐานต่างๆ ก็ทำให้หนูได้รู้จักต้นถอบแถบเครือที่นำลูกของมันมาบีบแล้วมีเสียงดัง เจอดอกแพงพวยที่ขึ้นตามทางเดินและเราต้องเดินดีๆ อย่าเอาเท้าไปเหยียบ เห็นต้นสนทุเรียน ที่มีลูกเล็กนิดเดียวเหมือนทุเรียนเลย เจอไลเคนเป็นจุดดำๆ ขึ้นตามต้นไม้ เจอต้นกะทกรกที่สุกแล้วกินได้ เจอต้นหว้าที่มีลูกสีม่วงๆ กินได้ด้วย ส่วนฐานที่หนูชอบที่สุดคือ ฐานพักกายชายป่าคะ เพราะทำให้เราได้ใช้จินตนาการในการฟังเสียง ส่วนเพื่อนๆ น้องๆ ที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ตัวหนูเองถือเป็นคนโตที่สุดในกลุ่มก็ต้องคอยดูน้องๆ ว่าเดินมาครบมั้ย น้องๆ เดินไหวมั้ย มีใครล้มหรือเปล่า คือต้องคอยดูแลกันค่ะ เพื่อให้เราเดินไปให้ถึงฐานสุดท้ายและเดินกลับอย่างปลอดภัย” ออย พูดพร้อมกับยิ้ม

เด็กหญิงยังเล่าว่า พี่วิทยากรแนะนำกลุ่มว่า ก่อนเดินต้องใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าผ้าใบ เผื่อเจองูที่อยู่ตามโคนต้นไม้ บางทีเดินป่าก็อาจจะเจอหมามุ้ย จึงต้องใส่เสื้อและกางเกงที่ปกคลุมร่างกายทุกส่วนเพื่อป้องกัน บางทีเดินไปเจอต้นเสมา ที่อยู่ในตระกูลของต้นกระบองเพชร มันมีหนาม วิทยากรก็บอกว่าอย่าเอามือไปจับ หรือแตะต้อง แต่ถ้าต้นไหนจับได้ก็ให้จับ ต้นไหนชิมได้ก็ชิม ส่วนต้นไม้ที่มีสีสันสวยงาม อาจจะมีพิษต้องระวังด้วย

“มาเดินป่าชายหาดแล้ว ทำให้หนูกลายเป็นนักอนุรักษ์ต้นไม้ไปอีกคนเลยคะ เพราะเท่าที่หนูรู้ ป่าชายหาดไม่ค่อยมีเยอะเท่าไหร่ในประเทศไทย หากหนูได้มาอีกหรือมีเพื่อนๆ พี่ๆ คนไหนได้มาก็อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์และไม่ทำลายป่า ด้วยการตัดหรือเอาขยะมาทิ้ง หนูรู้สึกว่าค่ายนี้ ให้อะไรกับหนูเยอะ ทำให้หนูได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ” เด็กหญิง กล่าว

ทำความรู้จัก...ป่าชายหาด

อลงกต ซึ่งเป็นวิทยากรพิเศษ ให้ความรู้แก่เด็กๆ ในห้องประชุมพร้อมกับฉายภาพวิดีทัศน์เรื่องป่าชายหาด ให้เด็กๆ ดูหลังจากที่เดินสำรวจป่ามาแล้วว่า ‘ป่าชายหาด’ ถือเป็นป่าดงดิบชนิดหนึ่ง เป็นป่าโปร่งไม่ผลัดใบขึ้นอยู่ตามบริเวณหาดชายทะเล น้ำไม่ท่วมตามฝั่งดินและชายเขาริมทะเล ต้นไม้สำคัญที่ขึ้นอยู่ตามหาดชายทะเล ต้องเป็นพืชทนเค็ม และมักมีลักษณะไม้เป็นพุ่มลักษณะต้นคดงอ ใบหนาแข็ง ได้แก่ สนทะเล หูกวาง โพธิ์ทะเล ตีนเป็ดทะเล มักมีต้นเตยและหญ้าต่างๆ ขึ้นอยู่เป็นไม้พื้นล่าง ตามฝั่งดินและชายเขา มักพบไม้มะค่าแต้ กระบองเพชร เสมา และไม้หนามชนิดต่างๆ เช่น ซิงซี่ หนามหัน กำจาย มะดันขอ

ในระหว่างที่อลงกต บรรยายอยู่นั้นเขาได้ชี้รูป ต้นไม้ชนิดต่างๆให้เด็กๆได้ดูไปด้วย เขาอธิบายต่อว่าพืชพรรณไม้ในป่าขึ้นเป็นแนวแคบๆ หรือเป็นหย่อม ๆ เลาะไปตามแนวหาดทรายที่ราบหรือชายฝั่งที่ค่อนข้างชัน พบป่าชนิดนี้ทางฝั่งทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคใต้

ครอบครัวป่าชายหาด

อลงกต อธิบายต่อว่า สังคมพืชของป่าชายหาดขึ้นอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลซึ่งมีดินเป็นทรายจัด อากาศมีไอเค็มสูง ในประเทศไทยพบตามชายฝั่งทะเลที่มีหาดทราย ทั้งภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคใต้ โดยเฉพาะที่ เกาะตะรุเตา ยังมีป่าชายหาดอันสวยงามสมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง

“พรรณไม้ส่วนใหญ่ในป่าชายหาด ที่น้องๆ เข้าไปสำรวจเป็นยังไงครับ” วิทยากรพิเศษ เอ่ยถามเด็กๆ ที่กำลังส่งเสียงดังเจื้อยแจ้วอยู่ด้านหน้า หลังจากวิทยากรถาม เด็กๆ ก็ต่างตอบว่า “เป็นพืชอดทนต่อความแห้งแล้ง บ้างตอบว่าทนอากาศที่ร้อนมากๆ ได้” วิทยากรพิเศษ กล่าวว่า ถูกต้อง พืชป่าชายหาดเป็นพืชอดทน ทนต่อความแห้งแล้งและภาวะขาดน้ำได้ดี ลำต้นคดงอแตกกิ่งก้านมาก กิ่งสั้น ใบหนาแข็ง หญ้าเป็นพืชเบิกนำของป่าชายหาดรุ่นแรกๆ มีระบบรากที่สานกันเป็นร่างแห ยึดหน้าทรายเอาไว้ เช่น หญ้าลิงลม ผักบุ้งทะเล และไม้ใหญ่บางชนิด สนทะเล ลำเจียก ฯลฯ ส่วนพืชชายหาด จะชอบขึ้นเป็นกลุ่มๆ จึงเปรียบเสมือนกำแพงกันคลื่นลม เช่น ต้นพลับพลึง รักทะเล ปอทะเล ให้กับพืชชายหาดชนิดอื่นๆ

ถัดจากพืชที่อยู่ติดกับชายทะเล อาจมีพืชบางชนิดที่เกิดขึ้นเป็นสังคมพืช ‘ป่าบึงน้ำเค็ม’ โดยจะขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม ๆ พรรณพืชส่วนใหญ่ เป็นการผสมกันระหว่างป่าชายหาดกับป่าชายเลน เมื่อพื้นดินยกสูงขึ้น หรือมีอินทรียวัตถุทับถมมากขึ้นก็จะพัฒนาเข้าสู่สังคมป่าชายหาดที่สมบูรณ์ และอาจพัฒนาต่อไปเป็นป่าประเภทอื่นตามลักษณะภูมิประเทศแต่ละแห่งซึ่งอาจใช้เวลาในการวิวัฒนาการนับสิบหรือร้อยปี การก่อเกิดป่าชายหาดจึงมีวิวัฒนาการที่ต่อเนื่องยาวนาน มีคุณประโยชน์

สิ่งมีชีวิตในผืนป่า

ก่อนอธิบาย อลงกต ถามเด็กๆ ที่นั่งฟังแล้วเริ่มมีอาการเบื่อว่า “อ้าววันนี้ที่ไปเดินสำรวจป่ามา เด็กๆ เจอสัตว์ชนิดใดบ้าง” ซึ่งโดยส่วนใหญ่น้องๆ ก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เจอแย้ครับ เจอคราบงูด้วยค่ะ” จากนั้น อลงกต อธิบายต่อว่า สำหรับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าชายหาดจะมีไม่มากชนิดนัก เนื่องจากเป็นพื้นที่แห้งแล้งขาดอาหารและน้ำจืด สัตว์ส่วนหนึ่งจึงเคลื่อนย้ายไปมากับป่าบกข้างเคียง เช่น เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า ส่วนนกที่พบเห็นเป็นประจำ เช่น เหยี่ยวแดง ไก่ป่า นกกระปูดใหญ่ หรือแม้กระทั่งแย้ เป็นต้น สังคมป่าชายหาดของประเทศไทยได้รับการอนุรักษ์ไว้ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จึงถูกบุกรุกก่อตั้งเป็นชุมชน ท่าเทียบเรือ และแหล่งท่องเที่ยว จนเหลือป่าชายหาดเป็นผืนเล็ก ๆ เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

การที่ประเทศไทยไม่มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางทะเล ส่งผลให้ไม่มีหลักการที่ถูกต้องในการอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติทางทะเลตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่มีธรรมชาติทางทะเลที่เป็นธรรมชาติจริง ๆ เหลืออยู่ ซึ่งหากปราศจากระบบนิเวศป่าชายหาดแล้วอาจมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สันทราย และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ทะเล โดยเฉพาะปะการังซึ่งง่ายต่อการเปลี่ยน หากมีตะกอนเพิ่มมากขึ้นจะทำให้ปะการังตายได้ หรือแม้แต่การจะนำพืชชนิดอื่นมาปลูกทดแทน

ระบบนิเวศ...ป่าชายหาด

วิทยากร กล่าวต่อไปว่า พืชชายหาดที่เกิดและเติบโตขึ้นได้จะต้องปรับตัวให้กับสภาพแวดล้อมเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ เช่น การขาดแคลนน้ำจืดในบางฤดูกาล คลื่นลมที่มีความรุนแรง แสงแดดที่มีความร้อน เป็นต้น

ระบบรากถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของพรรณไม้ป่าชายหาด เนื่องจากสันทรายหรือชายหาดที่พืชเกาะอยู่นั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รากของพืชประเภทนี้จึงมีลักษณะที่สามารถงอกได้ตามข้อ และงอกรากได้ใหม่ตามการทับถมของทรายที่พัดเข้ามาพอกพูน เมื่อรากเจริญเติบโตขึ้นก็จะพัฒนากลายเป็นลำต้นยึดเหนี่ยวทรายไว้ และจะรุกคืบจนกระทั่งครอบคลุมชายหาดนั้น

แต่ในบางครั้งที่มีพายุหรือลมพัดแรง พรรณพืชเหล่านี้ก็อาจจะถูกทรายทับถมหรือน้ำทะเลท่วมถึงจนตายไป แต่เมล็ดพันธุ์ของหญ้าหรือผักบุ้งที่อาจลอยอยู่ในทะเลก็จะถูกพัดขึ้นสู่ฝั่ง งอกเงยขึ้นเป็นพรรณพืชชายหาดขึ้นมาอีกครั้ง

ถ้ารักป่า...อย่าทำลาย

“อ่ะ!เด็กๆ มีวิธีการอนุรักษ์ป่าชายหาดยังไงบ้าง ให้ช่วยกันตอบหน่อยครับ” วิทยากรพิเศษ ถามก่อนที่จะอธิบายเนื้อหา เสียงตอบที่ดังแข่งกัน ดังขึ้นเป็นระยะๆ ซึ่งจับใจความได้ว่าส่วนใหญ่ตอบไปในทางเดียวกันว่า “ ไม่ทำลายต้นไม้ ไม่ทิ้งขยะ ไม่ฆ่าสัตว์” วิทยากรพิเศษกล่าวว่า ถูกต้องครับ หากต้องการที่จะช่วยอนุรักษ์ป่า ต้องไม่ทำลายต้นไม้ ไม่ทิ้งขยะ และขอเสริมความรู้อีกว่า ส่วนใหญ่ป่าชายหาดถูกใช้ประโยชน์และเปลี่ยนสภาพไปจนเกือบหมด พื้นที่บางแห่งที่ยังเหลืออยู่ ก็มักจะขาดการอนุรักษ์อย่างถูกต้อง จนเสื่อมโทรมเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งป่าชายหาดเป็นระบบนิเวศแบบหนึ่งซึ่งประเทศไทยไม่เคยให้ความสำคัญ และละเลยในการอนุรักษ์รักษาป่าชายหาด แต่เมื่อมีการประกาศอุทยานแห่งชาติทางทะเล ทำให้พื้นที่ชายหาดบางส่วนได้รับการอนุรักษ์ไว้ ดังนั้นทั้งภาครัฐ และเอกชน หรือตัวน้องๆ ที่มาสำรวจป่า ต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้เพื่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า ไม่ใช้พื้นที่ป่าชายหาดทำเป็นสำนักงาน หรือแหล่งท่องเที่ยวอย่างเดียวต้องการช่วยกันปลุกจิตสำนึกแก่ทุกๆ คนในประเทศ

ก่อนทุกอย่างจะสาย

ผู้บริหารระดับสูงของศูนย์ฝึกอบรมที่ 3 (ชะอำ) ได้เปิดเผยกับเราว่า ในทางปฏิบัติป่าชายหาดในความคิดของภาครัฐ ก็ยังเป็นเพียงวัชพืชที่ไร้คุณค่า และไม่ก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่ออุทยานแห่งชาติหรือธุรกิจเอกชนต้องการใช้พื้นที่ เพื่อสร้างสำนักงาน หรือพัฒนารองรับนักท่องเที่ยว ป่าชายหาดจึงถูกเลือกเป็นพื้นที่เป้าหมายอันดับแรกๆ โดยไม่คำนึงว่าป่าชายหาดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกฎหมายอุทยานแห่งชาติทางทะเล

ปัจจุบันป่าชายหาดในหลายพื้นที่ถูกทำลายและปรับเปลี่ยนสภาพเพื่อรองรับการท่องเที่ยว จนไม่เหลือสภาพธรรมชาติดั้งเดิมที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยา อีกทั้งยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง โดยนำเอาชนิดพืชอื่น เช่น มะพร้าว ปาล์มประดับ ซึ่งไม่ได้เป็นพืชดั้งเดิมมาปลูกทดแทนเพื่อความสวยงาม ทำให้ระบบนิเวศป่าชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

ผู้บริหารระดับสูงศูนย์ฝึกอบรมที่ 3 (ชะอำ) กล่าวทิ้งท้ายว่า การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายหาดในพื้นที่เสื่อมโทรม จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ในการนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนฟื้นฟูสภาพป่าชายหาดมาโดยตลอด และการเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าชายหาด ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของป่าชายหาดที่สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังช่วยให้พื้นที่ชายหาดกลับมามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มพูนความหลากหลายทางนิเวศวิทยาตลอดไป

ไม่ว่าจะเป็นป่าชายหาด หรือผืนป่าใหญ่ที่เขียวขจี ก็สร้างอากาศ สร้างอาหารให้กับมนุษย์เช่นกัน หากวันนี้ไม่ช่วยกันอนุรักษ์ ไม่ช่วยกันดูแล มัวแต่ตักตวงผลประโยชน์และใช้สอย มนุษย์เราจะดำรงเผ่าพันธุ์ไปได้อย่างไร ยกตัวอย่างเต็นท์เด็กชายอายุ 12 ปี เขายังตระหนักและรับรู้ถึงบทบาทความสำคัญของป่า แล้วเราๆ ท่านๆ ที่เป็นผู้ใหญ่ มีความรู้ความสามารถจะไม่ช่วยกันอนุรักษ์ป่ากันหรือ?

********

เรื่อง - ออรีสา อนันทะวัน

พืชและต้นไม้ในป่าชายหาด
ไลเคน จะเกาะตามต้นไม้
 ถอบแถบเครือ
ต้นกะทกรก
 ดอกพู่ชมพู
ดอกแพงพวย
ต้นเสมา


กิจกรรมเดินป่าตามฐานต่างๆ
น้องออย -ชัญญา ตั้งคณะกุล
เต็นท์ - ภคธร ไทยะกุล
อลงกต ศรีวิจิตรกมล นักวิชาการเผยแพร่ 6C และวิทยากรพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น