xs
xsm
sm
md
lg

"Watchmen" เมืองติดกล้อง เราจ้องดูคุณอยู่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ตำรวจ ได้นำหลักฐานจากกล้องวงจรปิดมาตรวจสอบพบบุคคลต้องสงสัยและคาดว่าจะสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ภายใน 7 วัน”

แม้ว่ากล้องวงจรปิด(Closed Circuit Television-CCTV) อาจไม่ใช่เครื่องมือป้องกันผู้กระทำความผิดหรือการลักลอบวางระเบิดจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี การจี้ ชิงทรัพย์ แต่สามารถเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการติดตามผู้กระทำผิดมารับบทลงโทษได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะติดตั้ง ณ ที่ใดก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งนั้น

จากคดีใหญ่หลายคดี ที่กล้องวงจรปิดกลายเป็นจิกซอร์ที่สามารถปะติดปะต่อสำนวนคดี เพื่อทำให้การทำงานของตำรวจง่ายขึ้นและคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี เช่นเหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 8 จุดกลางกรุงเทพมหาครเมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ที่กล้องวงจรปิดสามารถบันทึกภาพผู้ต้องสงสัยไว้ได้ จึงเป็นการชี้ทางให้ตำรวจสืบหาตัวผู้ต้องสงสัยมาสอบสวนดำเนินคดีกันต่อไป

การนำเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดเข้ามาใช้ในการรักษาความปลอดภัยให้แก่คนกรุงเทพฯ ได้ถูกตั้งคำถามในเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้งาน เพราะอันที่จริงแล้ว เทคโนโลยีระบบกล้องวงจรปิดนี้สามารถบูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเพียงเรื่องของการสอดส่องดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ระบบกล้องวงจรปิดในที่สาธารณะ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นเครื่องมือเสริมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่เทศกิจชุมชน ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชนของกทม.ระบบดังกล่าวจะช่วยลดภาระงานและจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานตรวจตราความเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งยังใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประชาชนโดยตรง คือ ลดพื้นที่ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างของการใช้กล้องวงจรปิดในกรุงลอนดอน สามารถลดจำนวนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพในการจับตัวอาชญากรและผู้กระทำความผิดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

แล้วบ้านเราละ กล้องวงจรปิด อยู่ที่ไหน ใครดูแลบ้าง ที่คุ้นๆกันก็คงจะเป็นตามศูนย์การค้า ร้านทอง ร้านสะดวกซื้อ สำนักงาน หน้าโครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ภายในอาคาร นั่นว่าถึงสถานที่ส่วนบุคคล เจ้าของสถานที่นั้นๆก็รับผิดชอบกันไปและในส่วนของกล้องวงจรปิดตามสถานที่สาธารณะล่ะ เป็นกล้องของหน่วยงานใด ใครเป็นคนรับผิดชอบ เพราะไม่แน่ว่าคนที่กำลังถูกบันทึกภาพอยู่นั่นอาจจะเป็นคุณก็เป็นไปได้กำเนิด

กล้องวงจรปิดความมั่นคง

“จำได้ไหม เมื่อปลายปี 2549 ที่กรุงเทพฯเกิดเหตุร้าย มีการวางระเบิดในหลายๆจุดทำให้กทม.มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดตามจุดเสี่ยงต่างๆเช่นในเขตดุสิตและพระนคร เราเรียกว่า โครงการศูนย์ความปลอดภัยและบริหารจุดเสี่ยง หรือเรียกกล้องพวกนั้นว่ากล้องความมั่นคงนั่นแหละ” จุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เล่าถึงที่มาของกล้องความมั่นคง

เริ่มต้นมีการติดตั้งกล้องความมั่นคงในเขตพระนครและเขตดุสิต เพื่อดูแลความปลอดภัยในบริเวณพระตำหนักและบรมมหาราชวัง วังสวนจิตรลดา วังสุโขทัย รวมถึงเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน จำนวน 746 กล้อง ซึ่งมีเครือข่ายควบคุมโดย 67 เครือข่าย เฉลี่ย 1 เครือข่ายจะดูแล 5 กล้อง คือในส่วนการบันทึกภาพและขยายสัญญาณ ต่อมาในปี 2551 เตรียมติดตั้งกล้องเพิ่มอีกกว่า 2,155 กล้อง คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในเดือนสิงหาคม 2552 นี้ รวมก็จะมีกล้องความมั่นคงในบ้านเราประมาณ 3 พันกล้อง

อย่างไรก็ตามในส่วนของการติดตั้งกล้องเพิ่มนี้จะทำให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 38 เขตในกทม. รวมเขตพระนครและเขตดุสิตเป็น 40 เขต จากพื้นที่กทม.ทั้งหมดแบ่งเป็น 50 เขต ในปี 2554 คาดว่าจะมีกล้องความมั่นคงกระจายไปทั่วทุกเขตของกทม. ราว 20,000 กล้อง หลังจากนั้นเมื่อมีการติดตั้งกล้องครบทุกเขตแล้วทางกทม.จะมีการขอความร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีกล้องวงจรปิด เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานีบริการน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อในการขอเชื่อมต่อสัญญาณร่วมกับทางหน่วยราชการเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลเรื่องความมั่นคงและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

“การที่กทม.มีสัญญาณภาพ เราก็พร้อมให้ข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดูแลเรื่องความปลอดภัยของประชาชน อาทิ ทหาร ตำรวจ เพราะเมื่อเกิดเหตุ จะต้องสามารถส่งกำลังไปช่วยให้ได้ทันท่วงที ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปราบปรามดูแลความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลักอยู่แล้ว ในอนาคตเราคงต้องมีการประชุมหารือในเรื่องการส่งสัญญาณให้กับหน่วยงานต่างๆ เพราะเราคงให้ทุกคนที่ขอแชร์ข้อมูลทั้งหมดไม่ได้เพราะมีเรื่องงบประมาณมาเกี่ยวข้อง”

ในอนาคตหลังจากมีการติดตั้งกล้องครบทั้ง 20,000 จุดและมีการเชื่อมสัญญาณกับภาคเอกชนต่างๆเพื่อส่งสัญญาณไปยังสถานีตำรวจในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ติดตามคนจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่หนึ่งได้ นั่นก็ถือว่าเป็นประสิทธิภาพในการทำงานของกล้องวงจรปิดอีกสเต็ปหนึ่ง

“เมื่อก่อนตำรวจทำงานจับโจร ควบคุมเหตุร้าย หรือทราบว่ามีเหตุก็ต่อเมื่อมีคนแจ้งและลงตรวจพื้นที่เอง แต่ตอนนี้สะดวกมากขึ้น เพราะตำรวจไม่ต้องอยู่ในพื้นที่นั้นๆก็สามารถมองเห็นว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นได้ หรือสามารถตรวจสอบย้อนหลังจากภาพที่ถูกบันทึกไว้ได้ อันนี้เป็นประโยชน์ต่อตำรวจมาก เพราะเขามีกำลังจำกัด ไม่สามารถลงตรวจทุกพื้นที่ได้ ก็มานั่งดูกล้องแทนและเห็นภาพเลย และเขาก็มองวิเคราะห์ได้ว่าหากมีบุคคลที่มีพฤติกรรมแปลกๆ น่าสงสัยก็สามารถเตรียมการควบคุมงานด้านอาชญากรรมได้ทันที”

จุมพล บอกอีกว่า การมีกล้องก็เหมือนมาตรการในการปราม เพราะบางคนเมื่อมองเห็นกล้องก็เปลี่ยนใจ จากที่คิดจะทำผิด ก็ไม่ทำแล้ว

บางเหตุการณ์สำคัญๆหลายครั้งที่เหมือนว่าเจ้ากล้องวงจรปิดจะช่วยงานตำรวจได้ แต่เมื่อไปตรวจสอบพบว่า กล้องเสีย ไม่ทำงาน อาทิ ก่อนหน้านี้มีคดีชาวต่างชาติผูกคอตายบริเวณสะพานพระราม 8 กลายเป็นศพปริศนา เพราะเหลือเพียงศีรษะ จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดของกทม.แถวนั้น ปรากฏว่าเป็นกล้องรุ่นเก่าขั้นตอนการบันทึกภาพยุ่งยาก และไม่สามารถถ่ายภาพในเวลากลางคืนได้ มิหนำซ้ำยังมาเสียอีก ทำให้ไม่ได้ข้อมูลจากเทคโนโลยีตัวนี้ไปประกอบคดีเลย

ล่าสุดมีคดีใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดของเมื่อวันที่ 17 เม.ย. เมื่อมีผู้ใช้อาวุธสงครามถล่มยิงใส่ สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ
ประชาธิปไตยเมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดเพื่อหาหลักฐานตามจับคนร้าย ปรากฏว่ากล้องของกทม.ในบริเวณที่เกิดเหตุพร้อมใจกันเสีย ด้วยความผิดพลาดทางเทคนิค

จุมพล อธิบายกรณีนี้ว่า การทำงานของกล้องเป็นแบบเดียวกันกับฮาร์ดดิสก์ของคอมพิวเตอร์ หากสัญญาณไฟกระตุกหรือดับไป จะมีผลต่อการทำงานของกล้อง ทำให้ข้อมูลได้รับความเสียหาย ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ กรณีนั้นอาจจะเกิดจากการเสื่อมสภาพของกล้องก็เป็นได้ เพราะเรามีการเปิดเครื่องใหม่ก็ทำงานได้ 1 ชั่วโมงแล้วก็อาจะเสียอีก

ปัญหากล้องที่ทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพหลักๆมาจากการกระทำของคน เพราะช่วงที่ผ่านมามีการชุมนุมของคนสองกลุ่มในสถานที่ที่มีกล้องวงจรปิดติดอยู่ พบว่า มีการเอาถุงดำครอบตัวกล้อง บางกล้องเอาแหงนหน้าขึ้นฟ้า ตัดสายไฟกล้องบ้าง แงะกล่องและทำลายระบบบ้าง ซึ่งจากเหตุการณ์การชุมนุมที่ผ่านมามีกล้องได้รับความเสียหาย 59 กล้อง 18 เครือข่าย ซึ่งปัญหากล้องไม่ทำงานจากฝีมือมนุษย์นี้ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องระวังด้วย

จุมพล อธิบายเพิ่มอีกว่า การควบคุมดูแลเรื่องกล้องวงจรปิดหลักๆคือหน้าที่ของกทม. ส่วนหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้องสามารถขอข้อมูลในส่วนนี้ได้ เช่น ตำรวจขอดูข้อมูลเพื่อช่วยในเรื่องการแก้ไขปัญหาจราจร การจับกุมตัวผู้ร้าย ทหารขอดูข้อมูลในเรื่องของความมั่นคงของชาติ หน่วยงานราชการที่สำคัญต่างๆ

กำเนิดกล้องวงจรปิดจราจร

เมื่อสอบถามไปยัง พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เกี่ยวกับกล้องตามสถานที่สาธารณะ ได้ข้อมูลมาว่า กล้องมีอยู่ 2 ประเภท อย่างแรกคือกล้องเกี่ยวกับงานจราจร และอย่างที่สองคือกล้องเกี่ยวกับความปลอดภัย ความมั่นคง ซึ่งทั้งสองกล้องก็มีหน้าที่และคุณสมบัติแตกต่างกันไป

สำหรับกล้องจราจร เริ่มต้นการใช้งานเมื่อปี 2536 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีการติดตั้งเฟสที่ 1 ในจำนวน 16 ทางแยกหลักในเขตกรุงเทพมหานคร อาทิ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และต่อมาเมื่อปี 2539 ได้มีการติดตั้งเพิ่มอีกในเฟสที่ 2 จำนวน 44 ทางแยก ต่อมาในปี 2546 ก็ได้มีการติดตั้งกล้องดูน้ำท่วมอีก 17 แห่ง รวมแล้วทั้งเฟส 1และ2 มีกล้องรวม 88 จุด ซึ่งทั้งสองเฟสนั้นมีศูนย์ควยคุมและดูแลอยู่ที่ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครและกองบังคับการจราจร 02 ต่อมาในปี 2549 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เริ่มติดตั้งในส่วนของเฟส 3 อีก 77 ทางแยก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในเดือนกันยายน 2552

“สเปกของกล้องดูจราจรยกเว้นกล้องดูน้ำท่วม นะเดินสายด้วย เคเบิ้ลใยแก้ว มีคุณภาพสูง สามารถซูมอิน และซูมเอาต์ หมุนได้ 360 องศา ควบคุมได้จากศูนย์กลางควบคุม ลักษณะการติดตั้งมักอยู่บนเสาสูง หรืออาคารสูง วัตถุประสงค์ก็เพื่อดูแถวการจราจรบนถนน ทางมุมสูง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรโดยเฉพาะ” พล.ต.ต.ภาณุ อธิบายไว้

จุดประสงค์หลักของกล้องดูจราจรก็เพื่อควบคุมและจัดการจราจร เก็บข้อมูลด้านการจราจรและบันทึกสถานการณ์แบบปัจจุบัน (Real Time) ตรวจนับปริมาณการจราจร วัดความยาวแถวคอย (Queue Length)วัดความเร็วและแยกประเภทของยานพาหนะ

พล.ต.ต.ภาณุ อธิบายเพิ่มถึงความสามารถของกล้องว่า “กล้องแต่ละแยกก็ไม่เหมือนกัน บางกล้องใหญ่ บางกล้องเล็ก ถ้าตั้งอยู่ไม่สูงมากก็จะเล็กกว่ากล้องที่ตั้งอยู่บนที่สูงกว่า บางกล้องตั้งอยู่บนยอดตึกอาคารทหารไทยสำนักงานใหญ่ เพื่อดูจราจรแยกลาดพร้าว ความสามารถก็ซูมได้ไกลเป็นกิโลเมตร ดูได้ถึงหน้าห้างเซ็นทรัล อย่างกล้องที่อยู่ตรงแยกราชประสงค์ บนตึกโรงพยาบาลตำรวจ ก็ส่องไปเห็นสะพานลอยที่ประตูน้ำ"

ใหม่ล่าสุดสำหรับกล้องวงจรปิดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำมาใช้ในการจราจรนั่นก็คือ กล้องตรวจจับรถยนต์ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (Red Light Camera) ซึ่งควบคุมนักซิ่งที่นิสัยไม่ดีชอบฝ่าไฟแดงใน 30 ทางแยกหลักทั่วกรุงเทพมหานคร เริ่มใช้งานแล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 นับคร่าวๆก็เกือบ 4 เดือน มีผู้กระทำความผิดราวแสนราย

และเป็นที่โจษจันกันในกลุ่มผู้ขับขี่ที่นิยมการฝ่าไฟแดงไม่ใช่น้อยกับกล้องตัวนี้ เพราะมีหมายหรือใบสั่ง เรียกมาจ่ายค่าปรับ 500 บาทส่งตรงไปถึงบ้าน ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงหลักฐานในการกระทำความผิด คือ ภาพที่บันทึกเอาไว้จำนวน 3 ภาพ ซึ่งทำเอาคนขับเถียงไม่ออกเลยทีเดียว

“คนผิดก็ไม่รู้จะเถียงอย่างไร เพราะเรามีหลักฐานชัดเจน ส่วนสถิติการฝ่าไฟแดงของนักซิ่งก็ลดลง แต่เราก็ไม่ได้พอใจนะ เพราะถ้าจะให้เป็นที่พอใจเลยพอเลยต้องไม่มีผู้กระทำความผิด จากสถิติการตรวจจับพวกนักซิ่งทั้งหลายก็ราวๆแสนรายได้ที่ออกหมายจับไป ส่วนใหญ่จะเป็นรถแท็กซี่ และเป็นช่วงกลางคืนด้วย คนไทยติดนิสัยขับมักง่าย” พล.ต.ต. ภาณุ กล่าวไว้

หากว่าระบบกล้องตรวจจับรถยนต์ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรที่บ้านเรายังตามหลังประเทศแถบยุโรปอยู่เยอะ เขาเริ่มมาเป็นหลาย 10 ปี แต่เราเพิ่งเริ่ม อย่างไรก็ดี พล.ต.ต. ภาณุ ก็ย้ำไว้ว่า ประสิทธิภาพและการทำงานมาตรฐานการตรวจจับเดียวกัน

ท่านรองยังกล่าวอีกว่า กล้องดูจราจรแต่ละแยกมี ประโยชน์มากกว่าการควบคุมและแก้ไขปัญหาจราจร เพราะว่ายังเป็นเครื่องมือช่วยบันทึกภาพสนับสนุนงานด้านอาชญากรรมอีกด้วย ซึ่งมีหลายคดีที่กล้องวงจรปิดเข้าไปเป็นตัวช่วยคลี่คลายคดีได้

เมื่อพูดคุยกันถึงประเด็นที่เป็นตัวช่วยในงานด้านอาชญากรรม พล.ต.ต. ภาณุ กล่าวว่า “ในความคิดส่วนตัวนะ กล้องมียิ่งมากยิ่งดี และต้องมีคุณภาพ มีการบันทึกที่ดีหลักๆก็ช่วยในเรื่องการจราจร อย่างที่ลอนดอน เมืองเขามีทุกซอกตึก ทุกมุม ซึ่งแบบนั้นมีผลในเรื่องการปราม เมื่อมีเหตุการณ์ไม่น่าไว้ใจเกิดขึ้นก็สามารถติดตามผู้ต้องสงสัยได้ทันทีเลย ถ้าบ้านเรามีกล้องแบบเขาบ้างก็จะสามารถติดตามคนร้ายได้ เมื่อเกิดเหตุขึ้น เพราะหลบไปซอกมุมไหนก็ต้องเห็น แต่นี่มีไม่ทุกจุดและก็บางจุดก็ดันเสียด้วยยิ่งไปกันใหญ่เลย”

ลอนดอน โมเดล

กล้องวงจรปิด กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการก่อการร้าย การก่ออาชญากรรม การสืบสวนสอบสวน การขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด ฯลฯ ของอังกฤษ โดยประชาชนต้องยอมเอา‘ความเป็นส่วนตัว’มาแลก

สำหรับกล้องวงจรปิดในอังกฤษเริ่มติดตั้งในที่สาธารณะหลังจากที่มีการระเบิดอย่างดุเดือด และบ่อยครั้งระหว่างปี 1992 และ 1993 โดยกลุ่ม IRA (Irish Republican Army)ในเขตธุรกิจการเงินของลอนดอน รัฐบาลได้สร้าง ‘ปราการวงแหวนเหล็ก’ (Ring of Steel) อันประกอบด้วยกล้องวงจรปิด ติดไว้หน้า 8 ประตูทางเข้าออก และต่อมาขยายเป็น 14ป้ายรถยนต์ทุกคนที่ผ่านจะถูกบันทึกและเช็กกับข้อมูลกลางของตำรวจ เพื่อมองหาทุกอย่างที่เกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายจราจรและการก่อการร้ายนับแต่ตั้งแต่มีการจัดตั้ง ‘ปราการวงแหวนเหล็ก’ เป็นต้นมา ไม่มีการระเบิดขึ้นอีกเลย ในขณะที่เขตอื่นๆ ของลอนดอนก็ยังถูกระเบิดนอกจากนี้ กล้องวงจรปิด ยังนำไปสู่การจับกุมแก๊งขโมยรถผู้ก่อการร้ายอย่างเป็นกอบเป็นกำอีกด้วย

เมื่อหลายปีก่อนอังกฤษประสบกับเหตุการณ์ ‘13 วัน นรก’ เมื่อพวกหัวรุนแรงฝ่ายขวา เช่น NEO-NAZI วางระเบิดตะปูใน 3 จุด เพื่อฆ่าคนผิวดำ เอเชียและเกย์ในลอนดอน เหตุการณ์ฆ่าคนไป 3 คน และบาดเจ็บ 129 คน ต่อมาถูกจับได้ก็เพราะภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งมีการติดตั้งกล้อง ไว้ทั่วลอนดอนจำนวนมากมายตำรวจใช้เวลาพันๆ ชั่วโมงดูเทปที่บันทึกไว้จนนำไปสู่การจับตัวคนร้ายได้

ตัวอย่างของเหตุการณ์จับกุมดังกล่าว ทำให้หลายประเทศในยุโรปเริ่มคิดจะเลียนแบบอังกฤษ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน อังกฤษก็ลงทุนในกล้องวงจรปิดขึ้นอีกมากมายเป็นประวัติการณ์ในสถานีรถไฟ Central London มีกล้องวงจรปิด อยู่ 1,800 กล้อง (ระบบใหญ่สุดในยุโรป)

ในระบบรถไฟใต้ดินมีกล้องวงจรปิด 6,000 ตัว ในจำนวนนี้ 200 ตัวอยู่ที่สถานี Westminster สถานีที่อยู่ใกล้สภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด รอบๆ ตึกสภาผู้แทนราษฎรและบริเวณใกล้เคียงมีกล้องวงจรปิด อยู่ 260 กล้อง มีประมาณการว่าในอังกฤษมีกล้องวงจรปิด ทั้งของเอกชนและภาครัฐรวมกันทั้งสิ้น 4.2 ล้านกล้อง คนอังกฤษโดยเฉลี่ยในวันที่ยุ่งๆ หนึ่งวันหากไปมาในเขตเมือง มีโอกาสที่จะถูกบันทึกภาพโดยกล้องจำนวนมากถึง 300 กล้อง คนอังกฤษยอมรับกล้องวงจรปิด ที่ติดตั้งกล้องในที่สาธารณะ เช่น ตามถนน ใจกลางเมืองอย่างอาจแตกต่างจากคนอเมริกัน หรือคนยุโรปชาติอื่นๆ

เฉพาะในเดือนมกราคม 2004 ตำรวจอังกฤษใช้กล้องวงจรปิด เป็นเครื่องมือในการจับการขโมยสินค้าจากคอนเทนเนอร์โดยบริษัทขนส่ง จับอาชญากรข่มขืน จับฆาตกรหญิงและเด็ก จับคดีปล้นทรัพย์ตลอดจนชนแล้วหนี ฯลฯ อย่างมีประสิทธิภาพ จนการใช้งบประมาณ 200 ล้านปอนด์ ในแต่ละปีเพื่อซื้อกล้องสำหรับ กล้องวงจรปิดของรัฐบาลอังกฤษไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด

ผลการปฎิบัติงานกล้องตรวจจับรถยนต์ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (Red Light Camera)

ตั้งแต่ 1 มกราคม – 10 มีนาคม 2552 ส่งหมายเรียกมาทั้งสิ้น 99,205 ฉบับ พนักงานสอบสวน จัดส่งไปแล้ว 80,913 ฉบับ คงค้าง 18,292 ฉบับ

มกราคม 2552 ส่งหมายเรียก 18,199 ฉบับ มารายงานตัว 3,863 ราย (21.22เปอร์เซ็นต์) ยอดค่าปรับ 1,935,200 บาท

กุมภาพันธ์ 2552 ส่งหมายเรียก 34,673 ฉบับ มารายงานตัว 8,951 ราย (25.81 เปอร์เซ็นต์) ยอดค่าปรับ 4,448,000 บาท

1-9 มีนาคม 2552 ส่งหมายเรียก 28,041 ฉบับ มารายงานตัว 5,345 ราย ยอดค่าปรับ 2,672,500 บาท

โดยสรุป 1 มกราคม – 9 มีนาคม 2552 ส่งหมายเรียกไปแล้ว 80,913 ฉบับ มารายงานตัว 18,159 ราย (22.44 เปอร์เซ็นต์) ยอดค่าปรับ 9,055,700 บาท

************************
เรื่อง เพลงมนตรา บุบผามาศ
        มาลิลี พรภัทรเมธา
ภาพ พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร






กำลังโหลดความคิดเห็น