สุภาพสตรีผมสีดอกเลาวัยเฉียดเจ็ดสิบต้นๆ 4 คน แต่ทว่ายังคงมีความจำเป็นเลิศและมีร่างกายแข็งแรงเหมือนคนในวัย 60 ก็ไม่ปาน กำลังนั่งเพิ่งพินิจอ่านไพ่ที่ตัวเองถืออยู่ในมือด้วยความผ่อนคลาย บวกกับพยายามใช้จิตสำรวจใจของคู่ต่อสู้ที่นั่งอยู่เบื้องหน้าว่าจะเทไพ่ตัวใดลงมาประชันขันแข่งกัน
ใช่แล้ว!!กิริยาเหล่านี้คล้ายกับคนเล่นพนันไพ่ที่มีมูลค่าการพนันขันต่อกันด้วยเงินจำนวนมหาศาลโดยหวังผลอย่างเดียวคือ “กำไร”จากฝ่ายตรงข้าม หากแต่อาการข้างต้นนี้กลับเป็นลักษณะของคนที่กำลังใช้สมองประลองปัญญาในการแข่งขัน“บริดจ์” อันเป็นกีฬาที่คนทั่วโลกเล่นมาช้านานเป็นเวลากว่า 100 ปีเพื่อเป็นการบริหารสมองไม่ให้ร่วงโรยไปตามอายุที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน
ดังนั้นเพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสและรู้จักกีฬาประเภทนี้มากขึ้น เอเอสทีวีผู้จัดการ “ปริทัศน์”จึงขันอาสานำพาทุกคนไปทำความคุ้นเคยกับ “บริดจ์”พร้อมๆกับเรื่องราวชวนน่าติดตามของกีฬาประเภทนี้
**เส้นทางของ“บริดจ์” ในไทย
“บริดจ์” ได้ชื่อว่าเป็นกีฬาเก่าแก่อีกประเภทหนึ่งที่มีคนเล่นกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก แม้แต่กระทั่งมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกอย่าง “บิลล์ เกตส์” เจ้าของไมโครซอฟท์ที่ได้ชื่อว่ามีความฉลาดเป็นเลิศก็ยังใช้เกมชนิดนี้ในการบริหารสมองและผ่อนคลายความเครียดจากธุรกิจหลายแสนล้านบาทของเขาเป็นประจำ เพราะจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ ได้ผลสรุปออกมาว่าการเล่นบริดจ์นั้นช่วยให้สมองมีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ไม่เจ็บป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ง่าย รวมทั้งช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีสังคมเพิ่มขึ้นเพราะการเล่นบริดจ์แต่ละครั้งนั้นจะต้องใช้ผู้เล่นไม่ต่ำกว่า 4 คน
ที่สำคัญการเล่นบริดจ์ยังทำให้ผู้เล่นเป็นนักวางแผนชั้นเยี่ยมอีกด้วยเพราะการเล่นบริดจ์มีความแตกต่างจากการเล่นไพ่ชนิดอื่น ที่ต้องอาศัยการวางแผนในการเล่นให้ดี มิเช่นนั้นอาจพลาดท่าให้กับฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย รวมทั้งผู้เล่นจะต้องเข้าใจในภาษาบริดจ์และเข้าใจฝ่ายตรงข้ามด้วยว่าเขาจะประมูลไพ่ออกมาต่อสู้กับเราอย่างไร ซึ่งต้องเรียกว่าไม่ใช่เพียงแค่ใช้ “โชค” ก็เล่นได้แต่ต้องอาศัย “ประสบการณ์” เท่านั้นถึงจะเอาชนะในเกมนั้นได้
กีฬาบริดจ์เริ่มต้นจากประเทศใดไม่มีหลักฐานระบุไว้แน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าเล่นกันครั้งแรกในยุโรปเมื่อประมาณ 144 ปีที่ผ่านมา และกีฬาชนิดนี้มีการพัฒนาการเล่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับในประเทศไทยนั้นบริดจ์เข้ามาแพร่หลายครั้งแรกเมื่อ สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6 ) ยังทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และเสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงที่กีฬาบริดจ์แพร่หลาย และเป็นกีฬายอดนิยมในประเทศอังกฤษ หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทย จึงทรงมีพระดำริให้เล่นกันที่พระราชวังพญาไท จากนั้นจึงมีเจ้านายและข้าราชบริพารเล่นตามกันอีกหลายคน
หลังจากที่มีการเล่นบริดจ์กันไปสักระยะหนึ่งจนถึง พ.ศ.2489 หม่อมเจ้าเจษฎากร วรวรรณ ดำริว่าควรจะจัดตั้งสมาคมบริดจ์แห่งประเทศไทยขึ้น แต่ปรากฏว่าท่านสิ้นพระชนม์ไปก่อน ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 ทางคณะกรรมจึงได้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนก่อตั้ง “สมาคมบริดจ์แห่งประเทศไทย” กับกรมตำรวจอย่างเป็นทางการ โดยมี เรือเอกฮันเตอร์ (Lieutenant Senior Grade William H.Hunter) ผู้ช่วยทูตทหารเรืออเมริกัน เป็นนายกสมาคมฯคนแรก
คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ประธานสมาพันธ์บริดจ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก อธิบายถึงเจตนารมณ์ที่คนหลงใหลในมนต์เสน่ห์แห่งบริดจ์ จึงรวมตัวกันต่อตั้งเป็นสมาคมขึ้นมาว่า เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและวางกติกาการบริดจ์ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น รวมทั้งทำให้กีฬาชนิดนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนในสังคมเพื่อพัฒนาและยกมาตรฐานการเล่นบริดจ์ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในสังคมเมืองไทยและสังคมโลก
“ปัจจุบันสมาคาบริดจ์แห่งประเทศไทย มีนโยบายส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนให้กับเยาวชนเพื่อให้ใช้เวลาว่างในการพัฒนาสมอง ฝึกการคิดอย่างมีเหตุมีผล และส่งเสริมให้ประชาชนที่สนใจได้เรียนรู้และเล่นกีฬาบริดจ์อย่างถูกต้องโดยจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาเป็นอาจารย์สอนให้กับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ขณะเดียวกันเราก็ส่งผู้อำนวยการแข่งขัน ไปทำหน้าที่ในกีฬาแห่งชาติ กีฬามหาวิทยาลัย และกีฬารัฐวิสาหกิจ รวมทั้งทางสมาคมยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันบริดจ์อุดมศึกษา จัดการแข่งขันบริดจ์ให้กับข้าราชการ ได้แก่ การแข่งขันบริดจ์ระหว่างกระทรวง และสนับสนุนส่งเสริมให้นักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศตลอดจนผลักดันให้กีฬาบริดจ์ระหว่างกระทรวง และสนับสนุนส่งเสริมให้นักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศ รวมทั้งผลักดันให้กีฬาบริดจ์เป็นกีฬาสำหรับประชาชนโดยทั่วไประดับภูมิภาคด้วย” คุณหญิงอธิบาย
**สังคม (ไม่) ไฮโซของ “บริดจ์”
หลายคนอาจมองว่า “บริดจ์” เป็นกีฬาที่เล่นเฉพาะในกลุ่มของเจ้าขุนมูลนาย ชนชั้นผู้ดีมีสกุล หรือนักเรียนแพทย์ เท่านั้น
แต่ทุกวันนี้สังคมของบริดจ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว ตามมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองไทยบางแห่ง ได้มีการบรรจุบริดจ์ไว้ในชมรมเพื่อให้นักศึกษาได้ทดสอบและใช้ความคิดในช่วงเวลาว่างจากการเรียน และในต่างประเทศเองก็มีการบรรจุไพ่บริดจ์ ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของระดับประถมด้วยเช่นกัน
“ในอดีตคนเล่นไพ่บริดจ์จะเป็นนักเรียนนอก และขุนนาง รวมไปถึงเอกอัครราชทูตทุกคนจะต้องเล่นกีฬาชนิดเป็น ไม่อย่างนั้นถือว่าไม่ผ่านการเป็นทูต เพราะการเล่นบริดจ์จะทำให้ทุกคนมีโอกาสได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไปในตัวด้วย แต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเล่นกีฬาประเภทนี้จึงมีการขยายออกไปสู่วงกว้างมากขึ้น จึงทำให้มีฐานคนเล่นเพิ่มมากขึ้น ที่ไม่ใช่ไฮโซหรือผู้ดีอีกต่อไป”
นั่นเป็นคำบอกเล่าของ ดิเรก คุณะดิลก หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาบริดจ์ที่ได้รับการฝึกฝนฝีมือมาจากผู้เป็นบิดา (พิศวง คุนะดิลก) ที่ได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์ด้านการเล่นบริดจ์มือหนึ่งของเมืองไทยจนมีชื่อติดอยู่ในอันดับต้นๆของโลก ดิเรกสืบทอดความรู้เรื่องไพ่บริดจ์จากบิดาจนมาเปิดเป็นโรงเรียนสอนบริดจ์อย่างเป็นจริงเป็นจังที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ลูกศิษย์ลูกหาของดิเรกมีมากมายส่วนมากเป็นฝรั่ง แต่ที่พิเศษคือเขาเคยเล่นไพ่บริดจ์โต๊ะเดียวกับบิลล์เกตมาแล้ว
ขณะที่คุณหญิงชดช้อย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เร็วๆนี้ประเทศอินโดนีเซียได้เห็นประโยชน์ของไพ่บริดจ์จึงจับมือกับกระทรวงศึกษาธิการให้บรรจุไพ่บริดจ์เข้าไปในหลักสูตรของเด็กประถม เพื่อเป็นวิชาเสริมให้เด็กๆได้ใช้เวลาว่างในช่วงบ่ายฝึกทักษะการคิดคำนวณ ส่วนประเทศไทยนั้นมีการบรรจุการเล่นไพ่บริดจ์ลงในไปวิชาเลือกของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล และอีกหลายมหาวิทยาลัยชื่อดังของเมืองไทย เองก็นำไพ่บริดจ์ไปไว้ในชมรมเพื่อให้นักศึกษาฝึกฝนทักษะการคิดคำนวณกันในยามว่างจากวิชาเรียน
“ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าบริดจ์ไม่ได้เล่นกันเฉพาะในกลุ่มของไฮโซอีกต่อไป เพราะเดี๋ยวนี้ก็มีข้าราชการประจำ นักเรียนแพทย์ หรือคนอีกหลากหลายวิชาชีพ ที่จบจากมหาวิทยาลัยที่มีการนำไพ่บริดจ์มาไว้ในชมรมก็ลุกขึ้นมาเล่นกีฬาประเภทนี้เป็นจำนวนไม่น้อยอีกเช่นกัน หรือคนอายุต่ำกว่า 20 ปีถึง 30 ปลายๆก็มาเล่นกันเยอะมาก” คุณหญิงชดช้อยแจกแจง
**ประโยชน์ของ “บริดจ์” รู้ไว้ใช่ว่า
เมื่อไม่นานมานี้มีผลการวิจัยที่น่าเชื่อถือได้จากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษถึงประโยชน์ของการเล่นไพ่บริดจ์ว่า คนที่เล่นไพ่บริดจ์เป็นประจำจะไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ที่คนยุคนี้กลัวกันมาก หรือถ้าเป็นก็จะเป็นช้ากว่าคนในวัยเดียวกันถึง 2 เท่าเพราะสมองซีกซ้ายได้มีการบริหารอยู่ตลอดเวลา
ดิเรกบอกว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาและที่อังกฤษมีผลพิสูจน์ออกมาว่า ผู้สูงอายุที่เล่นบริดจ์เป็นประจำนั้นโรคอัลไซเมอร์จะไม่ค่อยถามหา เพราะสมองได้ใช้งานและคิดคำนวณอยู่ตลอดเวลาซึ่งถือว่าเป็นการบริหารสมองไปในตัว
“คุณพ่อของผมท่านเล่นบริดจ์ตั้งแต่สมัยท่านยังหนุ่มกระทั่งท่านอายุ 89 ก็ยังคงเล่นอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นได้จากคุณพ่อคือท่านไม่เคยหลงลืมเลย และอีกหนึ่งรายที่เรายังเห็นได้จนถึงทุกวันนี้คือ คุณกุลยา บุณยะโชติ ซึ่งทุกวันนี้ถึงแม้ว่าวัยของท่านจะล่วงเลยเข้าไปถึง 98 ปีแล้วก็ตามแต่ท่านก็ยังคมมาเล่นบริดจ์เป็นประจำมากว่า 60 ปีแล้ว ที่สำคัญความจำของท่านก็ยังคงดีอยู่” ดิเรกสาธยาย
บริดจ์ไม่เพียงแต่ช่วยในการบริหารความจำให้เป็นเลิศเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยฝึกสมาธิของคนได้เป็นอย่างดีอีกด้วยเช่นกัน
“การเล่นบริดจ์สามารถฝึกสมาธิของเราได้ เพราะในขณะที่เรากำลังเล่นอยู่นั้นเสมือนหนึ่งเราว่ากลังนั่งอยู่ตรงกลางหลุมลึกทุกคนสามารถมองเห็นไพ่ของเราหมดว่าเราจะทำอะไร ฉะนั้นเราต้องไม่วอกแวกไม่มองไปที่อื่นไม่สนใจใคร ต้องดูของเราคนเดียวเท่านั้น ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เรามัวแต่มองคนอื่นก็จะทำให้เราเสียสมาธิและแพ้ในเกมนั้นได้ ซึ่งสำหรับดิฉันถือว่าเป็นการฝึกให้เรามีสมาธิและสติไปในเวลาเดียวกัน” คุณหญิงชดช้อยอธิบาย
**“เสียงเล็กๆ” จาก “ผู้ใหญ่” ที่รักบริดจ์
ช่วงสายๆของทุกวันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ บรรดาขาบริดจ์ทุกคนจะสลับหมุนเวียนกันไปตามที่นัดหมายต่างๆ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเพราะแฟนพันธุ์แท้ทุกคนล้วนทราบดีว่าแต่ละวันจะใช้สถานที่ใดเป็นที่ฝึกฝนประลองฝีมือ
คุณชายไก่-ม.ร.ว.สฤษดิคุณ กิตติยากร อดีตประธานบริษัทเชลล์ เป็นหนึ่งในชมรมคนรักบริดจ์เป็นชีวิตจิตใจ เล่าถึงประโยชน์ของเกมนี้ว่า เป็นเกมที่ต้องอาศัยความจำและไหวพริบ เพราะเกมประเภทนี้จะต่างกับการพนันชนิดอื่นตรงที่ว่าถ้าเล่นไพ่อาจต้องใช้โชคช่วย แต่ถ้าเล่นบริดจ์ต้องอาศัยประสบการณ์และฝีมืออย่างเดียวเท่านั้นเพราะไม่มีใครสามารถเป็นแชมป์บริดจ์ได้ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่มีฝีมือติดอันดับโลกจะเป็นผู้สูงวัยทั้งนั้น
“สำหรับผมคิดว่าเกมนี้เป็นเกมที่ดีที่สุดเกมหนึ่งในโลกเลยก็ว่าได้ เพราะมันมีส่วนในการช่วยพัฒนาสมองของเราให้มีความจำดีเพราะเราต้องคิดและคำนวณอยู่ตลอดเวลา”
ขณะที่คุณหญิงกิ่งแก้ว เอื้อทวีกุล ผู้ใช้เวลาในการเล่นไพ่บริดจ์มาถึง 30 ปี ได้เล่าถึงประโยชน์ของไพ่บริดจ์ด้วยน้ำเสียงสดใสว่า เกมประเภทนี้ไม่เพียงแต่ทำให้สมองได้มีการพัฒนาอยู่เสมอแต่ยังช่วยทำให้คุณหญิงได้ฝึกฝนที่จะเรียนรู้และเข้าใจถึงความรู้สึกของคนอื่นอย่างนุ่มนวล โดยเฉพาะเรียนรู้นิสัยของพาร์ทเนอร์และคู่แข่งขันของตัวเองไปในตัวจึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณหญิงและเพื่อนๆแน่นแฟ้นขึ้น
ส่วนจักรมณ ผาสุกวนิช อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ และหันกลับมาเล่นบริดจ์เมื่อประมาณปลายปีที่มาหลังจากที่เว้นวรรคไปกว่า 30 ซึ่งเขาซึมซับบรรยากาศของบริดจ์มาตั้งแต่ในวัยเยาว์เพราะเห็นคุณพ่อและคุณแม่เล่นมาโดยตลอด ครั้นพอเป็นหนุ่มเขาจึงหัดเล่นไพ่บริดจ์จนในที่สุดก็สามารถมีโอกาสได้ไปแข่งขันในนัดสำคัญๆระดับโลกอยู่หลายครั้ง เล่าถึงคุณประโยชน์ของบริดจ์ให้ฟังว่า ทุกครั้งที่เล่นเกมนี้สมองจะได้รับการกระตุ้นให้ทำงาน ทำให้เกิดสมาธิและสติที่จะทำเรื่องราวต่างๆได้อย่างดีเยี่ยมโดยที่ไม่โดยไม่มีอาการหลงลืมเกิดขึ้นกับตัวเองแม้แต่น้อย รวมทั้งทำให้เขาได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตกับคนรอบข้างอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องไม่เบียดเบียนใคร
จะเห็นว่าทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้ล้วนมีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น มันอยู่ที่ว่าเราจะเลือกหยิบใช้ด้านใดของมันต่างหาก...
เรื่องโดย ปาณี ชีวาภาคย์, ศศิวิมล แถวเพชร