xs
xsm
sm
md
lg

เสาวลักษณ์ โชติเทวัญ ทายาทอาณาจักรแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่แปลกที่หลายคนจะคุ้นๆ กับความโด่งดังของนามสกุลที่ต่อท้ายชื่อ “เสาวลักษณ์ โชติเทวัญ” มากกว่ารู้จักหน้าค่าตา และความเก่งกาจของเธอ
ทั้งๆ ที่ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท สหฟาร์ม จำกัด ด้วยวัยเพียงแค่ 33 ปี...!

ซาร่าเป็นบุตรสาวคนสวยหนึ่งเดียวของคุณสาลี่ ต่อตระกูล กับ ดร. ปัญญา โชติเทวัญ เจ้าของอาณาจักรอลังการสหฟาร์ม
ถ้าคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่ยังประทับใจความวาทะ เก่งกาจ คมความคิด ของ ดร.ปัญญา ก็ไม่น่าพลาดที่จะทำความรู้จักเธอลึกๆ ครั้งแรกของมือบริหารชั้นอ๋อง กับ ทายาทรุ่นที่ 2 ที่ว่ากันว่าไม่ว่าจะเป็นคำพูดคมคาย แววตาใสดุจดังเพชรเปล่งประกายเฉลียวฉลาดราวกับถอดแบบผู้เป็นพ่อ ในทุกๆ เรื่อง ทุกๆ มุมมองที่รับประกันความพิเศษ

ไม่ได้แอนตี้ แต่ไม่อยากให้ภาพเป็นไฮโซทั่วไป…?
“ดิฉันก็ไม่ได้แอนตี้ไฮโซนะค่ะ” หญิงสาวในชุดดูดี และพอดี สีสุภาพยิ้มเล่า เมื่อเกริ่นย้อนกลับไปครั้งแรกตอน M-Lite ติดต่อขอสัมภาษณ์ โดยสาวปลายสายซักถามซ้ำๆ พร้อมยังย้ำอย่างหนักแน่นเป็นหนัก-หนาว่า “ขอบคุณที่ให้เกียรติ” แต่ไม่อยากให้บทสัมภาษณ์ออกมาเป็นไฮโซทั่วๆ ไป…?
“ดิฉันเข้าใจว่าไฮโซบางคนก็ออกไปทำประโยชน์เพื่อสังคมนะ แต่ไม่อยากเสียเวลา เพราะว่างานและการเปลี่ยนแปลงของโลกมันมีทุกวัน ฉะนั้นถ้าคุณหยุดออกไปเตลิด ไปมีความสุขอยู่ แต่กลับเข้ามางานก็ไม่เสร็จ คนอื่นก็รอ เราในฐานะกรรมการ บ.สหฟาร์มรับปณิธานเจ้าของบริษัทมาแล้วก็ทำให้ดี ให้สำเร็จ ไหนพนักงานจะต้องรอคำสั่งจากเราว่าแล้วยังไงต่อ มันติดขัดไปหมด ดิฉันอยากให้เวลา โดยทำให้คำพูดของเราได้ประโยชน์ต่อคนทั่วๆ ไปมากที่สุดค่ะ”
แทบไม่ต้องตีความต่อ เพราะเธอเมื่อมีแนวความคิดสาธารณะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมแบบนี้ จึงไม่แปลกที่คนทั้งนอก-ในวงสังคม จะไม่ค่อยเห็นเธอออกงานสังคม-สังสรรค์เหมือนไฮโซที่มักจะเฮฮาลั๊นลาทั่วๆ ไป ซึ่งความคิดอยากสร้างงานและอยู่เบื้องหลังแบบนี้ เป็นผลิตผลในการบ่มเพาะจิตสำนึกดีๆ จากดร.ปัญญา โชติเทวัญ ผู้ที่เป็นพ่อ
“คำพูดท่านก็บอกว่าครอบครัวของเธอไม่ได้มีแต่พ่อ แม่ พี่ น้อง แต่ครอบครัวของเราตอนนี้ก็คือพนักงาน อย่าง Health foods มี 2,000 คน สหฟาร์มมี 25,000 คน ทำอะไรต้องคิด ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ไปถึงพวกเขาด้วย เราก็เลยคิดถึงพวกเขามากขึ้น เวลาที่ดิฉันคุยกับใครก็บอกว่าว่าดิฉันครอบครัวใหญ่ 2,000 กว่าคน ไม่ได้คิดว่ามีแค่นี้ก็คุยกันตรงๆ ให้เข้าใจ” เธอยิ้มเล่าสดใสน้ำเสียงดังแต่น่าฟัง

นั่งไทม์แมชชีน ตามหาความลับของ ด.ญ. เสาวลักษณ์เมื่อวันวาน
คำพูด-จาตรง ๆ ทว่ากลับคมคาย มีเหตุผล และฉะฉานอย่างนี้ หลายคนเปรียบกันว่าคุณสมบัติที่เธอมีราวกับถอดแบบจากผู้เป็นพ่อ แต่ไม่น่าเชื่อ ซาร่ากลับบอกว่า ตอนเด็กๆ เธอเป็นคนขี้อาย ไม่เรียบร้อยชนิดที่ไม่ค่อยมีคนได้รู้
“เห็นพูดเก่งๆ แบบนี้ แต่เด็กๆ พูดไม่เก่งเลย แว่นตาหนา 500 เขาให้เรียนก็เรียน ซึ่งก็ถือว่าเรียนได้ดีระดับหนึ่ง จะมองว่าเป็นเนิร์ดก็เนิร์ดนะ แต่ว่าอ่านการ์ตูนไม่เป็นอ่านแล้วเครียด รู้สึกว่าอ่านทำไมเนี่ย ทำไมไม่ไปอ่านหนังสือเรียนชอบอ่านหนังสือที่มีประโยชน์” ส่วนสิ่งที่การันตีความไม่เรียบร้อย ก็คือแผลเป็นที่หัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง
หลังจากจบมัธยม 3 ขณะอายุ 15 ปี ซาร่าเล่าว่าคุณพ่อท่านก็ให้เราไปเรียนเมืองนอก ก็ไปอยู่นิวซีแลนด์ทุรกันดารอะไรอย่างนี้ แล้วอยู่ไปแล้วค่อยขยับขยายไปเรียนอังกฤษ แต่สุดท้ายเราก็อยู่ที่นั่นจนเราเรียนจบ
เธอเล่าการใช้ชีวิตที่เมืองนอกอย่างภูมิใจว่า “ที่นั่นดิฉันเลือกวิชาเรียนเอง คุณพ่อคุณแม่ก็เลี้ยงเราให้อยู่และทำอะไรด้วยตัวคนเดียวมาตลอดเวลา ซึ่งที่นั้นเป็นโรงเรียนผู้หญิงล้วนเราก็มีเวลาที่ค่อนข้างชัดเจนว่าต้องทำอะไร แล้วก็มีกิจกรรมให้ทำเยอะ ซึ่งก็ต้องระบบเมืองนอกที่มีระบบแอ็กทีฟเมนต์ เวลาสอบได้ที่ 1-2-3 ก็ได้รางวัลตลอดเวลา” ซึ่งขณะเรียนอยู่ที่นั้นก็ได้รับรางวัลหอบกลับมาอวดครอบครัวมากมาย
“ช่วงชีวิตที่เรียนที่ต่างประเทศถือว่ามีความสุขมาก โดยเฉพาะวิชาที่ดิฉันชอบมากที่สุดคือวิชาอาร์ต คือเด็กคนอื่นอาจจะเบื่อ แต่ดิฉันเป็นเด็กคนไทยคนเดียวที่เรียนอาร์ต ฉะนั้นจะมีความสุขเวลาที่วาดรูป เพนติ้ง เพราะทิวทัศน์ที่โน่นเขาสวย แล้วก็ถือว่าได้ชื่อผลิตภัณฑ์มาทุกวันนี้ด้วย”
ใช้เวลาไม่นาน เธอก็คว้าปริญญาตรีที่ประเทศ New Zealand กับปริญญาโท
ที่ประเทศ Australia มาประดับความภาคภูมิใจ
“วิชามาร์เกตติ้ง เราก็ชอบนะ แต่ “ไฟแนนซ์ฯ” มันเป็นวิชาถ้าคุณครูจะให้รางวัลเรา ตัวเลขมันถูกก็คือถูกเพราะมันมีคำตอบเดียว แต่ถ้าเป็นวิชาอื่นๆ เราอาจจะโดนกดคะแนนได้ คือภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาแม่เราก็เลยเลือกเรียน“ไฟแนนซ์ฯ” และก็เป็นอะไรที่จบเร็วมากที่สุดด้วย และก็ใช้เวลาเรียนปริญญาตรีอีก 2 ปีครึ่งค่ะ”

ก้าวเท้า ไต่เต้า สู่ อาณาจักร สหฟาร์ม
หลังจากคว้าปริญญาโทด้วยวิชาที่เลือกเองอย่างเต็มความภาคภูมิ (เธอใส่ชุดไทยและสวมชุดครุยทับรับปริญญาคนฝรั่งแตกตื่น)เธอก็กลับมาแผ่นพ่อ-แม่เพื่อเข้ามาทำงาน
“ดิฉันจำได้แม่นว่ากลับมาทำงานให้สหฟาร์มครั้งแรกก็ปี 2000”
เธอเล่าว่าตอนกลับมาคุณพ่อก็ให้ทำงานเหมือนพนักงานทั่วไป ทำจิปาถะ จนกระทั่งไต่เต้ามาเรื่อยๆ และก็ต้องพบกับบททดสอบยิ่งใหญ่ กับ วิกฤตไข้หวัดนก
“ตอนนั้นแย่มาก ดร.ปัญญา ก็บอกดิฉันว่าภารกิจคุณไม่น้อยเพราะว่าเกิดวิกฤตตรงนั้น เราขายไก่ไม่ได้แม้แต่กิโลเดียว ทั้งๆ ที่ไก่ไม่ได้เป็นโรคเลยสักตัว เราก็เกิดแพนนิค ก็ไปปรึกษาคุณพ่อก็ไม่พูดอะไร แค่ชี้ขึ้น-ลงท่านก็บอกว่า ขาขึ้น ก็ต้องมีขาลงและเนี่ยคือขาลงก็อย่างนี่เอง และด้วยผู้บริหารมีความสามารถก็ผ่านพ้นมาได้ ก็ทำให้ผ่านมาได้”
นอกจากหน้าที่ตำแหน่งประธานกรรมการบ. สหฟาร์ม แล้ว ปัจจุบันด้วยความสามารถในการผ่านวิกฤตครั้งนี้ ทำให้ผู้เป็นพ่อมอบหมายหน้าที่ควบคุม บ.Health foods ธุรกิจดูแลตลาดไก่ภายในประเทศ นอกจากยังดูแลซุปเปอร์มาเก็ต (และระบบขายตรง) อีกด้วย
“ถามว่าเป็นผู้หญิง ทั้งยังเป็นผู้นำมีปัญหาบ้างไหม มีค่ะ ซึ่งนี้ก็ต้องใช้ระยะเวลานิดหนึ่ง เคล็ดลับที่ทำให้ผ่านมาได้ก็คือคำแนะนำของผู้เป็นพ่อที่ว่า จงนอบน้อม ฟัง-รับฟัง และต้องฝากเนื้อฝากตัว ไม่แข็ง ซึ่งเราก็ไม่ได้ว่าเราเก่ง ที่ผ่านมาได้ก็เพราะคุณพ่อ พนักงานทุกๆ คนช่วยกันทุกคน แต่เราก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด ขอให้คุณเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริตทุกๆ อย่างก็จะผ่านไปได้”
เธอยิ้มสดใสแต่ถ้ามีอะไรก็มาถามท่าน คือท่านเปิดโอกาสให้กับเรา 24 ช.ม.ยกเว้นตอนนี้ท่านย้ายไปอยูที่บ้านสุขาวดีท่านก็มีแขกผู้หลักผู้ใหญ่ไปขอคำแนะนำจากเยอะมากๆ แม้กระทั่งคนกำลังจะฆ่าตัวตายเนี่ย ยังวิ่งไปหาท่านเลย
“สิ่งที่เราได้เรียนจากดร.ปัญญา ในเรื่องงาน ก็คือท่านจะสอนเสมอๆ ว่าคนทุกคน มีคุณค่าของให้เขาดึงศักยภาพของเขามาใช้เหอะ และก็ให้เห็นว่าทุกคนเนี่ย มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราเชื่อมั่นมันว่าลูกน้องมีศักยภาพให้เขาทำเต็มที่ แต่ Ok คุณอาจจะเพิ่มเติมได้ คุณดูแลกิจการเรามีหน้าที่ในการสนับสนุนเขา ให้สิ่งที่เขาคิด ให้ไอเดียที่ดี เพื่อให้มันบรรลุผลออกมาเป็นรูปธรรม ส่วนอะไรที่เวลาที่เราทำอะไร ดิฉันก็บอกว่า ดร.ปัญญาคิดแบบนี้ ดิฉันอยากได้แบบนี้ แต่ถ้าเธออยากได้แบบไหน ก็เอามาเสนอ ซึ่งดร. ปัญญาอาจจะชอบแนวคิดของเธอก็ได้ เราก็ให้โอกาสคน ให้ได้แสดงในสิ่งที่ตัวเองคิดด้วย”
“อย่าไปปิดกั้นศักยภาพของคน” นี่คือสิ่งล้ำค่าที่ครอบครัวโชติเทวัญทำให้เธอ
ได้เรียนรู้

Family สามี และนิทานของลูก
เห็นหน้าตาสดใส ใช่...เธอแต่งงานแล้ว สามีคุณเสาวลักษณ์ คือ ธีรวุฒิ อัศวโสภณ หนุ่มใหญ่ไฮโซที่เก่งและใจเย็น (และรักการสะสมรถโบราณ) ปัจจุบันทั้งคู่มีพยานรัก ชื่อ ด.ญ. กรศสร อัศวโสภณ และ ด.ช.ภูภัคกุน อัศวโสภณ หน้าตาน่ารักด้วยกัน 2 คน
“วันว่างเราก็จะพาลูกๆ ไปเที่ยวค่ะ ไปกินข้าว หรือถ้าอยู่กับบ้านก็จะขี่จักรยาน ว่าย
น้ำเล่นกับพวกเขา หรืออย่างตอนเช้าก่อนลูกไปโรงเรียนเราก็มีเวลาเล่นกัน ถ้ากลับเร็วหน่อยเราก็จะมาเล่นกับลูกก่อน ก่อนนอนก็ต้องเล่านิทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบให้เล่าทุกคืนค่ะ”
“คุณซาร่าเป็นผู้หญิงเก่งรักการทำงานมากๆ แต่ก็ให้ความสำคัญกับครอบครับ” สามีเธอบอก
เห็นยุ่งๆ แบบนี้ ซาร่าบอกว่า ปกติตัวเองก็ดูหนังฟังเพลงเหมือนคนทั่วๆ ไป
“เมื่อก่อนชอบทำอาหาร แต่เดี๋ยวนี้ หมอดูฮวงจุ้ยบอกไม่ให้ทำอาหารในบ้านก็เลยไม่ทำค่ะ ถามว่าเชื่อไหม ก็ไม่ค่อยจะเชื่อนะ อีกอย่างบ้านดิฉันแม่บ้านทำอาหารอร่อยก็เลยไม่ต้องถึงมือเรา”

ชีวิตปัจจุบันมีความสุขไหม...? เธอยิ้มและตอบว่า มากๆ ค่ะ เรามีความสุขพนักงานเราก็มีความสุข ถ้าคุณเครียดในฐานะผู้นำมันก็จะไปกันใหญ่เลย ถึงบอกว่าช่วงที่ผ่านมาเราโชคดีที่คุรพ่อสอนไว้เยอะ พอมีความสุขลูกน้องก็ Happy พอสนุกเขาก็สู้ตาย”
“สำหรับดิฉัน ทุกๆ คนพนักงานทุกๆ คน Ok มีความภาคภูมิใจที่ได้อยู่กับบริษัทเรา และบริษัทเราก็จะมั่นคงและเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ อย่างดร.ปัญญาเวลานั่งคุยกันท่านก็จะปักธงไทยเลย เหมือนตัวเองเป็นรัฐมนตรี ท่านก็จะถามว่าคุณอยากทำอะไร แล้วประเทศได้ประโยชน์ไหม คนไทยได้ประโยชน์หรือเปล่า” นี่เป็นการ Set goalในการทำงาน
ส่วนGoalสำหรับครอบครัว เธอบอกว่า ก็มีความหวังให้ลูกเติบโตมาเป็นคนดี และก็ตัวเองก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย
“คือเราไม่ยึดติดเหมือนคุณพ่อ-แม่ว่านี่มันแบรนด์เนม อย่างตะกร้าราคา 199 บาท ก็ถือนะของสมเด็จพระนางเจ้าดิฉันก็ชอบนะ คือแบบใช้แฮนด์เมด แล้วราคาสมเหตุ-สมผล มันเหมือนเป็นชิ้นเดียวที่ไม่เหมือนใคร ดิฉันก็อยากให้ลูกเรารู้จักคุณค่าของเงิน”
ฝันครั้งสุดท้ายฝันเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว....? เธอตอบกลั้วเสียงหัวเราะเวลาฝันก็ยังไม่ค่อยมีเลยคะ
ถ้าจะต้องหาคำนิยามที่เหมาะสำหรับผู้หญิงคนนี้ “เธอผู้มีชีวิตเพื่อคนอื่น” คำนี้เหมาะกับเธอจริงๆ
ชีวิตของดิฉันไม่ได้มีเพื่องาน แต่งานคือชีวิต” เธอสรุปความเป็นตัวเองแบบนั้น





กำลังโหลดความคิดเห็น