xs
xsm
sm
md
lg

5 ปีที่สูญหาย..สมชาย นีละไพจิตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
 
     ดำเนินการรวบรวมรายชื่อพี่น้องมุสลิม จำนวน 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลา

 
    
ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศาลขอความเป็นธรรมให้แก่ผู้ต้องหา 5 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการปล้นอาวุธปืนกองพันพัฒนาที่ 4 หรือค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547

 
     คำร้องเรียนดังกล่าว ระบุว่า ผู้ต้องหาถูกตำรวจชุดจับกุม ทำร้ายร่างกาย

     บทบาทของทนายสมชาย ที่หยิบยกมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันหนักแน่น ในการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อการกระทำทารุณของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะบทบาทประการหลัง อันส่งผลสะเทือนต่อคนในเครื่องแบบ เนื่องด้วยคำร้องดังกล่าวนำไปสู่คำสั่งศาล อนุญาตให้ย้ายผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ในคดีปล้นปืน พ้นจากการควบคุมดูแลของตำรวจ และย้ายจากกองปราบปราม ไปยังเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร ทั้งอนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ได้รับการตรวจสุขภาพ

 
     27 กุมภาพันธ์ 2547 ณ เวทีอภิปรายสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดขึ้นที่ สถาบันสันติชน ทนายสมชายวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวนของตำรวจกองปราบที่ทรมานผู้ต้องหากรณีปล้นปืนซึ่งถูกจับกุมมายังกรุงเทพมหานคร

     สองสัปดาห์หลังจากนั้น ไม่มีใครพบเห็นทนายสมชายอีก ตราบกระทั่งวันนี้

                  …..............

     บางเงื่อนปม

 
     ย้อนกลับไปสองสัปดาห์หลังการหายตัวไปของทนายสมชาย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ของวุฒิสภา ร่วมด้วย แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, สัก กอแสงเรือง, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ได้เข้าตรวจเยี่ยมผู้ต้องหาในคดีปล้นปืนทั้ง 5 คน ทำให้ได้รับข้อมูลว่า ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้รองเท้าตบกกหูและใบหน้า ถูกนำผ้าผูกตา บางคนถูกไฟฟ้าช็อตหลายครั้ง

 
     คณะเจ้าหน้าที่ที่เข้าเยี่ยม ได้รับข้อมูลจากผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ซึ่งชี้ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 5 นาย ที่อยู่ร่วมกับตนในสถานที่ที่ถูกทรมาน ทำร้ายร่างกาย

 
     หลังการหายตัวไปของทนายสมชาย ผู้ต้องหาทั้ง 5 คนในคดีปล้นปืนได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะหลักฐานไม่เพียงพอในการดำเนินคดีนี้ แต่แล้วไม่นานนักก็มีการจับกุมผู้ต้องหา 4 ใน 5 คน ด้วยข้อหาที่ร้ายแรงกว่าเดิม

 
     ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 5 นาย ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย หนึ่งในนั้นเคยตกเป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ว่า จมน้ำที่เขื่อนแควน้อย อ.วัดโบสถ์ จ. พิษณุโลก ...แต่หาศพไม่พบ และหลังจากนั้น มีผู้พบเห็นผู้ต้องสงสัยรายนี้ยังใช้ชีวิตตามปรกติ โดยพักอาศัยอยู่เกาะกง กัมพูชา

 
     ขณะที่ผู้ต้องสงสัยซึ่งมีตำแหน่งสูงสุดในจำนวนตำรวจทั้ง 5 นาย ก็ยังคงปฏิบัติราชการอยู่ตามปรกติ ต่างจากผู้ต้องสงสัยคนอื่น ที่ถูกพักราชการ

                  ................

 
     ไฟไหม้ฟาง...หายไปกับสายลม

     “ผมมองว่า การทำงานของภาครัฐในการติดตามคดีนี้ เป็นแบบ “ไฟไหม้ฟาง” ไม่ว่ายุคของรัฐบาลชุดก่อน หรือแม้แต่รัฐบาลชุดนี้ แต่ผมก็ยังหวังว่าเมื่อเปลี่ยนจากรัฐบาลชุดก่อนแล้ว อะไร ๆ จะดีขึ้น”

     อาดีลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความศูนย์ทนายความมุสลิม สะท้อนความเห็นเปรียบเปรยถึงผลงานที่จับต้องไม่ได้ของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการติดตามคดีนี้

 
     ขณะที่ สมชาย หอมละออ นักสิทธิมนุษยชนดีเด่น ปี 2551 วิพากษ์กระบวนการยุติธรรมของไทย ต่อความล่าช้าในการติดตามคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย อย่างตรงไปตรงมาว่า

 
     “กระบวนการยุติธรรมของไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ดังนั้นจึงควรมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ถ้าถามผม ผมจึงไม่ค่อยมีความคาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมของไทยที่ไม่มีความจริงใจในการดำเนินคดี สิ่งที่สังคมไทยได้เรียนรู้ หรือตระหนักจากการหายตัวไปของคุณสมชาย ก็คือ เราได้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยนั้นอ่อนด้อยมากแค่ไหน และจะอ่อนด้อยอย่างยิ่งเมื่อผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง”

 
     พ้องกับความเห็นของอาดีลัน ที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องอุปสรรคสำคัญอันเป็นตัวถ่วงให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้า ว่า 

 
     “ทำไมการสืบสวนสอบสวน ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จึงไม่คืบหน้าไปไหนเลย ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะมีอะไรแอบแฝง หรือซ่อนเร้นอะไรมากมาย หลักฐาน พยานแวดล้อม เช่น การโทรศัพท์ของผู้ต้องสงสัยก็ค่อนข้างจะเป็นที่ประจักษ์ แต่คดีมันก็ไปไม่ถึง “ข้างบน” สักที ที่เป็นแบบนั้นมันก็คงจะไปกระทบอะไรเยอะ กับหลายๆ กลุ่ม หลายๆ องค์กร

 
     “ในความคิดของผม คดีนี้คงจะไปกระทบกับบุคคลหลายๆ ฝ่าย กระทบกับหน่วยงานหลายๆ หน่วยงาน สิ่งที่ทำให้คดีไม่คืบหน้าก็เพราะเหตุนี้แหละ คือ “รู้ แต่พูดไม่ได้” กระทบกับองค์กรนู้น หน่วยงานนี้ ย้ำว่านี่เป็นเฉพาะทัศนะของผมนะครับ”

 
     คงไม่เกินเลยความจริงนัก หากมองว่า ความกังขาในคดีนี้ ทำนองว่า “รู้แต่พูดไม่ได้...”ไม่ใช่แค่ปรากฏให้เห็นจากทัศนะของอาดีลัน แต่กระจายอยู่ทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะ ในสังคมที่ทนายสมชาย เป็นที่รักเคารพ

 
     “คำถามที่ผมมักจะได้รับจากพี่น้องมุสลิมอยู่เสมอก็คือ คำถามว่า “คดีคุณสมชาย ไปถึงไหนแล้ว?” หรือไม่ก็ “คุณสมชายคงเสียชีวิตแล้วใช่ไหม?” คำถามเหล่านี้มีอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น รัฐจะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมในการติดตามคดีให้กระจ่าง เพราะตราบใดที่ชาวบ้านรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมไม่คืบหน้า ความหวาดระแวงที่ชาวบ้านมีต่อรัฐก็จะยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะกรณีการหายไปของคุณสมชาย แต่หมายถึงกับทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านแล้วเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม”

 
     ขณะที่ พุทธนี กางกั้น ผู้ประสานงาน คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพซึ่งมีอังคณา นีละไพจิตร เป็นประธาน เอ่ยถึงความล่าช้าว่า แปรผันตรงกับ “ความจริงใจ” ในการติดตามคดี

 
     “เมื่อถามถึงเรื่องความล่าช้าในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ก็คงต้องบอกว่า สิ่งที่ทุกคนรอคอยอยู่คือ “ความจริงใจ” ในทุกกระบวนการ ในทุกภาคส่วนของกระบวนการยุติธรรม ทั้งการสืบสวน การเก็บหลักฐาน รวมถึงความจริงใจในการดำเนินคดี ไม่ว่าในชั้นศาล อัยการ และทุกๆ ขั้นตอน แต่ด้วยความซับซ้อนของคดีเพราะผู้ต้องสงสัยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มันก็ค่อนข้างยากที่จะถามว่าเวลาผ่านมา 5 ปี แล้ว ทำไมยังไม่คืบหน้า ถามว่ามีใครพอใจไหม ก็ไม่มีใครพอใจ”

 
 
     เอา “ความเป็นธรรม” คืนมา

 
     “กรณีของคุณสมชายจะพบว่าผู้ต้องหา 5 คน ปฏิเสธที่จะเจาะเลือด หาดีเอ็นเอ เพื่อเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอที่พบในรถ ปฏิเสธที่จะให้ตัวอย่างผมเพื่อเปรียบเทียบกับเส้นผมที่พบในรถ ในขณะที่ถ้าเป็นผู้ต้องหาทั่วไปก็จะถูกบังคับให้ต้องตรวจ ตรงนี้ยังเป็นอะไรที่เป็น 2 มาตรฐานอยู่

 
     “ที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ พยายามที่จะผลักดันกฎหมายเพื่อปฏิรูปตำรวจ คู่ขนานไปกับกฎหมายการร้องทุกข์กล่าวโทษของประชาชน แต่ปรากฏว่ามันไปไม่ได้ ถูกคว่ำทิ้งไปเลย ทั้งที่กฎหมายนี้จะทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ทำให้มีการกระจายอำนาจในองค์กรตำรวจ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ผ่าน แล้วประชาชนจะสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้จริงแค่ไหน หรือในรัฐธรรมนูญระบุว่าผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิเข้าถึงพยานหลักฐานได้พอสมควร แต่จริงๆ แล้วในทางปฏิบัติผู้เสียหายแทบไม่มีโอกาสขอดูสำนวนหรือขอทราบแนวทางในการสืบสวนสอบสวนเลย ทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับหมด จะมาเปิดเผยต้องถึงศาลก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว"

 
     อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพและภรรยาของทนายนักสู้ สมชาย นีละไพจิตร เอ่ยกับ "ปริทรรศน์" ก่อนจะแสดงความเห็นต่อช่องโหว่ และความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการยุติธรรม ที่ปรากฏให้เห็นไม่เฉพาะในกรณีการหายไปของทนายสมชาย หากยังรวมถึงเหตุการณ์อื่นๆ ที่น่าเคลือบแคลง

 
     “การทำงานของกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนต้องมีความอิสระจริง โปร่งใสจริง ตัวอย่างกรณีมัสยิดกรือเซะที่มีคนเสียชีวิต 32 ศพ ปรากฏว่าเมื่อไม่กี่วันนี้อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทั้งๆ ที่คณะกรรมการอิสระที่รัฐบาลคุณทักษิณตั้งขึ้นก็ชี้ว่ามีนายทหารระดับสูง 3 นาย เป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต มันก็มีคำถามว่าทำไมไม่ฟ้อง ต้องมีการแจ้งเหตุผลให้ประชาชนทราบ หรืออย่างอำนาจในการสืบสวนสอบสวนซึ่งอยู่ในมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วถ้าเกิดเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กระทำผิดเองจะมีการแทรกแซงหรือไม่ จะมีการปกป้องพวกเดียวกันหรือไม่
 
      "เรามี ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ซึ่งประชาชนคาดหวัง เวลาที่ประชาชนมีปัญหากับเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอิทธิพล แต่ว่าทุกวันนี้ ดีเอสไอ ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์และความคาดหวังของประชาชนมากน้อยแค่ไหน เพราะว่า พ.ร.บ.คดีพิเศษให้อำนาจกับดีเอสไอมาก แล้วดีเอสไอได้ใช้อำนาจเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณกับผู้เสียหายหรือเปล่า วันนี้คดีในดีเอสไอหลายๆ คดีที่ประชาชนมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพลก็ยังไม่มีสักคดีหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าดีเอสไอสามารถทำงานได้ ปกป้องผู้เสียหายได้

 
     “อย่างกรณีคุณเจริญ วัดอักษร ที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ ถ้าไปดูแล้วจะพบว่าศาลเชื่อเจ้าหน้าที่ที่มาเบิกความว่าจำเลยรับสารภาพและซัดทอดผู้บงการ ซึ่งเป็นคำให้การของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับพนักงานสอบสวน ไม่ใช่ ดีเอสไอพอคดีย้ายมาอยู่กับดีเอสไอ ก็ต้องถามว่า ดีเอสไอได้สอบสวนขยายผลไหม ปรากฏว่า ดีเอสไอก็ไม่ได้ขยายผล”

 
 
     ส่วน พุทธนี มองว่า คดีของทนายสมชายนับเป็น “คดีคนหาย” คดีหนึ่ง ที่ “มาไกล” ที่สุดแล้ว ในกระบวนการยุติธรรม เพียงแต่ว่า...

 
     “รายละเอียดลึกลงไปกว่านั้น กรณีของทนายสมชายไม่ใช่แค่ เรื่อง “คนหาย” แต่ยัง มีเรื่องของการบังคับ ขู่เข็ญ การขืนใจ กรณีทนายสมชาย จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ทำให้เราเห็นถึง “การลอยนวลความผิด” ของผู้กระทำผิด แล้วเราก็รู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาหลักของกระบวนการยุติธรรม ถ้าผู้กระทำหรือผู้ต้องสงสัยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เหตุการณ์แบบนี้ก็จะเกิดขึ้น”

 
     สอดคล้องกับความเห็นของสมชาย หอมละออ ที่มองว่า “การลอยนวลความผิด” เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ต้องสงสัยนั้น เป็นความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรมของไทยที่ฝังรากอยู่อย่างแข็งแรง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่คาดหวังนัก ต่อกระบวนการยุติธรรมแบบ...ไทยๆ โดยเฉพาะเมื่อถามถึง การติดตามคดีของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้รับผิดชอบ

 
     “เหตุที่คดีไม่คืบหน้า เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคดี รักพวกรักพ้องหรือไม่? เพราะคนทำผิดเป็นสีกากี และคนทำคดีนี้ก็เป็นสีกากีหรือเปล่า? นอกจากนี้ผมขอเสนอว่า ไม่ควรยึดติดว่าจำเป็นจะต้องพบศพของทนายสมชายหรือไม่ เพราะไม่ว่าอย่างไร การกักขัง หน่วงเหนี่ยว บังคับขู่เข็ญ ให้สูญเสียอิสรภาพย่อมเป็นข้อหาให้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีได้ทั้งสิ้น กรณีเดียวกันนี้หากเกิดขึ้นในต่างประเทศ จะสามารถนำคนผิดมาลงโทษได้หากมีพยานหลักฐานแน่ชัด แม้ไม่พบศพผู้ถูกกระทำก็ตาม”

 
     “ไม่คาดหวัง” คำเดียวกันนี้ ก็ถูกเน้นย้ำอย่างหนักแน่น จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนร่วมในการหาพยานหลักฐานคดีการหายตัวไปของทนายสมชายร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ  เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการนำตัวผู้บงการมารับโทษ รวมถึงความคืบหน้าในการสืบหาร่างทนายสมชาย เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว เผยความในใจกับเราว่า

 
     “ไม่คาดหวังเลย ปัจจัยที่จะช่วยให้ทำคดีนี้ได้ลุล่วงไม่มี มีแต่ตัวถ่วง ตัวถ่วงประการแรกเลยคือเงื่อนเวลา เมื่อเนิ่นนาน ก็ยิ่งยาก ประการต่อมา คดีนี้เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ว่านี้ถือเป็น “ระบบ” ที่ใหญ่มาก กระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนนี้จึงทำให้การหาข้อมูลหลักฐานเป็นเรื่องยากลำบาก

 
     “ประการที่สามคือระบบการเมือง ประการสุดท้าย คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็รอดูนโยบายรัฐบาล แล้วเมื่อเป็นแบบนี้ ก็ไม่อาจคาดหวังว่าอะไรจะดีขึ้นได้ แต่เมื่อมีคำสั่งให้ทำเราก็ทำ ไปตามหน้าที่”

 
     นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่คนเดิม ยังวิพากษ์ ถึงเหตุผลที่น่าเคลือบแคลง ของการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

 
     “ดูเหมือนว่าสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีขึ้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ดูเหมือนกับว่า ประชาชนมีทางเลือก แต่ในความเป็นจริง การทำงานมันไม่สามารถไปได้ด้วยหน่วยงานเดียว ดังนั้นเมื่อมีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วย ซึ่งในที่นี้คือกระทรวงยุติธรรม มันก็ไม่ได้เอื้อให้การทำงานนัก อาจเพราะว่าเป็นตำรวจเก่าด้วย ก็ไม่ได้ทำให้มันดีขึ้น เพราะฉะนั้นอุปสรรคใหญ่ที่ควรแก้ เมื่อมองปัญหาในภาพรวมก็คือ ทำอย่างไรจะมีหน่วยงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่ไม่ต้องกลัวอำนาจเดิม”

 
     แต่ปัญหาก็คือ...

     “ไม่มีหน่วยงานใดที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในตัวเอง ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา และต่อจากนี้ไปก็ไม่สามารถจะแก้อะไรได้ แม้จะมีสถาบันนิติวิทยาศาสตร์”

    
     มูลค่า “ชีวิต” ...สิทธิที่จะ “หายใจ”

 
     “ในมุมมองของผม ผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เรียกได้ว่า เป็นการยืนอยู่ในขั้วตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน กระบวนการตรวจสอบของรัฐที่มีต่อผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนก็เป็นหน้าที่ที่รัฐทำได้เช่นกัน เพียงแต่รัฐต้องทำความเข้าใจว่า การตรวจสอบรัฐ เป็นหน้าที่ของนักสิทธิมนุษยชน รัฐต้องเปิดใจให้กว้าง และห้ามอย่างเด็ดขาด ที่จะไป “ละเมิด” คนเหล่านี้

 
     “รัฐต้องมี “พื้นที่ยืน” ให้แก่คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน รัฐพึงตระหนักว่า นักสิทธิมนุษยชน คือ “ตัวเชื่อม” ระหว่าง รัฐ กับประชาชน” อาดีลัน ย้ำ เมื่อถูกเอ่ยถามถึงเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของนักต่อสู้ เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในเมืองไทย

 
     เป็นความเห็นในทิศทางเดียวกัน กับพุทธนี

 
     “คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในไทย นั้น หากมองจากสายตาชาวบ้านก็อาจคิดว่าคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เป็นที่พึ่งให้ได้ในระดับหนึ่ง แต่เพราะนักสิทธิมนุษยชนคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐ รัฐจึงมองนักสิทธิมนุษยชนด้วยสายตาไม่ไว้วางใจ เพราะฉะนั้นหากถามถึงความปลอดภัยของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือคนทำงานด้านนี้ที่ถูกรัฐมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ มันก็เป็นสิ่งที่น่าจับตา ดังกรณีของทนายสมชายซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ว่าการที่เขาทำงานซึ่งขัดกับสิ่งที่รัฐไม่เห็นด้วย ก็มีผลออกมาในลักษณะนี้

     “ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะ “ไม่ถูกละเมิดโดยรัฐ” แม้เขาคนนั้นจะมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นศัตรูหรือเป็นปรปักษ์กับรัฐ เมื่อประเทศของเราเป็น “ประชาธิปไตย” นั่นหมายความว่า รัฐควรมีพื้นที่ และเปิดโอกาสสำหรับคนที่เห็นต่าง ให้เขาสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคง ปลอดภัย”

 
     ขณะที่ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ มองเลยไกลไปถึงทุกชีวิตที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ...แต่หาความปลอดภัยในชีวิตได้ยากยิ่ง

 
     “มนุษย์ทุกคนมีค่าเท่ากัน ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่าใคร ที่จะมาจัดการกับชีวิตใครได้
 
      “ว่าไปแล้วทุกชีวิตก็ “ไม่มีความปลอดภัย” ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่คุณสมชาย ซึ่งหมอก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงเฉพาะกับคดีของคุณสมชายมากกว่าคดีอื่น ก่อนการหายไปของคุณสมชาย ก็มีคนถูกอุ้มหายเยอะ แม้หลังเหตุการณ์ของคุณทนายสมชายก็ยังมีคนถูกอุ้มหายอยู่ เป็นบุคคลนิรนามก็เยอะ เพียงแต่ไม่มีหน่วยงานใดที่จะติดตามอย่างจริงๆ จังๆ แล้วก็อยากจะฝากถึงกลุ่มคนที่เรียกร้องเฉพาะในกรณีของคุณทนายสมชาย ว่า อยากให้ลองมองในมุมใหม่ เพราะหากหยิบยกมาเฉพาะกรณีนี้กรณีเดียว อาจได้รับการสนับสนุนไม่เต็มที่ ไม่มีพลังพอหรือเปล่า เพราะหากเราลองมองดีๆ จะเห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีอยู่ทั่วไปหมดในประเทศไทย ทำอย่างไรจะแก้ไขได้ หากมองในประเด็นนี้ด้วย อาจทำให้เราเดินไปเจอแสงสว่าง”

 
 
     กระนั้น ในความสูญสิ้น หมดศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ยังมีบางสิ่งก่อเกิดขึ้น
ดังทัศนะ ของสมชาย หอมละออ

 
     “คนใกล้ชิด และคนที่รักทนายสมชายย่อมโศกเศร้าเสียใจกับความสูญเสีย แต่มองในอีกมุมหนึ่ง ผมมองว่า แม้จากไปแล้ว แต่คุณทนายสมชายก็ยังสร้างคุณูปการแก่สังคมไทย คือก่อให้เกิดการตื่นตัวของภาคประชาชน ภาคประชาสังคมอย่างเข้มแข็ง ประเด็นสิทธิมนุษยชนถูกเอ่ยถึงอย่างกว้างขวาง ประชาชนร่วมกันจับตา มีการสร้างเครือข่ายตรวจสอบความไม่เป็นธรรมของภาครัฐ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนสร้างแรงกดดันอย่างหนักหน่วงให้รัฐ เสมือนเป็นนัยบอกให้รู้ว่า

 
    "ไม่ง่าย หากมีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดจะกระทำความผิดเช่นนี้อีก เพราะทั้งสังคมจับตาอยู่”

                     ..............

เรื่องโดย : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล

ข้อมูลอ้างอิง : รายงานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร, วุฒิสภา

-หมายเหตุ
 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DEPARTMENT OF SPECIAL INVESTIGATION มีชื่อย่อว่า DSI ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม มีบทบาทและภารกิจหลัก 5 ประการ ได้แก่ 
1. ป้องกัน ปราบปรามและควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 
2.  พัฒนากฏหมาย กฏระเบียบ รูปแบบ วิธีการ และมาตรการในการป้องกัน ปราบปรามและควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
3. พัฒนาโครงการและการบริหารจัดการองค์กร
4. พัฒนาบุคลากร โดยเสริมสร้างศักยภาพในด้านความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม และขวัญกำลังใจ
5. ประสานส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมอาชญากรรมกับทุกภาคส่วนทั้งภายในและต่างประเทศ
     อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ คนปัจจุบัน คือ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น