xs
xsm
sm
md
lg

Let’s Swing “กอล์ฟ”การออกกำลังกายชั้นยอด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 การสวิงไม้กอล์ฟจากการพัตต์
นิยามของกอล์ฟคืออะไร? คนจำนวนมากคิดว่าคงเป็นกีฬาของ ไทเกอร์ วูดส์ หรือมีไม่น้อยที่มองเป็นเพียงกิจกรรมยามว่างไว้สมาคมกับเพื่อนฝูง หรือแม้แต่คนที่ได้ชื่อว่าเป็นสปอร์ตแมนยังไม่แน่ใจว่าการสวิงหัวไม้สามจะทำให้หุ่นฟิตแอนด์เฟิร์มขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม มีผลวิจัยชิ้นหนึ่งที่ช่วยยืนยันว่ากอล์ฟเป็นการออกกำลังกายที่ดีอีกประการหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพของคุณดีขึ้น
“สิ่งที่น่าสนใจคือผมพบว่าการเล่นกอล์ฟมีการใช้พลังงานของร่างกายอย่างมีนัยสำคัญ อาจไม่เทียบเท่ากีฬาอย่างการชกมวย แต่มากกว่าที่หลายคนคิดถึง การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อด้วยเวลาเพียง 3 วินาที” นีล วอลโกดอฟฟ์ ผู้อำนวยการแห่งศูนย์สุขภาพและวิทยาศาสตร์การกีฬา เมืองเดนเวอร์ ประเทศสหรัฐฯ เจ้าของผลวิจัยเปิดเผย
ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้นำอาสาสมัครชายจำนวน 8 ราย อายุระหว่าง 26-61 ปี ซึ่งมีแต้มต่อ (Handicap) ระหว่าง 2 และ 17 เข้าทำการทดสอบด้วยการให้ลงเล่น 9 หลุมต่อรอบ ณ สนามอินเวอร์เนส กอล์ฟ คลับ ชานเมืองเดนเวอร์ ซึ่งสภาพสนามส่วนใหญ่ประกอบด้วยเนินเตี้ย โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ออกเป็น 4 กลุ่มตามวิธีการที่ผู้เล่นนำถุงกอล์ฟร่วมทางไปด้วย คือ (1) การหิ้วด้วยตัวเอง (2) การใช้รถเข็น (3) การให้แคดดีเป็นฝ่ายหิ้ว และ (4) การนั่งรถกอล์ฟตลอดการเล่น มีจุดประสงค์เพื่อตรวจวัดความสัมพันธ์ระหว่างระยะทางที่ผู้เล่นเดินผ่านทั้ง 9 หลุม กับความเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจ
ก่อนเข้าทำการทดสอบ อาสาสมัครแต่ละคนจะถูกตรวจวัดระดับ “จุดเริ่มล้า” (Anaerobic Threshold) คือจุดที่ร่างกายทำงานมากจนเกิดการสะสมกรดแลกติกในกล้ามเนื้อและส่งผลให้ร่างกายเริ่มอ่อนล้าจนในที่สุดต้องหยุดการออกกำลังกายไป หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการเช็กสภาพความฟิต
ผลการทดสอบปรากฏว่า อาสาสมัครกลุ่ม (1) มีการใช้พลังงานแต่ละรอบเฉลี่ยประมาณ 721 แคลอรี ขณะที่กลุ่ม (2) ต่ำกว่าเล็กน้อยที่ 718 แคลอรี ส่วนกลุ่ม (3) ต่ำกว่าสองกลุ่มแรกที่ 613 แคลอรี และที่เป็นไปตามคาดคือกลุ่ม (4) มีการเผาผลาญพลังงานต่ำสุดเพียง 411 แคลอรี สอดคล้องกับจำนวนระยะทางที่ผู้เล่นกลุ่ม (1), (2) และ (3) มีการเดินมากกว่าที่ 4 กิโลเมตร เทียบกับกลุ่ม (4) ที่มีการเดินเพียง 0.8 กิโลเมตร
จำนวนการเผาผลาญแคลอรีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กีฬากอล์ฟเป็นการออกกำลังกายที่ดีเยี่ยม และส่งผลดีต่อสุขภาพ เนื่องจากผลการศึกษาทางการแพทย์ก่อนหน้านี้ชี้ชัดว่า หากร่างกายคนเรามีการเผาผลาญพลังงานอย่างน้อย 2,500 แคลอรีต่อสัปดาห์จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน หรือมะเร็ง ดังนั้นหากนักกอล์ฟในกลุ่ม (1), (2) และ (3) มีการลงสนาม 3-4 รอบต่อสัปดาห์ก็จะมีผลให้การใช้พลังงานใกล้เคียงตามรายงานทางการแพทย์ข้างต้น
ผลการวิจัยของ วอลโกดอฟฟ์ ยังเผยให้เห็นประโยชน์ของการเล่นกอล์ฟอีกหลายประการ เช่น ผลจากการวัดอัตราการหายใจ (Respiratory exchange ratio : RER) ซึ่งเป็นค่าที่สามารถระบุถึงสารที่ร่างกายใช้ไปในการเผาผลาญพลังงานซึ่งปกติมีสองตัวที่มักส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นคือ คาร์โบไฮเดรต และ ไขมัน ผลปรากฏว่าอาสาสมัครทุกกลุ่มมีระดับอยู่ที่ 0.85-0.88 อันหมายความว่าผู้เล่นทั้งหมดมีการเผาผลาญสารอาหารทั้งสองประเภทเท่าเทียมกัน มิใช่แต่เพียงไขมันอย่างเดียว
นอกจากนี้การทดสอบยังเผยให้เห็นถึงปัจจัยบางอย่างที่คนรักกอล์ฟสามารถนำมาปรับปรุงใช้เพื่อพัฒนาฝีมือของตนให้ดีขึ้น เนื่องจากมีการพบว่าอัตราการเต้นของหัวใจของอาสาสมัครจะเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดขณะออกแรงเดินขึ้นเนินซึ่งทำให้เข้าสู่ “จุดเริ่มล้า” เมื่อกำลังแขนและขาตกลงไปย่อมมีผลทำให้ความแน่นอนของการสวิงไม้ภายใต้สภาวะดังกล่าวก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้เล่นจำเป็นต้องดูแลร่างกายให้มีความฟิตสูงเข้าไว้อย่างการเข้าโรงยิมหรือฟิตเนสเพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแกร่งอดทนต่อการแข่งและมีสกอร์ที่ดีจนจบรอบ
ด้านผลทางจิตวิทยาก็มีการพบว่าการทำแต้มของอาสาสมัครกลุ่ม (2) และ (3) ซึ่งเดินผ่านแต่ละหลุมด้วยตัวเองจะมีผลงานที่ดีกว่ากลุ่ม (4) เนื่องจากระยะเวลาการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดเปิดโอกาสให้ผู้เล่นมีการคิดทบทวนการตีช็อตต่อไปดีกว่าการนั่งรถกอล์ฟที่พาไปถึงจุดหมายอย่างรวดเร็วจนขาดการคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อย่างไรก็ตามกลุ่ม (1) อาจทำสกอร์ได้ไม่ดีนักเนื่องจากได้รับผลกระทบจากความล้าในการแบกถุงกอล์ฟเอง

ถึงตอนนี้คงพอจะช่วยลบล้างทัศนคติของใครหลายคนที่มองว่าการทนเดินตากแดดบนสนามหญ้าไปจนครบ 18 หลุมเป็นการใช้เวลาที่สูญเปล่า และหากมีคนมาชวนไปออกรอบก็อย่าเพิ่งด่วนปฏิเสธเสียก่อนเพราะกอล์ฟส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายคุณเองมากกว่าที่คิด

ไทเกอร์ วูดส์ โปรหมายเลข 1 ของโลก
การสวิงไม้กอล์ฟจากการระเบิดทราย
ระยะการเดินทางจากช็อตต่อช็อต
กำลังโหลดความคิดเห็น