xs
xsm
sm
md
lg

DEATH SHOW กล้องวงจรปิด ภาพวงจรเปิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพโจรบุกจี้ชิงทรัพย์ธนาคารแห่งหนึ่งย่านบางนา
(ภาพระยะใกล้ : ร่างมนุษย์หลายร่างต่างนอนก่ายกองกันในลักษณะที่แต่ละร่างต่างไหม้เกรียมหงิกงอและบิดเบี้ยวผิดรูป ศีรษะโล้นเลี่ยนปราศจากเส้นผมที่เคยมี มองจากตรงนี้ ยากนักที่จะแยกเพศหญิง-ชาย บางคนตะเกียกตะกายหนีตายออกมาจากห่าไฟ ที่สาดกระหน่ำลงมาจากฝ้าเพดานกระทั่งลุกท่วมไปทั่วบริเวณ.......

ไม่นานนัก หลังจากชายหนุ่มยื้อยุดฉุดกระฉากหญิงสาว พนักงานรักษาความปลอดภัยผู้ไม่รู้ตัวว่ามัจจุราชกำลังมารอรับ ก็เดินออกมาพยายามยุติปัญหาของคู่รัก ในนามของสุภาพบุรุษ รปภ.ผู้นี้ใช้มือป่ายปัดปืนที่จดจ่อตรงหน้าราวไม่ยี่หระต่อความแหลมคมของกระสุนปืน ทันใดนั้น เขาก็ล้มร่างลงทันทีที่ลูกตะกั่ววิ่งเข้าชนศีรษะ ก่อนที่ชายหนุ่มจะจ่อปืนไปที่ผู้หญิงคนนั้น...... และแทบไม่ทันได้รู้เนื้อรู้ตัว เด็กหนุ่มนักศึกษาก็คะมำล้มคว่ำลงจากการจ่อยิงจากด้านหลังของชายที่สวมใส่หมวกกันนอกอำพรางใบหน้า.......)

แต่ภาพเหล่านี้ไม่สามารถอำพรางฉากและเหตุการณ์จากสายตาของคนที่นั่งจดจ่ออยู่หน้าจอโทรทัศน์ได้ มันเป็นภาพที่ทำให้หัวใจของเราเต้นแรง ตื่นตระหนก หวาดผวา ฯลฯ ภาพเหล่านี้ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับภาพต้องการถี่กระซิบที่ข้างหูเราว่า : นี่แหละคือความตาย!ๆๆๆๆ

ความตายมาทักทายถึงบ้าน

ในชีวิตนี้ ใครคิดบ้างว่าจะมีโอกาสได้เห็นภาพเหล่านี้ เมื่อวัดจากความรู้สึกของตัวเอง ก็พบความรู้สึกเสียวปลาบและหวาดแสยง แต่วันหนึ่ง เราก็พบว่า กำลังจ้องมองความตายด้วยความรู้สึกชินชา

"ความรุนแรงมันเกิดขึ้นเยอะจริงๆ" กิตติ สิงหาปัด นักวิชาชีพสื่อมวลชนกล่าว "นี่ไม่ใช่เฉพาะข่าวที่ปรากฏในสื่อนะ ความรุนแรงในสังคมมันเกิดขึ้นเยอะจริง ทีนี้ความรุนแรงบางส่วนสื่อก็ได้นำเสนอ ผมคิดว่าประเด็นของคนที่เป็นห่วงเรื่องนี้ก็อยู่ที่ว่า การที่เราเอาภาพความรุนแรงมาใช้ ใช้กันอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ พร่ำเพรื่อเกินมากเกินไปหรือเปล่า"

เขาเล่าถึงหลักในการพิจารณาเลือกใช้ภาพเพื่อการนำเสนอว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณค่าของการเป็นข่าว
"ภาพที่เราตัดสินใจนำมาใช้ ไม่ว่าจะภาพไหนก็ตามในข่าว จะต้องมีคุณค่าในตัวมันเองในการเป็นข่าว หมายความว่า เอามาใช้ด้วยการพิจารณาแล้ว มันก็มีหลักอยู่ในการพิจารณาในการใช้ภาพ มันอุจาดไหม เห็นเลือดหรือศพที่จะไปละเมิดผู้ตาย-ก็ต้องระวัง และไม่ควรใช้ การละเมิดผู้เยาว์อันนี้ก็ไม่ควรเกิด อันนี้เป็นการใช้ในแง่ที่ว่ามันเป็นข่าว แต่ถ้ามีการใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกวนไปวนมาอย่างในรายการที่มีการทอล์คพูดคุยกัน เอามาเปิดแล้วก็พูดคุยกันไป ภาพก็หมุนวนอยู่อย่างนั้นน่ะ อย่างนี้มันก็เกินความพอดี"

แม้คนข่าวอย่างกิตติจะยืนยันถึงหลักในการทำงานที่มีการระมัดระวังเพียงใด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า Out put ที่ออกมานั้น มองดูแล้วสวนทางจากสิ่งที่เขาพูด
ประเด็นการแย่งชิงสายตาคนดูในนามของเรตติ้ง จึงเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนถูกกล่าวหาเสมอ

"การเรียกเรตติ้งมันจะถูกมองตลอดเวลา แต่ต้องกลับไปดูว่าเรตติ้งสูงขึ้นจริงหรือเปล่าจากการเสนอภาพความรุนแรง ซึ่งผมไม่เชื่อว่ามันเรียกเรตติ้งได้ เพราะถ้าคุณเสนอความรุนแรงไปแล้วถูกคนด่าหรือคนไม่ชอบ มันไม่มีทางเรียกเรตติ้งได้ ถ้าอย่างนั้นหนังสือพิมพ์ก็ลงภาพเปลือยทุกวันสิเพราะคนชอบ แต่เขาก็ไม่ทำอย่างนั้น เพราะมันต้องใช้อย่างเหมาะสม ถ้าใครใช้อย่างนั้นก็สมควรประณาม" กิตติกล่าว

ภาพที่บันทึกเหตุการณ์ชวนระทึกโดยกล้องวงจรปิด ในทางหนึ่งนั่นหมายถึงพยานหลักฐานชิ้นสำคัญในการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ และด้วยภาพเดียวกันนี้ สื่อมวลชนก็ต้องการนำเสนอในวงกว้างเพื่อเป็นการกระตุกเตือนภัยแก่สังคม ขณะบางกรณี ตำรวจอาจอยากเก็บภาพไว้ในมืออย่างเงียบๆ

พ.ต.ต.พีระพงษ์ วงศ์สมาน ผกก.กลุ่มงานสืบสวน ฝ่ายสืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ ว่าการรายงานข่าวของสื่อมวลชนเป็นดาบที่มีคมสองด้าน และต้องทำความเข้าใจเป็นกรณีๆ ไป

"ผมเคยทำคดีโจรปล้นร้านทอง ซึ่งโจรใช้หมวกกันน็อคเข้าไปปล้น เรานั่งวิเคราะห์กัน 5-6 ชั่วโมงหลังจากได้ภาพ ก็ประชุมกันเครียดว่าจะปล่อยภาพให้สื่อมวลชนไหม เพราะกลัวว่าจะเสียรูปคดี สุดท้ายตัดสินใจปล่อยภาพให้สื่อ ผมสามารถตามจับคนร้ายได้หลังจากให้ข่าวไป 1 ชั่วโมง ด้านนี้มันก็แสดงว่าการนำเสนอของสื่อมวลชนก็มีประโยชน์ในการกระจายข้อมูลของคนร้าย

"สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความน่ากลัวสยดสยอง จะกลายเป็นความเคยชินหรือไม่ เกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่ อย่างภาพไฟไหม้อะไรอย่างนี้ อย่างผมก็สะท้อนสิ่งที่จะเกิดตามมาจากภาพรุนแรงเหล่านี้กับลูกหลานกับเพื่อนฝูง อย่างถ้าภาพเหล่านี้มันปรากฏขณะผมนั่งดูทีวีอยู่กับลูก ผมจะปิดตาลูกเลย ไม่ให้ดูเลย"

ตำรวจ VS สื่อมวลชน

ขณะที่กิตติมองว่า การทำงานของสื่อมวลชนสามารถเอื้อความสะดวกในการเสาะหาคนร้ายแก่ตำรวจได้ เขายกตัวอย่างเคสในต่างประเทศ ที่ตำรวจจะส่งภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดแก่สื่อมวลชน เพื่อช่วยกระจายข้อมูลของคนร้าย

"โดยหลักไม่ว่าจะเป็นคดีเมืองนอกก็ตาม ตำรวจได้ภาพวงจรปิดแล้วเขาต้องการให้สื่อช่วยเป็นแรงในการจับคนร้าย เขาก็จะให้สื่อเลยครับ แต่บ้านเราตำรวจมักไม่เอาภาพพวกนี้มาให้สื่อ สื่อก็ไปเที่ยวขอมาจนได้ การเผยแพร่ภาพพวกนี้มันทำให้คนที่พอรู้เบาะแสจะแจ้งตำรวจ ถ้าไม่เผยแพร่ตำรวจก็ไม่ได้เบาะแส การให้ตำรวจทำงานฝ่ายเดียวมันอาจช้าเกินไปในบางกรณีบางข่าว สื่อ-ถ้าเกิดจะเสนอก็ต้องมีวัตถุประสงค์เรื่องพวกนี้ ไม่ใช่เสนอแบบซ้ำไปซ้ำมา หรือใช้โดยไม่มีวัตถุประสงค์"

แต่พ.ต.ต.พีระพงษ์กลับมองว่า การเผยแพร่ภาพของสื่อในคดีอาชญากรรมมันเป็นดาบสองคม ในแง่ที่คนร้ายอาจไหวตัวทัน และกล่าวติดตลกว่า บางครั้งสื่อก็ไวกว่าตำรวจเสียอีก

"ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตำรวจว่าจะให้หรือไม่อย่างไร กล้องวงจรปิดแบบนี้เป็นของเอกชนนะ กล้องหน้าเซเว่นฯ เหล่านี้เป็นของเอกชน อย่างคดีนักศึกษายิงกัน ขนาดผมเป็นตำรวจยังไม่ให้ผมเลย ไม่ให้นะ แต่ด้วยช่องทางของผู้สื่อข่าวที่เหนือกว่าตำรวจก็ไปบีบจนได้ภาพมา ยากนะกว่าจะได้ภาพมา เพราะเขาก็ไม่กล้าให้ เขาเป็นแค่ลูกจ้างถ้าให้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็กลัวโดนไล่ออก มันก็มีขั้นตอนของมัน บางเคสตำรวจก็ต้องพึ่งพาสื่อมวลชนในการตามหาตัวคนร้าย"

จินตนาการของข้อเท็จจริง

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์บอกว่า 'จินตนาการสำคัญกว่าความรู้' แต่ สมชัย สุวรรณบรรณ นักวิชาชีพสื่อมวลชน อดีตบรรณาธิการข่าววิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยประจำกรุงลอนดอนบอกว่า 'จินตนาการสำคัญกว่าภาพที่สื่อคิดว่า เจ๋ง'

เขายกกรณีการนำเสนอข่าวของสื่อต่างประเด็นในเหตุการณ์ช็อกโลกอย่าง 9/11 และการก่อวินาศกรรมในรถไฟใต้ดินที่กรุงลอนดอน โดยเปรียบเทียบการนำเสนอของสื่อไทยต่อเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินวันทูโกประสบอุบัติเหตุที่สนามบินจังหวัดภูเก็ต ว่าสิ่งที่สื่อต่างประเทศเหนือกว่าสื่อไทย คือ จินตนาการ!

"เหตุการณ์ 9/11 ก็เป็นเหตุการณ์จริงที่มีลักษณะถ่ายทอดสด คุณจะเห็นคนกระโดดออกมาจากตึก แต่คุณเห็นในลักษณะภาพไกล เราไม่เห็นรายละเอียดของความสยดสยอง เท่าที่ผมสังเกตดู ผมไม่เห็นคนที่ถูกเผาจนตัวดำออกมาจากซากตึกเลยนะในทีวี แต่เหตุการณ์วันทูโกที่ภูเก็ต ผมเห็นสถานีช่องหนึ่งของบ้านเราทุ่มกว่าๆ ลากศพตัวดำออกมาจากซากวันทูโก มันหมายความว่าไง หมายความว่าคุณเก่งกาจสามารถในการนำภาพนั้นออกมา แล้วมันมีความหมายอะไรกับคนดู

"เหตุการณ์ระเบิดรถไฟใต้ดินที่ลอนดอน ผมก็อยู่ในเหตุการณ์ แล้วภาพที่ออกมาผมไม่เห็นภาพศพทั้งๆ ที่มีคนตายหลายคน แต่ผมเห็นกระเป๋า เห็นรองเท้า แต่ไม่เห็นศพคนตาย นี่คือวิธีการทำข่าว มันมีระเบิดเกิดขึ้นจริง มีคนตายจริง ทุกคนได้ภาพหมดนะไม่ใช่ไม่มีใครไม่ได้ภาพ แต่จำเป็นไหมที่คุณต้องโชว์ภาพนั้นออกมาในภาพข่าวทีวีของคุณ ณ เวลานั้น คุณใช้มโนสำนึกคิดเอา ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดที่ซานติก้า หรือวันทูโก เขาจะทำรายงานข่าวยังไง โดยใช้จิตสำนึกของความเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ คุณต้องรายงานข่าวว่าในผับนั้น ว่าไฟไหม้มีคนตาย แต่คุณจะทำงานอย่างไรโดยใช้จินตนาการในความเป็นสื่อมวลชนมือ-อา-ชีพ" เขาเน้นสามพยางค์สุดท้ายช้าและชัดทุกคำ

สมชัยเล่าให้ฟังถึงการแข่งขันในทางธุรกิจของสื่อต่างประเทศให้ฟัง และเขาก็ไม่ลืมจะโยงมาเปรียบกับธุรกิจสื่อบ้านเรา

"เนื่องจากสื่อไทยอยู่ภายใต้กลไกตลาดมาก การแข่งขันสูงเมื่อการแข่งขันสูง คนทำบางทีอาจจะเผลอลืมไม่ทันนึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพียงแต่เมื่อได้ภาพที่มากกว่าคนอื่น ได้รายละเอียดมากกว่าคนอื่นก็รีบออกนำเสนอเพื่อสร้างเรตติ้งให้ตัวเอง สร้างความยิ่งใหญ่ให้ตัวเองว่าช่องนี้ได้ภาพเด็ดรายการนี้ได้ภาพเด็ดช่องอื่นรายการอื่นไม่ได้ การแข่งขันลักษณะนี้มีความถูกต้องไหม เมื่อพูดถึงจริยธรรม เมื่อพูดถึงความเป็นมนุษย์

"ขณะที่ในต่างประเทศ มีการแข่งขันสูงกว่าเราอีก แต่เขามีกรอบที่แข็งแรง ฉะนั้นคนทำงานก็มีจินตนาการมากกว่า ในการที่จะรายงานเหตุการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมซึ่งก็มีเหมือนเมืองไทย เหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าก็มีไฟไหม้ในประเทศอื่น เหตุการณ์ทำร้ายร่างกายกันที่ตะวันออกกลางเขาฆ่ากันตายทุกวันแต่เขาก็มีมาตรฐานกำกับในการายงาน แล้วเขาก็แข่งขันกันด้วยซึ่งเป็นธุรกิจที่แข่งกันสูงด้วย แต่หนึ่ง-มาตรฐานหนึ่งที่กำกับเขาไว้ สอง-คนที่ทำงานมันเห็นมาตรฐานที่กำกับดูแล เขารู้ว่าเขาข้ามล้ำเส้นไม่ได้ แต่เขาต้องใช้จินตนาการเพื่อที่จะรายงานเหตุการณ์ความเป็นจริง นี่คือประเด็นการใช้จินตนาการในการสร้างสรรค์ภายใต้กรอบจริยธรรม" อดีตคนข่าวบีบีซีกล่าว

มัจจุราชของคนเป็น

ภาพนาทีที่มัจจุราชกำลังพรากชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง แน่นอนว่า มันเป็นภาพที่มนุษย์ที่ยังมีลมหายใจเข้า-ออกอยากรู้อยากเห็น เมื่อมันถูกเผยแพร่ออกมา มีหรือที่ใครไม่อยากมอง

แต่ในอีกมุมหนึ่ง สายตาที่จดจ้องไปยังการยื้อยุดระหว่างความเป็นกับความตาย ก็อาจทำให้เจ้าของสายตากำลังละเมิดความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น!

รศ.จุมพล รอดคำดี นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ กล่าวด้วยน้ำเสียงห่วงใยต่อประเด็นนี้ว่า สื่อมวลชนควรมีความระมัดระวังในการที่จะไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงความรู้สึกของญาติพี่น้องของผู้เสียหาย

"ในหลักการจริงๆ แล้วมันก็ไม่น่าจะถูกต้อง มันเป็นการไปซ้ำเติมผู้ตาย และญาติพี่น้องเขาที่ยังมีชีวิตอยู่เขาก็ไม่ชอบ เอาญาติของเขามาประจานมาโชว์ให้ใครต่อใครดู ซึ่งเขาก็โศกเศร้าพอแล้ว เสียหายมากพอแล้ว นี่ก็เป็นอีกสิ่งที่สื่อต้องระมัดระวังและรับผิดชอบ เพราะสิ่งเหล่านี้มันไปมีผลต่อจิตใจของผู้คน"

เขายังมองผลกระทบของการนำเสนอข่าวอย่างไม่ระวังของสื่อ ว่าผลลัพธ์ของการนำเสนออย่างนี้มีผลเสียหลายด้าน ทั้งมีผลต่อพฤติกรรมเลียนแบบ ทั้งสร้างความชินชาแก่สังคม ทั้งละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

"ผมมีความรู้สึกว่า Fact ของคุณมันไม่พอ มันต้องมีอีกอย่างที่เรียกว่า Higher Standard ที่เขาเรียกว่าคุณต้องมีมาตรฐานสูงกว่าปกติ ความเป็นสื่อคุณต้องมี Good Taste เขาเรียกว่า ต้องมีรสนิยม แต่ว่าสื่อเราบางครั้งนะ ผมไม่ได้หมายถึงทุกคนทุกท่านหรอก จะมีบางคนที่ผมคิดว่าขาดรสนิยมมากๆ Fact อย่างเดียวมันไม่พอหรอก สิ่งสำคัญคือคุณต้องมี Good Taste ด้วย" นักวิชาการผู้นี้กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีใครเป็นเจ้าของอากาศ!

Office of communication หรือ Ofcom คือหน่วยงานที่คอยดูแลตรวจสอบพฤติกรรมสื่อวิทยุและโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ในประเทศอังกฤษให้อยู่ภายใต้กรอบจรรยาบรรณ ซึ่งถือเป็นสรณะที่คนทำสื่อที่นั่นต้องยึดอย่างเคร่งครัด

การทำหน้าที่ของ Ofcom คงไม่ได้ต่างจากหน้าที่ที่ผู้คนในแวดวงสื่อสารมวลชนไทยคาดหวังให้เกิดกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. เท่าใดนัก จะต่างก็ตรงที่เมื่อเราพูดถึง กสช. ก็ต้องจามทุกทีไป เพราะ กสช. ของเรายังไม่มีวี่แววที่จะเข้าใกล้ความจริง และความฝันนี้ก็ถูกหมักหมมจนหยากไย่จับ

ขณะนี้รัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังผลักดันร่างพ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ...

แต่ก่อนหน้านี้ ก็แว่วเสียงคัดค้านจากหน่วยงานและองค์กรหลายภาคส่วนเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. องค์การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับหลังการปฏิวัติโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เนื่องจากได้มีการแก้ไขร่างพ.ร.บ. องค์การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 ซึ่งกลุ่มคัดค้านเหล่านี้มองว่า เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อในหลายหลักการ ตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยเสรีภาพที่สื่อโหยหา

"ตอนนี้เราไม่มีกระบวนการพรีเซนเซอร์จากหน่วยงานภาครัฐอย่างที่เคยเป็น ในสมัยก่อนเรามีกบว. แต่เดี๋ยวนี้คณะกรรมการพวกนี้ปล่อยให้สื่อดูแลตัวเอง เพราะสื่อเองก็เรียกร้องต้องการดูแลตัวเอง ซึ่งก็ถูก ผมเห็นด้วย แต่สื่อเองต้องดูแลตัวเองดีๆ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย" รศ.จุมพลแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ซึ่งไม่ต่างไปจากสมชัย สุวรรณบรรณ ที่มองว่า ขณะนี้เกิดความไม่ต่อเนื่อง จากกรณีการก่อตั้งกสช. ให้เป็นองค์กรอิสระ

"ผมว่ามันเกิดปัญหาตรงนี้ที่ไม่มีการดูแลที่ต่อเนื่อง เรื่องใหม่ไม่เกิด กสช.มันไม่เกิดมันก็ไม่มีมาตรฐานในลักษณะ Ofcom ไง เราไม่มี ป่านนี้ก็ยังไม่มี มีแต่กทช. ซึ่งดูแลเรื่องโทรคมนาคม พวกเราสื่อด้วยกันไม่ต้องการให้รัฐบาลมาดูแล เราต้องการดูแลกันเอง แต่ก็ต้องตรวจสอบด้วยว่า การดูแลกันเองมันได้ผลหรือเปล่า"

ไม่ควรแม้สักนาที หากสื่อจะถูกดูแลและควบคุมจากภาครัฐหรือกลุ่มทุนที่แสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาติอย่างคลื่นความถี่ เพราะคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติที่ทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึง และได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

ในเมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของอากาศ ก็ไม่ควรมีใครปล่อยมลพิษสู่อากาศ!

*****************************

เรื่อง : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ซานติก้าผับ

ซากเครื่องบินของสายการบินวันทูโกหลังประสบอุบัติเหตุ
ภาพขณะผู้ต้องหาใช้ปืนจ่อยิงรปภ. ก่อนจะยิงแฟนสาวของตัวเองเสียชีวิต
ภาพเหตุการณ์คู่อริจ่อยิงด้านหลังนักศึกษาอุเทนถวาย
9/11- เหตุการณ์ช็อกโลกเมื่อปี 2001
กำลังโหลดความคิดเห็น