บันนังสตา , บาเจาะ , ปะนาเระ...เมื่อเอ่ยนามเหล่านี้ ภาพซึ่งหลายคนคุ้นชินจากการนำเสนอของสื่อมวลชน คงมีส่วนไม่น้อยในการก่อให้เกิดทัศนคติว่าทั้งสามอำเภอในพื้นที่จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี เต็มไปด้วยความรุนแรง แต่ลึกลงไปในภาพซึ่งคนข้างนอกเฝ้ามอง ผู้คนในพื้นที่เหล่านั้นล้วนปรารถนาให้ความสุขสงบบังเกิดขึ้น ไม่น้อยไปกว่าความสงบ ณ แห่งหนตำบลใดของผืนแผ่นดินไทย
ทว่า การเฝ้ารอความจริงใจจากภาครัฐทุกยุคสมัย ในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม คล้ายเป็นสิ่งที่รอคอยมาเนิ่นนาน เพราะเหตุนี้ พวกเธอ หญิงสาวธรรมดาในนามกลุ่ม “บุหงาศานติ” จึงไม่ขอเป็นฝ่ายรอ แต่เลือกที่จะก้าวเข้าไปรับฟังปัญหาและเยียวยาบางบาดแผลจากเหตุการณ์ความรุนแรง เท่าที่จะทำได้
เราขอเปิดพื้นที่เล็กๆ ให้พวกเธอ ได้ถ่ายทอดความคิด ทัศนคติ และสิ่งที่พบเห็นจากการทำกิจกรรม “ศิลปะบำบัด” เยียวยาสภาพจิตใจเด็กๆ ในพื้นที่ซึ่งความรุนแรงยังคงปะทุไม่เว้นวัน
…...........
บำบัด เยียวยา
“สิ่งที่เราทำคงลบบาดแผลในใจเขาไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็ได้สอนให้เขารู้จักการสู้ ที่ไม่ใช่การแก้แค้น”
เป็นน้ำเสียงเด็ดเดี่ยวจาก ซูลฟา ยามู นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประธานโครงการ "ศิลปะบำบัดเยาวชนผู้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิโกมลคีมทอง
“บุหงาศานติ” มีสมาชิกไม่มากมาย แต่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแน่นเหนียว นอกจากซูลฟาแล้ว ยังมี นาอีหม๊ะ มิเดร์ หรือ หม๊ะ นักศึกษาปี 4 มหาวิทยาลัย ราชภัฏยะลา คณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และรองประธานโครงการดังกล่าว ร่วมด้วยเพื่อนๆ ที่สนิทสนมกันมานาน อย่าง นูรไรอี ซายามะ , มูรอนี เจะโยะ, นาชีฮะ ซาโยะ, อิลฮัม และลี, คอรีเยาะ แวหะยี และ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง
ส่วนการพูดคุยระหว่างเราและบุหงาศานติ ซึ่งเริ่มขึ้นในบ่ายวันหนึ่งใต้ร่มไม้ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซูลฟา และ หม๊ะ รับอาสาเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวที่เธอและผองเพื่อนได้พบพานจากการทำกิจกรรมศิลปะบำบัด
ซูลฟาเริ่มต้นเล่าว่า วัตถุประสงค์สำคัญของกิจกรรมดังกล่าว มุ่งไปยังการเยียวยาจิตใจเยาวชนที่ประสบเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้,สร้างความเข้าใจด้านสันติวิธีในชุมชน
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เธอและเพื่อนๆ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในนาม “บุหงาศานติ” มุ่งหวังนำความรู้ด้านศิลปะไปถ่ายทอด คือเยาวชนในหมู่บ้านบาโงสะโต อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา, หมู่บ้านจำปากอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส และหมู่บ้านกลาง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี
“ในพื้นที่หมู่บ้านจำปากอ ปัญหาหลักๆ คือ มีชาวบ้านโดนยิงอยู่เรื่อยๆ ส่วนปัญหาของพื้นที่ในบันนังสตาก็คือพ่อของเด็กหลายๆ คน หลายๆ ครอบครัวถูกจับ แล้วบางคนก็ไม่ได้รับการปล่อยตัว หายสาบสูญไปก็มี”
นาอีหม๊ะ มิเดร์ บอกเล่าถึงสภาพปัญหาที่ละเอียดอ่อนและแตกต่างกันของแต่ละพื้นที่
ส่วน ซูลฟา เพิ่มเติมถึงพื้นที่ปะนาเระว่า แม้สถานการณ์ไม่รุนแรงเท่าบันนังสตาและจำปากอ แต่ก็มีปัญหาเรื่องอื่นซึ่งไม่ควรมองข้ามเช่นกัน นั่นคือปัญหาเรื่องป่าชายเลน และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ลวดลายของเรือกอและ
“สำหรับการลงพื้นที่พบปะน้องๆ เยาวชนในอำเภอปะนาเระ ความคิดเราเริ่มต้นตรงที่ว่า พอเห็นลายของเรือกอและแล้ว เราก็นึกขึ้นมาว่าถ้าคนที่แกะลายเหล่านี้วันหนึ่งเขาตาย ใครจะสืบทอด คงจะถูกกลืนหายไป ถ้าไม่มีใครอนุรักษ์ ทำอย่างไรจะให้การทำลวดลายเรืออยู่กับเราต่อไป เราต้องรักษาไว้
"สิ่งที่เราทำคือสอนให้เด็กๆรู้ว่าทุกสิ่งมีค่า ไม่ว่า ต้นไม้ต้นนั้นก็เพื่อนเรา ทะเลก็ทะเลของเรา ป่าชายเลนของเรา เราต้องช่วยกันดูแล แม้ไม่มีปัญหาเรื่องความรุนแรงเท่ากับบันนังสตาและจำปากอ แต่ปะนาเระก็มีปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมที่ควรเอาใจใส่ให้มาก”
การนำกิจกรรมวาดภาพ ระบายสี ไปสอนน้องๆ เยาวชนในบันนังสตา จำปากอ และปะนาเระ ทำให้พวกเธอพบว่า การวาดภาพของเด็กในแต่ละหมู่บ้าน แต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน เช่นเด็กในกลุ่มจำปากอมักวาดภาพธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่
“เพราะที่นั่นมีภูเขา มีป่าไม้เยอะ แต่ที่บันนังสตา ภาพวาดของเด็กๆ จะสะท้อนถึงความรุนแรงบางอย่าง เช่นภูเขาเป็นสีแดง ”
ซูลฟา บอกเล่าทั้งขยายความถึงการทำกิจกรรมในระยะต่อมา หลังจากพี่ๆ นักศึกษาและน้องๆ ในพื้นที่เริ่มคุ้นเคยกัน
“แรกๆ เราจะให้เด็กๆ เขาวาดภาพอย่างที่อยากจะวาด แต่เมื่อคุ้นเคยแล้วเราก็จะลองกำหนดหัวข้อที่เชื่อมโยงกับจุดเด่นในด้านดีๆ ของแต่ละพื้นที่เช่น จำปากอมีป่าเยอะ ธรรมชาติสวยงาม เราก็อาจกำหนดหัวข้อ ‘ป่าไม้ของฉัน’ ส่วนที่บันนังสตา มีวัฒนธรรมชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นกลุ่มก้อน เราก็ให้เขาสะท้อนเรื่องราวของวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการบอกหัวข้อกว้างๆ แล้วปล่อยให้เขาจินตนาการว่าจะถ่ายทอดออกมาอย่างไร แบบไหน”
กิจกรรมที่ผ่อนคลาย และความคุ้นเคย นำไปสู่การบอกเล่าเรื่องราวที่เก็บงำ เปิดเผยบาดแผลในใจของเด็กหลายๆ คน ดังเหตุการณ์ที่จำปากอ
“ที่นั่นมีการยิงกันตายอยู่เรื่อยๆ เคยมีชาวบ้านโดนยิงตายในทุ่งนา หลังจากนั้นไม่นานนักก็มีทหารโดนยิงตาย คุณครูขับรถมอร์เตอร์ไซค์กำลังจะกลับบ้านก็โดนยิงตายด้วย พวกเด็กๆ ละแวกนั้น เขาก็จะปักใจว่าเป็นทหารแน่ๆ เขาก็รวมกลุ่มกันทำปืนเด็กเล่นขึ้นมา ทำหน้าไม้ขึ้นมา แล้วจะไปยิงทหาร โดยเฉพาะเด็กผู้ชายเขาจะเกลียดทหารมาก เพราะว่าเขาเจอกับเหตุการณ์ที่ทหารไปยิงพ่อเขา ยิงเพื่อนเขา ทำให้เขาพลอยเกลียดอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย เกลียดคนที่พูดไทย
"อย่างวันแรกที่เราพาเพื่อนที่เป็นคนไทยพุทธ และเป็นคนเขียนโครงการค่ายอาสาพัฒนาชนบทครั้งนี้ มาลงพื้นที่พบปะเด็กๆ ที่จำปากอ เขาก็โดนแกล้งหนักมาก โดนเด็กๆ ดึงผม ดึงเสื้อ พอถามว่าทำอย่างนั้นทำไม เด็กๆ ตอบว่าเกลียด เราก็บอกเขา อธิบายเขาว่าไม่ใช่นะ ทำอย่างนั้นไม่ถูก เราทุกคนเป็นเพื่อนกันได้”
นอกจากนี้ยังมีการเล่นเกมเพื่อกระชับมิตรภาพ แต่สำคัญกว่านั้นคือมุ่งหวังให้เด็กๆ เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน ในความแตกต่าง ผ่านเกมที่ชื่อว่า “เรือชีวิต”
“เป็นเกมที่เล่นกับน้องๆ ที่บันนังสตา วิธีเล่นก็คือ บนเรือลำนั้นมีเด็กหลายคน แต่เกิดอุบัติเหตุทำให้เรือใกล้จะจม เราจึงจำเป็นต้องสละชีวิตคนๆ หนึ่ง เพื่อช่วยชีวิตของคนทั้งหมดที่เหลือบนเรือ เรากำหนดให้บนเรือมีเด็กพม่า มีเด็กพิการ มีเด็กที่เป็นลูกทหารด้วย เราถามเขาว่าจะให้ใครออก เขาก็บอกว่าเอาลูกทหารออกไป เพราะว่าพ่อมันยิงคน
"เราจึงใช้โอกาสนี้อธิบายเขา เริ่มด้วยคำถามว่า ‘อ้าว! พ่อเขายิง แต่ลูกเขาไม่ได้เป็นคนยิงนี่นา แล้วทำไมต้องไล่เขาออกด้วยล่ะ’ แล้วเราก็เริ่มถ่ายทอดให้เขาฟังว่า คนทุกคน ไม่ว่าใครก็ตาม ล้วนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด”
............
ในนามแห่งศานติ
การนำศิลปะเป็นสื่อนำทางในการสร้างความคุ้นเคย ผ่อนคลาย และบอกเล่าปัญหาในใจ พาไปสู่การรับรู้ถึงความรู้สึกเบื้องลึกที่หม่นหมอง และรอคอยวันปะทุ ซึ่งดูคล้ายกับว่าไม่อาจกล่าวโทษได้แม้สักนิด หากวันหนึ่งวันใด ผู้ตกเป็นฝ่ายถูกกระทำจักเป็นฝ่ายลุกขึ้นมาตอบโต้คืนกลับ
กระนั้น พวกเธอ บุหงาศานติ ยังเชื่อมั่นในพลังของการต่อสู้ที่ไม่จำเป็นต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรง
“มีเด็กๆ หลายคนที่เขาเคียดแค้น บอกว่าจะเอาปืนไปยิงทหาร เราก็บอกเขาว่า ไม่ใช่นะ นี่ไม่ใช่วิธีการต่อสู้ การต่อสู้ของเราต้องสู้แบบสันติวิธี สู้ด้วยข้อกฎหมาย สู้ด้วยหลักการสิทธิมนุษยชน แต่นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องอธิบายให้เหมาะกับคนแต่ละวัย หากเป็นผู้ใหญ่ก็เราสอนกฎหมายให้เขาได้ แต่ถ้าเป็นเด็กๆ เราก็จะเริมด้วยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก่อน โดยเริ่มจากการจูงใจให้เขารักธรรมชาติ รักสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว แล้วจากนั้นค่อยต่อเนื่องไปถึงเรื่องสิทธิเด็ก สิทธิในการเข้าโรงเรียน ตั้งใจเรียนจนจบแล้วก็จะมีความรู้ เมื่อมีความรู้เขาก็ต้องคอยดูแล อยู่เคียงข้างชาวบ้าน คอยต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม สู้ด้วยความรู้ สู้ด้วยมันสมองที่เขามี”
นอกจากนี้ พวกเธอยังฝากถามไถ่ถึงหน่วยงานภาครัฐทุกองค์กร รวมทั้งผู้มีอำนาจทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ
“มีหลายองค์กรมาก ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วแต่ละครั้งองค์กรเหล่านี้ก็จะมาสรุปบทเรียน เป็นต้นว่า เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ, เราได้รับบทเรียนอะไรจากการล้อมปราบที่มัสยิดกรือเซะ แต่ทำไมไม่เคยมีใครบอกเราตรงๆ เลยว่ารัฐกำลังปิดบังข้อมูลอะไรอยู่ กระทั่งตอนนี้ รู้หรือยังว่าคนที่สั่งการให้สลายการชุมนุมที่ตากใบเป็นใคร จนป่านนี้ยังไม่มีใครรู้คำตอบเลย แล้วจะมาสรุปบทเรียน”
ไม่ต้องใช้ถ้อยคำยากๆ ซูลฟา บอกว่า เธอขอถามด้วยคำถามง่ายๆ ว่า รัฐตอบได้หรือไม่ ชาวบ้านจะอยู่อย่างไรในท่ามกลางความหวาดกลัว? รัฐเคยใส่ใจหรือเปล่า ว่าชาวบ้านไม่น้อยหวาดกลัวทหารมากแค่ไหน? ไม่อยากให้มีทหารในพื้นที่ แต่รัฐก็บอกว่าทหารมาคอยรักษาความปลอดภัย
“เคยมีใครถามชาวบ้านดูบ้างหรือเปล่า พวกเราเคยถามชาวบ้าน เขาบอกว่า เขากลัวทหารมาก กลัวจนเป็นลมเป็นแล้งเข้าโรงพยาบาลก็มี กลัวจนไม่กล้าไปกรีดยาง ขณะที่สื่อมวลชนบอกว่าทหารคอยดูแลชาวบ้าน แล้วทำไม? เพราะอะไร? ชาวบ้านเขาจึงหวาดระแวง กลัวทหารกันนัก คุณลองถามชาวบ้านสิ ว่าทำไม? กล้าถามเขาไหม กล้าให้เขาลงประชามติไหม ว่าอยากให้มีทหารคอยคุ้มครองหรือเปล่า?
“รัฐไม่เคยมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา เมื่อมีการชุมนุมประท้วง เรียกร้องความเป็นธรรม เขาบอกว่ารับข้อเสนอทั้งหมดจากเรา เขาจัดทีมเจ้าหน้าที่ว่าจะตรวจสอบ แต่สุดท้ายแล้วเขาหลอก เพื่อให้เราสลายม็อบ
“ยิ่งรัฐใช้ความรุนแรงมากเท่าไหร่ ความรุนแรงจะยิ่งปะทุ ความรุนแรงจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เพราะอะไร เพราะชาวบ้านเขาคิดว่าเขาต้องสู้ เขาไม่มีอะไรจะเสียแล้ว คิดดูสิ แค่คนไปกรีดยางเฉยๆ ก็โดนยิงแล้ว”
คือเสียงสะท้อนที่ทำให้เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีความรุนแรงดำรงอยู่
อย่างไรก็ตาม พวกเธอยังยืนยันหนักแน่น
“เมื่อเด็กๆ เขาอยากลุกขึ้นต่อสู้ ตอบโต้กับความรุนแรง สิ่งที่เราทำได้คืออธิบายให้เขาเข้าใจว่าความรุนแรงไม่อาจสิ้นสุดได้หากตอบโต้กลับคืนด้วยความรุนแรง เมื่อปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้เขาตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ เราก็หวังว่าจะมีส่วนช่วยให้เขาเติบโตขึ้นมาโดยไม่คิดใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา
"แม้จะปลูกฝังได้เพียงเล็กน้อย ก็ยังดี”
สาวๆ 'บุหงาศานติ' ถ่ายทอดความตั้งใจของพวกเธอด้วยถ้อยทำนองเดียวกัน
...........
เรื่องโดย : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ถ่ายภาพโดย : ธีรศักดิ์ ขวัญสุรัตน์
ภาพกิจกรรมโดย : บุหงาศานติ