xs
xsm
sm
md
lg

สถาปัตยกรรมสงขลา อีกหนึ่งอัตลักษณ์แดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาคารบ้านเรือนทรงไทย บริเวณถนนนครใน
สงขลา เมืองบริเวณด้ามขวานของไทย นอกจากจะเป็นถิ่นขึ้นชื่อในเรื่องของ “นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานติณฯ ถิ่นธุรกิจแดนใต้” ดังคำขวัญจังหวัดแล้ว สงขลายังมีสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่น่ายลอยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ในงานสถาปัตยกรรมหลายแห่งยังมากไปด้วยคุณค่าและเรื่องราวน่าสนใจ ที่บอกเล่าถึงความเป็นมาและประวัติศาสตร์ของพื้นที่ด้ามขวานได้เป็นอย่างดี

“ถนนเมืองเก่า” ถนนสายสั้น สถาปัตยกรรมยืนยาว

ย่าน “ถนนเมืองเก่า” ครอบคลุมพื้นที่บริเวณถนนนางงาม ถนนนครนอก และถนนนครใน เป็นถนนสายสั้นๆ ในตัวเทศบาลเมืองสงขลา อยู่ติดกับทะเลสาบสงขลาซึ่งในอดีตเป็นจุดจอดเรือสินค้าและเรือประมง ถนนเหล่านี้จึงกลายเป็นย่านการค้าที่คึกคักและมีความสำคัญยิ่งในเวลานั้น

แต่เนื่องจากเกิดปัญหาการขยายเมืองในบริเวณแหลมสนซึ่งอยู่คนละฝั่งของทะเลสาบสงขลา ในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ต้นตระกูล ณ สงขลา) จึงได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ขึ้นบริเวณตำบลบ่อยางในราวปี พ.ศ.2379 และก็มีการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

แม้เวลาจะผ่านมานานเกือบ 200 ปี ปัจจุบันถนนสายสั้นๆ ในย่านถนนเมืองเก่าเหล่านี้ ก็ยังคงหลงเหลือบรรยากาศเก่าๆ ของอาคารบ้านเรือนในสมัยสร้างเมืองใหม่ที่มีหลากหลายรูปแบบของสถาปัตยกรรมอันทรงเสน่ห์ให้ได้เห็นกัน

สำหรับสถาปัตยกรรมที่บริเวณย่านถนนเมืองเก่านี้ก็มีหลากหลาย ซึ่งจะสังเกตลักษณะเด่นของแต่ละรูปแบบได้ นั่นคือ “เรือนแถวแบบไทย” สังเกตจากหลังคาทรงจั่วที่มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเกาะยอมีความลาดชัน 60 องศาขึ้นไปเพื่อป้องกันน้ำรั่ว มีกันสาดด้านหน้าและด้านหลัง ตัวอาคารส่วนใหญ่เป็นไม้ชั้นเดียว โครงสร้างเป็นเสากับคานไม้ ประตูเป็นบานเฟี้ยมมีช่องแสงเหนือบานประตู

ส่วน “เรือนแถวแบบจีน” มักจะสร้างติดแนวถนน ด้านหน้ามักเป็นส่วนที่ใช้สำหรับทำมาค้าขาย ทางเข้าเป็นเพิงยกระดับสูงกว่าถนนเล็กน้อย แต่เนื่องจากแปลงที่ดินมีลักษณะยาว โดยมากจึงมีอาคารติดถนนเป็นอาคารหลักส่วนกลางมักจะเว้นเป็นบริเวณบ่อน้ำ ส้วมและที่โล่ง ส่วนหลังจะมีอาคารซึ่งอาจใช้เป็นที่อยู่อาศัย

ลักษณะเป็นอาคาร 1-2 ชั้น โครงสร้างคานไม้พาดกำแพงรับน้ำหนัก ผนังก่ออิฐก้อนใหญ่ฉาบปูน พื้นปูกระเบื้องดินเผาแผ่นใหญ่ โครงหลังคาเป็นไม้ท่อนใหญ่มุงด้วยกระเบื้องดินเผาโค้งแบบจีน กระเบื้องกาบกล้วยคว่ำและหงาย หน้าต่างเป็นช่องเปิดขนาดเล็กและแคบไม่นิยมทำกันสาด แต่นิยมเขียนสีและมีลายปูนปั้นประดับประดาบ้างตามจั่ว หลังคา และช่องเจาะ

ส่วน “เรือนแถวแบบชิโน-โปรตุกีส” เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกโดยเฉพาะโปรตุเกส ซึ่งเป็นชาติที่มีอิทธิพลกับทางเอเชียในสมัยก่อน ผสมกับสถาปัตยกรรมแบบจีนในแถบชวาสิงคโปร์และปีนัง ซึ่งต้นแบบสถาปัตยกรรมแบบนี้เริ่มมีขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 3

สถาปัตยกรรมแบบนี้มักมีอาคารติดถนนเป็นอาคารหลัก มีกันสาด บางครั้งมีทางเดินหน้าอาคาร ส่วนกลางมักจะเว้นเป็นบริเวณบ่อน้ำ ส้วม และโล่ง และมีอาคารด้านหลังอีกอาคารหนึ่ง โดยมีลักษณะเป็นตัวอาคาร 2-3 ชั้น หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องดินเผา เช่น กระเบื้องกาบกล้วยแบบจีนแต่งแนวด้วยปูนขึ้นหรือกระเบื้องเกาะยอ ต่อมามีกันสาดและมีหลังคาทรงปั้นหยาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังคาที่เป็นอาคารมุมในสมัยหลังมีการเพิ่มระเบียงกันสาดเป็นส่วนตกแต่งในชั้นสอง และมีแผงบังตา (PARAPET) เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก

ใช้อิฐก้อนขัดแบบจีนฉาบปูนเป็นกำแพง ปูพื้นด้วยกระเบื้องดินเผาสี่เหลี่ยมแผ่นใหญ่ มักมีการตกแต่งลายประดับในส่วนที่เป็นช่องเจาะ ซึ่งมักจะมีส่วนโค้งด้านบนหน้าต่างเปิดยาวถึงพื้น บางครั้งเป็นบานเกล็ดไม้ ต่อมาระยะหลังจะเน้นการตกแต่งในส่วนของช่องเจาะ ระเบียง ค้ำยัน หัวเสา โดยใช้ปูนปั้นเป็นลวดลายแบบตะวันตก

และในส่วนของ “เรือนแถวแบบสมัยใหม่” เป็นสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เข้าใจว่าสร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 7 ตัวอาคารมีทั้ง 2-3 ชั้นขึ้นไป หลังคามีทั้งทรงมะนิลา ทรงปั้นหยา และทรงหมาแหงน ผนังส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและก่ออิฐฉาบปูน ไม้และกระจกจะใช้ตามตามส่วนช่องเจาะ เช่น ประตู หน้าต่าง ช่องแสง มีกันสาด และอาคารที่สร้างขึ้นพร้อมกันมักมีการออกแบบเน้นว่าเป็นชุดเดียวกัน

ซึ่งจากการที่สงขลาเคยเป็นเมืองท่าและตั้งอยู่ในตำแหน่งเส้นทางการค้าขายทางทะเลที่สำคัญ ทำให้การสร้างที่พักอาศัยรวมถึงอาคารต่างๆในช่วงสร้างเมืองใหม่ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมนานาชาติที่หลั่งไหลเข้ามาในช่วงนั้น

“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา” ทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม

นอกจากย่านถนนเมืองเก่าแล้ว ตามสถานที่ต่างๆในสงขลาก็มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามให้ได้ชมกัน ที่แรกคือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา” ถนนวิเชียรชม ตำบลบ่อยาง แต่เดิมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นคฤหาสน์ พระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา สร้างเมื่อปี พ.ศ.2421

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2437 จึงใช้เป็นที่พำนักและว่าราชการของ พระวิจิตรวรศาสตร์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา ซึ่งต่อมาก็คือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หลังจากนั้น ได้ใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราชและเป็นศาลากลางจังหวัดตามลำดับจนถึงปี พ.ศ.2496

และในปี พ.ศ.2516 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารแห่งนี้เป็นโบราณสถานและปรับปรุงเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา” เพื่อให้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปวัตถุภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะจีน ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง นอกจากนี้ยังจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุเกี่ยวกับตระกูล ณ สงขลา ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าเมืองสงขลาในอดีตอีกด้วย

ลุงเชื้อ ห้องโสภา ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ฯ เล่าว่า ที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช ซึ่งสามารถที่จะยืนยันกับชาวโลกได้เลยว่าเป็นแผ่นดินที่เป็นเมืองท่าเรือนานาชาติไม่น้อยกว่าพันปี โดยมีการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับต่างชาติ เช่น ประเทศจีน มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง

“มีการพบโบราณวัตถุบริเวณปากแม่น้ำและนำมาจัดที่นี่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ประมาณ 1,400 ปี ล่วงมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีพวกประติมากรรมต่างๆ ถ้าก่อนประวัติศาสตร์ก็เป็นพวกเครื่องมือหิน และพวกมรดกวัฒนธรรมบ้านเชียง ที่สำคัญก็ของประเทศจีน” ลุงเชื้อเล่า

สำหรับในส่วนของตัวอาคารพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นอาคารเรือนตึก 2 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบจีนอายุกว่า 100 ปี ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงเก๋ง ตัวตึกด้านหน้ามีบันไดโค้งแยกขึ้นลงสองข้างตึก ตรงกลางชั้นบนมีประตูใหญ่ตรงกลางแบ่งพื้นที่ออกเป็นปีกซ้าย-ขวา มีระเบียงทางเดินเชื่อมต่อกันตลอด ขื่อภายในห้องชั้นบนนี้จะติดเครื่องหมายหยิน-หยางและยันต์แปดทิศเพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ตามความเชื่อของจีน

ด้านหน้าเป็นเรือนยาวอีกหลังหนึ่ง ด้านหลังมีประตูบานเฟี้ยม แกะสลักฉลุโปร่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าของจีน สลับกับสายพรรณพฤกษา บานประตูบางคู่มีภาพสลักมังกรดั้นเมฆชิงไข่มุกไฟอย่างสวยงาม เป็นลักษณะของการสร้างเรือนแบบจีนอย่างแท้จริง

“พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์” เรือนไม้ปั้นหยาทรงเสน่ห์

ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา บนถนนจะนะเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์” ซึ่งคำว่า พธำมะรงค์ เป็นตำแหน่งเก่าแก่ของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2530 เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงตำแหน่ง “พธำมะรงค์” หรือ “พะทำมะรง”

ในขณะเดียวกันก็เป็นการเชิดชูวงศ์ตระกูล “ติณสูลานนท์” ที่ครั้งหนึ่ง รองอำมาตย์โทขุนวินิจ ทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ท่านได้เคยดำรงตำแหน่งพะทำมะรงพิเศษเมืองสงขลา (พ.ศ.2457) จนกระทั่งได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ตำแหน่งพะทำมะรงจึงได้ถูกยกเลิกไป

พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์แห่งนี้ จำลองมาจากรูปแบบบ้านพักเดิมของ รองอำมาตย์โทขุนวินิจ ทัณฑกรรม จากความทรงจำของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นเรือนไม้ยกพื้นชั้นเดียว หลังคาทรงปั้นหยาสองหลังคู่ มีชานเปิดโล่งเชื่อมถึงกัน ภายในมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของครอบครัวติณสูลานนท์ในอดีตและประวัติสกุลวงศ์ อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของเทศบาลนครสงขลา และได้พัฒนาให้เป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวในปัจจุบัน

“พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา” กับสถาปัตยกรรม 4 แบบ

รูปแบบสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจอีกแห่งก็คือ “พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา-สถาบันทักษิณคดีศึกษา” มหาวิทยาลัยทักษิณ ต.เกาะยอ แต่เดิมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ในรูปของโครงการส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสถาบันทักษิณคดีศึกษาในปี พ.ศ.2523 และย้ายที่ตั้งจากม.ศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา มาตั้งที่ บ้านอ่าวทราย ตำบลเกาะยอ เมื่อปี พ.ศ.2530

ลักษณะของพิพิธภัณฑ์เป็นกลุ่มอาคาร 4 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มอาคารก็มีลักษณะสถาปัตยกรรมแตกต่างกันออกไป คือ “กลุ่มอาคารหลังคาจั่ว” มีทั้งหมดเจ็ดหลัง ลักษณะคล้ายเรือนไทยในภาคกลาง คือ มีหลังคาเป็นจั่ว ต่างกันที่ป้านลม หรือส่วนประดับที่กรอบหน้าจั่ว ไม่อ่อนช้อยเท่า ทั้งยังไม่มีตัวเหงาประดับที่ชายส่วนล่างของหน้าจั่วอีกด้วย ภายในกลุ่มอาคารนี้จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวภาคใต้ ประกอบด้วยประเพณีการเกิด การเลี้ยงดูทารกแบบโบราณ การละเล่นของเด็ก การฝากตัวเข้าเรียน การผูกเกลอ และการช่วยงาน ประเพณีการบวช ความเชื่อโชคชะตาราศี และวัฒนธรรมการรักษาพยาบาล ประเพณีออกปากกินวาน และประเพณีขึ้นเบญจา

“กลุ่มอาคารหลังคาปั้นหยา” ลักษณะเด่นของอาคารกลุ่มนี้คือ หลังคาไม่มีหน้าจั่ว แต่จะมีลักษณะเป็นสันหลังคา 5 สัน รูปทรงหลังคาปั้นหยานี้ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของชาวตะวันตก ภายในกลุ่มอาคารหลังคาปั้นหยาประกอบด้วยห้องวัฒนธรรมโลหะและโลหัช ห้องอิสลามศึกษา ห้องการละเล่นพื้นเมือง ห้องเหรียญ-เงินตรา และห้องศาสนา

“กลุ่มอาคารหลังคาบลานอ” หรืออาคารทรงมะนิลา เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมของชาวฮอลันดา ลักษณะคือมีจั่วอยู่บนด้านตัดของหลังคาปั้นหยา หลังคาลักษณะนี้จะมีรูปแบบที่สวยงามกว่าแบบอื่นๆ ภายใน ประกอบด้วยห้องวัฒนธรรมมะพร้าว ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่รูปทรงที่ถูกออกแบบมาให้มีความหลากหลาย ต่อมาก็จะเป็นห้องศิลปหัตถกรรม ห้องการจัดการนักศึกษา ห้องนันทนาการ ห้องวัฒนธรรมเครื่องประทีป และห้องวัฒนธรรมเครื่องแก้ว

และ “กลุ่มอาคารนวมภูมินทร์” เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงสมัยใหม่ ภายในจัดแสดงเป็นห้องประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ ห้องลูกปัดและเครื่องประดับต่างๆ ห้องมีดและศาสตราวุธ ที่มีหลากหลายและสวยงาม รวมถึงห้องเครื่องมือจับสัตว์โบราณ อีกทั้งยังมีห้องที่แสดงเครื่องปั้นดินเผาอันเก่าแก่และหาดูยาก ห้องอาชีพหลัก และห้องผ้าทอพื้นเมือง

………………..

สำหรับที่กล่าวมาถือเป็นงานสถาปัตยกรรมเด่นๆแห่งจังหวัดสงขลา ที่คงไว้ด้วยคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ซึ่งอนุชนรุ่นหลังต้องช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน

*************

เรื่อง-ประภัสสร อังชีวานนท์
ทรงเรือนแถวแบบจีน บริเวณถนนนครนอก
บริเวณหน้าอาคารบ้านเรือนทรงจีน ที่ใช้สำหรับทำมาค้าขาย
บันไดโค้งของอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในบริเวณด้านหน้าของตัวอาคาร
ลุงเชื้อ ห้องโสภา ผู้ดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ อนุสรณ์สถานของชาวสงขลา
ภายในตัวบ้านของ พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์
บริเวณห้องครัวของตระกูล ติณสูลานนท์
ภายในห้องมีจารึกที่ฝาผนังว่าห้องนี้เป็นที่เกิดของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ส่วนของด้านหน้าก่อนที่จะเข้าไปยัง พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา
ศิลปหัตถกรรมภายในห้องวัฒนธรรมมะพร้าว ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา
ลูกปัดและเครื่องประดับต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ในห้องประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์
กำลังโหลดความคิดเห็น