xs
xsm
sm
md
lg

พื้นที่เล็กๆ ของ เจ้าชายไม่พูด “ปรีดา อัครจันทโชติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระยิบระยับ พราวพร่างสว่างไสว แสงแห่งความสุขในโลกแห่งจินตนาการ ความเพ้อฝันอันแสนสวยงาม แม้จะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ได้สัมผัสหลังจากอ่านหน้าสุดท้ายของ “เจ้าชายไม่วิเศษ” จบลง ก็ให้รู้สึกคิดถึงโลกวัยเยาว์อันคุ้นเคยเสียเหลือเกิน วันวานที่แสนหอมหวานในวัยเด็กอันถูกกาลเวลาพรากไป น่าแปลกที่หนังสือเล่มหนึ่งได้มอบความรู้สึกเหล่านั้นให้หวนกลับมาได้อีกครั้ง

ผู้จัดการ Lite ได้ยินลูกศิษย์ผ่านไปมาเรียกชายคนที่เพิ่งทำความรู้จักได้ไม่นาน เขายิ้มและหัวเราะไปตลอดการสนทนา บ่งบอกว่าเป็นคนอารมณ์ดีแค่ไหนจึงไม่แปลกใจที่ ชายคนนี้จะเป็นผู้สร้างสรรค์งานเขียนที่อ่านแล้วยิ้มแย้มได้ถึงเพียงนี้ “ปรีดา อัครจันทโชติ” ชายผู้ทำให้พื้นที่เล็กๆ ในโลกจินตนาการของเขาได้มีส่วนแต่งเติมสีสันอันสวยงามให้แก่สวนแห่งจินตนาการสำหรับนักอ่าน

ความทรงจำ
“ผมเห็นพี่ชายนั่งอ่านหนังสือไปหัวเราะไป เราก็คิดว่าอ่านอะไรทำไมถึงหัวเราะได้ขนาดนั้น ก็เลยเริ่มที่จะอ่านหนังสือบ้างก็ได้รู้ว่าคนอ่านเขาขำอะไร ก็คือการเข้าไปมีส่วนร่วมกับโลกในหนังสือนั่นเอง ผมอ่านหนังสือทุกอย่างทุกเล่มที่มีในบ้าน แต่ไม่เคยซื้อหนังสือ จนมาวรรณกรรมเด็กเรื่อง The Chronicles of Narnia เป็นเรื่องที่ชอบมาก เรียกได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำในบางสิ่งที่ไม่คิดมาก่อน”

ปรีดาเปิดฉากเล่าถึงเรื่องราวที่ผลักดันให้เด็กชายปรีดาในวัยเยาว์ ลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้ง 7 คน มีความชอบในการอ่านหนังสือและคลุกคลีใช้ชีวิตเป็นหนอนหนังสือ

“ผมเชื่อมาตลอดว่าถ้าเราได้ทำอะไรสักอย่างในสิ่งที่เราชื่นชอบมันจะทำให้เรา มีพลังที่จะทำในสิ่งที่เราคิดว่าทำไม่ได้ ในสมัยเรียน ผมเป็นคนที่อ่อนอังกฤษมาก ไม่ชอบ เรียนทีไร ก็ได้ C ได้ D แต่พยายามไม่ให้ได้ F และก็อ่านวรรณกรรมเด็กเรื่องหนึ่งชอบมาก ในสมัยนั้นมันมีภาคต่อ ซึ่งจู่ๆ สำนักพิมพ์ก็หยุดพิมพ์ เราถึงขนาดที่โทร.ไปถามเลยว่าทำไมถึงหยุดพิมพ์ วันหนึ่งเดินไปเจอหนังสือที่ว่า นั้นครบชุดแต่เป็นภาษาอังกฤษ เราก็ตัดสินใจซื้อมาอ่านทั้งที่ก็ไม่ชอบภาษาอังกฤษ โดยที่ไม่รู้ว่าจะอ่านรู้เรื่องหรือเปล่า แต่ก็เอามาอ่านจนได้ พอได้อ่าน มันรู้สึกว่าเราทำได้ เรากล้าที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง นั่นเพราะความรักในบางสิ่งบางอย่าง The Chronicles of Narnia คือหนังสือที่ว่า”

ความรักในสิ่งที่ชอบดูเหมือนจะมีคุณค่ามากกว่าทำให้เราติดตามสิ่งที่ชอบเท่านั้น น้อยคนนักจะใช้ความรู้สึกนี้ผลักดันให้ตัวเองก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองไปได้ ซึ่งเมื่อสำเร็จก็จะพบว่าเราไม่มี ขีดจำกัดอะไรให้ต้องกลัวอีกต่อไป พร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งท้าทายอื่น

เขียน (ไม่เด็ก)
“นักเขียนวรรณกรรมเด็ก ความจริงผมอยากเขียนทุกอย่างไม่เฉพาะแต่วรรณกรรมเด็ก ในตอนที่เริ่มเขียนหนังสือเราก็ถามตัวเองในแง่ของการเขียนว่าเราชอบอย่างไหน ถึงแม้ในแง่การอ่านจะชอบทุกอย่างแม้จะไม่มีปัญญาเขียนทุกอย่างก็เถอะ (หัวเราะ) พบว่าสิ่งที่ชอบมากที่สุดก็คือ วรรณกรรมเด็ก เป็นเรื่องเป็นราว จินตนาการ แฟนตาซี ในตอนเด็กอ่านพวกนิทาน โตขึ้นมาก็เป็นในด้านของวรรณกรรมเยาวชน”

การถูกปลูกฝังให้รักในการอ่านแต่เยาว์วัยนั้นเอง จึงเป็นแรงผลักดันให้ปรีดา หรือใครสักคนที่ชื่นชอบการอ่าน ก็อยากจะมีโอกาสได้เขียน ได้เสนอสิ่งที่ตนเองคิดด้วยเช่นกัน หลังจากที่ใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการอ่านการศึกษาความคิดจากหนังสือของนักเขียนสักคน

“การเริ่มต้นเขียนก็เหมือนกับตอนที่เริ่มต้นอ่านนาร์เนียภาคภาษาอังกฤษ จุดเริ่มต้นนั้นไม่ยากแค่มีความกล้า อยากจะเขียนก็เขียน แต่ที่ยากก็คือการเขียนให้จบภายในดราฟต์แรก เพราะดราฟต์แรกของผมคือมันจะบอกความคิดทุกอย่างของเราออกมาหมดแล้ว จะได้ลงลึกไปในทางที่ถูก ไม่หลงกับสิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอเหมือนมาคิดทีหลังก็ไม่เหมือนเดิม”

มีฉาก มีตัวละคร มีบทสนทนา และองค์ประกอบ แต่อะไรจะสำคัญเท่าแก่นของเรื่องที่ต้องการจะนำเสนอ มองในแง่ของคนอ่าน คงไม่มีใครอยากอ่านวรรณกรรมที่มีแต่ความอลังการของฉากและตัวละครอย่างเดียว

“ผมเขียนเรื่องแรกคือ เจ้าชายไม่วิเศษ แต่กลับได้ตีพิมพ์เป็นเล่มที่สอง ในตอนที่เรียนป.ตรี เอาพล็อตไปให้อาจารย์ดูเป็นเรื่องแนวแฟนตาซี แต่ตอนนั้นคือแค่อยากเขียนให้เป็นแฟนตาซีแบบไทยๆ แต่ปรากฏว่าเราละเลยตรงที่ว่าต้องการจะนำเสนออะไรแก่ผู้อ่าน”

มองดูการเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่ง นอกจากจะต้องพยายามเขียนให้จบแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ผู้เขียนได้ใช้คำว่านักเขียนได้อย่างเต็มปาก เห็นจะเป็นการที่ผลงานของตัวเองได้ถูกตีพิมพ์สู่สายตาหนอนหนังสือ

“จบ ป.ตรี ก็เขียนเรื่อง “เจ้าชายไม่พูด” ไปให้อาจารย์อ่าน านก็บอกว่าลองส่งเข้าประกวดดูอาจได้รางวัล ก็ส่งไปแพรวเยาวชน ผ่านไปหนึ่งปี เขาโทรมาบอกว่าจะตีพิมพ์งานเรา แต่ก็ผ่านไป 3 ปีไม่มีอะไรเกิดขึ้น ด้วยความที่ผมอยากจะมีผลงานตีพิมพ์มาก ก็มานั่งคิดดูว่าทำไมไม่ได้ตีพิมพ์สักที ก็คงเพราะเราเป็นนักเขียนโนเนม ก็ส่งเจ้าชายไม่วิเศษประกวดในงานนายอินทร์อะวอร์ดได้รางวัลมา ก็ได้พิมพ์เรื่องเจ้าชายไม่พูดต่อตามมา”

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความยากลำบากไม่ว่าจะสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเรามีใจรักในสิ่งที่จะทำ ชอบ ยาก หรือดูหนักหนาขนาดไหนก็กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยลงไปเลย เพียงแค่เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำให้มากก็พอ

“สำหรับเด็กๆ ผมค่อนข้างมีความเชื่อมั่นและรู้ว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ เพียงแต่ว่าบางครั้งการเติบโตอาจพาความนึกคิดที่แสนจะบริสุทธิ์ในตอนเด็กๆ พัดพายหายไปตามร่องของกาลเวลา ผมเพียงแต่อยากให้เชื่อมั่นในสิ่งที่คิดในตอนเด็กๆ อย่าลืมในสิ่งที่ครั้งหนึ่งเราเคยคิดมุ่งมั่นและเชื่อมั่นเอาไว้ ในตอนเด็กอาจารย์เล่าเรื่องนักการเมืองให้ ฟังในสมัยนั้นผมยังคิดว่าถ้าวันที่ผมโตขึ้น ก็คงจะเปลี่ยนไปมา ณ ตอนนี้ถึงมันยังจะไม่เปลี่ยนไป แต่ผมก็เชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งจะดีขึ้น แม้จะไม่ใช่ในยุคที่ผมเรียกตัวเองว่า โตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม”

ท้ายที่สุดเราเชื่อว่ามีเด็กๆไม่น้อยที่ต่างก็มีหนังสือในดวงใจ มีนิยายที่ชื่นชอบ หรือนักเขียนที่เป็นไอดอล และก็ฝันถึงนิยายที่มีชื่อผู้เขียนเป็นชื่อของตนเอง ปรีดาเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าได้

“ถ้าใครอยากจะเขียนวรรณกรรมเด็กหรือเขียนอะไรก็ตาม ก็ต้องอ่านเยอะๆ ดูหนัง ฟังเพลง ดูทุกอย่าง เพราะมันสามารถมีส่วนช่วยในงานเขียนได้หมด เปิดรับในส่วนทุกสิ่งทุกอย่าง และต้องปรับทัศนคติที่มีต่อสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองของตัวเราเองบ้าง งานก็จะออกมาเหมือนเงาคอยตามเรื่องของคนอื่นไปเรื่อยๆ”





กำลังโหลดความคิดเห็น