เรามักเข้าใจกันว่า เอกชน คือ องค์กรที่แสวงหาผลกำไร ไม่เว้นแม้กลุ่มโรงพยาบาลเอกชน เพราะเป็นบริการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือก ของกลุ่มผู้มีฐานะ มีกำลังซื้อ ที่ยินดีจ่ายค่าบริการแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐบาล เพื่อซื้อความสะดวกสบาย และ เพิ่มทางเลือกของการรักษา แต่ปัจจุบัน นโยบายหรือทิศทางการทำงานของเอกชน กว่า 50% ของที่มีอยู่ ได้ตระหนักถึง การบริหารองค์กรแบบธรรมาภิบาล รวมถึงทำกิจกรรมคืนกลับให้สังคม มากขึ้น หรือ ที่ภาษาการตลาดเรียกว่า CSR ซึ่งทีมผู้บริหาร ถือเป็น หัวจักรหลัก ของการผลักดันให้ทุกโครงการประสบความสำเร็จด้วยดีเสมอมา
เจตนาของผู้บริหารของ รพ.สมิติเวช ก็เช่นกัน ที่ต้องการคืนกำไรให้แก่สังคม และ ชุมชน แต่ที่ผ่านมา กิจกรรมเหล่านั้น เป็นที่รู้กันภายในองค์กร และ ชุมชน ในละแวกใกล้เคียง โดยไม่ได้นำออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะชน
พญ.สมสิริ สกลสัตยากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เล่าว่า ตลอดเวลา 29 ปีที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลสมิติเวชมุ่งให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ เพื่อสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นหลัก ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะเป็นเพื่อนที่อยู่เคียงข้างในทุกก้าวของชีวิตผู้บริโภค ไปพร้อมกับ การสร้างกิจกรรมที่ดี ปลูกฝังให้บุคลากรในองค์กร ได้ร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือสังคม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม หลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และ ด้านชุมชน
กิจกรรมดีๆ ที่ทาง รพ.สมิติเวช คณะแพทย์ และ บุคลลากรในแผนกต่างๆ ทำกันเป็นประจำทุกปีๆละหลายครั้ง เช่น การปลูกป่าชายเลน การร่วมรณรงค์ให้วัคซีนแก่เด็กในชุมชนต่างๆ การบริจาคเลือดให้แก่ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย ซึ่งกิจกรรมนี้ เราทำต่อเนื่องมากว่า 13 ปี รวมปริมาณเลือดที่บริจาคไปแล้วถึงวันนี้ ได้กว่า 2 ล้านซีซี
จับมือ PDA ร่วมโครงการชุมชนแข็งแรง
วันนี้เราพร้อมที่จะต่อยอดวิสัยทัศน์นี้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในวงกว้าง ด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญที่เรามีอยู่ ด้วยการเข้าร่วมมือกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน(PDA) ซึ่งมี คุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นนายกสมาคมฯ ในโครงการ “ชุมชนแข็งแรง” โครงการนี้ สมิติเวชจะให้การสนับสนุนความรู้ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ด้วยการฝึกอบรมให้คนในชุมชน รู้จักดูแลตัวเองก่อนเจ็บป่วย และ ยังสามารถดูแลและให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่นในชุมชนเดียวกันด้วย
นอกจากนั้นยังให้เงินทุนสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในโครงการที่จะส่งเสริมชุมชนให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานที่ดีของสังคม แบ่งเบาภาระของภาครัฐในด้านการพัฒนาชุมชน
โครงการแรกของการเข้าร่วมโครงการกับ PDA สมิติเวช ได้เข้าไปช่วยเหลือ หมู่บ้าน หนองพลวง หมู่ 8 ต.จักราช จ.นครราชสีมา ใน 3 ด้าน ได้แก่ ให้คำแนะนำด้านสุขภาพ สะสมภูมิต้านทาน (Healthcare Consultant) , การอบรมอาสาสมัคร ผู้นำแข็งแรง (Health Coach) และการรับอุปถัมภ์ หมู่บ้านเข้มแข็ง (Adopt a Village)
ซึ่งหัวข้อ หมู่บ้าน เข้มแข็ง สมิติเวช จะให้ทุนประเดิมแก่ชุมชนในวงเงิน 1 ล้านบาท สำหรับ ใช้บริหารจัดการ ภายในชุมชน ซึ่ง เงินดังกล่าว จะถูกหมุนเวียน ภายในหมู่บ้าน โดยการบริหารจัดการของคนในหมู่บ้าน เช่น การปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้คนในชุมชนได้นำเงินไปใช้เพื่อลงทุน ปลูกพืชผัก หรือ ผลิตสินค้าแปรรูป เครื่องใช้ไม้สอย เพื่อซื้อขายกันในชุมชน หาก มีเหลือก็ส่งออกขายนอกชุมชน เพิ่มพูนรายได้แก่ครอบครัว และสร้างเศรษฐกิจที่ดี โดยคนในชุมชน ไม่จำเป็นต้องเดินทางออกไปหางานทำในกรุงเทพฯ
ส่วน การสะสมภูมิต้านทาน Healthcare Consultant คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมิติเวช ในประเด็นต่างๆ ที่ เขาสนใจอย่างเต็มที่ และ สมิติเวช ยังให้คำแนะนำ แก่ PDA ในด้านการวางแผนกิจกรรมส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงให้สิทธิพิเศษแก่ตัวแทนชุมชนในการเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาประชาชน ที่ทางโรงพยาบาลจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ
โครงการผู้นำแข็งแรง Health Coach คือการอบรมเรื่องสุขภาพให้แก่อาสาสมัคร และ อาสาสมัครเยาวชน ผู้นำหมู่บ้านและประชาชน โดยทางโรงพยาบาลจะส่งทีมเข้าไปในหมู่บ้าน ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพบนเว็บไซต์ของสมิติเวช เพื่อให้ชุชน หรือผู้สนใจ ได้เข้ามาศึกษา หาความรู้เพื่อนำกลับไปพัฒนาชุมชนให้แข็งแรง
“เราตั้งใจว่า จะช่วยอุปถัมภ์ หมู่บ้านที่ต้องการช่วยเหลือ ด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้น ไตรมาสละ 1 หมู่บ้าน โดยมี PDA เป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษา และสำรวจความต้องการของแต่ละชุมชนที่แตกต่างกันออกไป จากนั้น เราจึงนำปัญหา มา หาวิธีแก้ไข แล้วนำไปสอนให้แก่ชุมชน ถึงวิธีการ เชื่อว่า เมื่อทุกคนปฎิบัติตาม จะทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น โดยไม่ต้องพึงพางบประมาณของภาครัฐ แต่เป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง”
นอกจากกิจกรรมดีๆเพื่อสังคมแล้ว สมิติเวช ยังไม่มองข้ามเรื่องของการลดภาวะโลกร้อน ด้วยโครงการ ”ถุงสดชื่น” คือการชวนลูกค้าใช้ถุงกระดาษรีไซเคิล สำหรับใส่ยา พร้อมนำเงินที่ประหยัดได้ ไปร่วมสมทบทุนมูลนิธิสมิติเวช เพื่อเป็นส่วนสำคัญในกิจกรรมปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว แม้เป็นกิจกรรมเล็กๆ แต่มีผลสำคัญในเชิงธุรกิจและสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมโครงการก็รู้สึกอิ่มใจที่ได้คืนความสดชื่นให้แก่สิ่งแวดล้อม
///////////////////////////////////////////
//////////////////////////////
PDA โครงการเพื่อพึ่งพาตัวเองแบบพอเพียง
สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน(PDA) เป็นองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณประโยชน์ ก่อตั้งเมื่อปี 2517โดย นายมีชัย วีระไวทยะ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายก ของสมาคมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในเขตชนบท และ เขตเมืองให้ดีขึ้น เน้นการสร้างเครือข่าย และการใช้ระบบชุมชนช่วยชุมชน ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาชุมชนของตัวเอง รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการในระดับหมู่บ้าน และ ตำบล เป็นเครือข่ายในการทำงาน เริ่มโครงการในหมู่บ้านโดยใช้ระบบอาสาสมัคร
ตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมจนถึงปัจจุบัน ได้ให้การช่วยเหลือหมู่บ้านทั่วประเทศไปแล้วกว่า 157 อำเภอ ใน 48 จังหวัดทั่วประเทศ มีอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วกว่า 16,000 คน และยังมีเครือข่ายอาสาสมัครในการดำเนินโครงการต่อเนื่องในด้านต่างๆ เช่น ส่งเสริมสนับสนุนงานวางแผนครอบครัว การสาธารณะสุขมูลฐาน สร้างความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์ การพัฒนาส่งเสริมรายได้ของชาวชนบท
ปัจจุบัน ได้พัฒนาโครงการธุรกิจเพื่อสังคมมาสู่โครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้าน (Village Development Partnership - VDP) ซึ่งเป็นโครงการที่มีรูปแบบของการพัฒนาที่ดีที่สุด ในการนำภาคธุรกิจเอกชน เข้ามาช่วยแก้ปัญหาความยากจนของหมู่บ้านอย่างยั่งยืน
ถึงวันนี้ PDA ได้ชักชวนบริษัทเอกชนมากกว่า 300 บริษัท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามาร่วมพัฒนาสังคมไทย โดยบริษัทเหล่านั้นจะเข้าช่วยพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ เสริมทักษะด้านธุรกิจ เช่น การผลิต การจัดการ การตลาด และงบประมาณ ก่อให้เกิดโครงการรวมแล้วกว่า 400 โครงการ ระดมทุนทรัพยากรจากภาคเอกชน ภาครัฐ และ ประชาชนได้ราว 1,200 ล้านบาท ก่อเกิดรายได้แก่ชาวบ้านรวมแล้วมากกว่า 3,700 ล้านบาท
ผลงานของ PDA ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยในปี 2550 นาย มีชัย และ PDA ได้รับรางวัลจาก The Bill & Melinda Gates Foundation ชื่อรางวัล Gates Award for Global Health 2007 พร้อมเงิน 1,000,000 เหรียญสหรัฐ นับเป็นรางวัลด้านสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดของโลก และปีนี้ ก็ได้รับรางวัล 2008 Skoll Awards for Social Entrepreneurship จาก Skoll Foundation เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 เหรียญสหรัฐ อีกเช่นกัน โดยเงินที่ได้มาทั้งหมดได้นำมาใช้ในกิจกรรมของสมาคม การชักจูงภาคธุรกิจเข้าร่วมโครงการ VDP เพื่อต้องการพัฒนาศักยภาพ ด้านเศรษฐกิจของชาวบ้านในเขตชนบท ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง