xs
xsm
sm
md
lg

ที่นี่...Jazz Hub

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากค่ำคืนใด เปลือกตาของคุณยังไม่หน่วงหนักชวนง่วงเหงา หัวใจยังเต้นแรง ทั้งผลักให้เดินล้อแสงสีรอบกายอย่างไม่เบื่อหน่าย ลองพาสองเท้ามาหยุดหน้าร้านแห่งนี้ดูสักหน่อยไหม สองมือลองผลักบานประตู แล้วแทรกตัวเข้าไป สรรพเสียงแรกที่คุณจะได้ยิน คือเสียงดนตรีสดจังหวะคึกคัก ชวนขยับแข้งขา กลองที่หนักแน่น เบสที่ร้อยเรียงทุกตัวโน้ตให้สอดประสาน กีตาร์ไฟฟ้าเสียงพลิ้วไหวไหลลื่น คีย์บอร์ดยั่วล้อรอยยิ้ม พร้อมด้วยน้ำเสียงของนักร้องนำแสนสะกดใจ ถ้าคุณมองหาที่มาของไลฟ์โชว์คุณภาพ ก็ขอเพียงเดินขึ้นบันไดมาที่ชั้น 2 ของร้านบาร์บาหลี ณ ริมถนนพระอาทิตย์...ถนนที่ราตรีไม่เคยหลับใหล

ที่นี่ สมาคมคนรักแจ๊ซ ในนาม Jazz Happens Bar ประกาศตัวและยืนหยัดอยู่อย่างรื่นรมย์และอบอุ่นมาเป็นระยะเวลาครึ่งปีแล้ว


ไม่กี่ย่ำค่ำที่ผ่านมา ก่อนการแสดงดนตรีจะเริ่มขึ้น หนึ่งในหุ้นส่วนและผู้ก่อตั้ง
บาร์แจ๊ซแห่งนี้ อย่าง นุ วุฒิชัย รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและหัวหน้าสาขาดนตรีแจ๊ซ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมด้วย แอน-พัชรินทร์ โต๊ะบุรินทร์ สละเวลารับแขกท่านอื่นมาต้อนรับคนนอนดึกอย่างเรา เพื่อบอกเล่าความเป็นมา แรงบันดาลใจ และความฝันใฝ่ที่คนรักดนตรีอย่างเขา เธอ และเพื่อนพ้องเหล่าคณาจารย์ท่านอื่นๆ รวมแล้วนับ 20 ชีวิต วาดหวังไว้กับ Jazz Happens Bar

ระหว่างนักศึกษาสาขาดนตรีแจ๊ซ คณะดุริยางคศาสตร์ รั้วศิลปากร เตรียมขึ้นเวที “ปล่อยของ” คำบอกเล่าจากอาจารย์นุ ก็เริ่มต้นขึ้น

“ตลอดระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา สาขาแจ๊ซ คณะดุริยางคศาสตร์ ของ ม. ศิลปากร มีงานแสดงค่อนข้างเยอะ ในหลายๆ ที่ทั่วประเทศ แต่กิจกรรมส่วนใหญ่นั้น นักศึกษาก็มักจะได้เล่นแค่แว่บๆ ชั่วครู่ยาม เช่น ซ้อมมาสัก 2-3 เพลง แล้วก็ขึ้นโชว์ ซึ่งแม้ว่างานจะมีอยู่ต่อเนื่องตลอดทั้งปี แต่ผมก็มองว่ามันยังไม่น่าพอใจ พวกเราเหล่าอาจารย์เลยคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ ได้เล่นดนตรีมากขึ้น ให้เขาได้สัมผัสชีวิตของการเป็นนักดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณต้องการจะเป็นนักดนตรีแจ๊ซ นั่นหมายความว่าคุณต้องใช้ชีวิตอยู่กับบาร์”

ที่ผ่านมา แม้คณาจารย์และศิษย์ในสำนักนี้จะมีงานแสดงอย่างต่อเนื่อง แต่ในทัศนะของอาจารย์นุ เขามองว่า ชั่วโมงบินเหล่านั้นยังไม่เพียงพอต่อการแสดงฝีมือ เนื่องจากจำนวนของเด็กในสาขาแจ๊ซ มีอยู่เยอะมาก ทำอย่างไรจะผลักดันให้เด็กทั้งสาขาได้เล่น รวมทั้ง 4 ชั้นปี มีร้อยกว่าคน

“ในอนาคตคุณอาจเป็นนักดนตรีที่ทำเพลงเอง แล้วนำไปเสนอค่ายเพลงต่างๆ แต่โดยหลักแล้ว ชีวิตของนักดนตรีแจ๊ซก็คือ การเล่นดนตรีเพียงอย่างเดียว เพราะถึงที่สุดแล้ว แจ๊ซก็ไม่ต่างไปจากศิลปินที่นำผลงานภาพวาดของตนออกแสดงในแกเลอรี่ ซึ่งก็คือการเล่นดนตรีให้คนฟัง แล้วทำอย่างไรเราจะได้เล่นกันเยอะขึ้น เพราะฉะนั้น จึงต้องเปิดร้าน”

นุ แอน และเพื่อนพ้องคณาจารย์ จึงตั้งใจเปิดร้านเพื่อให้เป็นพื้นที่แสดงความสามารถทางดนตรี ซึ่งเมื่อประชุมร่วมกับนักศึกษาในคณะ ก็ได้รับเสียงสนับสนุนเต็มที่

“เด็กๆ เขาตื่นเต้นและกระตือรือร้นกันมาก ซึ่งเราก็มีการออดิชั่นทุกวงของนักศึกษาที่จะมาเล่น เราย้ำกับเขาเสมอว่า พวกคุณต้องเล่นให้ดีจริงๆ เพราะถนนพระอาทิตย์มีชาวต่างชาติเยอะ แล้ววัฒนธรรมการฟังดนตรีของฝรั่งเขาจะละเอียดมาก โดยเฉพาะ ถ้าเป็นคอเพลงแจ๊ซตัวจริงมาฟังเพลง นั่นหมายความว่าเขามา “ฟัง” จริงๆ เพราะฉะนั้น ร้านนี้จึงเปรียบเสมือนเวทีที่จะพิสูจน์ความสามารถของนักศึกษา”

นุ และ แอน ขยายความเพิ่มเติมว่า การเปิดร้าน ทำให้เด็กแต่ละวงได้เล่นดนตรีมากขึ้น จากเดิมเคยเล่น 2-3 ครั้งต่อหนึ่งเทอม เมื่อมีงานกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ซึ่งหากมองในแง่หนึ่งอาจถือว่าเยอะแล้ว แต่ยังไม่พอต่อการพัฒนา

“นักศึกษาต้องได้เล่นดนตรีมากกว่านั้น จากเดิมอาจมีเพียง 3 เพลงที่เขาเคยเล่นบนเวทีกิจกรรมมหาวิทยาลัย แต่เมื่อมาเล่นที่ร้าน เขาได้เล่นถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ดังนั้น เขาต้องซ้อมหนักขึ้น ได้เล่นเพลงมากขึ้น ได้เรียนรู้ชีวิตของนักดนตรีแจ๊ซ ได้รู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะทำให้แขกพอใจ ซึ่งสำหรับนักดนตรีมืออาชีพก็คือ คุณต้องเล่นให้ดีจริงๆ จะเล่นเป็นนักดนตรีสมัครเล่นอยู่ตลอดไปไม่ได้”

เมื่อการเปิดพื้นที่เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้พัฒนาฝีมือ คือหมุดหมายสำคัญ “ค่าจ้าง” จึงไม่ใช่สารัตถะ ดังที่แอนบอกอย่างตรงไปตรงมา

“เราคุยกับนักศึกษาทุกคนอย่างชัดเจน ว่า เขาเล่นดนตรีที่บาร์นี้ เขาไม่มีค่าตัว เพราะถ้ามี เราก็ไม่สามารถอยู่ได้ ยอมรับเลยว่าถ้าจ่ายค่าจ้างด้วย ร้านเราอยู่ไม่ได้แน่ ซึ่งเด็กทุกคนเขาก็เข้าใจ ยอมรับ และเต็มใจ มุ่งมั่นมาก ว่าเขามาเพื่อเล่นดนตรีจริงๆ เขารู้ว่าเขามาทำอะไร เพื่ออะไร ไม่ใช่มาเล่นดนตรีเพื่อหวังรวย”

ส่วน นุ ก็คุยกับเด็กชัดเจนเช่นกันว่า ร้านนี้เป็นร้านของเด็กด้วย เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องช่วยกัน เขาช่วยกันต้อนรับแขก จัดร้าน ช่วยกันเก็บโต๊ะ นักศึกษาทุกคนที่มาเล่นดนตรี จะเป็นทั้งเจ้าบ้าน เป็นเจ้าของร้าน เพราะฉะนั้น อีกภาพที่คุณจะคุ้นตาเวลามาร้านนี้ก็คือ พอเด็กเราเล่นดนตรีเสร็จ เดินลงมาจากเวที เขาก็มาช่วยเสิร์ฟน้ำ เสิร์ฟอาหาร

“บอกตรงๆ เลยว่า กำไรที่เราได้ เรารายงานเด็กทุกเดือน เก็บไว้เป็นกองกลาง เพราะมีสิ่งสำคัญกว่านั้นคือ ดนตรี ในส่วนของธุรกิจ ยอมรับว่าเราไม่รวยหรอกครับ เพียงแค่พอประทังต่อไปได้อีกยาวนาน แต่หากพูดในแง่ของการพัฒนาฝีไม้ลายมือทางดนตรี ผมเชื่อว่าที่นี่ไม่ต่างไปจากโรงเรียนอีกแห่ง เพราะแม้จะผ่านการออดิชั่นให้มาเล่นที่ร้านได้ แต่ถ้าหากเล่นผิด นักศึกษาก็จะโดนดุเลยนะครับ โดนผมกระซวกเลยนะ เล่นเสร็จคุณโดนเรียกประชุมกันข้างล่างเลย เรียกได้ว่า เป็นการทดสอบอีกขั้น ด่ากันน้ำตาไหล แต่เหนือกว่านั้นคือความผูกพันฉันมิตรที่คนในสาขาแจ๊ซมีให้กัน ทั้งระหว่างอาจารย์ ศิษย์ เป็นเพื่อนพ้องน้องพี่กันทั้งนั้น”

ในฐานะอาจารย์ และคนรักดนตรีแจ๊ซ อาจารย์นุยอมรับว่า นักศึกษาแต่ละคน ‘เจ๋งขึ้น’ พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นาน

“สำหรับผมแล้ว แจ๊ซคือศิลปะที่ใกล้เคียงกับงานจิตรกรรม ประติมากรรม”

นุ ย้ำชัดก่อนขยายความว่า หากศิลปินผู้วาดภาพต้องมีพื้นฐานลายเส้นที่ดี ก็ไม่ต่างกันกับนักดนตรีแจ๊ซ ที่ต้องศึกษา รู้จัก และเข้าใจแต่ละสเกลอย่างลึกซึ้ง ทฤษฎีต้องแม่น พื้นฐานต้องดี เบสิกแข็งแรงแล้ว จึงย่อมนำไปสู่การสร้างสรรค์งานใหม่ๆ

“เมื่อพื้นฐานดีแล้ว คุณก็สามารถที่จะงัดตัวตนที่แท้จริงของคุณออกมาได้ และเข้าถึงหัวใจของมัน ซึ่งก็คือการอิมโพรไวซ์ การด้นสด การครีเอตเสียง ซึ่งล้วนเป็นเอกลักษณ์ สไตล์เฉพาะตัวอันถือเป็นตัวตนแท้จริงของคุณ”

ณ ห้วงขณะแห่งการอิมโพรไวซ์ เมื่อคุณนิ่งฟังด้วยหัวใจ ย่อมสัมผัสได้ว่า ภายใต้ภาพลักษณ์ภายนอกของนักดนตรีแต่ละคน “ตัวตน” ของแท้จริงของพวกเขา กำลังเดินทางเข้าสู่กลางใจคุณ

เพียงนิ่งฟัง...แล้วเปิดใจอย่างผ่อนคลาย
*************************************

เรื่องโดย รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ถ่ายภาพโดย วรงค์กรณ์ ดินไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น