xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโลกการเรียนรู้ ตามแบบฉบับของ “ศ.ระพี สาคริก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ศาสตราจารย์ระพี สาคริก” ใครหลายคนอาจคุ้นชื่อนี้พอสมควรในฐานะของ “อาจารย์”หลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น "บิดาของกล้วยไม้ไทย” ผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และสำหรับลูกหลานพระพิรุณ นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็รู้จักท่านเป็นอย่างดีในตำแหน่ง “อธิการบดี” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือหากย้อนไปไกลกว่านั้น เชื่อว่าหลายคนคงยังจำบทบาทของท่านในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ชื่อว่าทำงานเพื่อประชาชนมากที่สุดคนหนึ่งด้วย

ด้วยข้อคิดดี ๆ จากผู้อาวุโสท่านนี้ที่ได้สร้างคนให้เป็นคน สามารถเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวเองได้นั้น ถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากจนประเมินไม่ได้ นั่นจึงเป็นที่มาที่คนส่วนใหญ่ขนานนามท่านอาจารย์ระพีว่า “อาจารย์ผู้เป็นอาจารย์ของวิชาชีพ” กล่าวคือ การสอนให้ทุกคนเรียนรู้และเข้าใจ รู้จักมนุษย์ รู้จักสังคม รู้จักมองโลก โดยเป็นการสอนผ่านการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน คนเรียนก็ไม่รู้ว่า “ถูกสอน” แต่ได้ซึมซับเข้าไป โดยที่ศาสตราจารย์ระพีเรียกสิ่งนั้นว่า “การเรียนรู้”

นักเรียนเป็นครูของครู

คำกล่าวของอาจารย์ที่ว่า ทุกอย่างมี 2 ด้าน เพราะฉะนั้นอย่ายึดติด ทุกวิชาที่ร่ำเรียนย่อมมีธรรมะเข้ามาเกี่ยวข้อง มีความเป็นเหตุเป็นผล เพราะแต่ละเรื่องล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ปลายจมูกเพียงเท่านั้น และยังเชื่อว่าหากเราทำหน้าที่ที่ดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องยึดติดอะไร เพราะถ้าทุกข์เมื่อไหร่นั่นคือ “การทำร้ายตัวเอง” เราสู้กับกระแสสังคมไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ การหลงตัวเอง การยึดติดล้วนเป็นสัจธรรม ดังนั้นเราต้องอยู่อย่างไม่ทุกข์ และอย่ากล่าวโทษสังคมว่าไม่ดี

แม้ว่าธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทย ที่แสดงออกถึงความเคารพระหว่างนักเรียนกับครูนั้น เมื่อเจอกันนักเรียนต้องไหว้ครู แต่อาจารย์กล่าวว่า ครูทุกคนต้องอย่าหลงตัวเอง อย่ายึดติดในการมีตัวตน อย่าหลงผิดคิดว่าผู้ใหญ่ต้องถูกเสมอ หรือเด็กไม่มีทางคิดอะไรดีๆได้เลย อันที่จริงแล้ว คนรุ่นหลังต่างหากที่ต้องเป็นครูของเรา คนเป็นครูไม่จำเป็นต้องบังคับให้เด็กยกมือไหว้หรอก ไม่ต้องตำหนิเด็กหากเขาเจอเราแล้วไม่ยกมือไหว้เรา สิ่งที่เราควรทำคือ “เราต้องถามตัวเองว่า เราทำดีที่สุดแล้วหรือยัง” หากยังไม่ดีพอก็ต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง และทำหน้าที่ที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด

อิสระในการเรียนรู้

ทั้งนี้ เราควรรู้ว่าอะไรเป็นของจริง อะไรเป็นสิ่งสมมติ อาจารย์ระพีไม่ได้ยึดติดในความเป็นครู ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้การเรียนรู้ของอาจารย์จึงมีความยืดหยุ่นและเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนแก้วที่ยังสามารถรองรับน้ำได้ตลอดเวลา เพราะอาจารย์เชื่อว่าคนเราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกสถานการณ์ ดังนั้น แม้ว่าโรงเรียนจะเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้เด็ก เด็กต้องไปโรงเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนจะเป็นสถานที่ที่เด็กสามารถศึกษาหาความรู้ได้เพียงแห่งเดียว เด็กทุกคนยังสามารถเรียนรู้นอกห้องเรียนได้อีกหลายแห่ง อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ การเรียนรู้ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แต่ภายในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

อาจารย์กล่าวว่า ทุกคนมีอิสระในการเรียนรู้ อย่าเกรงการเปลี่ยนแปลงและอย่ากลัวการเรียนรู้ เราต้องเปิดใจให้กว้างเพื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา อันที่จริงสังคมน่าจะมีการถ่ายทอดการเรียนรู้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ ชีวิตคือสิกขา สิกขาคือชีวิต

จากการที่อาจารย์ระพีได้พูดคุยกัน ให้ความรู้แก่ทุกคนที่ได้พบปะ อาจารย์ได้ให้ข้อคิดดี ๆ อีกหนึ่งข้อคือ การให้โอกาสเป็นบุญอย่างหนึ่งที่เราควรทำ คนที่ได้โอกาสก็ดีใจที่เขาสามารถมีสิทธิ์มีเสียงในสิ่งที่เขาต้องการกระทำ เราผู้เป็นผู้ให้โอกาสก็พลอยอิ่มบุญไปด้วย อาจารย์ไม่เคยหน่ายในการให้ความรู้ และให้โอกาสทุกคนแม้แต่น้อย เพราะตลอดระยะเวลากว่า 8 ทศวรรษที่ผ่านมา ประสบการณ์ที่อาจารย์ได้รับนั้น เป็นสิ่งที่ควรจะเผยแพร่เป็นอย่างยิ่ง

ระพีเสวนา

ระพีเสวนาเกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิระพี-กัลยา สาคริก สถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายการเรียนรู้ 7 กลุ่ม อันประกอบด้วย 1. เครือข่ายการศึกษาขั้นพื้นฐานแนวใหม่ 2. เครือข่ายสื่อเพื่อการเรียนรู้ 3.เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานทางเลือก 4. เครือข่ายการเรียนรู้ตามอัธยาศัย 5. เครือข่ายศิลปะเพื่อการเรียนรู้จากภายใน 6. เครือข่ายแพทย์และสาธารณสุขทางเลือก และ 7.อุดมศึกษาทางเลือก โดยการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research)

ทั้งนี้ ลูกศิษย์ของอาจารย์ระพีกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า อาจารย์ระพีเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ จินตนาการ และจิตสำนึกแห่งการเรียนรู้ อีกทั้งยังหลุดจากกรอบที่ครอบงำความคิดของตัวเอง โดยยึดจากคำพูดและปฏิปทาแห่งความเป็นครูที่แท้จริงของอาจารย์ที่กล่าวว่า

“ศาสตร์ทุกศาสตร์มีรากเหง้าเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ เงื่อนไขที่อยู่ในรากฐานจิตใจของมนุษย์...จิตใจเป็นศูนย์รวมของทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นขุมคลังของสติปัญญา...อิสรภาพอยู่ที่ใจ เมื่อจิตอิสระก็เกิดปัญญา” ประเด็นของอาจารย์ในการเรียนรู้จึงก่อให้เกิดมุมมองที่เปิดกว้าง และทำให้ลูกศิษย์หลายคนต้องกลับมาถามตัวเองว่า “เราจำกัดตัวเองอยู่หรือเปล่า”

เครือข่ายโรงเรียนไทยไท

ด้วยความศรัทธาในอาจารย์ระพี สาคริก ระพีเสวนาจึงกลายเป็นกระบอกเสียงว่า ระบบการศึกษายังมีทางรอดหลายทาง การลุกขึ้นมาจัดการศึกษา “นอกห้องเรียน” ซึ่งมีการริเริ่มในหลายโรงเรียนนั้น อาจารย์อธิบายว่า

“จริงอยู่ที่เวลาเราอยู่ในโรงเรียนแล้วเรามีความสุข แต่บางคนจบมาก็ไม่ได้ทำงานอย่างที่ตัวเองเรียน เหมือนส่วนใหญ่จะมีค่านิยมในการเรียนตามกระแสสังคมมากกว่า แม้ว่าหลักสูตรการเรียนจะมีประโยชน์ในระบบการเรียนการสอน แต่หลักสูตรทุกหลักสูตรไม่ได้บ่งบอกว่า เด็กทุกคนที่เรียนหลักสูตรเดียวกัน ต้องเหมือนกันเด็กที่ต่างกัน ค่านิยมและทัศนคติย่อมต่างกัน แต่ผู้ใหญ่มักให้ความสำคัญในการเรียนรู้ ไม่ได้มองว่าจริตของเด็กเป็นอย่างไร เด็กต้องการอะไร ที่ผ่านมาครูในระบบการศึกษาที่ถูกปิดกั้นก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในกรอบ ไม่กล้าลุกขึ้นมาฉีกกรอบและเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตในสังคมในระบบการศึกษาดีขึ้น”

ด้วยเหตุของการยึดติดในระบบ การให้ความสำคัญแต่ภายนอก ความสวยงามที่หลอกลวงของสังคม การจัดการศึกษาทั่วไปเป็นเหมือนโรงงานผลิตปลากระป๋อง กล่าวคือ ผลผลิตต้องเหมือนกันหมด เรียนเหมือนกัน รูปแบบเดียวกัน ทุกคนเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กไม่ใช่ปลากระป๋อง เด็กมีความหลากหลายในตัวเอง ดังนั้นเครือข่ายโรงเรียนไทยไทจึงมีแนวคิดในเรื่องของการหยุดการยึดมั่นถือมั่น หยุดระบบการศึกษาที่ถูกครอบงำและให้อิสระแก่เด็กทุกคนในการเรียนรู้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความหลากหลายที่เด็กๆได้รับ ได้เรียนรู้ ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของการใช้ชีวิตที่มีสติปัญญา และศีลห้าครบบริบูรณ์

กำลังโหลดความคิดเห็น