เมื่อครั้งเป็นเด็ก ผมเคยมีของเล่นชิ้นหนึ่งรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ที่แต่ละด้านมีสีเหมือนกัน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเรียกว่าอะไร และหลังจากที่ผมทำลายเอกภาพของสีแต่ละด้านลงเรียบร้อย ความเป็นเอกภาพของสีแต่ละสีก็ไม่เคยปรากฏขึ้นอีกเลย ผมก็ไม่ผิดแผกจากเด็กทั่วไป เมื่อไม่มีสติปัญญาจะแก้ปริศนาได้ ความเบื่อจึงตามมา แล้วเจ้าของเล่นชิ้นนั้นก็เริ่มถูกวางไว้เฉยๆ และสูญหายไปในที่สุด
เพิ่งจะมารู้เอาเมื่อไม่นานนี้ว่า เจ้าของเล่นที่ผมเห็นตั้งแต่เด็กมีชื่อเรียกว่า ‘รูบิกส์คิวบ์’ (Rubik’s Cube) หรือ ‘ลูกบาศก์ของนายรูบิก’ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ามันเป็นของเล่นที่คิดค้นโดยคนที่ชื่อว่า ‘รูบิก’ แต่ก่อนที่เราจะรู้จักความเป็นมาของของเล่นชิ้นนี้ อยากให้ลองสังเกตอะไรบางอย่างก่อน
ต้องบอกว่าเป็นความรู้สึก และไม่แน่ใจด้วยว่าเป็นความรู้สึกของผมคนเดียวหรือเปล่า แต่ระยะที่ผ่านมาผมมักพบเห็นรูบิกส์คิวบ์วางขายแบกะดินบ่อยครั้งมากขึ้น อันละสามสิบสี่สิบบาท เรื่องแบบนี้ถ้าไม่มีอุปสงค์ย่อมไม่มีอุปทาน แล้วพอได้เดินงานมหกรรมหนังสือฯ ครั้งที่ผ่านมา ก็พบว่าร้านของเล่นเกือบทุกร้านจะต้องมีรูบิกส์คิวบ์วางขาย บางคนอาจเถียงว่าก็มีขายทุกครั้งอยู่แล้ว แต่ความต่างก็คือครั้งนี้มีรูบิกส์คิวบ์หลายเกรด หลายราคา มีทั้งแบบถอดประกอบเอง แบบราคาถูก ถึงราคาสองสามร้อยบาท
หรือว่ากระแสคลั่งไคล้รูบิกส์คิวบ์กำลังจะกลับมา เหมือนครั้งที่มันออกมาใหม่ๆ?
ลูกบาศก์ของนายรูบิก
แม้ว่าของเล่นชิ้นนี้จะถูกเรียกว่า ลูกบาศก์ของนายรูบิก แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว มันไม่ได้มีชื่อนี้มาตั้งแต่ต้น และของเล่นที่มีวิธีการเล่นทำนองนี้ก็ไม่ใช่นายรูบิกที่คิดขึ้นเป็นคนแรก
มีนาคม 1970 Larry Nichols ได้ประดิษฐ์ของเล่นแบบนี้ขึ้นก่อนนายรูบิก เพียงแต่ว่ามันมีขนาด 2x2x2 ไม่ใช่ 3x3x3 แบบที่เราเห็นอย่างตอนนี้ คุณ Larry ตั้งชื่ออย่างยาวว่า ‘Puzzle with Pieces Rota table in Group’ ซึ่งกลไกที่ยึดของเล่นนี้เข้าไว้ด้วยกันคือแม่เหล็ก
กระทั่งปี 1974 Erno Rubik ประติมากรและศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรม ชาวฮังการีจึงได้คิดค้น ‘Magic Cube’ แต่กว่าจะได้ผลิตออกมาขายตามร้านของเล่นในกรุงบูดาเปสต์ก็ล่วงเลยถึงปี 1977 ซึ่งมีแววว่าจะไปได้ดีกว่าของเล่นของคุณ Larry ที่มีราคาแพงกว่า เนื่องจากคุณรูบิกใช้กลไกที่ทำจากพลาสติกเป็นตัวยึดลูกบาศก์ลูกเล็กๆ เข้าไว้ด้วยกันแทนที่จะใช้แม่เหล็ก จึงทำให้มันมีราคาถูกกว่าเห็นๆ
Magic Cube เป็นที่รู้จักแพร่หลายในปี 1980 เมื่อบริษัท Ideal Toys นำมาสู่โลกตะวันตก ด้วยการเปิดตัวครั้งแรกในงานแสดงของเล่นที่ลอนดอน ปารีส นูเรมเบิร์ก และนิวยอร์ก
เมื่อเห็นลู่ทางอันสดใส Ideal Toys จึงคิดจะตั้งชื่อใหม่เพื่อตีตลาด สองชื่อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาคือ ‘The Gordian Knot’ และ ‘Inca Gold’ แต่ที่สุดของที่สุดแล้วก็กลับมาลงเอ่ยที่ชื่อธรรมดาสามัญ Rubik’s Cube
ถึงปัจจุบันนี้ รูบิกถูกพัฒนา ปรับเปลี่ยนจนมีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งแบบ 2x2x2, 4x4x4, 5x5x5, 8x8x8 หรือมากกว่านั้น มีแบบที่เป็นวงกลม สามเหลี่ยม หรือรูปดาว
อย่างไรก็ตาม แบบที่คลาสสิกที่สุดยังคงเป็นแบบ 3x3x3 และต้องเป็นสีน้ำเงิน สีขาว สีเหลือง สีส้ม สีเขียว และสีแดง ถึงจะเรียกว่าคลาสสิกจริง มันยังถูกพูดถึงว่าเป็นของเล่นที่ขายดีที่สุดในโลกอีกด้วย เพราะมันถูกขายไปแล้วกว่า 300 ล้านอันทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับ Rubik’s Cube อยู่ไม่น้อย เชื่อว่าคงเคยมีนักคณิตศาสตร์ช่างคิด (และอยู่ว่างๆ) สักคนคำนวณความเป็นไปได้ของรูปแบบการเรียงสลับสีของ Rubik’s Cube ไว้ ซึ่งทำให้ได้ตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อย เพราะมันมีความเป็นไปได้มากมายถึง 43,252,003,274,489,856,000 รูปแบบ
แต่ว่ากันว่าการเล่น Rubik’s Cube มันเกี่ยวพันกับหลักการทางคณิตศาสตร์ที่เราเคยเรียนสมัย ม.ปลาย ที่เรียกว่า อัลกอริธึม (Algorithm) ปี 1982 David Singmaster และ Alexander Frey ก็ตั้งสมมติฐานโดยอาศัยหลักอัลกอริธึมว่า การจัดวาง Rubik’s Cube ให้กลับมามีสีเหมือนกันทั้ง 6 ด้าน น่าจะทำได้โดยการหมุนไม่เกิน 20 ครั้ง แน่นอน เรื่องแบบนี้ก็เหมือนเป็นการท้าทายนักคณิตศาสตร์อย่างหนึ่ง ปี 2007 Daniel Kunkle และ Gene Cooperman ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยแก้ปัญหานี้เพื่อจะพิชิต Rubik’s Cube ให้ได้ภายในการหมุน 20 ครั้ง แต่พวกเขาทำได้ดีที่สุดคือ 26 ครั้ง
พอถึง ปี 2008 สถิตินี้ถูกทำลายลงด้วยการหมุนเพียง 22 ครั้ง ของ Tomas Rokicki และจนถึงตอนนี้การค้นหาวิธีเพื่อเข้าใกล้ตัวเลขของคุณ David ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
และถ้าคุณอยากจะลองดูก็คงไม่มีใครว่า
ชมรมรูบิกไทย
เวลามีปรากฏการณ์หนึ่งเบ่งบาน ย่อมเป็นเพราะมีปัจจัยหลายหลากเชื้อชวนให้เกิด จากที่ได้พูดคุยกับนักเล่นรูบิก ปัจจัยเด่นที่ปลุกกระแส Rubik’s Cube หนีไม่พ้นเทคโนโลยีสารสนเทศหรือจะเรียกแบบไม่ต้องปรุงแต่งว่า อินเตอร์เน็ต
ยี่สิบ สามสิบปีก่อนที่กระแสรูบิกหลั่งไหลจากตะวันตกเข้าสู่เมืองไทย น่าจะมีน้อยถึงน้อยที่สุดที่สามารถหมุนได้ครบทั้ง 6 ด้าน ต่อให้คิดจนหัวแทบแตก บิดจนเมื่อยมือ และรูบิกพังกันไปหลายอัน ความเป็นเอกภาพของสีก็ยังไม่เกิดขึ้นในมือใครหลายๆ คน ยุคนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่ใช่สิ่งที่รู้จักแพร่หลายเหมือนทุกวันนี้ ไม่มีแหล่งข้อมูลให้ค้นหาคำตอบของปริศนา
“เมื่อสักกลางๆ ปีที่แล้ว ตอนนั้นเว็บไซต์ไทยแลนด์คิวบ์ยังไม่มี ผมลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรูบิกในบ้านเราซึ่งตอนนั้นมีแค่ 2 เว็บไซต์ เป็นของคุณกึ่งยิงกึ่งผ่านกับคุณโจโจ้
“คุณโจโจ้เขาลงคลิปและโพสต์ว่าเขาทำได้ภายในเวลา 22 วินาที ผมก็...โอ้โห มันเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก คุณโจโจ้เขาบอกว่าจะฝึกบิดให้ครบ 6 ด้านให้ได้ใน 1 นาทีภายในเวลา 1 เดือน แล้วเขาก็ทำได้ เราก็คิดว่าเราก็น่าจะทำได้ ผมจึงเข้าไปหาข้อมูลในเว็บไซต์ต่างประเทศ จนสามารถทำได้
“แล้วตอนหลังก็ได้มารู้จักกับคุณชัชวาลย์ซึ่งกำลังจะก่อตั้งชมรมของคนเล่นคิวบ์ในเมืองไทย ประมาณกรกฎาคมปีที่แล้ว ผมก็เอาคลิปวิธีเล่นไปโพสต์ในเว็บนี้ คนเริ่มเข้ามาดู จนเกิดเป็นกระแสขึ้นมา พอเด็กเข้ามาดู เล่นเป็น เอาไปเล่นให้เพื่อนดู เพื่อนก็อยากเล่นเป็นบ้าง มันก็เกิดการขยายตัว ตอนนี้ตัววิดีโอเป็นอันดับ 1 ของกูเกิลแล้ว เพราะที่เป็นของคนไทยมีแค่คลิปเดียว เลยมีคนไทยเข้าไปดูกันเยอะ ทำให้รูบิกเริ่มแพร่หลาย”
กันย์ ศิริมาตย์ รองชนะเลิศอันดับ 1 รุ่นประชาชนทั่วไป ในการแข่งขันรูบิก อพวช. ประจำปี 2008 และเจ้าของร้านขายรูบิกส์คิวบ์ที่ฟอร์จูนทาวเวอร์ พูดถึงการกลับมาของกระแสรูบิก
หลังจากที่รูบิกส์คิวบ์เป็นปริศนาคาใจของคนจำนวนมากมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว จู่ๆ ก็มีคนมาบอกวิธีเล่นให้ครบ 6 ด้าน ไม่แปลกกระมังถ้าจะมีคนอยากรู้อยากเห็น ขณะที่กลุ่มเด็กมัธยมซึ่งเป็นกลุ่มเล่นหลักก็สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ บวกกับการเล่น การบอกต่อ การสอนกันในหมู่เพื่อนก็ยิ่งทำให้กระแสรูบิกส์คิวบ์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
การถือกำเนิดของเวบ ชมรมรูบิกไทย หรือ www.thailandcube.com จึงเป็นเครื่องยืนยันอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี
ชัชวาลย์ จารุวัฒนกุล ผู้ก่อตั้งชมรมรูบิกไทย และตัวแทน World Cube Association ในประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า เขาเล่นรูบิกส์คิวบ์มาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้วและสามารถทำได้ครบทั้ง 6 ด้านในเวลาประมาณ 3 นาที จากนั้นก็ห่างหายกับมันไปตามกาลเวลา
กระทั่งเมื่อ 5 ปีก่อนเขากลับมาเล่นใหม่ และลองค้นหาวิธีการเล่นเร็ว ความว่างบวกความชอบ เขาจึงตัดสินใจทำเว็บไซต์ชมรมรูบิกส์ไทยขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
“จากนั้นก็เริ่มมีการแข่งขันกันตั้งแต่เริ่มแรก เราได้รับการติดต่อจากทางองค์กรพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ซึ่งเขาจะจัดแข่งรูบิกในงานถนนสายวิทยาศาสตร์ เขาก็ให้เราไปช่วยจัดการแข่งขัน หลังจากนั้นก็มีหน่วยงานอื่นๆ ที่รู้จักเรา เข้ามาในเว็บไซต์ ติดต่อมาให้ช่วยจัดแข่งอยู่เรื่อยๆ”
กระแสรูบิกเริ่มจุดติด หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และการศึกษาเริ่มให้ความสนใจ ขณะที่ธุรกิจเอกชนก็ทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ด้วยการจัดแข่งรูบิก จากที่เวลานักเรียนเอาไปเล่นในโรงเรียนจะถูกครูยึด กลายเป็นครูต้องปล่อยให้เด็กเล่นเพราะระบาดหนัก
ปัจจัยอีกประการที่ทำให้รูบิกส์คิวบ์กลับมาฮิตฮอตคือกระแสในต่างประเทศ ปี 2003 เมื่อมีการก่อตั้ง World Cube Association ขึ้นอย่างเป็นทางการ มีการจัดแข่งขันเพื่อหานักเล่นรูบิกส์คิวบ์ที่เร็วที่สุดในปีเดียวกัน ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่ว
รูบิกขั้นเทพ-เร็ว เร็ว และเร็วที่สุด
สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในยุทธจักรรูบิกส์คิวบ์อาจนึกไม่ถึงว่า พวกนักรูบิกส์คิวบ์ขั้นเทพสามารถหมุนได้เร็วแค่ไหน
เราลองมาดูสถิติที่เคยมีการบันทึกเอาไว้ แล้วคุณอาจจะทึ่ง
การแข่งขันรูบิกส์คิวบ์ถูกจัดขึ้นครั้งแรกที่บ้านเกิดของเจ้าของเล่นชิ้นในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ในวันที่ 5 มิถุนายน 1982 ผู้ชนะเลิศในครั้งนั้นเป็นนักศึกษาชาวเวียดนามจากลอสแองเจลิส ชื่อว่า Minh Thai เขาใช้เวลา 22.95 วินาที และถ้าคุณคิดว่าเร็วแล้วล่ะก็ เดี๋ยวก่อน...
เพราะในการแข่งขัน Czech Open ปี 2008 Erik Akkersdijk หมอนี่สามารถหมุนรูบิกส์คิวบ์ได้ครบ 6 ด้านด้วยเวลา 7.08 วินาที! และนี่เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่เคยมีการบันทึกไว้
แต่ถ้าสถิติเวลาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 11.28 วินาที เป็นของ Yu Nakajima ที่ทำไว้ในการแข่งขัน Kashiwa Open เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมปีนี้
สำหรับในเมืองไทย กิตติกร ตั้งสุจริตธรรม หรือ ต้าร์ นักเรียนชั้นมัธยม 6 โรงเรียนหอวัง ถือเป็นนักเล่นรูบิกส์คิวบ์มือ 1 ณ ขณะนี้ เขาชนะเลิศในการแข่งขัน TOY “R” US Rubik’s Cube Thailand Open 2008 ด้วยเวลา 14.43 วินาที ล่าสุด เขาเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน Rubik’s Asian Championship ที่ประเทศฮ่องกง ได้คว้าเหรียญทองแดงกลับมาด้วยเวลา 14.76 วินาที
นอกจากจะมีการแข่งในแง่ความเร็วแล้ว ยังมีการแข่งแบบปิดตาซึ่งต้องอาศัยความจำที่แม่นยำ การแข่งแบบทีมที่เรียกว่า Team Blindfold โดยคนที่ถูกปิดตาจะเป็นคนหมุนรูบิกส์คิวบ์ตามคำบอกของอีกคนหนึ่ง การแข่งแบบมือเดียว การแข่งโดยใช้เท้า
อันที่จริงการบิดรูบิกส์คิวบ์ให้ครบ 6 ด้านไม่ได้ยากอย่างที่เราเคยคิด เพราะมันมีสูตรของมันอยู่ มิหนำซ้ำยังมีเป็นร้อยสูตร แต่ถ้าจะทำให้เร็วนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะใช่ว่าคนที่จำสูตรได้เยอะจะสามารถเล่นได้เร็ว ถามกิตติกรว่าทำยังไงถึงจะบิดได้เร็ว เขาตอบว่า
“ซ้อมครับ ซ้อมทุกวัน ซ้อมวันละ 4-5 ชั่วโมง มันไม่มีขั้นตอนหรอกครับ ก็แค่บิดให้สีสลับกัน แล้วก็บิดให้เสร็จเท่านั้น คือการทำซ้ำหลายๆ รอบจะทำให้เราเกิดความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับมันมากขึ้น ซ้อมไป คิดไป
“เพราะเราจำสูตรได้อยู่แล้ว แต่เวลาซ้อม เวลาใช้สูตร เราอาจจะได้อะไรใหม่ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายๆ กรณีมากขึ้น เพราะตอนที่รูบิกมันสลับสี มันเกิดได้หลายรูปแบบครับ และเราก็ต้องเอาสูตรตรงนี้มาประยุกต์ให้เข้ากับตัวเราเองด้วย”
กันย์ เสริมว่า
“ในการแข่งความเร็ว ช่วงแรกเขาจะให้เราดูก่อนประมาณ 15 วินาที ให้เราคิดว่าจะต้องย้ายอันไหนไปตรงไหน ซึ่งตอนแรกจะอิสระมากเพราะตรงไหนก็ไปได้หมด แต่จะเริ่มถูกบังคับกรอบมากขึ้น เพราะหลายๆ ส่วนเสร็จไปหมดแล้ว เหลือทางเลือกไม่กี่ทาง ตอนแรกเป็นช่วงที่ต้องคิดเยอะ แล้วก็แข่งกันว่าสายตาใครจะไวกว่ากันในการมองหาชิ้นต่อไป ที่เราหมุนอยู่ตอนนี้ เราไม่ได้มองชิ้นที่หมุนนะครับ เรามองชิ้นต่อไป อีกอย่างคือทุกคนต้องฝึกความจำในการจำสูตรต่างๆ แต่ก็ต้องมาดูกันว่าใครจะสามารถดึงความจำเหล่านั้นออกมาใช้ได้เร็วที่สุด”
มาเล่นรูบิกกันดีกว่า
“ผมตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะส่งตัวแทนของประเทศไทยไปชิงแชมป์โลก ตอนนี้เรากำลังจะจัดการแข่งขันระดับประเทศ ซึ่งน่าจะจัดประมาณต้นปีหน้า เป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการ และภายในปีหน้าคิดว่าน่าจะมีการแข่งขันชิงแชมป์โลก ซึ่งเราจะส่งตัวแทนไป ตอนนี้เราก็เตรียมพร้อมไว้แล้ว ถ้าสามารถหาสปอนเซอร์ได้ก็อาจจะส่งไปหลายคนในหลายรุ่น” ชัชวาลย์พูดถึงจุดมุ่งหมายของเขา
ถามว่าการเติบโตของกระแสรูบิกส์คิวบ์ในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ปรากฏอย่างหวือหวาและเงียบหายไปเหมือนจตุคามรามเทพหรือเปล่า ชัชวาลย์บอกว่าขึ้นอยู่กับการทำงานของทีมงานชมรมรูบิกไทยที่จะต้องจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างพื้นที่ให้นักเล่นรูบิกส์คิวบ์ได้แสดงความสามารถ รวมถึงการส่งเสริมของภาคส่วนต่างๆ เขาบอกว่าการเล่นรูบิกส์คิวบ์เป็นการ
“ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ฝึกการใช้ทักษะของนิ้ว สายตา ความคิด ความจำ ให้ประสานกันในการแก้ปัญหา ในสังคมของคนเล่นรูบิกจะมีการคิดวิธีการแก้โจทย์เพิ่มขึ้น แล้วก็เอามาแบ่งปันกัน”
สำหรับกิตติกร จากเด็กที่เคยติดเกมมาก่อน เขาคิดเรื่องรูบิกส์คิวบ์ไปไกลกว่านั้น
“ผมอยากให้ในโรงเรียนมีวิชาเลือกเป็นวิชารูบิก เอาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ชั้นประถม ไม่จำเป็นต้องจำสูตร คือการจำสูตรมันไม่ได้ช่วยให้ฝึกสมองมากขึ้น มันแค่ช่วยให้เราใช้ไหวพริบ ใช้ความคิดให้เร็ว แต่ถ้าเขานั่งเล่น นั่งบิด เขาจะต้องใช้ตรรกะ การแยกสี เอาสีไหนมารวมกัน หลบไปทางไหน ช่วยฝึกสมองได้มากเลย เคยได้ยินว่าการเล่นรูบิกช่วยลดอาการสมองฝ่อในผู้สูงอายุได้”
ได้ยินว่าผู้ปกครองจำนวนหนึ่งก็สนับสนุนให้ลูกๆ เล่นรูบิกส์คิวบ์เหมือนกัน เพราะสามารถจับต้องได้ ไม่เหมือนเกมคอมพิวเตอร์
สุดท้าย ถ้าใครเคยเล่นรูบิกส์คิวบ์เมื่อนานมาแล้วและไม่สามารถแก้โจทย์ได้ แนะนำให้ลองเข้าไปชมวิธีการที่เว็บของชมรมรูบิกไทย แล้วคุณอาจรู้สึกว่ามันไม่ยากอย่างที่คิด
****************
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล