“ครั้งหนึ่งได้เห็นภาพพระองค์ท่านผ่านทางทีวี ในขณะที่พระองค์เสด็จไปตามชนบทและได้ร่วมร้องเพลงกับเหล่าเด็กๆ และกลุ่มแพทย์อาสาฯ ตามชนบทต่างๆ จำได้ว่าเรายิ้มไปกับภาพนั้นด้วย กับพระกิริยาที่ไม่ถือพระองค์ ทรงสร้างความสุขและสนุกไม่เพียงแต่กับคนที่อยู่ใกล้กับพระองค์เท่านั้น หากแต่สิ่งนั้นยังส่งผ่านออกมาให้ผู้ชมอย่างเราได้สัมผัส แม้จะแค่เพียงมองผ่านจอแคบๆ ของโทรทัศน์ก็ตาม”
“ทวีศักดิ์ ทองศรีดี” หรือ “โลเล” 1ใน 84 ศิลปิน ที่จะได้ร่วมแสดงผลงานภาพวาดพระประวัติ และพระกรณียกิจของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มเมื่อได้หวนรำลึกถึงภาพพระกรณียกิจของพระเจ้าพี่นางฯเธอ ในการสนับสนุนงานด้านดนตรีแก่นักเรียนศึกษาที่มีความสนใจงานทางด้านดนตรี อันนำมาสู่แรงบันดาลใจที่ทำให้โลเลได้สร้างผลงานอันทรงเกียรติในครั้งนี้
สำหรับโลเลแล้วงานศิลปะมิใช่เพียงแค่การสามารถสร้างสรรค์งานใดงานหนึ่งออกมาเท่านั้น แต่สำหรับเขาแล้ว การได้ทำงานศิลปะร่วมสมัยคือการได้สร้างสรรค์งานศิลปะทุกแขนงออกมา
จากผลงานที่ผ่านสายตาของผู้อ่านนับไม่ถ้วน ทั้งในนิตยสาร aday MARS IMAGE และอีกมากมาย รวมถึงการแสดงผลงานตามแกลเลอรี่ชื่อดังทั้งในและต่างประเทศ ด้วยลายเส้นที่แฝงไปด้วยแนวคิดแง่มุมที่มองสังคมเมืองอย่างแตกต่างได้สร้างอัตลักษณ์ให้แก่ผลงานของตัวเอง จึงเป็นเสมือนใบเบิกทางให้กับโลเลที่ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดเลือกเขาให้เป็น 1 ใน 84 ศิลปิน จากทั่วประเทศเพื่อรังสรรค์งานอันทรงเกียรติร่วมกับศิลปินอีก 83 ท่าน ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ
ถึงแม้ว่าครั้งนี้อาจจะไม่ใช่ครั้งแรกที่กระทรวงวัฒนธรรมได้เล็งเห็นถึงความเป็นศิลปินและให้โอกาสให้โลเลได้ร่วมงานเพื่อถวายพระเจ้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ศานุวงศ์มาแล้วก็ตาม เพราะเมื่อไม่นานมานี้โลเลก็ได้โอกาสครั้งสำคัญหนึ่งในชีวิตมาแล้วเช่นกัน กับงานวาดภาพพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับการเป็นศิลปินตัวแทน เสนอเรื่องราวผ่านภาพวาดเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จไปพัฒนาที่จังหวัดอุดรธานี และครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของโลเลในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยเช่นกัน
“ตั้งแต่ได้ทราบข่าวจากทางกระทรวงว่าได้เป็นหนึ่งใน 84 ศิลปิน ผมเอง ใช้เวลาในการศึกษาหาข้อมูลอยู่นานพอสมควร ว่าจะนำเสนออะไรเกี่ยวกับพระองค์ดี เพราะพระกรณียกิจนั้นมีมากเหลือเกิน กระทั่งมานึกถึงในเรื่องของดนตรีที่พระองค์ทรงเคยสนับสนุนนักเรียนที่เล่นดนตรีสากลก็เลยจะนำเสนอผลงานในรูปแบบดังกล่าว นี่ใช้เวลาในการคิดตรงส่วนนี้นานมากประมาณสองสามเดือน แต่ลงมือวาดจริง ใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้นครับ”
โลเล ได้เล่าถึงการทำงานที่ต้องใช้ระยะเวลาในการค้นหาข้อมูลและออกแบบสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งใช้ระยะเวลากว่า 3 เดือนในการคิดไอเดียและคอนเซปของงานก่อนที่จะรังสรรค์งานให้ออกมาในแบบของตัวเอง และสะท้อนความคิดและการรำลึกถึงพระเจ้าพี่นางเธอฯ ให้เสมือนว่าพระองค์ยังคงมิได้เลือนหายไปจากใจของชาวไทย
ในการนำเสนอผลงานชิ้นนี้โลเลเลือกที่จะใช้สัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงเครื่องดนตรีที่พระองค์ทรงโปรด และใช้เทคนิคสีอะครีลิก โทนเย็น เพื่อเน้นความรู้สึกถึงพระบารมีที่ร่มย็นของพระองค์ที่แผ่ไปยังปวงชนชาวไทยทั่วประเทศ
ภาพหลายภาพที่เกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ สังเกตได้ว่ามักจะเป็นภาพพระพักตร์ตรงๆ ในรูปแบบเดิมๆโดยมีภาพของพระองค์เป็นฉากหน้าและมีเหล่าพสกนิกรเป็นฉากหลัง การทำงานชิ้นนี้โลเลจึงออกแบบให้มีความแตกต่างจากภาพเดิมๆที่เคยเห็น
ลักษณะของภาพนั้นที่นำเสนอออกมาทำให้มองดูแล้วรู้สึกย้อนยุคนิดๆ นำกราฟิกเข้ามาช่วยเพื่อให้ภาพมีลูกเล่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งภายในภาพประกอบด้วยเครื่องดนตรี โน้ตดนตรี และองค์ประกอบต่างๆภายในภาพนั้นจะทำให้รู้สึกมีความเคลื่อนไหวเสมือนเป็นจังหวะของดนตรี มองแล้วจะได้ไม่รู้สึกทื่อมากจนเกินไป เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่โลเลต้องการนำเสนอให้มีความแตกต่างจากศิลปินท่านอื่นๆ
“ความจริงการทำงานครั้งนี้ผมก็อยากจะทราบเหมือนกันว่าศิลปินท่านอื่นจะมีการนำเสนอในแง่มุมไหน แต่ก็ถือว่าการทำงานชิ้นนี้ก็ตั้งใจทำอย่างสุดความสามารถในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่จะสามารถทำอะไรเพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ท่านได้”
ตอนนี้ผลงานของโลเลได้ถูกส่งไปยังสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อแสดงร่วมกับผลงานของศิลปินคนอื่นๆ อีก 83 ผลงาน แล้ว ซึ่งต่างคนก็มีแนวคิดในการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป โดยจะมีการติดตั้งไว้ภายในงานพระราชพิธีเพลิงพระศพที่จะมีการเปิดนิทรรศการให้ประชาชนได้เข้าไปชมหลังเสร็จสิ้นพิธีการถ้าใครอยากชื่นชมผลงานของชายหนุ่มคนนี้ หรือของศิลปินท่านอื่นก็สามารถเข้าชมได้หลังจากเสร็จพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในวันที่ 17พ.ย.นี้
* * * * * * * * *
เรื่อง - ปิ่นอนงค์ สุขสีทอง
ภาพ - ภัทรพร รักการงาน