xs
xsm
sm
md
lg

“ม.ร.ว. รุจยารักษ์ อาภากร” ทั้งชีวิตและหัวใจยกให้ดนตรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปีนี้ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของช่องเพลงอย่าง แชนแนล (วี) ไทยแลนด์ คงทราบกันดีแล้วว่า ค่ายนี้โตมาครบ 12 ปีแล้ว ซึ่งในช่วงเดือนธ.ค.นี้ ก็จะมีงานฉลองด้วย แน่นอนว่ากว่าที่แชนแนล (วี) จะเติบโตมาถึงวันนี้ มีคอเพลงหลงรักกันทั้งบ้านทั้งเมือง ส่วนหนึ่งมาจากฝีมือผู้บริหารที่ชื่อ “ม.ร.ว. รุจยารักษ์ อาภากร” หรือ “หม่อมตาม” ที่เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ช่วยกันเข็นให้แชนแนล (วี) อยู่มาจนถึงวันนี้

แต่ใครจะเคยทราบบ้างหรือไม่ว่า เบื้องหลังของ หม่อมตาม ที่มักเรียกแทนตัวแทนติดปากเสมอว่า “พี่ตาม” คนนี้ จะหายใจเข้าหายใจออกเป็นดนตรีสักแค่ไหน แล้วชอบฟังเพลงประเภทอะไร หรือมีงานอดิเรกที่แตกต่างจากงานประจำกับเก้าอี้ตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แชนแนล (วี) มิวสิค (ประเทศไทย) จำกัด สักแค่ไหน

ข้อมูลแรกที่ได้รู้มาว่า “พี่ตาม”ของเราคนนี้ เมื่อก่อนเคยแอบไปเป็นดีเจเปิดแผ่นในผับซะด้วย เห็นแบบนี้อินเทรนด์ไปหลายก้าว ก็นั่นมัน10 กว่าปีแล้ว แต่บ้านเราเพิ่งจะมาฮิตติดเทรนด์การเป็นดีเจเปิดแผ่นมิกซ์กันนี่นา ว่าแล้วเลยขอให้ “พี่ตาม” เล่าให้ฟังแบบชุดใหญ่เลยดีกว่า

“ตอนอยู่ไฮลสคูล อ้างถึงโรงเรียนร่วมฤดี ที่เมืองไทย เกรด 11 เกรด 12 เนี่ย จะมีกิจกรรมของโรงเรียนที่เป็นแดนซ์ปาร์ตี้ ซึ่งใน 2 แดนซ์เนี่ยพี่ตามจะต้องเป็นดีเจ แต่ทำไมต้องเป็นดีเจของโรงเรียน นั่นเพราะช่วงนั้นโรงเรียนจะใช้ฮอลล์ แล้วก็ตัวพี่ชายของพี่ตาม ตอนนั้นน่าจะอยู่บริษัท ไนท์สปอร์ต เค้าจะมีแผ่นที่มาจาก บีอีซี ลอนดอน เข้ามาเยอะ เราก็เลยเอาแผ่นพี่ชายไปอัด ไปมิกซ์ เลยมีเพลงที่ อัปเดต กว่าคนอื่น ก็เลยมาเปิดที่โรงเรียน เลยได้เป็นดีเจด้วย เพราะเราชอบมาตั้งแต่เด็ก”

พี่ตาม เล่าต่อว่า พอมาถึงตอนได้ไปเรียนปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกา รัฐฮาวาย ก็อยู่ที่นั่นประมาณ 5 ปี ที่ฮาวาย ชีวิตที่โน่นคืออย่างที่เราเห็นในหนังคือค่อนข้าง Relax เน้นการไปแฮงก์เอ้าต์ในบีชต่างๆ เล่นเซิฟ เน้นกีฬากลางแจ้ง ช่วงกลางวันก็ตีเทนนิสบ่อย อยู่ในทีมมหาลัยด้วย ช่วงกลางคืนไม่มีอะไรทำ เพราะส่วนใหญ่จะเรียนช่วงเย็น ภาคค่ำ พอเรียนเสร็จก็ไปเที่ยวกันบ่อยเนื่องจากมีแก๊งเยอะ ผับที่ไปจะเปิดเพลงสไตล์ออกนิวเวฟหน่อย และรู้จักเจ้าของผับชาวสวีเดน คุยไปคุยมา ก็คุยเรื่องเพลง เพราะก่อนหน้านั้นเป็นคนชอบฟังเพลงอยู่แล้ว ซื้อแผ่นตั้งแต่แผ่นเล็กๆ 45 แล้วก็ชอบเรื่องเพลง คุณพ่อคุณแม่ก็เป็นคนชอบฟังเพลง เล่นดนตรีได้ เลยถูกปลูกฝังให้ฟังเพลงเยอะ เพลงที่ฟังส่วนใหญ่ตอนนั้นจะเป็นเพลงสากลส่วนใหญ่ คอนเสิร์ตแรกๆที่เคยไป คอนเสิร์ตไทยที่เคยไป ไปที่อินดอร์สเตเดียม ไปดู ดิอิมพอลซิเบิล ในยุคแรก ไม่ใช่ตอนหลังๆ โอเค พอเราชอบเพลง เราไปที่โน่นก็ไปเช่าอพาร์ตเม้นต์อยู่เอง และซื้อเครื่องเสียง มิกเซอร์ เทินร์เทเบิล 2 อัน เครื่องอัดแผ่นเสียง ในยุคนั้นยังไม่มีทีวี แผ่นเสียงจะเป็นแผ่นอัลบั้มธรรมดา เพลงไหนที่ออกมาจะไปหาซื้อ บางอันซื้อใหม่ บางอันมือสองก็ไปตามหาเก็บ มีแผ่นเสียง 1,000 แผ่น ในยุคนู้นที่เก็บ”

พร้อมกับฉายภาพต่อว่า ในวัยเรียนจะมีแก๊งเที่ยวค่อนข้างเยอะ เวลาเราไปเที่ยวก็จะไปช้ากันหน่อย จากนั้นเพื่อนๆจะมาปาร์ตี้กินดื่มก่อน ก่อนเข้าผับเราก็จะเปิดแผ่น เปิดเพลงทำบรรยากาศ จากเดิมที่เราชอบเปิดแผ่นอยู่แล้ว ตอนหลังไปสนิทกับเจ้าของผับที่ฮาวาย และสนิทกัน ไปกินข้าวที่บ้าน จากนั้น เค้าก็บอกว่าถ้ายูชอบก็มาเปิดก็ได้ อาจจะไปถึงช่วงเที่ยงคืน ช่วงหัวค่ำ ลักษณะไปแจมมากกว่า ตอนนั้นเพลงที่ฟังจะเป็นทางภาคอังกฤษมากกว่าอเมริกา ก็เลยจะเปิดเพลงแนวอังกฤษซะมากกว่า เพลงที่ฟังเด่นๆ เลยตอนนั้น ดูแรน ดูแรน ในยุคของนิวเวฟ แล้วก็แนวแดนซ์ทั่วไป

ฟังพี่ตามเล่าถึงช่วงวัยรุ่นซะเพลิน และกำลังนึกภาพพี่ตาม ขึ้นไปเป็นดีเจในผับ ท่าทางจะเท่มากๆ ถ้าเป็นวันนี้ แล้วให้พี่ตามขึ้นไปเปิดอีกครั้ง จะมีความเป็นไปได้มากแค่ไหน แต่ที่แน่ๆดูท่าทางจะไม่ได้เห็น เพราะพี่ตามเล่าให้ฟังต่อว่า

“เครื่องมิกซ์เพลง คือตอนหลังไม่ได้เป็นแผ่นเสียงแล้วก็พยายามลองเล่นดูความรู้สึกไม่เหมือนการเปิดไวนิว ที่เป็นแบบมือทุกอย่าง ผิดถูกทุกอย่างก็อยู่ที่ตัวเรา แต่ปัจจุบันมิกซ์เป็นออโต ไม่ได้แสดงความสามารถของเราได้อย่าง 100% เพราะมันแทบจะทำดิจิตอลให้หมดทุกอย่าง หลังๆ ก็เลยตามเค้าไม่ทัน และแผ่นซีดีที่เป็นแบบเวอร์ชั่น 12 นิ้ว แบบลองเวอร์ชั่น ไม่รู้จะซื้ออะไร ก็เลยขาดช่วง ด้วยเทคโนโลยี และอุปกรณ์ก็ทำให้เราห่างกันไปเหมือนกัน แต่ตอนนี้ก็ยังฟังเพลงสะสมเพลงอยู่นะ ทั้งการสะสมแผ่น เพราะสะสมมาโดยตลอด นอกจากนี้ทุกวันนี้ยังสะสมผ่าน ไอพอด เพราะตอนนี้ทุกอย่างเป็นดิจิตอลหมด ตอนนี้มีเพลงประมาณ 16,000 เพลง เพลงที่เก็บจะเป็นแนวเวอร์ชั่นที่แปลก เวอร์ชั่น มิกซ์ ที่สะสมจะเป็นรีมิกซ์เพลงยุค 80, 90 แผ่นที่สะสมมมากสุดคือเพลงมิกซ์อย่างต่อเนื่อง”

การเป็นคนที่รักในเสียงดนตรี มันทำให้ชีวิตเรามีความสุขและได้กำไรชีวิตมากกว่าคนอื่นอีกเยอะเลย ดูอย่าง “พี่ตาม” ดนตรีนำพาให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์ชีวิตในแง่มุมต่างๆ รวมถึงหล่อหลอมให้เป็นคนช่างสะสม รวมถึงเปิดโลกทัศน์ในการฟังเพลง ซึ่งมันถูกต่อยอดให้คิดไปถึงช่วงต่อของความเป็นวัยรุ่นในยุคพี่ตาม กับวัยร่นในยุคนี้ได้ด้วย เพราะพี่ตาม บอกเอาไว้ว่า

“แนวเพลง และกระแสเพลงในยุคพี่ตามเพลงที่ค่อนข้างจะแบ่งแยกกลุ่มกันอย่างชัดเจน ยุคแรกคือ ฮิปฮอป สมัยนั้นเรียกเบรกแดนซ์ เราไม่ค่อนชอบสไตล์ เลยไม่ค่อยบริโภคเท่าไหร่ เพลงเค้าชอบแนวอังกฤษมากกว่า วงที่ชอบมากสุดคือ วงนิวออร์เดอร์ แต่ที่ชอบฟังคือเพลงสากลมากสุด แต่ไทยก็ฟัง แจ็ซก็ฟัง ที่ไม่ค่อยฟังคือ อาร์แอนด์บี และ นิวเอจ แนวเพลงปัจจุบัน ช่วงหนึ่งเพลงไทยก็เป็นเพลงไทย มีเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ตอนหลังๆ มันถูกการเข้ามาของจังหวะเพลงต่างประเทศเยอะ คือดนตรีไทย หายไปแล้ว ในปัจจุบันถ้าเราจะขายได้ก็ต้องอิงจากเพลงแถวเอเชียน อย่างเกาหลี แต่ยุคพี่ตามเพลงแนวญี่ปุ่นจะดัง แต่ถามว่าผิดหรือถูกพี่ตามว่ามันอยู่ที่ยุคของการบริโภค ก็คิดว่ากระแสปัจจุบัน เน้นอะไร อาจไม่เน้นเรื่องของทำนอง หรือคุณภาพในการร้องต่างๆ เน้น presentation กลายเป็นสิ่งสำคัญกว่าดนตรีที่เค้าร้อง เน้นรูปลักษณ์ การแต่งตัว มิวสิกวิดีโอ แล้วก็ ที่บอกว่าไม่เน้นเนื้อร้องก็คือ โดยส่วนตัวไม่ฟังของเอเชียนมาก แต่ไม่แอนตี้ เทรนด์จะเปลี่ยนไป อีก 2 ปีข้างหน้าพี่ตามก็คิดว่าต้องเปลี่ยน ยุคนี้เค้าต้องทำผมแบบนี้ ถ้าเราไม่ทำ อาจจะถูกว่าแตกต่างก็ได้”

ได้ฟังแล้ว เริ่มมองเห็นเลยว่า วิธีการทำงานของพี่ตามในวันนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากการเป็นนักฟังเพลงและการแอบไปเป็นดีเจค่อนข้างมาก แน่นอนพี่ตาม ก็พูดให้ฟังเพื่อให้ความคิดนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า

“พี่ตามอาจเป็นคนโชคดีที่ชอบเพลงมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็มีโอกาสได้ทำงานดีเจ ซึ่งหลายคนอาจใฝ่ฝันแต่ไม่ได้ทำ สิ่งนี้ที่พี่ตามนำมาประยุกต์ทำวิทยานิพนธ์ของปริญญาโท เพราะเราชอบเพลง และรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของคนฟังเพลง รวมถึงการต่อยอดจาก management ที่เราเรียนมา พี่ตามก็เขียนเกี่ยวกับเคเบิลทีวี Advertising 14 ปีที่แล้วก็ทำวิจัยเกี่ยวกับเคเบิลทีวี โฆษณา ว่ามันมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร ก็สังเกตุดูว่าเราดูเคเบิล ไม่ได้ดูเน็ตเวิร์กในปี 94 มีแค่ 3 ราย มันเป็นยุคเริ่มต้นของเค้า ด้วยความบังเอิญก็ทำเกี่ยวกับข้อได้เปรียบเสียเปรียบ วิธีการที่ เอเยนซี มองการโฆษณาในกลุ่มนี้ว่าอย่างไร มันอาจจะไม่คุ้ม ว่าเราใช้เงิน 1,000 บาท ได้คนดูกี่คน เคเบิลจะไม่สามารถสู้ฟรีทีวีได้ แต่พี่ตามเชื่อว่าถ้าเราวาง positioning ของ product ต้องสร้าง target ด้วย segment ของช่อง เราจะเห็นไปกระจุกที่ตรงนั้น เรามองดูว่าเมืองไทยมั่วมาก ฟรีทีวี 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเคเบิล 24 ชั่วโมง คุณจะได้ ทั้งช่องตลอด 24 ชั่วโมง พี่ตามคิดว่าในส่วนของคนทำโฆษณาก็จะมอง product ออก เพราะฉะนั้นประสบการณ์พี่ตามที่บริโภคเพลง หรือสื่อ มันหลอมตัวเราให้เอามุมมองของเมืองนอกมาปรับที่นี่ และทำให้เราทำงานในส่วนที่เราชอบคือเกี่ยวกับเพลง เช่น บริหารคลื่นวิทยุ กิจกรรมคอนเสิร์ต ต่างประเทศก็ทำมาแล้ว ก็เลยมีโอกาสได้ทำแชนแนลวี ตั้งแต่ เห็นเค้าเกิด เมื่อ 12 ปีที่แล้ว จนเติบโต แล้วก็มานั่งทำหน้าที่ผู้บริหาร และทำบ้านใหม่ ก็คือว่าโชคดีที่มีส่วนได้เข้ามาทำ ในงานที่เรารัก และมาจากพื้นฐานการชอบเพลงของเรา”

ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมแชนแนล(วี) ถึงอยู่ในใจใครต่อหลายคน มันไม่ได้อาศัยแค่ฝีมือ แต่มันคละเคล้าไปด้วยประสบการณ์และความรู้สึกในการบริหารงานภายใต้ร่มธงตัววีแห่งนี้ พร้อมอัดแน่นไปด้วยตัวโน้ตนับร้อยนับพันที่จะถูกเปิดให้ผู้ชมที่มีทาร์เกตตั้งแต่มัธยมจนถึงคนทำงานฟัง แชนแนลวีถึงได้เดินมาถึง 12 ปี

ไม่น่าแปลกใจเลย ที่ปีนี้ แชนแนลวี จะมาพร้อมกับสโลแกนใหม่ว่า “ 12 ปี แชนแนล (วี) ไทยแลนด์...โตมาด้วยกัน” และจะโตไปด้วยกันกับคนฟังรุ่นใหม่ๆที่จะเติบโตขึ้นมาอีกเช่นกัน ภายใต้การทำงานของ พี่ตาม ที่ใช้หัวใจของความเป็นคนฟังดนตรีแบบนี้เข้าถึงใจคนฟังไปอีกนานๆ..




กำลังโหลดความคิดเห็น