xs
xsm
sm
md
lg

ดร.วิษณุ โคตรจรัส กว่าจะเป็นครูของกูรูเกม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในภาวะที่สังคมกำลังวิพากษ์ "เกม" ในฐานะจำเลยของสังคม ผู้ใหญ่หลายคนเชื่อว่า เหตุที่พฤติกรรมของเด็ก ๆ ก้าวร้าว รุนแรง มีผลมาจากการเลียนแบบการกระทำในโลกแห่งเกม แท้จริงแล้ว คนที่รัก และชื่นชอบในเกม ไม่จำเป็นจะต้องเติบโตขึ้นพร้อมกับพฤติกรรมที่ไม่ดีเสมอไป หลายคนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง และสามารถนำความชื่นชอบของเขามาต่อยอดทำประโยชน์ให้สังคมได้อีกมากมาย เหมือนเช่น กูรูเกมที่ MGR Lite มีโอกาสได้สัมภาษณ์ในวันนี้ "ดร.วิษณุ โคตรจรัส" อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ในวันนี้ เขาได้นำความชื่นชอบจากเกมมาต่อยอดพัฒนาเป็นปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ได้มากมาย และได้นำความรู้ความสามารถด้าน Computing จากสหราชอาณาจักรมาใช้ส่งเสริม - ผลักดันเด็กไทยให้มีโอกาสต่อยอดความคิด ผลิตผลงานดี ๆ ได้อีกด้วย

ดร.วิษณุเล่าว่า เกมเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาตั้งแต่สมัยประถม เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจซื้อเครื่องแฟมิคอมพร้อมตลับเกมมาริโอ้-เกมฟุตบอลให้เล่น

"ตอนนั้นผมเล่นกับน้อง เล่นกันจนรู้สูตรทะลุปรุโปร่ง ซึ่งที่บ้านไม่ได้รู้สึกหนักใจกับการเล่นเกมของเรา คุณพ่อยังพูดเลยว่า ถ้าเล่นเกมแล้วทำให้ฉลาดก็เล่นไปเถอะ ทัศนคติของคุณพ่อมองเกมเหมือนเป็นเครื่องมือช่วยฝึกไหวพริบในการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้า อีกอย่าง ที่บ้านผมก็มีไม่กี่เกม เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ซื้อให้ทุกครั้งที่ลูกอยากได้ แต่จะมีข้อตกลงว่าต้องทำคะแนนสอบดี ๆ ก่อนถึงจะซื้อให้"

ไม่มีผลกับการเรียน

"เกมไม่มีผลกับการเรียนครับ เพราะผมจะยึดเรื่องเรียนเป็นหลัก ทำการบ้านก่อน ดูหนังสือก่อน จนเรามั่นใจว่าเราเข้าใจทุกอย่างแล้ว ถึงค่อยมาเล่นเกม ซึ่งในสมัยนั้น เด็กก็ไม่ได้มีเกมเล่นมากมายนัก เพื่อน ๆ ในห้องก็เล่นกันไม่กี่คน เราเลยรู้สึกว่า เล่นเกมเก่งก็เท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้ยอมรับเราเท่าไร เพื่อนก็เล่นเก่งเหมือนกัน แต่เรียนเก่งจะได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ และเพื่อน ๆ มากกว่า เลยเน้นเรื่องเรียนเป็นหลัก"

ในช่วงมัธยมปลาย เขาสมัครเรียนพิเศษเหมือนเด็กรุ่นเดียวกัน แต่เมื่อไปเรียนก็พบว่า เขาไม่ถนัดเลยที่จะให้เขามานั่งฝึกทำข้อสอบช้อยส์ เลยเปลี่ยนมาเป็นอ่านหนังสือด้วยตัวเอง มีเรียนพิเศษบ้างบางวิชา เช่นฟิสิกส์ที่ชอบเป็นชีวิตจิตใจ กับเคมีที่คุณพ่อแนะนำอาจารย์ด้านเคมีให้ แต่สุดท้ายแล้ว เขาก็ไม่ได้ผ่านระบบเอนทรานซ์ เนื่องจากมีอีกหนึ่งโอกาสผ่านเข้ามา นั่นก็คือการสอบชิงทุนรัฐบาล เพื่อเดินทางไปศึกษาในสาขา Computing ณ สหราชอาณาจักร จนจบปริญญาเอก แทนการเลือกเรียนแพทย์ตามสมัยนิยม

ดร.วิษณุเล่าว่า "สาเหตุที่ตัดสินใจสอบชิงทุน เพราะอยากทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง อีกประการหนึ่งคือ ในยุคนั้น ถ้าเรียนดี ส่วนมากจะเลือกเรียนแพทย์กัน แต่ผมไม่อยากเรียนแพทย์ อยากทำสิ่งที่แตกต่างออกไปบ้าง ซึ่งถ้ายังอยู่เมืองไทย ตัวเลือกอันดับหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เป็น ก็คือแพทย์ ผมเลยคิดว่า การสอบชิงทุนเป็นโอกาสที่ดีครับ ส่วนที่เลือกด้าน Computing เนื่องจากเชื่อว่า ในอนาคตมันน่าจะได้อยู่ใกล้ ๆ กับเกมบ้าง"

เป็นเวลาที่ไม่น้อยเลยทีเดียวกับระยะเวลา 10 ปีในการศึกษาต่อด้าน Computing ณ สหราชอาณาจักร ดร.วิษณุเล่าว่า เขายังคงชื่นชอบและเล่นเกมอยู่อย่างต่อเนื่องโดยไม่ทำให้เสียการเรียน พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเรียนการสอนให้ฟังด้วยว่า
ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้เกมมาริโอ สามารถปรับความยากง่ายของด่านตามความสามารถของผู้เล่น
"บรรยากาศการเรียนการสอนด้านคอมพิวติ้งที่อังกฤษจะแตกต่างจากประเทศไทยที่จะผูกอยู่กับคณะต่าง ๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ นิสิตปีหนึ่งจะต้องเรียนพื้นฐานด้านวิศวะก่อนจะแยกไปตามภาควิชาในปีสอง แต่ของอังกฤษจะไม่มีการเรียนวิชาพื้นฐานก่อน จะเข้าเนื้อหาของด้าน Computing เลย สถาบันที่ผมเรียนจะเน้นทฤษฎี การพิสูจน์ แล้วก็เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นสาขาที่ตรงกับที่ทุนรัฐบาลกำหนดไว้"

"สมัยเรียนได้พัฒนาเกมบ้างเหมือนกัน เป็นเกมเล็ก ๆ ที่อาจารย์เอามาแนะนำในแล็บ ผมก็เอามาเขียนเล่นต่อบ้าง ซึ่งกราฟิกในยุคนั้นก็ยังไม่ละเอียดสวยงามเหมือนตอนนี้ เครื่องมือต่าง ๆ ก็มีไม่มาก ผมจึงไม่ค่อยได้ทำมากเท่าไร"

เมื่อจบปริญญาเอก และกลับมาทำงาน เขาก็ได้เข้าบรรจุเป็นอาจารย์ของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานวิจัยควบคู่กับการสอนอย่างต่อเนื่อง โดยงานวิจัยของเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขารักอย่างเกมไม่น้อยเลยทีเดียว

ดร.วิษณุยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) ให้สามารถเลียนแบบพฤติกรรมผู้เล่นเกมได้ โดยใช้เกมสตรีทไฟเตอร์ (Street Fighter) เป็นต้นแบบ โดยสามารถกำหนดให้ A.I. คิดหาวิธีตีโต้กลับไปได้ด้วย คล้าย ๆ กับการเรียนรู้ของคน A.I. ตัวนี้จะสามารถจดจำพฤติกรรมการเล่นของผู้เล่นเอาไว้ว่า ก่อนที่จะโจมตีเข้ามา ผู้เล่นอยู่ในสถานะใด และเมื่อสถานะนั้น ๆ เกิดขึ้นอีกครั้ง ระบบจะทราบได้ว่า กำลังจะมีการโจมตีเกิดขึ้น และจะสุ่มท่าโจมตีโต้ตอบกลับไป ซึ่งหากท่าโจมตีนั้น ๆ ได้ผล ระบบจะบันทึกข้อมูลเหล่านั้นไว้ สำหรับใช้ในการโจมตีครั้งต่อไปด้วย

หรืองานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ที่พัฒนา A.I. ให้กับเกมมาริโอ เพื่อให้เกมสร้างด่านขึ้นมาได้เองตามความสามารถของผู้เล่น โดย A.I. นี้จะสามารถตรวจจับได้ว่า ผู้เล่นถนัดหรือไม่ถนัดด่านใด ระบบจะปรับด่านให้ยากขึ้นหรือง่ายขึ้นโดยอัตโนมัติ ส่วนงานวิจัยชิ้นที่สามเกี่ยวกับฉากในเกมที่เล่นกับธรรมชาติ เพื่อให้เกิดสถานการณ์ตามที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้ เช่น น้ำป่า ไฟไหม้ ถ้าต้องใช้คนมานั่งปรับแผนที่ทีละช่องจะทำให้งานช้ามาก ดร.วิษณุเลยสร้างเป็น A.I. ขึ้นมา และให้มนุษย์สั่งเพียงแค่ว่า อยากให้ไฟไหม้มาจากทิศใด ระบบจะจัดการสภาพป่าให้ทั้งหมด เพื่อให้คนทำงานไม่ต้องเสียเวลานั่งจูนแผนที่ให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งเขาบอกว่า แม้มันจะดูเหมือนเป็นงานชิ้นเล็ก ๆ แต่การรันก็ต้องเสียเวลานานหลายชั่วโมงบนคอมพิวเตอร์ควอดคอร์เลยทีเดียว
ปัญญาประดิษฐ์เกี่ยวกับการเกิดภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า น้ำหลาก สามารถนำมาใช้ในเกมได้ เช่น เกมที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ
"งานวิจัยทั้งสามชิ้นจะเกี่ยวกับ A.I. โดยอิงกับความสนใจของนิสิตเป็นหลัก เด็กที่เข้ามาสนใจเรื่องอะไรเราก็พยายามสนับสนุน จูนงานให้ตรงกัน แม้ผมอาจจะเสียเปรียบหน่อย ตรงที่ไม่ได้จบด้านเกมมาโดยตรง แต่เมื่อเห็นนิสิตมีความสนใจ ผมก็เลยตัดสินใจว่า ถ้าผมกับเด็ก ๆ ร่วมมือกัน เราจะสามารถสร้าง หรือพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เกมได้แค่ไหน ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายดีครับ"

นอกจากนี้ ดร.วิษณุยังได้กล่าวถึงความสุขในฐานะของอาจารย์ที่ชื่นชอบเกมว่า ทุกวันนี้ เกมได้ให้สิ่งที่ดีที่สุด และมีความสุขกับเขาแล้ว นั่นก็คือ การได้พบลูกศิษย์เก่ง ๆ ได้พัฒนาเกมร่วมกัน รวมถึงการได้เห็นผลงานดี ๆ ของนิสิต ได้ให้คำแนะนำในฐานะอาจารย์ หรือมีส่วนผลักดันให้ลูกศิษย์ได้ไปยังเส้นทางที่ตัวเองรัก

ขณะที่ปัญหาหรืออุปสรรคที่พบนั้น ดร.วิษณุ ระบุว่า ส่วนมากการทำวิจัยด้านเกมค่อนข้างยาก มีการสนับสนุนน้อย ทั้งเงินทุนและวารสารทางวิชาการ รวมถึงงานคอนเฟอเรนซ์ที่จัดขึ้นสำหรับงานวิจัยเกม จึงทำให้โอกาสที่จะมีผู้สนใจพัฒนาอย่างจริงจังในสาขาดังกล่าวลดน้อยลงไปด้วย

พร้อมกันนั้น เขาก็ได้เปิดเผยถึงความฝันอีกข้อหนึ่งที่หวังเอาไว้ว่า "ถ้ามีโอกาสก็อยากร่วมงานกับบริษัทเกม เพราะความฝันของผมข้อหนึ่งก็คืออยากเป็นครู ตอนนี้ก็ได้เป็นแล้ว แต่ที่ผมหวังอยากร่วมงานกับบริษัทเกมบ้างก็เพื่อจะได้พัฒนาความรู้ วิสัยทัศน์ของเราให้กว้างไกลกว่านี้ ผมเป็นครู ก็มีมุมมองหนึ่ง บริษัทเกมก็มีอีกมุมมองหนึ่ง ถ้าได้คุยกันบ้าง หรือทำวิจัยร่วมกันได้ก็คงจะดีมาก"

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเข้าถึงเกมที่ไม่เหมาะสมของเด็กในยุคนี้นั้น ดร.วิษณุมองอย่างเข้าใจว่า "เด็กเข้าถึงเกมได้ง่ายขึ้น เกมจะมีบทบาทมากขึ้น ผู้ใหญ่อาจต้องมองอย่างเข้าใจว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงของสังคม คล้ายกับมีทีวีช่องใหม่ให้ดู ซึ่งทางที่ดี พ่อแม่ควรให้คำแนะนำ แต่ว่าก็ต้องไม่ให้เด็ก ๆ ใช้เวลากับมันมากเกินไป ให้เขาได้รู้ว่าชีวิตมีส่วนอื่น ๆ อยู่ด้วย และถ้าจะให้ดี ก็ให้ชีวิตส่วนอื่น ๆ สำคัญกว่าเกม ถ้าทำให้เด็กรู้สึกอย่างนี้ได้ก็น่าจะแก้ปัญหาได้"

ดร.วิษณุกล่าวทิ้งท้ายว่า "อยากเห็นเด็กไทยที่โตมากับเกม มีความรับผิดชอบต่อสังคม รู้จักเอาใจเขาใส่ใจเรา ผมว่าถ้ารู้จักคำ ๆ นี้ ปัญหาก็น่าจะไม่มี พ่อแม่ก็เข้าใจลูกว่าลูกอยากเล่น ลูกก็จะเข้าใจพ่อแม่ว่าเป็นห่วงอยากให้ตั้งใจเรียน ไม่ใช่เรียนไม่เก่งแล้วถอดใจไปเล่นเกมดีกว่า ยังไงเราก็หนีจากเรื่องเรียนไม่ได้ เล่นเกมแค่หนีชั่วครั้งชั่วคราว ในที่สุดเราก็ต้องกลับมาเรียน ถ้าอย่างนั้นสู้ทำให้มันดีไปเลยดีกว่า รับผิดชอบกับการเรียน การงาน และความรับผิดชอบก่อนดีกว่าครับ"
กำลังโหลดความคิดเห็น