xs
xsm
sm
md
lg

หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ใช้ทางการแพทย์ไทย/ดร.ชิต เหล่าวัฒนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นอกจากหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะมีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยแล้ว ปัจจุบันหลายฝ่ายเริ่มเห็นคุณค่าและความสำคัญของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อนำมาใช้ช่วยเหลือในกระบวนการต่างๆ ทางการแพทย์มากขึ้น
รูปที่ 1 หุ่นยนต์ da Vinci ช่วยผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจและมะเร็งต่อมลูกหมากโรงพยาบาลกรุงเทพ
โดยโรงพยาบาลหลายโรงพยาบาลในประเทศไทยได้เริ่มมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ช่วยในการผ่าตัดต่างๆ เช่น หุ่นยนต์ da Vinci ซึ่งถูกนำมาใช้ในการช่วยผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในโรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลศิริราช ดังรูปที่ 1 และหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดและระบบ Laparoscope ที่ถูกนำมาใช้ช่วยในการผ่าตัดที่โรงพยาบาลปิยะเวท รวมถึงหุ่นยนต์แมวน้ำ Paro มาช่วยบำบัดเด็กออทิสติก ดังรูปที่ 2 โดยความร่วมมือขอเนคเทค ฟีโบ้ สถาบันราชานุกูล สถาบันสุขภาพเด็กมหาราชินี และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นต้น

หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเหล่านี้เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น และในปัจจุบันนี้ประเทศไทยต้องการเงินงบประมาณเพื่อนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อใช้งานทางการแพทย์เป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งในหลายๆส่วนเป็นการสูญเสียเงินตราอย่างน่าเสียดาย เพราะระบบบางอย่างนั้นสามารถพัฒนาและต่อยอดจากงานวิจัยภายในประเทศได้

ในปัจจุบัน ม.มหิดล เป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นผู้นำการวิจัยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับใช้ทางการแพทย์แห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยทางมหาวิทยาลัยได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสาขาจำนวนหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยห้องปฏิบัติการดังต่อไปนี้

1. Center for Biomedical and Robotics Technology (BARTLAB) สำนักงานเครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์

2. Functional Electrical Stimulation Lab (FES LAB) หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาสร้างระบบไฟฟ้าเพื่อสร้างสัญญาณกระตุ้น อวัยวะต่างๆ ในร่างกายมนุษย์เพื่อช่วยผู้ป่วยอัมพาต

3. Intelligent Systems for Medicine (ISM LAB)
หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาระบบช่วยตัดสินใจทางการแพทย์ โดยใช้ความรู้ทางปัญญาประดิษฐ์มาประมวลข้อมูลทางการแพทย์ มาช่วยในการวินิจฉัยของแพทย์

ประเทศไทยคงต้องใช้เงินงบประมาณเพื่อนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อใช้งานทางการแพทย์เป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะโรงพยาบาลในประเทศหลายแห่งมีความตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นเครื่องมือช่วยแพทย์ในการผ่าตัดผู้ป่วยมากขึ้น หากรัฐบาลไทยต้องการลดการนำเข้าระบบหุ่นยนต์เหล่านี้จากต่างประเทศนั้นเพื่อป้องกันการสูญเสียเงินตราอย่างน่าเสียดาย จึงควรสนับสนุนการพัฒนาขึ้นใช้เองจากการต่อยอดจากงานวิจัยภายในประเทศได้ ผมเห็นว่ามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านการพัฒนาและวิจัยทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับใช้ทางการแพทย์ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลมีแผนการดำเนินงานในการพัฒนาระบบเพื่อนำไปใช้จริงในระยะ 4 ปีข้างหน้า เพื่อลดการนำเข้าระบบจากต่างประเทศดังต่อไปนี้
รูปที่ 2 หุ่นยนต์แมวน้ำ Paro ช่วยบำบัดเด็กออทิสติก ที่มา : International Journal of Advanced Robotic Systems
ภายใน 1 ปี
- ระบบนำทางช่วยในการผ่าตัด จะถูกนำไปทดสอบทางคลีนิค
- หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์ สำหรับการสอดแกนดามกระดูก จะถูกพัฒนาแล้วเสร็จ ด้วยความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในร่างกายคนจะถูกใช้ในกรณีคนไข้เพื่อทดสอบทางคลีนิค ในกลุ่มของคนไข้บางประเภท เช่น คนอัมพาต เป็นต้น
- ระบบอัจฉริยะในการช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งถูกใช้งานจริง

ภายในปีที่ 2
- ระบบนำทางช่วยในการผ่าตัดจะถูกนำไปใช้จริงในโรงพยาบาล
- ระบบนำทางช่วยในการผ่าตัดจะถูกทำให้เป็นระบบทางพาณิชย์
- หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์ สำหรับการสอดแกนดามกระดูก ทดสอบทางคลีนิค
- เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในร่างกายคนจะถูกใช้ในกรณีคนไข้ถูกใช้จริง ในกลุ่มของคนไข้บางประเภท เช่น คนอัมพาต เป็นต้น

ภายในปีที่ 3
- หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ถูกผลิตแล้วเสร็จ เพื่อทดสอบทางคลินิก
- ระบบนำทางช่วยในการผ่าตัดจะถูกนำไปสู่โอกาสเชิงพาณิชย์
- ถ่ายทอดเทคโนโลยีและเผยแพร่สู่ผู้ใช้และภาคอุตสาหกรรม

ภายในปีที่ 4
- หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ถูกผลิตแล้วเสร็จ เพื่อทดสอบทางคลินิก
- ระบบนำทางช่วยในการผ่าตัดจะถูกนำไปสู่โอกาสเชิงพาณิชย์
- หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดทางลาปาโรสโคปถูกผลิตแล้วเสร็จ เพื่อทดสอบทางคลีนิค
- เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในร่างกายคนจะถูกใช้ในกรณีคนไข้ถูกใช้จริง ในกลุ่มของคนไข้บางประเภทอื่นๆ

นอกจากเรื่องการช่วยเหลือรักษาชีวิตมนุษย์เป็นเรื่อง “บุญกุศล” ที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่งแล้ว การสนับสนุนให้คนไทยสามารถปลดแอกทางเทคโนโลยีจากต่างชาติ จนกระทั่งคนไทยสามารถ “คิดเอง สร้างได้และใช้ดี” นั้น ผมถือว่าเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของชาติไทยเราครับ

ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
กำลังโหลดความคิดเห็น