xs
xsm
sm
md
lg

องอาจ มหาดำรงค์กุล “ชีวิตเหมือนเวลา เราย้อนกลับไม่ได้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ผมเป็นคนที่ชื่นชอบนาฬิกามาตั้งแต่เด็กแล้ว ตอนเด็กเวลาไปที่ร้าน (ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีทองพาณิชย์) คุณตา (ดิลก มหาดำรงค์กุล) ท่านก็ชอบชี้ให้ผมดูนาฬิการุ่นใหม่ๆ แปลกๆ ตลอดเวลา พร้อมกับสอนเรื่องราวเกี่ยวกับนาฬิกาให้ทุกครั้ง ผมก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างที่เกี่ยวกับนาฬิกาที่นี่เอง”

เป็นคำกล่าวของ “องอาจ มหาดำรงค์กุล” ผู้ซึ่งเป็นหลานตา และเป็นลูกชายของ ฟิลลิป วุฒิวราธร กับคุณแม่วชิราพร มหาดำรงค์กุล

องอาจ วันนี้ในวัย 30 ปีเศษ จากเด็กที่ชื่นชอบนาฬิกาเติบใหญ่มาเป็นผู้บริหารและทำตลาดนาฬิกาเหมือนกับตระกูล โดยรับผิดชอบ 3 แบรนด์หลักคือ โครโนเทค, อะควอเนติกส์ และ ฟอร์เม็กซ์

ปูมหลังขององอาจเขาไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องมาทำงานด้านนาฬิกาแม้ว่าจะชอบก็ตาม เขาจบระดับมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทที่ออสเตรเลียด้านเอ็มไอเอส แต่ชีวิตไม่ได้เริ่มต้นทำงานเกี่ยวกับนาฬิกาแต่อย่างใด เพราะเขาเริ่มงานในไทยทันทีที่กลับมาจากต่างประเทศที่ธนาคารยูโอบีรัตนสินด้านบริหารความเสี่ยง แต่ทำได้เพียงปีเดียวก็ผันตัวเองมาที่บงล.ทิสโก้ สมัยที่มี “ปลิว มังกรกนก” เป็นหัวเรือใหญ่ ดูแลบริหารสินเชื่อรายย่อยได้ 2 ปี

จากนั้นจึงมาเริ่มงานที่ศรีทองพาณิชย์ ตามคำชวนของคุณตาและคุณแม่ ตอนแรกดูแลด้านการนำแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาดในไทย และทั้งสามแบรนด์ดังกล่าวข้างต้นก็เป็นฝีมือของเขาเอง โดยมีคุณแม่เป็นผู้ช่วยเหลืออีกทอดหนึ่ง

“ตอนเราเด็กๆ หรือวัยรุ่น เราเห็นนาฬิกาสวยๆแนวสปอร์ตเราก็อยากได้ บางครั้งเราก็ได้เป็นรางวัลเพราะเรียนดี จึงทำให้เราขยันและเราต้องเรียนให้ดีเพราะเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราได้นาฬิกาเป็นรางวัลนั่นเอง นอกนั้นก็ได้เป็นของขวัญวันเกิดบ้าง วันพิเศษบ้าง จากคนที่รอบข้างมากมาย”

เชื่อไหมว่า องอาจ ได้นาฬิกาเป็นรางวัลของการเรียนดีมากกว่า 20 เรือน

“ถ้าผมจำไม่ผิดนะ เรือนแรกท่าได้เป็นรางวัล ขณะนั้นอยู่แค่ ประถมศึกษาปีที่ 2 คุณแม่ซื้อนาฬิกาซิติเซนของญี่ปุ่นให้ราคาหลักพันกว่าบาท ตอนหลังถึงได้เป็นนาฬิกาจากสวิสบ้าง” องอาจย้อนความหลังให้ฟัง

เมื่อความสนใจนาฬิกาเริ่มซึมซับในตัวเขาทีละนิดๆ ชนิดที่อาจจะยังไม่รูสึกตัว การมองหาซื้อนาฬิกาเอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เขาเห็นคุณค่านาฬิกาเหมือนกัน

ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเลย เมื่อเด็กผู้ชายคนหนึ่งจะซื้อนาฬิกาเองสมัยนั้น เพราะราคาก็ไม่ได้ถูกๆ

“ผมซื้อนาฬิกาเรือนแรกเองเมื่อตอนมัธยม พอดีช่วงนั้นยี่ห้อ ทิสซอท (TISSOT) เพิ่งเข้ามาจำหน่ายในไทยพอดี ผมเห็นแล้วรู้สึกว่ามันเป็นแนวสปอร์ตที่เราชอบพอดี แต่ก็ไม่ได้ขอเงินคุณพ่อคุณแม่ จึงใช้วิธีเก็บเงินเองจากค่าขนม ตอนนั้นได้วันละ 70 บาท ผมก็ใช้ 20 บาท เก็บวันละ 50 บาท พอเก็บได้ประมาณครึ่งหนึ่งของราคาเรือนนั้น ก็ไปบอกคุณพ่อกับคุณแม่ ว่าผมอยากได้นาฬิกาเรือนนั้น”

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้รู้ถึงความต้องการ และความตั้งใจของลูก แต่หากจะซื้อให้ง่ายๆเลยก็คงจะไม่ดี จึงใช้วิธีว่า ถ้าองอาจอยากได้ต้องเรียนหนังสือให้เก่งและสอบให้ได้ที่ 1 หรือคะแนนดีๆ ก่อน จึงจะซื้อให้

ปรากฏว่า องอาจทำได้สำเร็จ เขาสอบได้คะแนนดีได้ที่ 1 จึงได้นาฬิกาเรือนนั้นมาอยู่บนข้อมือเขาสมใจปรารถนา

เพราะความที่เป็นเด็กผู้ชาย ความซน อยากรู้อยากเห็นเป็นของคู่กัน และองอาจก็อยู่ในข่ายนี้เช่นกัน และสิ่งที่เขาซุกซนด้วยก็หนีไม่พ้นนาฬิกานั่นเอง

“ผมอยากรู้มากว่า ข้างในนาฬิกามันเป็นยังไง ทำไมเดินได้ ผมก็เลยเอานาฬิกามาเรือนหนึ่งที่มีอยู่ มาถอดนอตข้างหลัง แล้วแกะฝาครอบออกมา พอดูเสร็จ ตอนนี้ยุ่งเลย เพราะว่าผมใส่กลับไม่ได้แล้ว มันใส่ยากเหลือเกิน งงไปหมด สุดท้ายก็เลยต้องเอามาให้ช่างที่ศรีทองพาณิชย์ช่วยทำให้ ความก็เลยแตก”

ถึงแม้จะเป็นเพราะความอยากรู้อยากเห็น แต่ก็ไม่ใช่ว่า องอาจจะทำอย่างนั้น (แกะนาฬิกาออก) หมดทุกเรือน เพราะทุกเรือนล้วนแต่มีคุณค่ากับเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในแต่ละเรือน ซึ่งถึงวันนี้เขามีนาฬิกาที่สะสมเอาไว้แล้วมากกว่า 100 เรือน ทั้งที่ซื้อมาเอง และที่มีคนอื่นให้มา ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นนาฬิกาแนวสปอร์ตเรือนใหญ่ๆ รุ่นที่แปลกตาที่ไม่ค่อยมีให้เห็นในไทย

วันว่างๆ องอาจ มักจะนำเอานาฬิกาที่สะสมไว้นั้นออกมาทำความสะอาดบ้าง จับเล่นบ้างตามประสาคนที่ชอบ เพราะบางเรือนก็ใส่บ้าง แต่บางเรือนก็ไม่ได้ใส่ เอาไว้สะสมอย่างเดียว

ทายาทศรีทองพาณิชย์ผู้นี้มักจะให้ความสนใจกับนาฬิกาแนวสปอร์ตที่มีฟังก์ชั่นมากๆเป็นพิเศษ

แต่ถ้าถามว่านาฬิกาเรือนไหนชอบมากที่สุด เพราะอะไร

คำตอบที่องอาจไม่ต้องรีรอเลยก็คือ “ที่ผมชอบมากที่สุดก็คือ นาฬิกา ยี่ห้อโครโนเทครุ่น เรโนลต์ เอฟ วัน ซึ่งมีความโดดเด่นตรงที่มีการดีไซน์ไม่เหมือนใคร โดยออกแบบมาเป็น ล้อแมกซ์ของรถยนต์ ทำให้ได้กลิ่นอายของการแข่งขันรถฟอร์มูล่าวัน รูปแบบมันเท่ไม่ซ้ำใครเลย ในเมืองไทยตอนนี้รู้สึกว่ายังพอมีเหลือขายอยู่ไม่กี่เรือนแล้ว ราคาประมาณ 15,000 บาท”

จากนาฬิกาที่ชอบที่สุด ก็มาถึง นาฬิกาที่แพงที่สุดที่ องอาจมีไว้ในกล่องสะสมของเขาก็คือ นาฬิกายี่ห้อ อะควอเนติกส์ ราคาตกประมาณ 280,000 บาท แต่เรือนนี้ เขาไม่ได้ซื้อด้วยตัวเอง แต่เป็นเจ้าของได้ก็เพราะว่า ตัวเขาเองเป็นดิสทริบิวเตอร์ผู้จัดจำหน่ายในเมืองไทย ให้กับนาฬิกายี่ห้ออะควอเนติกส์ ตอนที่องอาจเดินทางไปต่างประเทศก็พบกับประธานของนาฬิกายี่ห้ออะควอเนติกส์นี้ ได้มีการประชุมพร้อมทั้งดูนาฬิกาหลากหลายรุ่นเพื่อนำมาจำหน่ายในไทย พอเจอเรือนนี้ปั๊บเขาก็ชอบมาก

“กระทั่งวันที่เราเปิดตัวอะควอเนติกส์ในไทยอย่างเป็นทางการ ท่านประธานก็เดินทางมาร่วมงานด้วย ปรากฎว่า เขาทำเซอร์ไพร์สผมด้วยการนำนาฬิกาเรือนที่ผมบอกว่าชอบเรือนนั้นนำมาเป็นของขวัญให้ผมในวันเปิดตัวในไทยนั่นเอง ก็ถือว่าเป็นนาฬิกาเรือนที่ผมรักอีกเรือนหนึ่งก็ว่าได้”

ชีวิตขององอาจในวันนี้เขาคลุกคลีกับนาฬิกาทั้งในฐานะนักสะสม และนักบริหาร ซึ่งเป็นเสมือนสิ่งที่ทำให้เขาต้องฝึกฝน ไขว่คว้า หาข้อมูลรวมทั้งการพิจารณาดูการทำตลาดนาฬิกาในไทยด้วย ว่าควรทำอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ และแน่นอนว่า เขาต้องมีต้นแบบหรือโมเดลในการบริหารงาน

“คุณดิลก (คุณตา ) กับคุณแม่ของผม ทั้งคู่เป็นคนที่ทำงานจริงจังทุกอย่าง ให้กับศรีทองฯ ซึ่งทุกวันนี้การที่ศรีทองพาณิชย์ประสบความสำเร็จและเติบโตมาได้ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ก็เป็นฝีมือของท่านทั้งสองและทีมงานทุกคน ผมได้รับแรงบันดาลใจตรงนั้น ทั้งคู่ถือเป็นแม่แบบในการทำงานให้กับผมก็ได้ เป็นแรงผลักดันให้ผมทำงานเต็มที่เพื่อความสำเร็จในอนาคต” องอาจย้ำ

ย้อนกลับไปในช่วงที่นำ 3 แบรนด์เข้ามาทำตลาดในไทย คือ โครโนเทค, อะควอเนติกส์ และ ฟอร์เม็กซ์ องอาจกับคุณแม่เดินทางไปต่างประเทศ เขารู้จักดีทั้งสามแบรนด์ในต่างประเทศ เคยเห็นที่สวิส ฮ่องกง และมีความรู้สึกว่าน่าจะตรงกับตลาดของคนไทย เลยอยากจะเอาเข้ามาขายในไทย

“ตอนแรกผมใช้วิธีค้นหาเบอร์ติดต่อทางอินเทอร์เน็ต เมื่อเจอก็ติดต่อไป ที่บริษัทที่อิตาลี ใช้วิธีติดต่อกันทางอีเมล สุดท้ายหลังจากที่ส่งกันไปส่งกันมา เขาก็ตอบตกลง นัดเจอกันที่อิตาลี เพื่อคุยกันในรายละเอียดถึงเงื่อนไขต่างๆ สรุปผมใช้เวลาประมาณ 3 เดือนกว่า ก็สามารถเซ็นสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายให้เขาได้” องอาจกล่าวอย่างภูมิใจ

หลักในการบริหารงานขององอาจ เขาสรุปสั้นๆแต่ชัดเจนว่า “Pay Hard Work Hard”

เพราะคลุกคลีอยู่กับนาฬิกา อะไรในชีวิตของเขาจึงเป็นเวลาไปหมด นั่นเองที่เป็นสิ่งที่ทำให้เขาเห็นคุณค่าของเวลาอย่างมาก

“เมื่อเราอยู่ในธุรกิจนาฬิกา ทำให้ผมรู้สึกว่าเวลานั้นมีความหมายอย่างมาก เราต้องตรงต่อเวลา เพราะถ้าเราช้าแค่นาทีเดียว มันก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของเราลดลงด้วย และชีวิตก็เหมือนกับเข็มนาฬิกาที่มีเข็มสั้นมีเข็มยาว เปรียบเหมือนชีวิตมีขึ้นมีลง มีช้ามีเร็ว และที่สำคัญเวลาผ่านไปแล้วก็ผ่านเลยเราเอากลับมาไม่ได้ จะทำอะไรเราต้องคิดให้รอบคอบ ทำให้ดี ”

และย้ำด้วยว่า ชีวิตทุกวันนี้มีความสุขดีกับการทำงานขายนาฬิกา ทั้งรักทั้งชอบ

เขากล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า นาฬิกาเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนบุคลิกของเราออกมาได้ รสนิยมทุกคนไม่เหมือนกัน ดูจากนาฬิกาที่ใส่ผมก็รู้แล้วว่าคนนั้นมีรสนิยมอย่างไร และที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องเป็นนาฬิกาที่มีราคาแพงแล้วเป็นคนที่มีรสนิยมดี นาฬิกาดีมันอยู่ที่รูปแบบ การดีไซน์ และฟังก์ชันมากกว่า ไม่ได้อยู่ที่ราคา

กำลังโหลดความคิดเห็น