xs
xsm
sm
md
lg

อมร ทองสอาด แชมป์ออกแบบแก้วระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นอีกหนึ่งเวทีที่มีนักออกแบบรุ่นใหม่สนใจส่งผลงานออกแบบเข้าประกวด สำหรับการประกวดออกแบบแก้วดีไซเนอร์ บอมเบย์ แซฟไฟร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยบอมเบย์แซฟไฟร์ พรีเมี่ยมยิน ร่วมกับ สำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าสินค้า กรมส่งเสริมการส่งออก

ที่น่ายินดีในปีล่าสุดนี้ อมร ทองสะอาด นักออกแบบหนุ่มวัย 26 ปี ผู้ชนะการประกวดในระดับประเทศ ยังไปคว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลก เอาชนะคู่แข่งจาก 21 ประเทศ พร้อมรับเงินรางวัล 10,000 ปอนด์ หรือประมาณ 600,000 บาท จากงาน Bombay Sapphire Designer Glass Competition Global Final ซึ่งจัดขึ้นระหว่างงาน “ลอนดอนดีไซน์เฟสติวัล” ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อันเป็นถิ่นกำเนิดของบอมเบย์ แซฟไฟน์ ยิน และจุดหมายปลายทางของบรรดานักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีพรสวรรค์ จากทั่วทุกมุมโลก

โดยแก้วชื่อ RAMITY ของอมร ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพรายฟองที่เกิดขึ้นในยามที่รินบอมเบย์ แซฟไฟน์ ยิน ใส่ลงในแก้ว ทั้งยังเป็นการผสมผสานระหว่างความแข็งแรง(Rigid) และ ความสุภาพ(Gentle) สองคุณสมบัติที่อมรค้นพบจากบอมเบย์ แซฟไฟน์ ยิน จนทำให้ผลงานจากจินตนาการของเขา กลายรูปมาเป็นแก้วใสที่ให้ทั้งความรู้สึกที่แข็งแกร่งและพลิ้วไหวไปพร้อม ๆ กัน

ขณะที่ เอริก เลวี่ ดีไซเนอร์ระดับโลกชาวฝรั่งเศส หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน ได้กล่าวถึงผลงานของอมรว่า สวยงามละเอียดอ่อนอย่างไม่มีที่ติ ส่วนก้านผ่านการเจียระไน ให้ความรู้สึกเช่นเดียวกับรูปขวดของบอมเบย์ แซฟไฟร์ ที่ดูหรูหรามีระดับแต่แข็งแกร่ง ตรงกันข้ามกับความนุ่มละมุนของเครื่องดื่มยินที่บรรจุอยู่ภายใน ความสวยงามที่โดดเด่นของแก้วใบนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสง่างามของค่ำคืนแห่งช่วงเวลาของการดื่มด่ำกับมาร์ตินี่ค็อกเทล

อมรจบการศึกษาด้านอินดัสเทรียลดีไซน์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผ่านชีวิตการทำงานประจำให้กับ บริษัท เซริบรัม ดีไซน์ จำกัด และบริษัท เอส.บี.อุตสาหกรรมเครื่องเรือน จำกัด กระทั่งลาออกมาเป็นนักออกแบบอิสระ

โดยก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดออกแบบแปรงสีฟัน เพื่อใช้บนเครื่องบิน ของบริษัท การบินไทย จำกัด และรางวัลที่ 1 จากการประกวดออกแบบของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ ของกรมส่งเสริมการส่งออก

หลังจากพลาดการประกวดการออกแบบแก้วในครั้งที่ผ่าน ๆ มา อมรไม่รอช้าส่งผลงานของเขามาร่วมประกวด เพื่อทดสอบสายตากรรมการลองดูบ้าง แม้ว่าความรู้เรื่องการออกแบบแก้วและการผลิตแก้วให้ออกมาเป็นชิ้นงาน เขาจะยังไม่เคยมีประสบการณ์จริงเลยก็ตาม

“ตอนเรียน ทางมหาวิทยาลัย เคยพาไปดูโรงงาน ดูกระบวนการผลิต ตามโรงงานเฟอร์นิเจอร์พวกไม้ เหล็ก พลาสติก และก็มีแก้วด้วย แต่พื้นฐานที่เราเรียนรู้จากในห้องเรียน ก็คือการวาด เพื่อที่จะสื่อสารผลงานจากความคิดของเราออกมาให้อาจารย์ดู หรือถ้าเป็นตอนที่ทำงานก็เพื่อให้ลูกค้าดู รวมถึงเป็นการฝึกเรียบเรียงกระบวนการทางความคิด เพื่อจะสื่อสารออกมาว่างานออกแบบของเรามันตอบโจทย์กับผู้ใช้ ผู้ผลิต รวมถึงการตลาดอย่างไรบ้าง”

สิ่งที่อมรต้องเตรียมตัวก่อนจะลงมือร่างภาพแก้วในฝันลงบนกระดาษก็คือ

“ต้องทำการศึกษาการประกวดของรุ่นที่แล้ว ๆ มาว่าเขามีแนวทางและมีรูปแบบอย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้ไม่ออกแบบงานซ้ำกับเขา และเราควรจะต้องรู้ว่าทิศทางในการพัฒนาแก้วว่ามันเป็นไปในทิศทางไหน การประกวดในปีนี้ผลงานทุกชิ้นต้องได้รับแรงบันดาลใจมาจากบอมเบย์แซฟไฟร์ เราจึงต้องศึกษาประวัติของบอมเบย์แซฟไฟร์ และที่มาที่ไปของเขาว่าทำไมเขาถึงเป็นบอมเบย์แซฟไฟร์ เพื่อที่เราจะได้สื่อสารแก้วของเราออกมาให้มันเชื่อมโยงกันกับแบรนด์ด้วย”

หลังชนะการประกวดในระดับประเทศอมรได้มีโอกาสไปดูกระบวนการผลิตแก้ว ที่โรงงานโลตัส คริสตัล จ.ระยอง พร้อมกับการได้มีส่วนร่วมในการผลิตแก้วที่ร่างขึ้นจากจินตนาการของเขาให้ออกมาเป็นงานชิ้นจริง

“มันเป็นผลดีกับเรา เพราะว่าผมได้รับความรู้จากโรงงาน และโรงงานก็ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในการผลิตอย่างดีมาก นับตั้งแต่การเริ่มเป่าแก้ว และช่วยผมแก้ปัญหาว่า ในการผลิตแบบไหนที่มันเป็นไปไม่ได้ มันตรงกับที่เราต้องการไหม นอกจากนี้ผมยังได้ลงมือขัดแต่งแก้วด้วยตัวเอง”

เมื่อเห็นผลงานของตัวเองออกมาเป็นรูปธรรม เจ้าตัวบอกว่ารู้สึกดีใจเป็นอย่างมากและวาดหวังที่จะสานต่องานด้านออกแบบแก้ว

“เพราะผมไม่เคยทำแก้วมาก่อน ตอนที่เข้ารอบ 5 คนในประเทศไทยก็ดีใจแล้ว เฮ้ย.. เราก็ได้เข้ารอบนะ พอได้ทำแก้วออกมาดู เหมือนกับที่เราตั้งใจไว้ ก็ยิ่งรู้สึกดีใจได้ไปดูโรงงานแก้ว ได้คลุกคลีกับแก้ว ทำให้เรามีความรู้สึกว่าแก้วมันเป็นสิ่งที่น่าจะเอามาทำอะไรได้อีกหลายอย่าง ได้ไปดูโรงงาน มันได้สัมผัสของจริง เราก็เลยได้เรียนรู้ว่า บางอย่างมันก็มาจากโรงงาน ที่บางคนอาจจะมองดูว่าไม่มีอะไร แต่ถ้าได้ไปสัมผัสจริง ๆ มันสร้างแรงบันดาลใจให้กับเราได้”

ขณะที่เดินทางไปประกวดในเวทีระดับโลกที่ประเทศอังกฤษ นักออกแบบหนุ่มไม่มั่นใจว่าตัวเองจะสามารถคว้ารางวัลใดรางวัลหนึ่งกลับมาได้หรือไม่ เพราะจากที่ได้ดูภาพถ่ายแก้วที่นักออกแบบชาติอื่น ๆ ส่งเข้าประกวดทางเวบไซต์ ผลงานของแต่ละคนนั้นสวยงามจนตัวเขาเองอยากจะเป็นฝ่ายเทคะแนนให้

แต่เมื่อได้เป็นเห็นผลงานชิ้นจริง อมรพลันมีความหวังขึ้นมาว่าแก้วที่ตัวเองออกแบบก็พอมีลุ้นรางวัลอยู่เหมือนกัน เพราะผลงานของบางคนที่ในภาพถ่ายมองดูสวย ที่แท้ก็แค่หลอกตาเท่านั้นเอง

“ได้คุยกับผู้เข้าประกวดจากหลาย ๆ ประเทศ บางประเทศโรงงานของเขาไม่ค่อยซับพอร์ตอะไรมาก ก็เลยทำแก้วออกมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่"

นอกเหนือจากรางวัลซึ่งได้สร้างความชื่นใจให้ และการได้ไปเที่ยวชมดูผลงานศิลปะและงานออกแบบตามพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ประสบการณ์ในการไปครั้งนั้น อมรยังได้เก็บเกี่ยวเอาความรู้และมิตรภาพกลับมาด้วย

“มันได้ไปเห็นว่าคนอื่นเขามีแนวความคิดยังไง ได้แชร์ไอเดียกันว่าการทำงานของแต่ละคนเป็นอย่างไร ซึ่งหลายอย่างเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้”

ด้วยสีสันที่ฉูดฉาดประกอบกับรูปฟอร์มของผลงานออกแบบที่มีความเรียบง่าย ทำให้นักออกแบบระดับโลก อย่าง มาร์ค นิวสัน เข้าไปนั่งอยู่ในใจอมรมาหลายปีและเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากเป็นนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จบ้าง รวมถึง มกร เชาวน์วาณิชย์ เจ้าของบริษัท เซริบรัม ดีไซน์ จำกัด ผู้เก่งรอบด้าน ที่เขาเคยทำงานด้วย และอานนท์ ไพโรจน์ รุ่นพี่จากลาดกระบัง ที่เขาชื่นชอบในแนวคิดที่แปลกใหม่
อมรมีความเชื่อว่างานออกแบบที่ดี มันมีคุณค่าเทียบกับงานศิลปะได้

“เพราะงานออกแบบมันก็คืออาร์ตอย่างหนึ่ง อาร์ตมันก็ถูกแบ่งเป็นหลายๆประเภท และอาร์ตเพื่อการใช้งานมันก็คือ Design มันตอบสนองเหตุและผลของการใช้งาน”

คลังความรู้เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบของอมร ก็คือหนังสือ หรือไม่ก็เปิดเว็บไซต์ รวมทั้งการไปเดินดูงานศิลปะในแกลเลอรี่ และสิ่งของในห้างสรรพสินค้า

“เราต้องคอยศึกษาว่า คนอื่นเขามีแนวความคิดอย่างไร เพื่อที่เราจะได้รู้ว่า เราควรจะปรับแนวความคิดของเราหรือเปล่า หรือว่าเราควรจะเพิ่มอะไรให้กับตัวเรา และบางทีเราต้องศึกษาสิ่งใหม่ๆที่มีเข้ามาด้วย อาจไม่จำเป็นว่าต้องเป็น Design งานบางงานที่มันดูไม่มีอะไร แต่ว่าคนกับใช้กันเยอะแยะ มันอาจจะไม่มีคุณค่าแต่มันเป็นงานที่ทรงคุณค่าได้ เพราะมันเป็นงานที่ตอบสนองต่อผู้บริโภคได้มากที่สุด บางทีเราอาจจะมองข้าม เราก็ต้องมองย้อนกลับไปดูว่าทำไมเขาถึงทำออกมาแบบนี้”

นักออกแบบรุ่นใหม่โปรดอย่าได้รีรอ ในฐานะรุ่นพี่ซึ่งยามนี้ผลงานของเขาผ่านการการันตีในเวทีโลก อมรได้ฝากคำเชิญชวนมายังทุกคนว่า สำหรับงานออกแบบนั้นกล้าคิดกล้าทำอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องกล้าโชว์ด้วย

“ทุกคนมีฝีมือ แต่เราต้องโชว์ความสามารถของเราออกมา เพื่อให้คนรับรู้ว่า เรามีแนวความคิดอย่างไร อาจจะไม่ได้โชว์เพื่อชื่อเสียง แต่เราโชว์เพื่ออย่างน้อย ให้คนอื่นเขารับรู้ว่า ประเทศไทยก็มีดีไซน์ที่ดี”
กำลังโหลดความคิดเห็น