ความตายเป็นบทสรุปสุดท้ายของชีวิต เป็นประสบการณ์ที่มนุษย์ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้…
แม้แต่คำสอนของพระพุทธองค์ในพระไตรปิฎกก็กล่าวไว้เช่นนั้น แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องพรากจากญาติสนิทมิตรสหายและบุคคลอันเป็นที่รัก มนุษย์ทุกผู้นามก็ยากจะตัดความโศกเศร้าอาลัยที่มีต่อผู้ที่ล่วงลับ
ผู้หญิงคนหนึ่งก็เช่นกัน... เธอสูญเสียสามีไปด้วยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุ แม้จะทำใจว่าสักวันเหตุการณ์นี้จะต้องมาถึง สามีต้องจากเธอไปไม่ช้าก็เร็ว แต่เธอก็เลือกที่จะใช้ความสูญเสียเป็นแรงผลักดัน แปรความโศกเศร้าให้กลายเป็นการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นสุดท้าย...เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการจากไปของชายผู้เป็นที่รัก
ผลงานศิลปะบนโลงศพ
ศิลปะบนความตาย
ทันทีที่ก้าวเข้าไปสู่บริเวณบ้านหลังงามในซอยอินทามระ 36 ซึ่งด้านหลังใช้เป็นสตูดิโอศิลปะ เราก็ต้องชะงักเมื่อสายตาปะทะเข้ากับโลงไม้สี่เหลี่ยมสีน้ำตาลใบใหญ่ ซึ่งตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางห้องโถง มองเห็นได้ตั้งแต่หน้าประตูทางเข้าบ้าน ใกล้กันยังมีโลงสีขาวขนาดเล็กกว่าอีกใบหนึ่งตั้งอยู่ข้างๆ บรรยากาศแลดูขัดกันกับความสง่าภาคภูมิของตัวบ้าน และหญิงสาวเจ้าของบ้านที่ยืนอยู่ตรงหน้า
ศุภวรรณ ด้วงสุวรรณ เจ้าของผลงานศิลปะที่รังสรรค์ขึ้นเพราะความสูญเสีย อยู่ในชุดสบายๆ คือเสื้อตัวหลวมสีขาวและกระโปรงยาวสีดำ ใบหน้ายิ้มแย้มนิดๆ เมื่อเห็นท่าทางประหลาดใจของผู้สื่อข่าวและช่างภาพ ที่เห็นโลงศพตั้งอยู่กลางบ้าน
หนำซ้ำไม่ได้มีอยู่แค่ใบเดียว แต่มีถึงสองใบด้วยกัน!
“เดี๋ยวก็ชินค่ะ เมื่อก่อนลูกชายกับแม่บ้านก็ไม่กล้าเข้ามาอยู่ในห้องนี้นานๆ แต่ตอนนี้ทุกคนเฉยๆ ไม่มีใครกลัวแล้ว” ศุภวรรณเอ่ยยิ้มๆ คล้ายจะปลอบใจแขกผู้มาเยือน
แล้วก็จริงอย่างเธอว่า เมื่อเวลาผ่านไปสักชั่วโมง โลงศพใบเขื่องที่เห็นก็ลดความน่าหวาดหวั่นลง แทบไม่ต่างอะไรจากเครื่องเรือนสักชิ้นหนึ่งภายในห้องนั้น ความกลัวนับว่าอยู่ที่สายตามนุษย์...ที่สร้างภาพมายาคติหลอกลวงตัวเองจริงๆ
หากจะว่าไป นอกเหนือจากโลงเปล่าสองใบนั้น งานของเธอก็แทบไม่ต่างจากศิลปินทั่วไปนัก เพียงแต่ศุภวรรณใช้โลงศพแทนเฟรมผ้าใบเท่านั้น แม้หลายคนจะมองว่าแปลกหรือขัดแย้งกับลักษณะบุคลิกภายนอก ที่เป็นคนพูดเก่ง ยิ้มง่ายของตัวเธอเอง
ประวัติส่วนตัวของศิลปินหญิงชาวใต้ผู้นี้ ไม่มีอะไรโลดโผน เธอเริ่มต้นศึกษาศิลปะอย่างจริงจังที่วิทยาลัยช่างศิลป์และเพาะช่าง ซึ่งขณะเรียนได้ทำงานที่สถาบันสอนศิลปะชื่อดังในยุคนั้นอย่างนูเฮ้าส์ควบคู่ไปด้วย เมื่อจบออกมาศุภวรรณก็ยังทุ่มเทเวลากว่า 6 ปี เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนงานในนูเฮ้าส์ต่อ จนเชี่ยวชาญงานวาดภาพบนกระเบื้องเป็นอย่างมาก เธอจึงเปิดสอนการวาดภาพบนกระเบื้องต่อมาอีก 6 ปี
กระทั่งสามารถคลี่คลายและคิดค้นการวาดภาพด้วยสีอะคริลิกบนชิ้นงานผ้า ไม้ และกระเบื้องเป็นของตัวเองจนได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่วาดภาพดอกกุหลาบได้สวยที่สุดคนหนึ่งในวงการ
หลังเปิดสอนวาดภาพตามแบบของตัวเองอยู่ 4 ปี ศุภวรรณจึงเปิดสตูดิโอสอนวาดภาพเป็นของตัวเอง แต่ที่ทำให้เราสนใจในตัวเธอคือ การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแบบแหวกแนวที่ไม่มีใครคาดคิดถึง
นั่นคือ การวาดภาพลงบนโลงศพ
ศุภวรรณเล่าย้อนไปถึงที่มาของการเพนท์รูปลงบนโลงศพว่า เริ่มจากการสูญเสียสามีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เธออยากจะทำอะไรเป็นที่ระลึกถึงให้กับสามีเป็นครั้งสุดท้าย จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะวาดภาพดอกกุหลาบที่เธอชื่นชอบให้บนโลงที่บรรจุร่างของสามีคู่ชีวิต
สองวันเต็มๆ กับความตั้งใจของเธอ ในที่สุดผลงานศิลปะชิ้นแรกที่สร้างสรรค์ลงบนโลงศพของศิลปินหญิงผู้นี้ก็สำเร็จลง ท่ามกลางความประหลาดใจของแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน เพราะไม่เคยเห็นโลงศพแบบนี้มาก่อน เสียงชื่นชมปากต่อปากทำให้มีร้านจำหน่ายโลงศพติดต่อมาให้ศุภวรรณช่วยเพนท์โลงศพต่อมาอีกหลายใบ
“ที่เมืองนอกการวาดภาพลงบนโลงศพมีอยู่แล้ว เขาจะร่างเอาไว้ก่อนแล้วลงสีแบบเหมือนจริง แต่ของเราจะเป็นแบบฟรีแฮนด์ ฉะนั้น เมื่อทางร้านโลงให้โอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ โดยไม่ได้มาสั่งว่าจะต้องทำแบบนี้ๆ ก็ดีใจที่เขาให้โอกาสเราที่จะทำอะไรก็ได้” ศุภวรรณเล่า
“ถ้าเพนท์เสร็จแล้วโลงจะไม่น่ากลัว มันเหมือนไม่ใช่โลง เหมือนเฟอร์นิเจอร์ จุดประสงค์ของเราคืออยากเปลี่ยนโลงศพธรรมดาให้มีความสวยงาม ไม่ใช่ว่ามาเห็นโลงก็คือโลง”
แต่แม้จะสวยงามขนาดไหน สุดท้ายโลงดังกล่าวก็ต้องมอดไหม้ไปพร้อมกับร่างของผู้ตายที่อยู่ภายใน แต่อย่างน้อย ศุภวรรณก็คิดว่านั่นน่าจะเป็นการส่งผู้ที่ล่วงลับไปสู่สุขคติเป็นครั้งสุดท้าย ให้เป็นภาพความทรงจำที่งดงามของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง
ชีวิตและความตายในกรอบสี่เหลี่ยม
ศิลปินนั้นโดดเดี่ยวเสมอ สิ่งที่ศิลปินต้องการคือความโดดเดี่ยว…
เฮนรี่ มิลเลอร์ ศิลปินและนักเขียนชาวอเมริกันเคยเอ่ยถึงชีวิตของศิลปินไว้เช่นนั้น
แม้ไม่ได้ตั้งใจอยากจะทำตัวโดดเดี่ยวแปลกแยกจากสังคม แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีใครอยู่เคียงข้างกันได้ตลอดกาล แม้กระทั่งคู่ชีวิตที่รักกันมากเพียงไหน สุดท้ายความตายก็เข้ามาพรากทั้งคู่จากกันจนได้
โลงศพสองใบ กับคนเป็นอีกสี่ชีวิตในห้องนั้น ทำให้บรรยากาศไม่ดูวังเวงเกินไปนัก แม้ข้างนอกฟ้าจะครึ้มฝนด้วยเมฆดำก้อนใหญ่ที่ตั้งเค้ามาตั้งแต่บ่าย แต่บทสนทนายังคงดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับม้วนเทปในเครื่องอัดที่ยังหมุนบันทึกเรื่องราวในห้องที่อวลกลิ่นอายศิลปะและบรรยากาศของความตาย
“ถ้าถามวันนี้พรุ่งนี้ตาย กลัวไหม ไม่กลัว แต่ถามถึงห่วงคือลูกเท่านั้นเอง ทุกคนอยู่เพราะความเป็นห่วง ฉะนั้น ขอให้ทุกคนทำความดี ให้ตายไปแล้วมีคนคิดถึง ไม่ใช่ตายไปแล้วไม่มีคุณค่า” ศุภวรรณตอบเมื่อเราถามถึงทัศนคติในเรื่องความตายของเธอ
“ถ้าตายไปคนยังคิดอยู่ว่าเราวาดรูปได้ เราทำอะไรที่สวยงามได้ อย่างน้อยเขาเห็นของเราเขายังคิดถึงเรา แต่ถ้าการที่เราตายไปแล้ว ไม่มีใครคิดถึงเรา นั่นสิน่าเศร้า”
ทุกวันนี้ ศุภวรรณจึงตั้งใจทำงานศิลปะของเธอฝากไว้บนโลกใบนี้ แม้อาจไม่ใช่ผลงานที่ยิ่งใหญ่ในสายตานักวิจารณ์ศิลปะ แต่งานทุกชิ้นคือสิ่งที่เธอรักและตั้งใจทำให้มีคุณค่า
มรณกรรมที่งดงาม
เวลาที่ศุภวรรณอยู่ในงานศพ แล้วเธอเห็นของที่รู้สึกว่าไร้สาระ อย่างพวงหรีดดอกไม้สดที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ทำให้เธอจุดประกายความคิดที่จะจัดงานศพในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ยึดติดกับความคิดแบบเดิมๆ
“ทำไมเราต้องคิดว่าเราต้องจัดของสวยในงานแต่งงาน ทำไมเราต้องจัดของที่ดูเศร้าหมองในงานศพ อย่างของชำร่วยแบบยาดม เราก็เพนท์ลายดอกไม้ลงไปให้ดูสวยงามได้” ศุภวรรณยกตัวอย่างสิ่งที่เธอจัดทำในงานศพของบิดาและสามี อาทิ หนังสืองานศพที่จัดทำอย่างประณีตพร้อมซีดีธรรมะที่สกรีนลายดอกไม้ลงบนปก ขวดพิมเสนน้ำที่มีลวดลายกุหลาบสีหวานอ่อนช้อยฝีมือเพนท์ของเธอเอง ไปจนถึงโลงศพสีขาวที่ตั้งเด่นอยู่ท่ามกลางหมู่ผีเสื้อและดอกไม้ ทั้งดอกไม้จริงและดอกไม้ที่เกิดจากปลายพู่กันบนตัวโลง
แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงถือขนบธรรมเนียมพิธีศพแบบเก่าๆ อยู่ ศุภวรรณเองก็เคยถูกมารดาตำหนิถึงการจัดพิธีแหวกจารีตประเพณีดังกล่าว แต่ศุภวรรณกลับมองในมุมที่ว่า อย่างน้อยต้องมีคนต้องการจัดงานศพให้คนที่รักจากไปแบบสวยงามเหมือนเธอ จึงนำมาสู่การรับงานเพนท์โลงศพต่อมาอีกหลายใบ โดยทางร้านจำหน่ายโลงศพจะเป็นผู้ติดต่อให้ศุภวรรณวาดภาพลงบนโลงศพ แต่ในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ตายและค่าใช้จ่ายนั้นอยู่นอกเหนือการรับรู้ของเธอ ศุภวรรณทำหน้าที่เพียงเป็นผู้เปลี่ยนโลงศพธรรมดาให้กลายเป็นโลงลวดลายดอกไม้เท่านั้น
“การเพนท์โลงศพมันมีผลทางจิตวิทยาต่อคนที่เห็นจริงๆ เพราะอย่างอีกงานศพหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน ก็จะดูน่ากลัว โลงสีน้ำตาลผูกผ้าดำดูหดหู่ ก็เลยมีความรู้สึกว่าไม่ไหวมั้ง แต่งานศพของสามีกลายเป็นว่าพอคนมาไหว้ศพพี่เขา ไหว้เสร็จก็จะนั่งดูลายดอกไม้อยู่หน้าโลง จนมีคนบอกว่า เนี่ย...เมียเขาทำก่อนที่เขาจะเสีย บ้าแล้ว ใครจะไปทำไว้ล่วงหน้า เพราะว่าพี่เขาเป็นมะเร็งใช่ไหมคะ อยู่เกือบหนึ่งปีเจ็ดเดือน คนก็คิดว่าเราทำก่อนตาย”
แต่ที่จริงแล้ว ศุภวรรณใช้เวลาเพียงสองวันเท่านั้น ในการเพนท์โลงศพให้แก่สามี เพราะช่วงเวลาที่สามีของเธอเสียชีวิตไปนั้น ตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งไม่มีวัดไหนรับจัดงานศพในช่วงเวลาดังกล่าว เธอจึงฝากร่างของสามีไว้ที่โรงพยาบาลก่อน แล้วสั่งให้ร้านนำโลงศพมาส่งให้ที่บ้าน เพื่อเพนท์ภาพไว้อาลัยแก่สามีเป็นครั้งสุดท้าย
"พี่เขาเป็นมะเร็ง ฉะนั้นเราก็รู้อยู่แล้วว่ายังไงก็หนีมันไปไม่พ้น ตัวเองไม่เคยคิดถึงตรงนี้เลยว่าต้องมานั่งทำอะไรให้ ทั้งของชำร่วย ทั้งเพนท์โลงศพและหนังสือ ดิฉันเพิ่งเสียพ่อไปต้นปีแล้วต่อมาก็พี่เขาอีก ช่วงเวลาที่ไปวัดทุกวันก็ทำให้ในสิ่งที่อยากจะทำให้กับคนที่อยู่ด้วยกันและผูกพันกัน"
ศุภวรรณฝากถึงคนที่คิดจะจัดงานศพให้บุคคลผู้เป็นที่รักว่า
“คือมันอยู่ที่ใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นโลงศพที่ดิฉันวาดก็ได้ เพราะราคามันสูง สิ่งที่ดิฉันทำเราทำด้วยใจ ฉะนั้นขอแต่ว่าเราตั้งใจจริงว่า เราจะทำให้คนที่เรารักและคนที่จากไปมีความสุข แค่นั้นก็พอแล้ว แต่ที่ตัวเองทำคือสิ่งที่พอจะทำให้ได้ อยากให้คนที่มาร่วมงานศพเห็นเป็นรูปธรรมว่า สิ่งที่เขาเห็นมันสวยงามและคนที่จากไปเขาจากไปในสิ่งที่สวยงาม ไม่ใช่ว่าเห็นในสิ่งที่เศร้าหมองหรือสิ่งที่ดูแล้วหดหู่ ไม่จำเป็นต้องเศร้า เพราะว่าสิ่งที่เขาไปเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืออะไร เรามานั่งร้องไห้อยู่นี่ เขาไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่าเราเศร้ากับเขา เราเสียใจ เราร้องไห้ทำไม ในเมื่อเขาไม่ได้ไปไหน เขายังอยู่ในใจของคนที่อยู่ข้างหลัง เศร้าไปเขาก็ไม่ได้รับรู้กับเรา คนที่อยู่เป็นทุกข์มากกว่า…”
ก่อนจากมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยปรายลงมาในวันนั้น คำพูดหนึ่งของศุภวรรณยังคงแว่วอยู่ในหัว แม้การสัมภาษณ์จะจบลงนานนับชั่วโมงแล้วก็ตาม
“อย่าไปกลัวเลยที่จะตาย อยู่ยังไงแล้วให้มีความสุขสำคัญกว่า คนอยู่ดิ้นไปตาย คนตายดิ้นไปเกิด แต่เราอยู่เพื่อที่จะเดินไปในที่เดียวกับเขา คิดว่าทุกคนต้องเดินเข้าไปที่แห่งนั้นอยู่แล้ว จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง”