xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อต่างชาติหนุนเด็กไทย เปิดศักราช “Learn without fear”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กชายขอบแต่สามารถไปเรียนได้อย่างมีความสุข
แนวคิดการอบรมสั่งสอนลูกเล็กเด็กแดงแต่ดั้งเดิมของไทยอย่างเช่น "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" อาจเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลมาถึงคุณพ่อคุณแม่ และคุณครูในปัจจุบันหลายท่าน โดยหลายคนยังคงเชื่อว่า การทำโทษเด็กด้วยการตีนั้นคือการสั่งสอนเพื่อให้เขาหลาบจำต่อการกระทำความผิด และเมื่อเขาพบสถานการณ์เดิมอีกครั้ง เขาก็จะสามารถระลึกถึงคำสั่งสอนนั้นได้อย่างแม่นยำ และไม่กระทำผิดซ้ำสอง หลาย ๆ คนถึงกับเชื่อว่า การสั่งสอนด้วยวิธีดังกล่าวจะทำให้เด็ก ๆ เติบใหญ่ขึ้นเป็นคนดีในวันหน้า

ขณะที่แนวคิดทางการศึกษายุคใหม่กลับตรงกันข้าม มีหลายองค์กรนำเสนอแนวคิดด้านการเรียนการสอนที่มาพร้อมกลวิธีในเชิงบวกที่เข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กได้ และที่สำคัญ การลงโทษเด็กด้วยการตี หรือวิธีการอื่นใดจากคุณครูและผู้ปกครอง อาจไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนาจากการศึกษาแผนใหม่อีกต่อไป เนื่องจากมีวิธีการอบรมสั่งสอนในเชิงบวกอีกมากมายที่พร้อมจะเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก ๆ และละลายพฤติกรรมที่ไม่ดีให้จางลงไปได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง

หนึ่งในผู้เสนอรูปแบบแนวคิดทางการศึกษาแผนใหม่ก็คือ องค์กรแพลน (PLAN) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลระดับสากลที่เน้นหนักในด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ปัจจุบันเข้ามาทำกิจกรรมกับ 10 โรงเรียนตามพื้นที่ชายแดนในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย เช่น ภาคเหนือ กลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ และมีกิจกรรมที่ช่วยให้เด็ก ๆ ได้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง พร้อมกันนั้นก็จะสนับสนุนให้เด็ก ๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และสามารถช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสคนอื่น ๆ ในสังคมต่อไปด้วย

มินตี้ แพนเด้ ผู้อำนวยการองค์กรแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แพลนเป็นองค์กรพัฒนาชุมชนที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Center Community Organization) โดยเชื่อว่าเด็กคือหัวใจในการเติบโตของประเทศในอนาคต หากมีกิจกรรมที่สามารถเข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้แล้ว จะทำให้ชุมชนมีการเติบโตอย่างยั่งยืนและลดปัญหาด้านการใช้ความรุนแรงที่จะตามมาในอนาคตลงได้ด้วย

“จากการทำงานร่วมกันขององค์กรแพลนใน 49 ประเทศ ซึ่งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชีย เราพบว่า มีประเด็นปัญหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับเด็กนั่นก็คือ การใช้ความรุนแรงกับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมเหล่านั้นจะทำให้เขาเป็นคนที่มีปัญหา และมีแนวโน้มจะก่อความรุนแรงได้ง่ายมากขึ้น”

ข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษาในระดับสากล ซึ่งจัดทำโดยองค์กรแพลนระบุว่า มีเด็กจำนวนกว่า 350 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในโรงเรียน โดยปัญหาที่พบมากคือ การทำโทษ การคุกคามทางเพศ และการกลั่นแกล้ง ข่มขู่ ส่วนรายงานจากสหรัฐอเมริกาพบว่า 2 ใน 3 ของเหตุการณ์ยิงกันในโรงเรียนมีแรงจูงใจจากการแก้แค้นที่เคยถูกกลั่นแกล้งมาก่อน และมีผลวิจัยออกมาว่า ร้อยละ 60 ของเด็กในสหรัฐอเมริกาที่เคยกลั่นแกล้งคนอื่นมาก่อน จะก่อคดีอาชญากรรมอย่างน้อย 1 คดี เมื่อตนเองอายุ 24 ปี

ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย พบว่ามี 16 ประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้ามการลงโทษเด็กในโรงเรียน และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

สำหรับ มินตี้ แพนเต้ ผู้อำนวยการองค์กรแพลน ประจำประเทศไทย มีประสบการณ์ด้านงานพัฒนาสังคม โดยเฉพาะเรื่องเด็กมายาวนานกว่า 25 ปี โดยเริ่มต้นงานที่องค์กรแพลนในประเทศอินเดียกับงานดูแลโครงการ ก่อนจะเลื่อนขึ้นเป็นผู้จัดการโครงการ และตำแหน่งผู้บริหารในเวลาต่อมา ก่อนหน้าที่จะมาดำรงตำแหน่งในประเทศไทย เธอคือผู้อำนวยการองค์กรแพลนประจำประเทศเนปาล สำหรับงานในประเทศไทยนั้น เธอคือผู้ที่กำหนดทิศทาง และวางแผนการทำงานของโครงการของแพลนในประเทศไทย เพื่อให้ตรงกับความต้องการของเด็ก และชุมชนที่ด้อยโอกาส

“โครงการของเรามีขึ้นเพื่อลดปัญหา และลดจำนวนของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงโดยไม่จำกัดสัญชาติ เชื้อชาติ หรือศาสนา ซึ่งเรายังได้สนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เด็กมีความกล้าที่จะพูด หรือให้ข้อมูลมากขึ้น เนื่องจากเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงนั้นมักไม่ค่อยเปิดเผยเรื่องราวให้ผู้ใหญ่ได้รับทราบและเก็บไว้เป็นเรื่องส่วนตัว หรือถ้าหากเล่าก็จะเล่าสู่กันฟังในหมู่เพื่อนฝูง หากเราทำให้เด็กมีความกล้ามากขึ้นที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไขที่ตรงจุดมากยิ่งขึ้น”

“สำหรับองค์กรแพลน เมื่อเราได้ข้อมูลเหล่านั้นมา ก็ต้องมาคิดหาวิธีการจัดการ หรือโครงการที่จะช่วยเหลือเด็กต่อไป ซึ่งหนึ่งในทางแก้ปัญหาก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่กระทำต่อเด็กด้วย”

ทั้งนี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กนั้น มินตี้ แพนเต้บอกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นการตีเสมอไป แต่การทำโทษด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น วิดพื้น หรือการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมก็เป็นหนึ่งในการใช้ความรุนแรงด้วยเช่นกัน

พร้อมกันนี้ ทางองค์กร ยังได้ริเริ่มโครงการ “Learn without fear” ขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นทางการด้วย โดยจะมุ่งไปที่โรงเรียนต่าง ๆ ให้ตระหนักถึงสิทธิอันชอบธรรมของเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้อย่างมีความสุข และสนับสนุนให้เด็ก ๆ สามารถไปโรงเรียนได้โดยปราศจากการถูกคุกคามด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ

“สาเหตุที่เราเลือกทำกิจกรรมกับโรงเรียนเพราะเราเห็นความเชื่อมโยงของโรงเรียนกับชุมชน และครอบครัวที่เด็กคนนั้นมีส่วนเกี่ยวพันด้วย ดังนั้น เราเลยเลือกทำกิจกรรมผ่านทางโรงเรียนเป็นหลัก ซึ่งเด็ก ๆ ที่คุ้นเคยกับความรุนแรงมักจะบอกกับใคร ๆ ว่า ที่โรงเรียนของเขานั้นไม่มีการใช้ความรุนแรง ทั้งนี้เพราะเด็กเกิดความคุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรงไปแล้ว แต่จริง ๆ แล้วคือปัญหามันยังมีอยู่”

“เรามองว่า การศึกษาเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง และเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนรู้อย่างมีความสุข ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญเต็มที่ที่จะป้องกันและช่วยเหลือเด็กไม่ให้ถูกทำร้ายในโรงเรียน ไม่เช่นนั้น อาจทำให้เขาหยุดพักไป หรือไปมั่วสุมกับยาเสพติด อบายมุขต่าง ๆ และกลายเป็นปัญหาของสังคมในที่สุด” มินตี้ แพนเต้กล่าว

อย่างไรก็ดี การประกาศกฎระเบียบเรื่องการห้ามตีเด็กนั้น ในความเป็นจริง อาจส่งผลตรงกันข้ามกับเด็กได้ด้วยเช่นกัน เพราะอาจทำให้ครูผู้สอนเกรงว่าจะผิดระเบียบ จึงไม่สนใจเด็กที่กระทำผิด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีแนวทางอื่น ๆ อีกมากที่สามารถสร้างวินัยให้เด็กได้ เช่น การแยกเด็กออกจากกลุ่มเพื่อนระยะหนึ่งให้เด็กสำนึกผิด หรือการมอบหมายกิจกรรมกลุ่มให้เด็กทำร่วมกัน เหล่านี้เป็นต้น

บ่อยครั้งที่การได้ยินถึงนโยบายการเรียนรู้อย่างมีความสุขสำหรับเด็ก ๆ จะมาจากโรงเรียนที่มีค่าใช้จ่ายในการเรียนแพงลิบลิ่ว ไม่เป็นโรงเรียนนานาชาติ ก็เป็นโรงเรียนแนวใหม่ที่เลือกใช้แนวคิด “เด็กเป็นศูนย์กลาง” แน่นอนว่า ผู้ปกครองชาวไทยที่มีโอกาสส่งลูกเพื่อให้เข้าถึงระบบการเรียนการสอนเหล่านั้น คงมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็คงดีไม่น้อย ถ้าหากมีการสนับสนุนให้โรงเรียนธรรมดา ๆ กลายเป็นสถานที่ที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินจำนวนแพง ๆ อีกต่อไป
มินตี้ แพนเต้
กิจกรรมปลูกต้นไม้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็ก โรงเรียน และชุมชน
ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เด็กมีโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งหนทางในการเรียนรู้อย่างมีความสุข
ร่วมด้วยช่วยกันปลูกผัก
กำลังโหลดความคิดเห็น