แม้สถานการณ์ทางการเมือง ณ ขณะนี้ จะยังคงวุ่นวายไม่หยุดหย่อน แต่ แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ Southern Seaboard ก็ยังคงได้รับการผลักดันให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเงียบๆ ซึ่ง ‘ปริทรรศน์’ ได้เคยกล่าวถึงไปบ้างแล้วว่า แผนพัฒนาดังกล่าวจะทำให้หน้าตาภาคใต้เปลี่ยนไปอย่างไร
หากยังจำกันได้ ข่าวคราวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้พาสุลต่านแห่งดูไบมาทัศนาลู่ทางการลงทุนในเมืองไทย จนนำไปสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและดูไบ เวิลด์ กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่เสนอตัวเข้ามาทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสะพานเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์ (Land bridge) ที่จะพาดผ่านจากจังหวัดสตูลไปยังจังหวัดสงขลา การพัฒนาท่าเรือระหว่าง 2 ประเทศ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งการศึกษาทั้งหมดนี้เป็นไปแบบให้เปล่า โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น
(ประเด็นนี้คงต้องไปพิจารณาดูกันเองว่า ‘ของฟรีมีในโลกหรือไม่?’)
จนถึงวันนี้อภิมหาโครงการเซาเทิร์น ซีบอร์ดก็ดูจะยังไม่มีการให้ข้อมูลกับคนใต้มากนัก ยังไม่มีการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน มิหนำซ้ำโครงการย่อยต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของเซาเทิร์น ซีบอร์ด กลับเดินหน้าไปเรื่อยๆ เป็นจิ๊กซอว์แต่ละส่วนที่รอวันมาประกบเป็นภาพใหญ่ ชวนให้คลางแคลงว่าเหตุใดจึงไม่มีการตรวจสอบผลกระทบในภาพรวมทั้งหมด หรือนี่เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะหลบเลี่ยง
และโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราก็คือหนึ่งในจิ๊กซอว์
1
“ผมว่ารัฐบาลยังมองสตูลผิด น่าจะให้ของขวัญสตูล เช่น การสร้างท่าเรือน้ำลึก เพราะต่อไปถ้าไม่มีท่าเรือน้ำลึก จะทำการค้าเก่งยังไง ถ้าระบบลอจิสติกส์ยังล้าสมัยอยู่อย่างนี้ เราสู้มาเลเซียไม่ได้ ที่นั่นเขามี 4 ท่า แต่ของเราฟากตะวันตกยังไม่มีเลย เราเสียเปรียบสิงคโปร์เรื่องน้ำมัน ทั้งที่เราสามารถนำเข้าน้ำมันมาจากตะวันออกกลางโดยตรงได้ แต่เราไม่ทำเพราะเราไม่มีท่าเรือ” ป๊ะชาวมุสลิมคนหนึ่ง (ขอสงวนชื่อ) ในตัวเมืองสตูล
“ผมเองก็ยังไม่ได้คัดค้านหรือสนับสนุน ยังดูข้อมูลอยู่ แต่เราก็ไม่ได้ใกล้ชิด คนสตูลส่วนหนึ่งก็รู้ แต่เป็นส่วนน้อยที่รู้ ที่ว่าส่วนน้อยรู้คือข้าราชการ นักการเมืองรู้ แต่ถ้าชาวบ้านธรรมดาส่วนหนึ่งอาจจะรู้เล็กๆ น้อยๆ ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ผมว่าส่วนน้อยที่รู้เพราะกวาดซื้อหมดแล้ว ที่ดินที่ว่าถนนจะเดินทางไหนๆ นายทุนกวาดหมดแล้ว แต่ถ้าให้มองผมคิดว่าจะดีในส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งชาวบ้านจะอยู่ไหวมั้ย ถ้าเกิดมลพิษอะไรขึ้น เราก็ต้องโดน คนสตูลก็ต้องเดือดร้อน ต้องกระทบชาวบ้านแน่นอน ผมก็บอกไม่ถูกว่าทางราชการจะทำยังไง แต่คิดแล้วผมว่าผลดีกับผลเสียครึ่งต่อครึ่ง” ข้าราชการคนหนึ่งในตัวเมืองสตูล (ขอสงวนชื่ออีกเช่นกัน)
“คนทะเลส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับท่าเรือน้ำลึก เพราะเราหากินอยู่ตรงนี้มาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย รายได้ตรงนี้ทั้งเรือเล็กเรือใหญ่ไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้าน ทั้งคืนทั้งวันอยู่แต่ตรงนี้ ท่าเรือน้ำลึกมา เรือเล็กจะไปหากินตรงไหน จะรับประกันได้มั้ยว่าคนที่อยู่เดิมจะมีงานทำ ไม่มีใครรับประกันได้ใช่มั้ย ส่วนมากแล้วมันไม่ถึงชาวบ้านแบบเรา แต่ถ้าปล่อยให้เป็นธรรมชาติแบบนี้มันก็หากินกันได้ทุกวัน ออกเรือไปได้สี่ห้าร้อยบาท มันได้อยู่แล้ว แต่ถ้าทำท่าเรือน้ำลึกขึ้นมาตรงนี้ก็หายหมด” ไต๋แหด หรือ สุรศักดิ์ มันหีด ชาวประมงพื้นบ้าน ปากบารา
เราเดินถามความคิดเห็นของคนสตูลที่มีต่อท่าเรือน้ำลึกปากบาราในวันที่ท้องฟ้าแดนใต้กระจ่างใส มัสยิดมำบังยืนเด่นเป็นสง่า และเสียงละหมาดอันศักดิ์สิทธิ์แวดล้อมอยู่รอบตัว
ที่ผ่านมาท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่หลักๆ ของประเทศไทยล้วนอยู่ในฝั่งอ่าวไทย ส่วนในฝั่งอันดามันนั้น แม้จะมีท่าเรือภูเก็ตและระนอง แต่ท่าเรือทั้งสองก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างที่ต้องการ โดยเฉพาะท่าเรือระนองดูเหมือนจะสร้างขึ้นมาไว้เฉยๆ และไม่มีใครใช้
กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม จึงผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราเพื่อให้เป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในฝั่งทะเลอันดามัน และสร้างท่อส่งน้ำมันเชื่อมระหว่างสองฝั่งทะเลตามแนวแลนด์บริดจ์เปิดประตูการค้าด้านตะวันตก อันได้แก่ ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงเหตุผลคลาสสิกตลอดกาลที่ว่า เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้
วิรัตน์ องค์ประเสริฐ ผู้แทนกรมการขนส่งทางน้ำฯ อธิบายว่า ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกที่สตูล ภายใน 10-20 ปีข้างหน้า ทางภาคใต้ก็น่าจะพัฒนาไปคล้ายภาคตะวันออกและมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมา
“ตอนนี้จีนมีนโยบายที่จะเปิดการค้ากับแอฟริกา เขาจึงอยากหาทางไปตรงๆ แต่ปัจจุบันต้องขึ้นรถไฟที่ฮ่องกง แล้วลงเรืออ้อมสิงคโปร์ไป ตอนนี้จีนก็ทำถนนมาถึงที่เชียงของแล้ว ถ้าเรามีทางรถไฟต่อจากเชียงของมาที่เชียงใหม่ เส้นทางนี้ก็จะเชื่อมได้ ทำให้สินค้าก็มีโอกาสมา ซึ่งจุดนี้อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกในระยะยาว” วิรัตน์มองในเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาว
เขายังอธิบายอีกว่า จากการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน ค่าลงทุนตลอดโครงการของท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ตลอดโครงการจะสูงถึง 369,533 ล้านบาท
2
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นมุมมองของภาครัฐ แต่ในแง่ของผู้ประกอบการธุรกิจเดินเรือและสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สุธรรม จิตรานุเคราะห์ ก็ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าในความเป็นจริงแล้ว ท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะเกิดประโยชน์คุ้มค่าดังที่ภาครัฐกล่าวอ้างจริงหรือไม่
“เรือที่ผ่านเขตนี้ไป ในเส้นทางวิ่งของเรือที่จะไปตะวันออกกลางและขากลับไปเกาหลี เรามีทั้งหมด 20 บริษัทเดินเรือ ถ้าให้เรือเหล่านี้เข้ามาคงไม่มีปัญหาถ้ามีสินค้า พ่อค้ามีธรรมเนียมในการทำงานอยู่ เขาก็มีญาติพี่น้องอยู่ที่ปีนัง 4 ชั่วโมงให้เขาแวะมาได้ แต่จำนวนสินค้ามันไม่มี แล้วที่สงขลาก็มีสินค้าออกไปประมาณ 66,000 ตู้ แต่ขาเข้าประมาณ 15,000 ตู้ ประเด็นที่หนักสุดคือขาเข้าไม่มีสินค้า บริษัทเรือที่จะมาที่นี่จะต้องขนตู้เปล่ามาทิ้งที่นี่ ขาออกไปทำได้ แต่ขาเข้าเป็นเรื่องยากครับ เราก็ต้องเสียเงินที่จะเอาตู้มา จะเอามาจากปีนังหรือจากสิงคโปร์ก็ได้ แต่ต้องมีต้นทุนกับบริษัทมหาศาล การจะขนตู้เปล่าเข้ามาก็เป็นต้นทุนที่ต้องบวกเข้าไป และมันก็ไม่สะดวก ถ้าที่ปากบาราเป็นท่าเรือน้ำลึกแล้ว บริษัทเรือหรือเจ้าของสินค้าจะต้องเสียเงินในการเอาตู้เปล่าเข้ามาค่อนข้างมาก และค่าใช้จ่ายในการแข่งขันที่ว่าเราจะถูกกว่าท่าเรือปีนัง มันก็ไม่เป็นไปตามที่ว่า เพราะที่ใดมีสินค้ามาก ต้นทุนในการขนส่งต่อตู้ก็ถูกกว่า
“ส่วนค่าภาษีที่ท้องถิ่นจะได้ ตู้หนึ่งคิดเป็นรายได้ 3 เปอร์เซ็นต์ของค่าระวางเรือเป็นภาษีที่ท้องถิ่นได้ หรือถ้าประเทศไหนที่มีสนธิสัญญาร่วมกันก็เสียแค่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่าอย่างเก่งที่สุดภาษีที่จะได้กลับสู่ท้องถิ่นก็ประมาณ 50-60 ล้านบาทต่อปี ไม่ใช่เงินจำนวนมาก แต่จะได้คือจำพวกค่าแรงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ถ้ามีนะครับ แต่จากที่พูดมา ไม่ได้พูดถึงการมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องในบริเวณนี้”
สุธรรมมองว่าการที่จะทำให้ท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิดความคุ้มค่าตามที่กล่าวอ้างได้นั้น จำเป็นจะต้องพัฒนาควบคู่กันไปกับการสร้างสะพานเศรษฐกิจที่เชื่อมจากปากบาราไปที่ท่าเรือน้ำลึกสงขลา (อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม) และการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ผลกระทบอีกด้านที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อย่างไรก็ตาม ดร.นลินี ทองแถม จากสถาบันวิจัยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า บริเวณใกล้ชายฝั่งที่จะมีผลกระทบจากการสร้างท่าเรือคือบริเวณเกาะเขาใหญ่ เพราะเป็นจุดที่ใกล้ชายฝั่งมาก ส่วนบริเวณปากคลองปากบาราก็มีทรัพยากรป่าชายเลนค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ มีชาวประมงในพื้นที่ที่เข้ามาทำมาหากิน โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุม
“บริเวณตรัง สตูล มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งประมงค่อนข้างสูง เนื่องจากการหมุนเวียนของกระแสน้ำช่วยในการกระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้น ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ ที่บริเวณเกาะเขาใหญ่ซึ่งเป็นบริเวณที่จะสร้างท่าเรือ กระแสน้ำจะไหลขึ้นข้างบน การสร้างท่าเรือมีการถมทะเลจะทำให้กระแสน้ำและตะกอนที่ไหลจากคลองปากบาราจะมีโอกาสทำให้เกิดการตื้นเขิน โดยสรุปภาพรวมทรัพยากรของที่นี่ แม้จะมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ไม่ได้อุดมสมบูรณ์มากกว่าที่อื่น แนวปะการังหรือหญ้าทะเลก็ไม่ได้มีความกว้างใหญ่เท่าที่ควร จึงขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนัก เพราะการพัฒนาย่อมมากับความสูญเสียอยู่แล้ว แต่ด้านไหนจะหนักกว่ากัน และเราจะเลือกไปทางด้านไหน”
3
ผลประโยชน์ที่ได้จากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องตามมาด้วยการสร้างแลนด์บริดจ์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกจำนวนมากนั้น จะคุ้มค่ากับต้นทุนทุกๆ ด้านที่ลงไปหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบในอนาคต แต่กระบวนการพื้นฐานที่สุดที่เราเน้นย้ำเสมอก็คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนที่จะต้องได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงข้อมูลและเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใส เปิดเผย
แต่ก็ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
ขณะที่ฝ่ายรัฐอ้างว่าได้มีการทำประชาคมหมู่บ้านและชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วย ก็มีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งเสมอที่บอกในทิศทางตรงกันข้าม
วสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อธิบายว่ากระบวนการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราควรเปิดให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น กำหนดประเด็นว่าจะสามารถแก้ไขข้อกังวลของชาวบ้านได้อย่างไร และระหว่างจัดทำการศึกษาก็ต้องมีการเปิดเผยเป็นระยะๆ และเปิดเผยทั้งหมดเมื่อการศึกษาเสร็จสิ้น
“บริเวณที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือมีพี่น้องประมงพื้นบ้านประมาณ 500 ลำ ถ้าไม่ใช่ฤดูมรสุมจะไม่ค่อยมีปัญหา สามารถไปจับที่อื่นได้ แต่ถ้าฤดูมรสุมจะไปหากินไกลไม่ได้ ต้องหาปลาบริเวณปากอ่าวบารา ปัญหาที่ผมได้รับฟังจากคำชี้แจงว่าจะมีการทิ้งปะการังเทียม แต่เคยมีการสำรวจมั้ยว่าพี่น้องประมงพื้นบ้านที่ปากบาราใช้เครื่องมืออย่างไร และแก้ปัญหาเขาได้ถูกจุดหรือไม่ สิ่งเหล่านี้คือความกังวล และเราได้มีมาตรการอะไรรองรับหรือไม่ ผมถามว่าแค่ทำปะการังเทียมเพียงพอหรือเปล่า เราเตรียมมาตรการรองรับชาวประมงพื้นบ้านอย่างไร เนื่องจากวิถีชีวิตที่สั่งสมมากำลังจะเปลี่ยน รายได้ที่ลดลงจะแก้ไขยังไง”
ประเด็นสำคัญอีกข้อที่วสันต์ได้ชี้เอาไว้คือการประเมินผลกระทบดังกล่าว ไม่ควรแยกเป็นส่วนๆ ทั้งที่โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราและท่าเรือน้ำลึกสงขลาเป็นโครงการที่เชื่อมโยงถึงกัน จึงจำเป็นต้องศึกษาเป็นภาพรวมทั้งหมด
“โครงการท่าเทียบเรือหรือโครงการใหญ่ ผมเห็นด้วยในระดับประเทศ แต่เมื่อเป็นระดับประเทศอย่ามองแยกเฉพาะโครงการใดโครงการหนึ่ง ในเมื่อมีท่าเทียบเรือปากบารา มีระบบการขนส่งไปจนถึงท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา ทำไมจึงแยกเป็นส่วน ซึ่งเราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะต้องพิจารณาภาพรวมทั้งหมดให้สอดคล้องกัน ทั้งที่สงขลาและปากบารา จากการตรวจสอบของเรา การรับฟังความคิดเห็นนั้นโดยหลักการต้องให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นกลางเป็นคนจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น แต่ว่าท่าเรือปากบาราทำโดยบริษัทที่ปรึกษา อีกทั้งการให้ข้อมูลจะต้องให้ทั้งด้านลบ ด้านบวก ในระยะเวลาพอสมควร ก่อนที่จะมีการรับฟังความคิดเห็น แต่นี่ไม่ใช่ แล้วรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่เคยเปิดเผยเลย”
…………….
โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ เมื่อเกิดขึ้นย่อมต้องสร้างผลกระทบต่อพื้นที่สูง ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ชุมชน วิถีชีวิต รัฐจึงไม่ควรเร่งร้อนลงมือทำโดยที่ไม่ฟังเสียงผู้คนเล็กๆ ที่อิงอาศัยแผ่นดินและทะเลแห่งนี้
มองในระยะยาวแล้ว ประเด็นหนึ่งที่ละเลยไม่ได้หากจะคำนวณความคุ้มค่าก็คือการท่องเที่ยวและการประมง หากท่าเรือเกิดขึ้นแล้วทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลายแสนล้านของภาคใต้ต้องเสียหาย และการประมงชายฝั่งที่หล่อเลี้ยงผู้คนไปได้อีกยาวนานและยั่งยืนจะต้องล่มสลาย
เราคงต้องคิดกันให้หนักว่าสิ่งที่ได้จะคุ้มกับสิ่งที่ต้องสูญเสียไปหรือไม่
เสียงจากปากบารา
เรามาถึงปากบารา ลัดเลาะไปตามชายฝั่งยามพระอาทิตย์ใกล้ตก หากใครยังไม่รู้ สตูลคือที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย-อุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา-และยังมีสถานที่ทางทะเลสวยๆ อีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเกาะอาดัง ราวี หรือหลีเป๊ะ
ในยามพระอาทิตย์ใกล้ตก เราเดินเลาะริมฝั่งทะเลปากบาราอันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมง เราเจอกับ ฮาบาเด็น ดาโต๊ะสีดาหวัน หนุ่มวัย 29 ชาวประมงพื้นบ้านจากเกาะบุโหลนดอน โดยส่วนตัวเขา เขาบอกว่าไม่อยากให้สร้างเพราะมันจะกระทบการทำมาหากิน แต่เขาก็พูดประหนึ่งจะรู้ว่าถึงที่สุดแล้ว ชาวบ้านตัวเล็กอย่างเขาและคนที่เกาะบุโหลนก็คงห้ามปรามอะไรไม่ได้
“คนเฒ่าคนแก่เขาอยู่อย่างนั้นก็สบายอยู่แล้ว แต่ถ้ารัฐบาลบอกให้ทำ เขาก็ต้องให้ทำอยู่แล้ว จะไปเปลี่ยนได้ยังไง ก็ต้องว่าตามรัฐบาล แล้วเวลาเขาจะสร้าง เขาก็ไม่ได้มาบอกว่าจะสร้าง คนที่รู้ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ใหญ่บ้าน อบต. คนบนเกาะบุโหลนไม่รู้”
พระอาทิตย์คล้อยต่ำลงทุกที เดินไปอีกไม่ไกล แมวสองสามตัวกำลังวิ่งเล่นบนหาดทราย สุนีย์ แก้วจู ชาวประมงพื้นบ้านปากบารา วัย 52 ปี กำลังเผาเศษขยะ เธอคิดคล้ายๆ กับฮาบาเด็น เธอไม่อยากให้สร้างท่าเรือ เพราะนั่นแปลว่าอาชีพที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิมของคนที่นี่จะต้องสิ้นสุด เรือเล็กๆ ติดเครื่องยนต์ไม่กี่แรงม้าที่อาศัยอ่าวปากบาราช่วยโอบอุ้ม อาศัยเกาะเขาใหญ่เป็นเกราะกำบังมรสุม จะต้องล่มสลายลง แม้เธอจะบอกว่ารายได้ในวันที่โชคไม่ค่อยดีและน้ำมันแพงเช่นนี้จะได้แค่ร้อยบาท แต่พรุ่งนี้ มะรืนนี้ก็อาจจะจับได้มากกว่าวันนี้ คอยเฉลี่ยต้นทุนชีวิตให้อยู่กันไปได้ แม้ไม่สุขสบาย แต่ก็ไม่เดือดร้อน
เช้าอีกวันหนึ่ง สายลมส่งเสียงร้องอย่างเป็นสุข ทะเลราบเรียบเหมือนคนนอนหลับ เรารุดไปที่ร้านน้ำชาที่ชาวมุสลิมมักมารวมตัวกันในตอนเช้า เจ้าของร้านน้ำชาบอกกับเราว่าเขาเห็นด้วยกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา พอถามว่าทำไม เขาตอบว่าลูกหลานเรียนจบจะได้มีงานทำอยู่ที่บ้าน แล้วกลัวเรื่องผลกระทบหรือเปล่า
“เรื่องผลกระทบ พอดีคนในหมู่บ้านก็ได้เข้าร่วมประชุมสัมมนาหลายครั้งแล้ว และได้รับฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นน้อยมากกับคนในชุมชน เจ้าหน้าที่บอกว่าต่อไปถึงแม้จะมีท่าเรือก็จริง แต่มลพิษจะมีน้อยมาก เพราะว่ามันมีที่รองรับ น้ำก็มีที่เก็บ เรือที่เข้ามาก็ไม่ได้มาถ่ายน้ำมันบริเวณนี้ มีการควบคุมดูแลอยู่”
บนโต๊ะเดียวกันนั้นเอง ไต๋แหดนั่งจิบกาแฟเหม่อมองท้องทะเลปากบาราที่ยังไม่รู้อนาคต ไต๋แหดคงอดไม่ได้จึงร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยคน
ในฐานะที่ไต๋แหดเป็นเจ้าของเรือประมงขนาดกลาง และสามารถออกเรือไปได้ไกลกว่าปากอ่าวบาราเพื่อจับปลา แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยกับการสร้างท่าเรือปากบารา สำหรับคนบนฝั่งแล้ว ท่าเรือน้ำลึกเป็นเหมือนโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่กับคนทะเลอย่างเขา มันคือหายนะ
“พูดเรื่องเศรษฐกิจบูมนะ คือมันไม่ใช่กับชนชั้นกรรมกรแบบเรา เราไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับตรงนั้น ใครจะมาจ้างไอ้คนแก่อย่างเรา แต่ถ้าปล่อยไว้ เรามีเรือแจวสักลำเราก็พอหากินได้ อย่างเรือประมงชายฝั่งออกไปนี่ ค่าน้ำมัน 2 ลิตร แต่ถ้าท่าเรือน้ำลึกมามันต้องออกให้เลยไปอีก กลับเป็น 2 เท่า 4 ลิตร แล้วเวลาหน้ามรสุมตรงนี้ก็ยังหากินได้อยู่วันละ 4-5 ร้อยบาท ได้กันทุกวัน แต่พอท่าเรือน้ำลึกมามันต้องออกไปฝั่งโน้น ออกไม่ได้แน่นอน เพราะพายุมันเข้า ถ้าบอกว่าประชาชนแบบเราอย่างนี้มีท่าเรือน้ำลึกแล้วมีงานรองรับ แต่น่าจะไม่มีใครจ้างแล้ว ไม่อยากไปเป็นยาม เป็นลูกจ้าง ถามว่าอยากได้มั้ย ความเจริญ ทุกคนอยากได้ความเจริญสู่หมู่บ้าน แต่ถ้าคิดถึงค่าครองชีพ มันก็อยู่ไม่ได้ อย่างพวกเราๆ นี้จะทำกินอะไร
“โครงการแบบนี้ไม่ได้ทำกันปีสองปีใช่มั้ย น้ำมันต้องขุ่น ขุดน้ำ เจาะ ถมทะเล ปลามันหนีหมด แล้วตอนนั้นจะทำงานอะไร ไม่มีหากิน เหมือนเวลามีพายุ น้ำมันขุ่นหมด ต้องรอไป 7 วันกว่าปลาจะเข้ามา แล้วมาตอกเสาเข็มกันเป็นปี เราจะเอาอะไรกินกัน คนบ้านเรามันถนัดทะเล พอเป็นแบบนี้ไม่มีงาน มันลำบาก”
ถามว่ากลัวเรื่องมลพิษมั้ย ไต๋แหดบอกว่าชาวบ้านอย่างพวกเขาไม่คิด คิดแต่เรื่องการทำมาหากิน อาชีพประมงมันยั่งยืนกว่า แก่เฒ่าไปมีวิชาติดตัวก็ยังหากินได้
ขณะที่ หมาด ยานา ผู้ประกอบอาชีพรับนักท่องเที่ยวออกไปตกปลากลางทะเล บอกกับเราว่าอยากให้มีท่าเรือ เขามีเหตุผลเหมือนกับเจ้าของร้านน้ำชาที่ว่าท่าเรือจะนำความเจริญมาสู่หมู่บ้านและลูกหลานมีงานทำ
“แต่ก่อนไปประชุมกัน ชาวบ้านเห็นด้วย แต่เอ็นจีโอเข้ามาเลยทำให้เริ่มเขว เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเอ็นจีโอกับคนทั่วไป ชาวบ้านอยากให้มี เอ็นจีโอไม่ให้มี แต่ไม่มีทะเลาะ คุยกันได้ อยู่กันได้ คุยกันแล้วจบก็คือจบ ก็จำว่าใครคิดยังไง ที่นี่คนเยอะ หลากหลายความคิด แต่ที่เราประเมินก็มีคนอยากได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เรื่องผลกระทบเรื่องการท่องเที่ยว ที่เราไปประชุม เขาบอกว่าไม่กระทบ ล่าสุดก็ไปประชุมที่ละงู หน่วยราชการเขามากัน ประเมินความเป็นไปได้ พวกแกนนำท้องถิ่นก็ไป”
***************
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล