"โรบินฮู้ดในอดีตไปปล้นคนรวยมาช่วยคนจน แต่โรบินฮู้ดยุคใหม่ไม่ต้องไปปล้นใคร แค่ทำสิ่งที่ตัวเองรับผิดชอบให้ดีที่สุด แล้วเอาส่วนหนึ่งที่ตัวเองทำได้มาช่วยเหลือผู้คน ถ้าทุกคนทำได้ ประเทศไทยก็จะเจริญ"
แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ ประธานบริษัท กลุ่มแอดวานซ์ รีเสิร์ช จำกัด หรือเออาร์ เจ้าพ่อวงการไอทีไทย กล่าวคำพูดนี้ที่โรงเรียนบ้านบัว (สระพังวิทยา) จังหวัดสกลนคร ซึ่งรับมอบ "อาคารศูนย์การเรียนรู้พร้อมความสนุก Center of Learning With Fun" แห่งที่สองของมูลนิธิสร้างเสริมไทย CSR หรือโครงการรับผิดชอบต่อสังคมด้านส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาสของเออาร์อายุกว่าสิบปี
ผู้ชายคนนี้เกิดในไต้หวันแต่ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นคนไทย บนจุดยืนคือต้องการตอบแทนสังคมไทยซึ่งเป็นสถานที่ที่เข้ามาพำนักนานกว่า 30 ปี
"ส่วนตัวผมเกิดที่ไต้หวัน มาเมืองไทย 30 ปีพอดี ตอนนี้ฝันยังฝันเป็นภาษาไทยเลย แผ่นดินเกิดผมเลือกไม่ได้ แต่ผมเลือกสถานที่เติบโตได้ ผมเลือกที่จะเติบโตที่นี่ ไทยให้โอกาสผมเติบโตทางธุรกิจ ทุกวันนี้มีบริษัทในเครือกว่า 30 แห่ง มีพนักงานคนไทยกว่า 4,000 คน สิ่งที่ผมเรียนรู้มากที่สุดคือ เราจะต้องเป็นคนให้ไม่ใช่รับอย่างเดียว เพราะสิ่งที่เรารับมา ได้มาจากคนอื่นให้มาทั้งนั้น"
รร.+ครอบครัว+ชุมชน
เจ้าพ่อไอทีอย่าง"แจ็ค"เล่าในฐานะประธานมูลนิธิสร้างเสริมไทย ว่าอาคารศูนย์การเรียนรู้ที่จะมอบให้โรงเรียนบ้านบัวนี้เป็นโครงการต่อเนื่องของมูลนิธิ ที่ต้องการสร้างการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องให้สังคมไทย ระบุว่าพลังของโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน คือสูตรที่จะทำให้กิจกรรมการสร้างการเรียนไม่รู้จบของมูลนิธิสำเร็จผล
"ในอดีต เรามอบคอมพ์ให้โรงเรียนด้อยโอกาส เราพร้อมมอบแต่โรงเรียนไม่พร้อมรับ เช่น ให้ไปแล้วมีคอมพ์แต่ไม่มีโต๊ะ หรือมีคอมพ์แต่ไม่มีครู ครั้งนี้เราเลยคิดใหม่ ให้เป็นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ทั้งนักเรียน ครู ครอบครัว และชุมชน นี่เป็นแนวคิดใหม่วิธีเดียวที่จะสร้างการเรียนรู้ต่อเนื่องได้ ไม่มีใครไม่รักลูกหลาน ถ้าพ่อแม่รู้ก็จะส่งเสริมให้ลูกมาใช้ เมื่อเห็นประโยชน์ของศูนย์นี้ชุมชนก็จะหวงแหน ช่วยกันดูแลเครื่องไม้เครื่องมือและบำรุงรักษาให้ใช้งานต่อไปได้นาน ๆ"
ผ.อ.สุรศักดิ์ ทุมกิจจะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบัว อธิบายว่านอกจากครูและนักเรียนจะได้ประโยชน์จากชั่วโมงการเรียนการสอนปกติภายในศูนย์ จะมีการเปิดให้คนในชุมชนเข้ามาใช้งานฟรีช่วง 18.00 ถึง 20.00 น.และเสาร์อาทิตย์ด้วย โดยอาจเก็บค่าบำรุง 100 บาทต่อปีเพื่อเป็นค่าไฟและค่าดูแลศูนย์
"ศูนย์นี้จะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้สื่อใหม่ เชื่อว่าจะสามารถเรียนคอมพิวเตอร์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม 60 เปอร์เซ็นต์ อยากให้มีแนวคิดแบบนี้มากๆ อยากให้คนตระหนักถึงเรื่องนี้ ผมดีใจและตื่นเต้นมาก เมื่อคืนไม่ได้หลับไม่ได้นอน ขอขอบคุณ และจะใช้ศูนย์ที่ได้รับมาให้เกิดคุณค่าสูงสุด"
คุณครูเกศินี เห็นหลอด คุณครูสอนวิชาภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนบ้านบัวให้สัมภาษณ์ว่า ห้องคอมพิวเตอร์เดิมของโรงเรียนมีห้องเดียวต่อนักเรียน 368 คน ภายในมีคอมพิวเตอร์ซึ่งจัดซื้อมาตั้งแต่ปี 2540
"เราต้องสลับชั่วโมงเรียนกัน การเรียนการสอนที่ผ่านมาใช้วิธีให้เด็กที่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้านเป็นตัวหลักในการทำให้เพื่อนดู ช่วงป.1-2 จะให้เด็กใช้สื่อการสอน ป.3-4 จึงเริ่มหัดใช้โปรแกรม Paint วาดรูป และ ป.5-6 จะเริ่มสอนโปรแกรมออฟฟิศ อาคารนี้ช่วยเสริมการเรียนเรื่องอินเทอร์เน็ตได้ดี"
ในพิธีส่งมอบอาคาร แจ็คกล่าวด้วยว่าจะส่งทีมงานมาตรวจสอบ ว่าชาวบ้านบัวสามารถรักษาอาคารศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ได้ดีหรือไม่
"วันนี้ผมตื่นตีสี่เพื่อมาสกลนคร เมื่อมาแล้วรู้สึกดีใจและไม่ผิดหวังที่จะมอบศูนย์การเรียนนี้ให้ ขอให้ช่วยกันดูแล ต่อไปผมจะส่งคนมาตรวจ ทำดีผมจะส่งเสริม คอมพ์หมดอายุผมจะต่อให้ หนังสือใหม่ดีๆก็จะส่งมาให้ ในทางกลับกัน ถ้าทางชุมชนหรือโรงเรียนไม่ได้ทำอะไรเลย ผมจะเก็บปัญหาไปวิเคราะห์กับการสร้างศูนย์ในที่อื่นๆด้วย"
นอกจากอาคาร โรงเรียนจะได้รับคู่มือวิธีการดูแลรักษาศูนย์ ซึ่งส่วนประกอบในอาคารถาวร 2 ชั้นนี้ ชั้นล่างคือส่วนห้องสมุดหนังสือใหม่ซึ่งมีมุมสบายให้เด็กๆได้อ่านหนังสืออย่างเพลิดเพลิน ชั้นบนคือห้องเรียนรู้ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์-อินเทอร์เน็ต ซึ่งมีคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ SVOA จำนวน 9 เครื่องพร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครื่องปรับอากาศ โต๊ะ เก้าอี้มากกว่า 25 ตัวติดตั้งอยู่ งบประมาณก่อสร้างราว 1.5 ล้านบาท
ไม่ใช่ว่าขายคอมพ์เลยแจกคอมพ์
"ไม่ใช่เพราะเราขายคอมพ์ถึงมาแจกคอมพ์ คือถ้าช่วยด้วยเงิน เช่นเลี้ยงอาหารกลางวัน นั่นก็จำเป็นแต่มีคนทำเยอะแล้ว แต่การสร้างความรู้ต่อเนื่อง ทั้งในญี่ปุ่นหรือ US ปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องมือมีส่วนสำคัญในการเรียนรู้มาก เราเชื่อว่านี่คืออนาคต อีกอย่างมันเหมือนกับถ้าคุณเป็นหนึ่งจิ๊กซอว์ของไทย แล้วคุณไม่ทำ CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคม ภาพประเทศไทยก็จะไม่มีวันสมบูรณ์ ผมถึงบอกว่าที่ผมทำมันนิดเดียว แต่อย่าลืมนะ นิดเดียวหลายๆคน เหมือนทรายเล็กๆที่เมื่อผสมกับปูนก็ก่อตัวเป็นตึกอาคารได้ สำคัญคือความรู้เป็นเรื่องระยะยาว ไม่ใช่เรื่องปากท้อง"
โรงเรียนบ้านบัวเป็นหนึ่งในหลายโรงเรียนที่ส่งใบสมัครเพื่อให้มูลนิธิสร้างเสริมไทยพิจารณามอบศูนย์การเรียนรู้ให้ แจ็คบอกว่า คุณสมบัติของโรงเรียนที่จะได้รับการคัดเลือกคือต้องเป็นโรงเรียนห่างไกล และต้องมีความพร้อม ทุกใบสมัครจะต้องแนบแผนดำเนินงานมาแสดงกับมูลนิธิ แผนใดสวยงามที่สุดจะได้ต้องผ่านการสัมภาษณ์ โดยอาคารหลังแรกส่งมอบให้แก่โรงเรียนวัดบางหอย จังหวัดนครนายกไปแล้วเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
"งานของมูลนิธิจะแบ่งออกเป็น 2 สายคือให้ห้องเรียนและสร้างตึก ถ้าโรงเรียนพร้อมจะให้คอมพิวเตอร์เลย แต่ถ้าโรงเรียนพร้อม คนพร้อม ชุมชนยินดีมีส่วนร่วมก็ให้อาคาร อย่างที่สกลนคร ผ.อ.ที่นี่กระตือรือร้นกับโครงการนี้มาก ผู้ใหญ่บ้านก็มาเซ็นต์รับมอบอาคารด้วย สำคัญคือโรงเรียนต้องมีใจรักการพัฒนา ชุมชนต้องกล้ากำกับดูแล รร.ทำไม่ดีก็รายงานผม เพื่อให้ศูนย์นี้ได้ประโยชน์สูงสุด เป้าหมายของมูลนิธิคือ ทุก 76 จังหวัด อย่างน้อยต้องมี 1 อำเภอที่มีศูนย์นี้ สำหรับห้องคอมพิวเตอร์คาดว่าจะบริจาค 5 ที่ต่อปี"
แจ็คบอกว่า ความประทับใจตลอด 10 ปีที่เป็นประธานมูลนิธินี้มาอยู่ที่รอยยิ้มของเด็ก อุปสรรคคือความลำบากใจ
"ผมประทับใจรอยยิ้มของเด็ก ผมคิดว่ามันเป็นรางวัลของชีวิต ผมคิดว่าความสุขจากการได้กับการให้ ผมคิดว่าการให้มีความสุขมากกว่า แต่ที่เราเป็นห่วงคือ ทุกคนขาดแคลน ใบสมัครมีเข้ามาเยอะมากจนเราลำบากใจ เช่นขอมา 50 ได้แค่ 5 การจะมอบอะไรให้ใคร ผมก็อยากให้ แต่ถ้าชุมชนไม่พร้อม ผมว่าอันตราย ทำร้ายทั้งชุมชน ทั้งคนบริจาคเงินให้กับมูลนิธิ เพราะเรารับเงินเค้ามาก็ต้องบริหารให้คุ้มค่า อุปสรรคอีกอย่างคือ แต่ละโรงเรียนไกลมาก การควบคุมมาตรฐานการก่อสร้างทำได้ยาก"
แจ็คทิ้งท้ายเหมือนคนในอุตสาหกรรมไอทีไทยเคยพูดไว้ ว่าคนไทยนั้นเก่งแต่ขาดเวที แจ็คบอกว่าสิ่งที่เขาสร้างในวันนี้คือเวทีที่จะให้คนไทยสามารถเรียนรู้อย่างสนุก และแม้แจ็คจะไม่ได้ดูแลศูนย์นี้โดยตรง แต่เพียงได้รู้ว่า คนในชุมชนห่างไกลสามารถมีความสุขในสิ่งที่เขาทำ นั่นคือความภูมิใจสูงสุดแล้ว
"วันนี้ที่ผมทำคือหน้าที่ผม ที่ผมทำไม่มีอะไรพิเศษแต่มันเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะทำ ถ้านักธุรกิจอุตสาหกรรมในไทยหลายๆคนคิดแบบนี้และทำแบบนี้ ประเทศไทยคงจะดี"