xs
xsm
sm
md
lg

คนหลังกำแพง HIV คำถามของ Joker

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอคอยสูงแห่งเรือนจำกลางบางขวาง
มีเรือ 2 ลำลอยอยู่กลางแม่น้ำ มีคนเต็มทั้งสองลำ มีระเบิดอยู่ในเรือทั้งสองลำ แค่กดปุ่ม ก็จะมีดอกไม้ไฟดอกใหญ่และการย่อยสลาย กติกาของเกมมีอยู่ว่าในเรือแต่ละลำมีสวิตช์กดระเบิดของเรืออีกลำ เมื่อคนในเรือลำหนึ่งกดสวิตช์ เรืออีกลำจะย่อยสลายลงก้นแม่น้ำ ส่วนเรือลำที่กดสวิตช์ระเบิดจะรอด แต่ถ้า 1 ชั่วโมงผ่านไปยังไม่มีเรือลำไหนกดสวิตช์ เรือก็จะระเบิดทั้งสองลำ

แต่เงื่อนไขที่สุนกที่สุดของเกมนี้คือ เรือลำหนึ่งบรรทุกประชาชนคนธรรมดาเต็มลำ ส่วนอีกลำมีนักโทษอุกฉกรรจ์เต็มลำ

...คนในเรือลำไหนควรตาย ลำไหนควรมีชีวิตอยู่ต่อไป?

ในกำแพง

กำแพงคอนกรีตหนาและสูง ประดับประดาความอึดอัดด้วยลวดหนาม มีกระแสไฟฟ้าวิ่งพล่านอยู่ในเส้นลวด มันเป็นพรมแดนทางรูปธรรมที่ใหญ่โตซึ่งกั้นกลางระหว่างโลกที่เรารู้จักกับโลกที่เราไม่รู้จัก ขณะที่พรมแดนทางนามธรรมภายในจิตใจเราที่มโหฬารกว่าคอยกั้น ‘เรา’ ที่อยู่ข้างนอกออกจาก ‘เขา’ ที่อยู่ภายในอีกชั้นหนึ่ง

เรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำที่ใหญ่ที่สุดและมีระบบความปลอดภัยแน่นหนาที่สุดของไทย แดนทั้ง 17 แดนของมัน กักขังนักโทษชายกว่า 4 พันคน ซึ่งล้วนถูกพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจนถึงประหารชีวิต

เราผ่านประตูใหญ่แข็งแรงสีเหลืองชั้นแรก ถูกตรวจค้นร่างกาย ผ่านประตูใหญ่แข็งแรงสีเหลืองชั้นที่ 2 อีกครั้ง จึงเรียกว่าได้ก้าวเข้าสู่เรือนจำบางขวางโดยสมบูรณ์ เดินเลาะตามแนวกำแพงมุ่งหน้าสู่แดน 12 ซึ่งเป็นแดนพยาบาล

รู้สึกเหมือนกับว่าน้ำหนักและแรงกดอากาศข้างในนี้ดูจะเพิ่มขึ้นมหาศาลอย่างไร้สาเหตุ มันกดทับจนเราอึดอัด หรือจะเป็นการเตรียมตัวก่อนที่เราจะไปพบกับเรื่องที่ชวนอึดอัดยิ่งกว่า

ถ้าการติดคุกเป็นเรื่องที่เลวร้ายเกินแบกรับอยู่แล้ว การที่ผู้ต้องขังบางคนยังมีเชื้อเอชไอวีคอยกร่อนกินชีวิต คงเป็นความเลวร้ายแบบยกกำลังสอง

แต่บางคนมองว่ามันคือกรรมที่สมควรได้รับการชดใช้อย่างสาสม

ทั้งหมดนี้ขมวดปมเป็นคำถามเชิงจริยศาสตร์ที่ท้าทายเราทุกคน โดยเฉพาะบุคลากรสาธารณสุข คำถามที่ว่า-คนพวกนี้เป็นนักโทษ เป็นคนผิด เป็นอาชญากรที่สมควรได้รับโทษ แล้วทำไมจะต้องรักษาคนพวกนี้

ความตายของคนไม่ดี

ก่อนหน้าปี 2547 โรงพยาบาลเรือนจำกลางบางขวางหรือแดน 12 เป็นเหมือนที่พักพิงรอวันสุดท้ายของผู้ติดเชื้อ ขณะที่โลกภายนอก ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้ แต่ไม่ใช่สำหรับผู้ต้องขังในบางขวาง ไม่มียาต้านไวรัสกระเส็นกระสายเข้ามา ผู้ต้องขังที่ติดเชื้อจึงถูกโรคฉวยโอกาส-วัณโรค ปอดอักเสบ เชื้อราเยื้อหุ้มสมอง-รุมทำร้าย

ในช่วงนั้นมีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตเฉลี่ยเดือน 5-6 คน แม้ว่าหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะครอบคลุมยาต้าน แต่ผู้ต้องขังข้างในกลับต้องหาซื้อยาเอง นักโทษบางคนที่ติดเชื้อมาจากข้างนอก และแม้ว่าจะขอให้ทางบ้านซื้อส่งเข้ามาให้ แต่การกินยาต้านจำเป็นต้องมีความรู้ มีการเตรียมพร้อมและวางแผนก่อนการกินยา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัย แต่ผู้ต้องขังที่มียากลับไม่รู้ข้อมูลเหล่านี้ เป็นเหตุให้นักโทษบางคนต้องเสียชีวิตทั้งที่มียา

ทางสถานพยาบาลจึงพยายามหาความร่วมมือจากภายนอกที่จะเพิ่มข้อมูล ความรู้เกี่ยวเชื้อเอชไอวี ยาต้านไวรัส และการดูแลผู้ติดเชื้อจากโรคฉวยโอกาส บวกกับความร่วมมือของ องค์กรหมอไร้พรมแดน-เบลเยียม (ประเทศไทย) ที่ต้องการเข้ามาทำงานกับผู้ติดเชื้อในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังที่ติดเชื้อสามารถเข้าถึงการรักษาได้ โดยการทำงานจะเริ่มต้นจากการอบรมเพื่อปรับทัศนคติและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์เป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจึงตามด้วยการปฏิบัติจริงในการให้การรักษา

“ที่เราทำงานกับผู้ต้องขังเพราะเราคิดว่าผู้ต้องขังก็คือมนุษย์คนหนึ่ง เขาควรได้รับการรักษาเหมือนคนทั่วๆ ไป และการที่เราได้มีโอกาสคุยกับผู้ต้องขัง เราพบว่าการอุทิศชีวิตของคนคนหนึ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นคุณค่า กลับมาเป็นผู้ที่ให้คุณค่าแก่คนอื่น นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง” ชวชล บุณโยประการ เจ้าหน้าที่จากองค์กรหมอไร้พรมแดนฯ พูดถึงสาเหตุที่ต้องให้การรักษาแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งคนภายนอกอาจมองว่าไม่จำเป็น

เล่ากันว่าในการอบรมกลุ่มครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลถูกผู้ต้องขังชี้หน้าว่า จะจัดอบรม เข้ากลุ่ม ทำกิจกรรมเพื่ออะไร เพราะถ้าไม่มียาให้ จะอบรมกี่พันครั้งก็ต้องตายอยู่ดี

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์แล้ว เหตุการณ์นี้คือคำสบประมาท คำสบประมาทที่ผลักให้พวกเขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้นักโทษผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงยาให้ได้ เกิดเป็นความพยายามที่จะติดต่อขอยาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่คำตอบที่ได้ ‘คนพวกนี้เป็นคนไม่ดี จะไปให้ยาทำไม’ และนี่คือเรื่องสั้นๆ ของผู้ต้องขังคนหนึ่งที่เคยถูกปฏิบัติด้วยวิธีคิดที่ว่า เมื่อเป็นคนไม่ดีแล้ว เรื่องอื่นก็ไม่ต้องเสียเวลา

ผู้ต้องขังเอ (นามสมมติ) ถูกย้ายมาที่บางขวางตอนปี 2548 ในสภาพที่เรียกว่า แค่ความตายกวักมือเรียกอีกสองสามที เขาก็คงเดินตาม นี่คือสภาพที่เขาเจอในเรือนจำก่อนหน้านี้

“ผมมาถึงนี่ก็มานอนเลย ตอนอยู่ที่เดิมผมบอกว่าผมป่วย เป็นวัณโรค แต่ผู้คุมไม่เชื่อ บอกว่าติดเชื้อเขาก็ไม่ตรวจ บอกแต่ว่าต้องเสียเงินตรวจเอง ที่นั่นมีคนเป็นวัณโรคเยอะ แต่ก็ไม่แยกคนป่วย ไม่ตรวจ กลางคืนพอป่วยหนักๆ เรียกนาย (หมายถึงผู้คุม) ก็มาบ้าง ไม่มาบ้าง ไม่ให้ยากิน ปล่อยให้นอน แต่พอมาอยู่ที่บางขวางก็ดีขึ้น”

ผู้ต้องขังเอ มาถึงบางขวางด้วยระดับภูมิคุ้มกัน (CD4) แค่ 8 ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ทำให้ตอนนั้นเขาถูกวัณโรค ไวรัสขึ้นตา และเยื้อหุ้มสมองอักเสบเล่นงาน เขาต้องรับยาอยู่ระยะหนึ่งอาการจึงดีขึ้นเป็นลำดับ และมานั่งพูดคุยกับเราได้ เป็นโชคดีของผู้ต้องขังเอที่มาในช่วงที่บางขวางมียา มีหมอ ถ้ามาก่อนหน้านั้น...

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 มีการจัดประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข ช่วงนั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังริเริ่มโครงการยาต้านถ้วนหน้า มีคนชวน บุญยัง ฉายาทับ พยาบาลวิชาชีพประจำสถานพยาบาลเรือนจำบางขวาง ประจำงานผู้ป่วยวัณโรคและเอดส์ ให้ไปเข้าร่วมงาน

บุญยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักคนหนึ่งของทีมสถานพยาบาลในการผลักดันให้ผู้ต้องขังติดเชื้อสามารถเข้าถึงยา วันนั้น เขาลุกขึ้นยืนแสดงความคิดเห็น บอกว่าเขามาจากไหนและต้องการยาไปเพื่ออะไร คนในที่ประชุมมองหน้าเขาด้วยความสงสัย

“ตอนนั้นผมอึดอัดมาก ร้องไห้เลย”

วันนี้ มีผลการศึกษาระบุว่าสถานพยาบาลเรือนจำบางขวางประสบความสำเร็จในการดูแลผู้ต้องขังติดเชื้อ และสามารถเป็นต้นแบบให้เรือนจำอื่นๆ ได้ แต่กว่าจะถึงวันนี้...

ทุบกำแพง

จากผลการศึกษา พบว่ามีสาเหตุ 3 ข้อที่ทำให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีของผู้ต้องขังในเรือนจำกลางบางขวางคือ หนึ่ง-การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่มีการป้องกันหรือป้องกันไม่ถูกวิธี สอง-การใช้เข็มหรืออุปกรณ์การใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นร่วมกัน และสาม-การสักยันต์และลายตามร่างกาย โดยไม่ได้ทำความสะอาดอุปกรณ์ แต่สาเหตุสำคัญที่ได้จากการสรุปร่วมกันของเจ้าหน้าที่หลายๆ ฝ่ายคือสาเหตุข้อแรก

แม้เราจะมาจากโลกของคนนอกกำแพง เข้ามาในโลกของคนหลังกำแพง แต่ที่น่าแปลกก็คือทัศนคติเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของคนทั้งสองโลกกลับมีความคล้ายคลึงกันไม่น้อย เช่น เชื่อว่าคู่ของตนไม่มีเชื้อ ไม่มีความรู้ในการป้องกัน มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการใช้ถุงยาง ไม่กล้าต่อรองกับคู่นอน เป็นต้น ที่จะแตกต่างกันอยู่บ้างก็คือ การขาดแคลนถุงยางอนามัย การมีเพศสัมพันธ์ภายในคุกเป็นเรื่องที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ จึงทำให้มีผลต่อการเตรียมตัวป้องกัน หรือกับคนที่หมดอาลัยตายอยาก ไม่คิดว่าจะได้มีชีวิตที่เหลืออยู่นอกกำแพงอีก คนกลุ่มนี้ก็ไม่เห็นว่าจะต้องป้องกันไปทำไม

ไม่ใช่ทัศนคติของผู้ต้องขังเท่านั้นที่เป็นอุปสรรค ทัศนคติของเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ทับซ้อนเข้ามา

ก่อนอื่นเราคงต้องยอมรับในเบื้องต้นว่า ไม่ว่าเราจะยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายได้หรือไม่ แต่มันก็คือสิ่งที่ดำรงอยู่จริงในเรือนจำ เมื่อการมีเพศสัมพันธ์เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อ การเข้าถึงถุงยางอนามัยของนักโทษจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

แม้การให้ความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติของนักโทษจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่คงดูเหมือนมีอะไรหายหกตกหล่นไป ถ้ากระบวนการนี้ไม่เกิดขึ้นกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพราะแม้ว่าถุงยางอนามัยจะไม่ใช่สิ่งต้องห้ามในเรือนจำอีกต่อไป แต่ทัศนคติของผู้คุมก็ยังปฏิเสธและยอมรับได้ยากในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ต้องขัง และต้องทำหน้าที่เป็นผู้แจกจ่ายถุงยางอนามัยให้แก่นักโทษด้วยตัวเอง

“ตอนเริ่มต้นทำงาน ยาก จะมีคนคอยบ่น คอยเบรก คอยต่อต้าน เจ้าหน้าที่ก็รังเกียจพวกนักโทษที่ติดเชื้อ ไม่ให้ความร่วมมือ ต่อว่าเราว่าส่งเสริมให้นักโทษมีเพศสัมพันธ์” บุญยังเล่า

การจัดอบรม จัดกิจกรรมกลุ่มอย่างต่อเนื่องให้แก่นักโทษและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในเรือนจำ ค่อยๆ ขัดเกลากำแพงแห่งความเชื่อและอคติของทุกฝ่ายลง บอกไม่ได้หรอกว่ามันพังทลายหายไป แต่มันก็เบาบางลงจนสองฝ่ายมองเห็นหน้า เห็นใจกันได้

คนทุกคนมีความหวัง

ขณะที่ผู้คุมเข้าใจและเห็นความสำคัญของปัญหา ด้านนักโทษเองก็ตระหนักว่าผู้ติดเชื้อเป็นคนคนหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ประหลาดที่แค่เข้าไปคุยแล้วก็จะติดเชื้อไปด้วย ผนวกกับมีการรักษาความลับของผู้ติดเชื้อที่รัดกุมมากขึ้น ความรังเกียจเดียดฉันท์จึงลดน้อยลง ไม่เหมือนก่อนที่เวลาเห็นใครส่อว่าจะเป็นเอดส์ก็มีอันต้องถูกอัปเปหิออกจากกลุ่ม ไม่ก็ต้องถูกส่งมาสถานพยาบาลร่ำไป ดังคำบอกเล่าของบุญยัง

“แต่ก่อนนี้ถ้าใครติดเชื้อ แป๊บเดียว แค่ครึ่งชั่วโมงก็รู้กันหมดทั้ง 17 แดน นักโทษคนนั้นจะถูกรังเกียจ ไม่มีใครยุ่งด้วยเลย แต่เดี๋ยวนี้จะไม่มีใครรู้ เราจะปิดเป็นความลับ และใช้รหัสในการติดต่อแทน

แต่เดิมที่มีผู้ติดเชื้อเดิมอยู่ประมาณ 100 กว่าคน เมื่อมีโครงการนี้เข้ามา มีการขึ้นคัตเอาต์ว่าตรวจเลือดฟรี แจกยาต้านฟรี และเก็บข้อมูลเป็นความลับ จึงทำให้มีนักโทษมาตรวจเกือบ 300 คน

อย่างไรก็ตาม เรือนจำก็เป็นเรือนจำวันยันค่ำ ย่อมต้องมีข้อจำกัดในระดับหนึ่ง การผลักภาระให้เจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นผู้ดูแลเองทั้งหมดออกจะดูตลกเกินควร นายแพทย์มานพ ศรีสุพรรณถาวร ผู้อำนวยการสถานพยาบาลเรือนจำบางขวาง จึงได้ริเริ่มแนวคิดที่จะดึงผู้ต้องขังให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา เพื่อส่งผ่านข้อมูลและคอยดูแลผู้ต้องขังคนอื่นๆ เกิดเป็น ‘อาสาสมัครประจำแดน’ หรือ อสด.

กับคนข้างนอกการเป็นอาสาสมัครเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง กับคนข้างในการเป็นอาสาสมัครเป็นยิ่งกว่านั้น มันเป็นสิ่งมีค่า มันฉุดความเคารพตัวเองกลับคืนมาหลังจากสาบสูญไปเมื่อพวกเขาเข้ามาที่นี่ มันดึงความหวังแห่งอิสรภาพกลับคืนมาหลังจากเสียงประตูคุกพลัดพรากมันไปจากพวกเขา แน่นอน เราไม่รู้ได้จริงๆ หรอกว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เราเพียงแค่รู้สึกได้จากแววตา น้ำเสียง และคำพูด

“เราตรวจเจอตอนปลายปี 47 ตอนแรกช็อกเลย อยากตาย ตอนนั้นป่วยเป็นวัณโรค แต่ก็เพราะการอบรมนี่แหละที่ทำให้เราเปลี่ยนความคิด เพราะยังมีคนที่แย่กว่าเรา มีคนที่เป็นเอดส์แต่ก็ไม่ตาย ถ้าดูแลตัวเองดีๆ แล้วอยู่ที่นี่เราเป็น อสด. อยู่ข้างนอกเราไม่ได้ทำให้พ่อแม่ อยู่ในนี้เราได้ทำให้คนอื่นบ้าง ก็คิดซะว่าเราทำให้พ่อแม่เรา”

ผู้ต้องขังแอล (นามสมมติ) เขา...หรือเธอ เธอเป็น Lady Boy ที่ติดคุกในข้อหายาเสพติด เธอเข้าร่วมการอบรมอย่างสม่ำเสมอ พูดก็พูดเถอะ ทั้งที่อยู่ในที่แบบนี้ แต่เธอมีความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ เผลอๆ จะมากกว่าคนที่อยู่ข้างนอกเสียอีก เดี๋ยวนี้เธอจะประจำที่สถานพยาบาลคอยทำหน้าที่ ให้ข้อมูลความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคเอดส์แก่ผู้ป่วยและผู้ต้องขัง ดูแลการกินยาต้านไวรัสของผู้ติดเชื้อ เรื่อยไปถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับยาต้าน การติดตามทั้งก่อนและหลังการกินยา รวมถึงคอยให้กำลังใจเพื่อนๆ ผู้ต้องขัง

“ในคุกไม่มีใครให้เกียรติกะเทยหรอก เราก็เหมือนขยะที่เขาเอาไปกองๆ ไว้ที่หนึ่ง แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เรายอมรับตัวเองได้ งานนี้มันเอาความสามารถออกมาวัดกัน ไม่ได้ดูว่าเราเป็นใคร เราชนะ เรายืดอก เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด” เสียงภาคภูมิใจจากผู้ต้องขังแอล

ผู้ต้องขังที (นามสมมติ) เขาเป็นคริสเตียนที่ชีวิตสะดุดจนต้องเข้ามาอยู่ที่นี่ เขาติดเชื้อเอชไอวีจากข้างนอก แต่เขาก็เข้ามาอยู่ที่นี่ในสภาพที่ไม่ต่างจากผู้ต้องขังเอ วัณโรคกินเขาเสียแทบหมดลมหายใจ เขาถูกส่งเข้าสถานพยาบาลบางขวางแบบมีสายน้ำเกลือระโยงระยางยื้อชีวิต แต่เขามีลูกสาว 3 คนรออยู่ข้างนอก...

“ผมห่วงลูก พวกเขาเคยบอกผมว่าจะรอพ่อ ตอนนั้นผมอาการแย่มาก คืนหนึ่งผมอธิษฐานกับพระเจ้าว่า ถ้าผมลืมตา แล้วผมยังรอด ผมจะเอาสายยางออก จะกินยา จะดูแลตัวเอง”

เขากินยาต่อยตีกับวัณโรคอยู่ระยะหนึ่งจึงเริ่มรับยาต้านไวรัส อาการก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ออกกำลังกาย น้ำหนักเพิ่ม เดินเหินได้ ตอนนี้เขามี CD4 อยู่ที่ระดับ 980 (เป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะคนทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อจะมีค่า CD4 ที่ประมาณ 700-1,000 กว่าๆ) หลังจากนั้น บุญยังก็ถามว่าเขาเป็น อสด. ไหวมั้ย เขาตอบตกลง

ผู้ต้องขังเอพูดกับเราว่า ถึงเขาจะติดเชื้อ แต่เขาก็ไม่ได้แพร่ให้คนอื่น เขายังทำประโยชน์ได้ ยังให้คำปรึกษา ให้ความรู้กับเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นได้

“ผมรู้สึกดีที่ได้เป็น อสด. เพื่อนในนี้บางคนท้อแท้ แต่ผมไม่ ผมก็บอกว่าตาย ใครๆ ก็ตาย แต่ถ้ายังอยู่ เรายังมีโอกาสออกไป มียาก็กิน รอวันออกไปเจอลูก เมีย”

ความตั้งใจของผู้ต้องขังเอเมื่อได้รับอิสรภาพ เขาจะหาเงินให้ลูก ตอนนี้คนโตอยู่ ป.6 คนเล็กอยู่อนุบาล

“ครั้งหนึ่งศาลบอกว่าเราผิด เราเป็นอาชญากร เรายอมรับ แต่เราอยากเป็นคนดีอีกครั้งหนึ่ง เราอยากมีพ่อ มีแม่ ทำไมไม่ให้โอกาสเรา ทุกวันนี้เราต้องเก็บขี้ เก็บเยี่ยวให้คนอื่น เราเสียใจ เราอยากเก็บให้พ่อ ให้แม่เราบ้าง” ผู้ต้องขังแอลระบายความในใจ ปัจจุบัน เธอเรียนทางไกลด้านการเกษตรกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หวังว่าเมื่อพ้นโทษ เธอจะหางานทำ จะยังคงเป็นแกนนำและคอยช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ

คนทุกคนมีความหวัง...

ดำเนินต่อไป

“ทุกวันนี้พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นเดือนละ 1-2 ราย” เราสงสัยกับข้อมูลนี้จึงถามกลับบุญยังว่าทำไม “การมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่ได้หมายความว่าการป้องกันไม่ได้ผล แต่เป็นได้ว่าผู้ต้องขังมีเชื้ออยู่ก่อนแล้วและเพิ่งจะตรวจพบ”

ฟังแล้วน่าตกใจ แต่จริงๆ ไม่ใช่ การตรวจพบแต่เนิ่นๆ หมายความว่าผู้ติดเชื้อสามารถได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ต้องทำความเข้าใจว่าผู้ติดเชื้อไม่ใช่ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทุกประการ เพียงแต่ต้องกินยาต้านอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เชื้อร้ายเหิมเกริม ส่วนผู้ป่วยคือคนที่ถูกโรคฉวยโอกาสเล่นงานจึงทำให้มีอาการ ซึ่งหากระบบการดูแลผู้ต้องขังยังเป็นเหมือนเมื่อก่อน ผู้ติดเชื้อร้อยกว่าคนในบางขวางอาจอยู่ในสภาพหายใจรวยริน

ผลของความสำเร็จที่ได้สะท้อนให้เห็นจากอัตราการตายที่ลดลงมาก เฉลี่ยไม่เกิน 2 คนต่อปีซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่ได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีหรือป่วยหนักมาก่อน ขณะที่ผู้ต้องขังก็สามารถเข้าถึงบริการถุงยางอนามัยเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงทุกวันนี้ เรือนจำกลางบางขวางจะประสบความสำเร็จในการดูแลผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ และสามารถเป็นต้นแบบให้แก่เรือนจำอื่นๆ ได้ แต่กระบวนการต่างๆ ยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะอุปสรรคทั้งเก่าและใหม่ก็ยังคงมีมาให้แก้เสมอ ทั้งยังมีผู้ต้องขังใหม่ๆ ที่ย้ายเข้ามา จึงจำเป็นต้องจัดอบรมให้ความรู้ ข้อมูลกันเรื่อยๆ ไหนจะเรื่องการติดตามผู้ติดเชื้อรายอื่นๆ ที่ย้ายไปเรือนจำอื่นหรือถูกปล่อยตัว ซึ่งยังคงเป็นเรื่องยากที่จะติดตามได้ในขณะนี้

นอกกำแพง

คนที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Dark Knight ทราบดีว่าคำถามเรื่องเรือ 2 ลำของ Joker ลงเอ่ยอย่างไร แต่ถ้ามีใครเล่นพิเรนทร์แบบนี้จริงๆ เราไม่ค่อยเชื่อนักว่าคำตอบจะออกมาเหมือนในหนัง

ส่วนในโลกของความเป็นจริง หลายคำถามไม่ได้โหดหิน ซับซ้อน และมีกติกายากๆ ขนาดนั้น แต่ที่ทำให้ตอบยาก บางทีอาจเป็นเพราะกำแพง...หนาและสูงเกินไป

เสียงประตูใหญ่แข็งแรงสีเหลืองชั้นนอกสุดปิดลง เรากลับสู่โลกนอกกำแพงที่เราคุ้นเคย เสียงผู้ต้องขังทียังดังแว่วๆ...

“ผมยังอธิษฐานทุกคืน อธิษฐานให้ทุกคน”

***************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
บรรยากาศในสถานพยาบาลประจำเรือนจำ
บุญยัง ฉายาทับ พยาบาลวิชาชีพประจำสถานพยาบาลเรือนจำบางขวาง ประจำงานผู้ป่วยวัณโรคและเอดส์
นายแพทย์มานพ ศรีสุพรรณถาวร ผู้อำนวยการสถานพยาบาลเรือนจำบางขวาง
ป้ายอธิบายและให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วย

กำลังโหลดความคิดเห็น