วิธีคิดและที่มา ที่ไป ของเจ้าของธุรกิจรายนี้ พูลพัฒน์ โลหชิตรานนท์ มีเรื่องราวน่าสนใจยิ่ง การก้าวสู่เส้นทางผู้ประกอบการของเขามีจุดเล็กๆบางอย่างที่ดูยิ่งใหญ่ ขยายพลังก่อให้เกิดแรงบันดาลใจสำหรับใครหลาย ๆ คนที่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง
ปัจจุบันพูลพัฒน์อายุ 40 ปี แต่ผันตัวเองเป็นเจ้าของกิจการตั้งแต่อายุ 24 ปี ด้วยเงินทุนเพียง 50,000 บาท อายุแค่ยี่สิบกว่า ๆ เงินทุนเพียงไม่กี่หมื่นบาทยังไม่น่าสนใจเท่ากับ เขานำเศษวัชพืชที่ไร้ค่าด้วยทุนเพียงไม่กี่บาท มาสร้างเป็นสินค้าส่งออกมีรายได้กลับมาเป็นร้อยล้านบาท ที่สำคัญ ธุรกิจของเขากลายเป็นแบรนด์ดังในต่างแดนที่น้อยคนจะรู้ว่าจะเป็นฝีมือของคนไทย
เส้นทางสู่เงินล้าน
พูลพัฒน์ เป็นเจ้าของธุรกิจระดับเอสเอ็มอี ทำสินค้า ประเภท Potpourri หรือ พฤกษาพรรณอบหอม ภายใต้แบรนด์ บอนานิก (Botanique) เน้นรับออดอร์ผลิตสินค้าส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
เขาเล่าว่า เส้นทางสู่ผู้ประกอบการเริ่มขึ้นเมื่อ 16 ปีก่อน เขาก็เหมือนคนหนุ่มธรรมดาทั่วๆไป ไม่มีฝันที่ยิ่งใหญ่อะไรมากนัก เลือกเรียนบริหารธุรกิจ พอจบปริญญาตรี ลองออกมาทำงาน และงานที่เขาทำคือ แผนกจัดซื้อส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ เป็นตัวแทน Macy Department Store ของอเมริกา
ทว่างานจัดซื้อที่นี่เอง ทำให้พูลพัฒน์ เกิดไอเดียอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ เมื่อเขามองเห็นว่า สินค้าประเภท Potpourri มีหนทางในการทำตลาดต่างประเทศสูงมาก เขาเคยเดินทางไปที่ห้างสรรสินค้าแฮร์รอดส์ และมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ ที่ประเทศอังกฤษ และค้นพบว่า เป็นที่สินค้าที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคชาวต่างประเทศเป็นอย่างดี หลายคนยอมควักกระเป๋าที่จะซื้อ ยิ่งชิ้นใดทำจากวัสดุจากธรรมชาติ 100% จะได้รับการยอมรับอย่างมาก เขาจึงมองเห็นว่า ลู่ทางการทำธุรกิจประเภทนี้มีโอกาส โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพันธุ์พืชในเมืองไทยมีจำนวนมาก
“ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำ” พูลพัฒน์คิดอย่างหนักแน่น แต่ข้อจำกัดของเขาคือ ไม่มีเงินทุน ไม่มีประสบการณ์ในฐานะผู้ผลิต เขาจำได้ว่ามีเงินเก็บอยู่เพียง 50,000 บาท เขาจะทำอย่างไร ผลิตที่ไหน พูลพัฒน์ตัดสินใจติดต่อไปกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ บอกถึงจุดประสงค์ที่เขาอยากทำ และได้คำแนะนำว่า ให้ลองเดินทางออกบูธในงานแฟร์ Ambiente ประเทศเยอรมนี
เขาเสนอรูปแบบสินค้า Potpourri ด้วยคอนเซ็ปต์ไอเดียเน้นวัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% นำไปโชว์ที่งานแฟร์ ได้ออดอร์มาจำนวนหนึ่ง เขาตัดสินใจจ้างคนมาช่วยทำเพียงไม่กี่คนทำสินค้าส่งไปตามออดอร์ ได้เงินก้อนเล็ก ๆ กลับมา ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาลุกขึ้นมาทำธุรกิจอย่างจริงจัง
“ผมไม่มีเงินทุนมากพอ จึงเริ่มจากจุดเล็กๆ เน้นทำตลาดก่อนที่จะก่อตั้งโรงงาน แต่ธุรกิจที่ทำโชคดีที่ไม่ใช้เงินทุนมาก เพราะ เรานำวัตถุดิบจากธรรมชาติ ประเภทวัชพืช หรือ พืชพรรณที่พบเห็นอยู่รอบตัวเรามาเป็นต้นทุน ซึ่งหาได้ง่ายและมีต้นทุนเพียงไม่กี่บาท แต่สิ่งที่ยากที่ทำ คือ ไอเดียที่เราสร้างขึ้นมา packaging ซึ่งผมโชคดีที่มีไอเดียทางด้านนี้”
ธุรกิจของพูลพัฒน์ เริ่มต้นด้วยดีและขยับขยายแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นเป็นมือปืนรับจ้างในการผลิตรายส่งออกไปตลาดต่างประเทศ มีจุดขายอยู่สินค้าของเขาเป็นพืชพันธุ์จากธรรมชาติแบบ 100% ทำให้เขามีออเดอร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เขาตั้งแผนก Research & Development ขึ้นมา เพื่อหาวัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ปั้นเศษวัชพืชให้เป็นทองคำ
ใครจะเชื่อว่า เศษกิ่งไม้เล็ก ๆ ใบไม้ที่ร่วงหล่น ผลอ่อนของผลไม้ที่แกน ๆ ไร้ค่า เช่น ทุเรียน ส้มโอ หรือ วัชพืชที่เกษตรกรทั่วไปกำจัดทิ้ง ได้กลายเป็นของมีมูลค่านับล้านบาทของชาวบ้าน
พูลพัฒน์ ยกตัวอย่าง เมื่อเราอยากได้กิ่งไม้เล็ก ๆ ขนาดกี่นิ้ว ความกว้างกี่เซนติเมตร ทีมวิจัยก็จะไปติดต่อ ชาวบ้านเพื่อหาวัตถุดิบที่ต้องการ เช่น เราอยากได้ทุเรียนอ่อน วัชพืชที่ขึ้นตามท้องน้ำ เราก็ให้ชาวบ้านไปหา และให้ค่าตอบแทน ซึ่งที่ผ่านมามีชาวบ้านกว่า 1,500 ครอบครัวที่เป็นผู้หาวัตถุดิบให้ สร้างรายได้ให้พวกเขาไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อครอบครัว
วัตถุดิบที่นำมาผลิต มีหลายคนแทบไม่เชื่อว่า ได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้ธุรกิจของพูลพัฒน์ อย่างเช่น เส้นใยมะขามที่เวลากินมะขามหวานแล้ว เราจะกินแต่เนื้อแล้วรูดเส้นใยแข็งๆทิ้ง แต่เส้นใยนี้คือ ส่วนประกอบที่เขานำไปทำเป็นต้นคริสมาสต์ ซึ่งมีต้นทุนเพียงไม่กี่บาท แต่วางขายอยู่ในต่างประเทศชิ้นละถึง สองพันกว่าบาท
ขั้นตอนการผลิต พูลพัฒน์เล่าว่า เมื่อได้วัตถุดิบมาแล้ว จะนำไปผ่านกระบวนการอบแห้ง ทำสี และออกแบบลวดลาย มีงานศิลปะเข้าไปผสม ตามคอลเลคชั่นของงานที่อยากให้เป็น จะมีความพิเศษตรงที่เขาใช้น้ำหอมนำเข้าจากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นน้ำหอมที่ให้กลิ่นที่ให้ความหอมยาวนานมาเป็นส่วนประกอบ เพื่อให้สินค้าวางตรงจุดไหนแล้วจะมีความหอม สดชื่น
การสร้างความแตกต่างของสินค้า เป็นสิ่งที่พูลพัฒน์ย้ำว่า จำเป็นอย่างมาก เมื่อสินค้าประเภทนี้ในท้องตลาดส่วนใหญ่เน้นใช้กลีบดอกไม้สวยงามมาเป็นจุดขาย แต่สินค้าของเขา เลือกใช้วัตถุดิบจากพืชพรรณนานาชนิดมาเป็นจุดขาย เน้นไอเดีย สร้างความแตกต่าง โดยบางชนิดจะทำเป็นลักษณะ คอลเลคชั่น เช่น คอนเซ็บต์ฤดูร้อน ฝน หนาว มีโปสเตอร์ และภาพเรื่องราวให้เกิดมิติสัมผัสได้ เป็นไอเดียที่เขาบอกว่าได้รับผลกับเป็นอย่างดี
“งานของผมขายไอเดีย อย่างงานชิ้นหนึ่งผมเอาไม้ท่อนเล็กประมาณ4-5 นิ้วหลายๆชิ้นวางเรียงกันใสกล่องพลาสติกใส และใส่น้ำหอมลงไป เชื่อไหมว่า ขายดีมากที่ต่างประเทศ และที่สำคัญไม้ท่อนเล็ก ๆ ไม่ต้องผ่านกระบวนการอบแห้ง ลดต้นทุนลงแต่ ผมได้ปริมาณงานมากขึ้น ผมว่าทุกอย่างเกิดขึ้นจากไอเดีย พลิกแพลงได้”
ปัจจุบันธุรกิจของพูลพัฒน์ เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ที่กลายเป็นโมเดลของบริษัทหลาย ๆ แห่ง เขามีโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ได้รับสิทธิพิเศษจากกรมส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งออกสินค้า 2 ล้านชิ้น/ปี และกำลังเป็นบริษัทที่เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในต้นปีหน้า และเตรียมเปิดตลาดในเมืองไทยในเร็ว ๆ นี้
คิดแบบ “คนขี้สงสัย”
ทั้งหลาย ทั้งปวง ความสำเร็จของพูลพัฒน์ เขาบอกว่า เกิดขึ้นจากความเป็น “คนขี้สงสัย” และตั้งคำถาม คิดย้อนกลับไปถึงเหตุและผล เป็นเหมือนเน็ตเวิร์คทางความคิดที่เชื่อมต่อกัน เมื่อสิ่งใดเขาไม่รู้ เขาก็จะถามไปถามผู้รู้ และนำมาสร้างกรอบความคิด
เขายกตัวอย่างทางความคิดว่า ครั้งหนึ่งออฟฟิศเคยทำนามบัตร 10 สีให้ลูกค้าที่เข้ามาติดต่อเลือก เมื่อลูกค้าเลือกแล้วจะมีการทำนายสีที่เขาเลือกว่า เป็นคนอย่างไร เป็นไอเดียสนุก ๆ แต่สิ่งนี้กลายเป็นจุดสำคัญทำให้บรรยากาศการติดต่องานระหว่างลูกค้ากับเราผ่อนคลายลง ไม่มุ่งที่แสวงผลประโยชน์กันอย่างเดียว หากมีเรื่องของมิตรภาพ ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
“ผมมีจุดพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ได้เรียนศิลป์มาเลย แต่ผมชอบถ่ายรูป ชอบงานอาร์ต และเวลาผมจ้องมอง ผมชอบมองออกไปเหมือนเลนส์กล้อง วันหนึ่งแฟนของผมให้ผูกเสื้อให้เธอ ในขณะที่ผมกำลังผูก บังเอิญวันนั้นมีแสงกระทบเข้ามาในห้อง สวยแบบมีมิติ ผมมองเห็นและเกิดไอเดียขึ้นงานของผม ดังนั้นผมคิดว่า สิ่งรอบ ๆ ตัวเราเป็นศิลปะที่เราจะมองเห็นมันหรือไม่เท่านั้น”
นักคิดที่ดีนั้น พูลพัฒน์ แนะว่าต้องเป็นนักแก้ปัญหาที่ดีด้วย อย่างเช่น ช่วงที่พูลพัฒน์ย้ายโรงงานมาตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เขาซื้อที่ดินผืนนี้และพบว่า พื้นดินบริเวณนี้มีสภาพแย่มาก มีคนแนะว่า ต้องรื้อดินใหม่ทั้งหมด ซึ่งต้องเสียเงินนับแสนบาท เหตุการณ์ครั้งเขากลับมานั่งคิด หาทางออก และเขาเกิดไอเดียว่า ลองขุดดินและใช้ไส้เดือนฝังดิน เพื่อให้เกิดดินใหม่ ด้วยมูลของไส้เดือน
“มันได้ผล ดินที่นี่กลายเป็นดินคุณภาพปลูกอะไรก็งอกงาม ผมจึงอยากให้สิ่งที่ผมเล่าเป็นจุดที่ทุกคนมองว่า ทุกอย่างมีทางออกเสมอ อยู่ที่แต่ละปัญหาว่า จะใช้เวลานานมากน้อยแค่ไหน พยายามคิดหรือถามผู้รู้”
…ตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการรายนี้ อาจเป็นพลังเล็กๆที่ทำให้ มนุษย์เงินเดือน หรือใครหลายๆที่อยากทำธุรกิจเป็นตนเอง กล้าลุกขึ้นมาทำ ซึ่งดูแล้วไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้