xs
xsm
sm
md
lg

บางปูยังหวานอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บางปู...ชื่อนี้คือสถานที่แห่งความหลังมากมาย

เป็นทั้งสถานที่พักผ่อนยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ เมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ "สถานตากอากาศชายทะเล บางปู"

ครั้งหนึ่ง...ที่นี่เคยเป็นสถานที่จัดงานแสดงดนตรีและลีลาศในวันอาทิตย์ของหนุ่มสาวเท้าไฟแห่งพระนครในยุคกึ่งพุทธกาล

ในทางประวัติศาสตร์ บางปูยังเป็นสถานที่ที่กองทัพญี่ปุ่นใช้เป็นจุดยกพลขึ้นบกเพื่อใช้เป็นทางผ่านในการสู้รบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในปีพ.ศ. 2484 ก่อนจะถึงงานฉลองรัฐธรรมนูญไม่กี่วัน

หากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา บางปูเริ่มเงียบเหงา ไม่มีเสียงดนตรีลีลาศ ไม่มีผู้คนมาท่องเที่ยวหนาตาเหมือนในอดีต มีแต่นกนางนวลที่นับวันจะลดน้อยลงทุกทีบินโฉบไปมารอคนมาให้อาหาร ป่าโกงกางที่เคยอุดมสมบูรณ์เหลือให้เห็นเป็นหย่อมๆ เพราะถูกแพ้วถาง และน้ำเสียเพราะสารเคมีที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรมที่รายล้อมอยู่รอบพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ มีแค่ป้ายชื่อสถานตากอากาศบางปูเล็กๆ ให้เห็นเป็นสัญลักษณ์ร่องรอยแห่งความทรงจำว่า ครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมใกล้กรุงเทพฯ

ในวันนี้ ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย บางปูกำลังจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง


ย้อนอดีตบางปู

ในปี พ.ศ. 2480 จอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มีนโยบายให้สร้างที่นี่เป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับประชาชนทั่วไป เนื่องด้วยพื้นที่ติดชายทะเลและระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ จนกระทั่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2482 จึงเปิดให้บริการโดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้รับผิดชอบดูแล และมีอธิบดีกรมสาธารณสุขเป็นประธานในชื่อเรียก "สถานตากอากาศชายทะเล บางปู"

สะพานสุขตา เป็นสะพานปูนสร้างทอดยาวออกไปในทะเลประมาณ 500 เมตร ในอดีตสะพานแห่งนี้ปลูกสร้างด้วยไม้สักทั้งหมด จนกระทั่งฐานรากเริ่มชำรุดในปี 2535จนต้องปรับปรุงสร้างใหม่ สะพานสุขตาเป็นสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นของสถานตากอากาศบางปู นอกจากนี้ยังเป็นจุดดูนกและจุดชมพระอาทิตย์ตกที่งดงามแห่งหนึ่ง ปลายสะพานเป็นที่ตั้งของศาลาที่มีชื่อว่า "ศาลาสุขใจ" ซึ่งในอดีตเมื่อ 60 ปีก่อน มีฟลอร์ลีลาศแบบมาตรฐานที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยในช่วงต้นพ.ศ.2500 ทางกรมพลาธิการที่ดูแลบางปูอยู่ได้เปิดบริการขายอาหารและเครื่องดื่มที่บริเวณปลายสะพานสุขตา โดยเปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น. จัดดนตรีและลีลาศในวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 12.00-18.00 น. ผู้ที่มาพักผ่อนที่นี่มักเป็นผู้มีฐานะหรืออยู่ในวงสังคมชั้นสูงของกรุงเทพฯ ในยุคนั้น

นอกจากนี้ ในอดีตยังมีการจัดที่พักที่ปลายสะพานสุขตาในราคาวันละ 60-110 บาท และมีบ้านพักบริเวณริมแนวเขื่อนให้เช่า 80 บาทต่อวัน ซึ่งหากใครอยากพักผ่อน นอนฟังเสียงคลื่นเสียงลมขับกล่อม ปัจจุบันก็ยังมีบ้านพักตากอากาศให้บริการเหมือนในยุคก่อนด้วย แต่ละหลังตั้งชื่อไว้อย่างไพเราะ เช่น บ้านสาวสวรรค์ บ้านพี่รักเจ้า บ้านตรึงหทัย บ้านไฟอารมณ์ เป็นต้น จึงมักจะมีผู้สูงอายุเดินทางมาระลึกความหลังครั้งอดีตที่นี่อยู่เสมอ

ถนนจากคลองเตยเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านหน้าโรงกลั่นบางจากย่านสรรพาวุธและบางนา มีชื่อว่า "ถนนริมทางรถไฟเก่า" เป็นถนนที่สร้างทับเส้นทางรถไฟจากหัวลำโพงไปปากน้ำซึ่งมีความยาว 21 กิโลเมตร นับเป็นทางรถไฟสายแรกของประเทศ แต่ดำเนินการได้เพียง 40 ปี ก็เปลี่ยนเป็นรถรางไฟฟ้าแทน เมื่อปีพ.ศ.2469 รถรางนี้เองที่ทำให้มีไฟฟ้าไปถึง อ. เมืองสมุทรปราการ และมีส่วนให้ จ. สมุทรปราการกลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจขึ้นชื่อของคนกรุงในยุคอดีต เนื่องจากแต่ก่อนการคมนาคมยังไม่สะดวก เมื่อมีรถรางไฟฟ้า คนกรุงเทพฯ จึงเดินทางไปพักผ่อนแถบทะเลบางปูมากขึ้น จนกระทั่งรถรางสายปากน้ำเลิกกิจการไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 หลังจากมีการตัดถนนสุขุมวิท

ปีพ.ศ. 2505 กองทัพบกได้จัดตั้งบางปูเป็นสถานพักฟื้นและตากอากาศของกองทัพบก โดยจัดแบ่งเป็นสถานพักฟื้นและตากอากาศบางปูกับสถานพักฟื้นและตากอากาศหาดเจ้าสำราญ จนถึงพ.ศ. 2512 ได้ดำเนินกิจการสถานพักฟื้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจัดให้มีการรักษาพยาบาลฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ บำรุงขวัญให้แก่ทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบ ซึ่งรับจาก รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ ในชื่อเรียก "สถานพักฟื้นและพักผ่อนกรมพลาธิการทหารบก"

พีรศิษฐ์ สมแก้ว ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่ทันเห็นยุคสมัยแห่งความรุ่งโรจน์ของในช่วงท้ายของสถานตากอากาศบางปู เล่าว่า ในยุคสามสิบกว่าปีก่อนนั้น สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนชายทะเลใกล้กรุงเทพฯ ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ บางแสน แต่เนื่องด้วยการคมนาคมที่ยังไม่สะดวกเช่นในปัจจุบัน ทำให้ต้องมีการค้างคืนหากจะไปเที่ยวที่นั่น เพราะใช้เวลาหนึ่งวันเต็มๆ จากกรุงเทพฯ ไปบางแสน อีกทั้งในอดีตคนมีรถส่วนตัวน้อยมากต้องใช้บริการรถประจำทาง ทำให้คนที่มีทุนน้อย หรือมีเวลาน้อยจึงหันมาเที่ยวที่บางปูแทน

"ถามว่าทำไมตรงนี้ถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมขึ้นมา ก็เพราะเนื่องจากว่า ในอดีตแถบนี้จะมีสินค้าขึ้นชื่ออยู่ 2 ชนิด คือ ปลาสลิดซึ่งเป็นปลาน้ำกร่อย ซึ่งเพาะเลี้ยงกันมากในฝั่งถนนสุขุมวิทขาออกซ้ายมือซึ่งจะเป็นน้ำกร่อย ขณะเดียวกันในฝั่งขวามือซึ่งเป็นน้ำเค็มก็จะมีปูเยอะ ทั้งปูก้ามดาบ ปูแสม ปูทะเล และกุ้งก็เยอะทั้งกุ้งก้ามกรามที่ส่วนใหญ่มันจะขยายพันธุ์ในน้ำกร่อย เมื่อกุ้งเยอะปลาก็จะมาเยอะด้วย"
นอกจากกุ้ง หอย ปู ปลาและอาหารทะเลสดขึ้นชื่อแล้ว ฝูงนกนางนวลและนกอพยพก็ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาดูนกที่บางปู เมื่อมีคนมาเยอะขึ้น ร้านอาหารก็เกิดขึ้นตามมา ปกตินกนางนวลจะกินปลา แต่นกนางนวลที่บางปูชอบกินกากหมูเป็นพิเศษ จนมีคำกล่าวว่า "มาบางปูต้องกินกากหมู"

ที่มาของประโยคดังกล่าวนั้น เนื่องจากเมื่อที่บางปูเปิดร้านอาหารใหม่ๆ ต้องเจียวน้ำมันหมูไว้ใช้ปรุงอาหาร จึงมีกากหมูเหลือเป็นเข่งๆ แม่ครัวใหญ่ในยุคนั้นชื่อ คุณยายเมี้ยน ปิตะนีละบุตร เป็นคนแรกที่นำกากหมูโปรยให้นกนางนวลกินโดยไม่คิดว่านกจะกิน แต่ปรากฎว่านกต่างโฉบแย่งกากหมูกันอลหม่านจึงได้ให้แม่ครัวที่เข้าเวรพับถุงเล็กๆ ใส่กากหมูไปขายให้นักท่องเที่ยวเพื่อเลี้ยงนก ถุงละ 5 บาท ทำให้กากหมูที่ไม่มีค่ากลายเป็นสินค้ามีราคาขึ้นมา ปัจจุบันร้านอาหารที่บางปูไม่ได้เจียวน้ำมันหมูอีกแล้ว จึงต้องซื้อกากหมูมาจากตลาดปากน้ำ แล้วแบ่งใส่ถุงขายถุงละ 10 บาท

บางปู บ้านของนกน้ำ

สถานตากอากาศบางปู ตั้งอยู่ริมทะเลและป่าชายเลน จากอดีตถึงปัจจุบันนอกจากจะเป็นสถานที่พักผ่อนยอดนิยม ยังเป็นแหล่งดูนกใกล้เมืองที่สำคัญอีกแห่ง ซึ่งมีนกน้ำหลายพันธุ์ เช่น นกตีนเทียน นกตะขาบทุ่ง นกแว่นตาขาวสีเหลือง นกกะติ๊ดขี้หมู และนกนางนวล ซึ่งเป็นนกที่สร้างชื่อเสียงให้กับบางปูเป็นอย่างมาก

ในช่วงต้นฤดูหนาว พร้อมกับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ชุ่มน้ำบางปูจะเปี่ยมชีวิตชีวาด้วยเหล่าผู้มาเยือน ซึ่งเดินทางมาไกลจากแผ่นดินตอนเหนือที่สร้างให้กับบางปู ก็คือนกนางนวลธรรมดา จากการสำรวจโดยองค์การพื้นที่ชุมน้ำนานาชาติแห่งประเทศไทย และสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย พบว่าบางปูมีนกนางนวลธรรมดาอาศัยอยู่ตลอดฤดูหนาวไม่ต่ำกว่า 5,000 ตัว อาจกล่าวได้ว่า เป็นพื้นที่ที่มีการรวมกลุ่มของนกนางนวลธรรมดามากที่สุดที่พบในแถบอ่าวไทยตอนใน

นกนางนวลที่มีในอ่าวไทยมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือ นกนางนวลใหญ่ เมื่อบินเหนื่อยแล้วชอบลงลอยตัวบนผิวน้ำทะเล และนกนางนวลแกลบ ซึ่งมีอยู่ในน่านน้ำไทยถึง 15 ชนิด พวกนี้จะไม่ชอบลงลอยบนผิวน้ำทะเล นกนางนวลที่มาอาศัยอยู่ในสถานตากอากาศบางปูเป็นนกที่ทำรังวางไข่อยู่รอบๆ ทะเลสาบต่างๆ ในทิเบตและมองโกเลีย ในฤดูร้อน (ตรงกับฤดูฝนในประเทศไทย) พอลูกนกโตแข็งแรงสามารถบินได้ในระยะไกลแล้ว ก็จะพากันบินลงมาหากินตามชายทะเลในมหาสมุทรอินเดียจนถึงอ่าวไทย โดยจะย้ายถิ่นถึงอ่าวไทยในราวต้นเดือนพฤศจิกายน

นกนางนวลเหล่านี้ชอบโฉบคาบเศษอาหารและเศษปลาที่ชาวเรือทิ้งลอยไปบนผิวน้ำ ทำให้ของเน่าเหม็นบนผิวน้ำทะเลหมดไป นางนวลจึงเป็นนกที่ทำให้วิวทิวทัศน์ตามชายทะเลดูสวยงามน่าท่องเที่ยวน่าชมยิ่งขึ้น ท่ามกลางฝูงนกนางนวลธรรมดาหลายพันตัว ที่บางปูยังมีนกน้ำชนิดอื่นร่วมอยู่ด้วย เนื่องจากบางปูเป็นแหล่งหากินของนกชายเลนอพยพที่เดินทางเข้ามาในฤดูหนาว นกบางส่วนใช้ที่นี่เป็นจุดแวะพัก 1-2 วันก่อนออกเดินทางลงใต้ แต่มีจำนวนไม่น้อยที่เลือกอาศัยอยู่ที่นี่ตลอดฤดูหนาว เป็นที่ทราบกันดีในกลุ่มผู้นิยมดูนกว่าช่วงเช้าและเย็น เป็นช่วงเวลาเหมาะสำหรับเฝ้าดูพฤติกรรมของนก และสามารถพบนกได้ง่าย เพราะนกทั้งหลายยังไม่ออกไปหากินในตอนเช้าและบินกลับเข้ารังในตอนเย็น

แต่ก็ยังมีบางช่วงของปีที่เราจะดูนกในตอนกลางวันได้เหมือนกัน นั่นคือช่วงที่นกประจำถิ่นจับคู่ผสมพันธุ์ สร้างรัง วางไข่ ซึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำบางปูจะเริ่มสังเกตเห็นพฤติกรรมดังกล่าวได้ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงปลายเดือนกรกฎาคมของทุกปี แต่เดือนมิถุนายน - กรกฎาคม จะพบเป็นจำนวนมากที่สุด นกประจำถิ่นที่เด่นในพื้นที่ชุ่มน้ำบางปู ได้แก่ นกยางโทนใหญ่ นกยางควาย นกยางเปีย นกกาน้ำเล็ก นกแขวก นกตีนเทียน ฯลฯ นกพวกนี้จะมีพฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์ สร้างรัง วางไข่ ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน โดยนกแขวกจะเริ่มจับคู่ก่อนใครเพื่อน ที่ตามมาก็คือนกตีนเทียน และนกกาน้ำเล็ก ในขณะที่เริ่มเห็นลูกนกแขวกนอนชูคออยู่ในรัง จึงจะเริ่มเห็นไข่สีขาวสะอาดตาของกลุ่มนกยางที่เพิ่งวางไข่ไว้ในรัง และในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ก็จะเห็นทั้งแม่นกและลูกนกอาศัยอยู่ในรังซึ่งอยู่บนยอดต้นแสมเป็นพันๆ ตัว ซึ่งเป็นภาพที่ค่อนข้างหาดูได้ยาก

ความอุดมสมบูรณ์ทั้งระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำบางปู ทำให้ที่นี่มิได้เป็นเพียงสถานตากอากาศใกล้เมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นถิ่นอาศัยที่มีความสำคัญของสิ่งมีชีวิตอีกมากมาย "ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบางปู" จึงถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกองทัพบก และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย เพื่อให้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบางปู เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและระบบนิเวศชายฝั่งทะเลแก่เด็กนักเรียน เยาวชน และประชาชนทั่วไป

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบางปู ใช้พื้นที่ 338 ไร่ทางทิศตะวันออกของสะพานสุขตา มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1,496 เมตร ผ่านบ่อกุ้งร้างซึ่งเป็นที่หากินของนกชายเลนนานาชนิด ผ่านสะพานข้ามคลองสายเล็กๆ ซึ่งทำหน้าที่ผันน้ำทะเลเข้ามาหล่อเลี้ยงพื้นที่ ผ่านดงต้นชะครามและไม้พื้นล่างที่เติบโตได้ดีในดินเค็ม มายังแอ่งโคลนที่เป็นแหล่งอาศัยของปลาตีน ปูแสม และปูก้ามดาบ ก่อนจะสิ้นสุดลงที่หอชมเรือนยอดสูง 8 เมตร ซึ่งสามารถชมทิวทัศน์เรือนยอดของดงแสมและรับลมบริสุทธิ์จากทะเล

โครงการ "รักษ์ป่าชายเลนกับการท่าเรือฯ" เป็นอีกโครงการหนึ่งที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้น เพื่อถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จและพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงให้ความสนพระทัยและห่วงใยทรัพยากรป่าชายเลนของชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยการท่าเรือฯ ได้น้อมรับพระราชดำริ ตลอดจนแสดงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์

สุนิดา สกุลรัตนะ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดให้มีการปลูกป่าชายเลนจำนวน 14 ไร่ ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ รวมถึงกิจกรรมการจัดแสดง "พิพิธภัณฑ์รักษ์ป่าชายเลน" เพื่อให้เยาวชนและประชาชนได้เข้าเยี่ยมชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นระยะเวลา 1 เดือน จนถึงวันที่ 6 กันยายน 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

"นอกจากนี้เรายังให้ใบอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อที่จะให้เขียนปณิธาน เมื่อเด็กชมนิทรรศการเสร็จก็จะเกิดความคิดที่ว่าเราจะรักป่าชายเลนได้อย่างไร ขณะเดียวกันเด็กก็จะสามารถรู้ได้ว่าผลที่เขาทำวันนี้จะส่งผลกระทบต่อป่าชายเลนอย่างไรซึ่งเป็นการปลูกจิตสำนึกให้แต่เด็กและเยาวชนอีกด้วย"

ทั้งนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ดังกล่าว ได้จัดแสดงนิทรรศการส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าชายเลนผ่านสื่อการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และทันสมัย เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกและรณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของป่าชายเลน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญยิ่ง ตลอดจนร่วมแสดงเจตนารมณ์ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนที่โลกประสบอยู่ในปัจจุบัน

เนื่องจากสถานการณ์ภายในบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป การสู้รบตามแนวชายแดนลดน้อยลง ทำให้สถานพักฟื้นไม่มีทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบมาฟื้นฟูสภาพจิตใจและร่างกาย กองทัพบกจึงได้มีคำสั่งแก้โดยยุบสถานพักฟื้น คงเหลือไว้เพียงสถานพักผ่อนเท่านั้น บางปูในวันนี้จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ แทนที่วันหยุดครอบครัวจะไปใช้เวลาอยู่แต่ในห้างสรรพสินค้าโดยเปล่าประโยชน์

การเดินทางมาชมฝูงนกนางนวลที่สถานตากอากาศบางปูเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำผู้ที่ได้พบเห็นเบิกบานสำราญใจ ทำให้รู้ว่าฤดูฝนได้ผันผ่านไป ฤดูหนาวกำลังจะมาเยือน ลมทะเลพัดเบาๆ กับบรรยากาศยามเย็นจอดรถชมทิวทัศน์ พระอาทิตย์อัสดง และฝูงนกนางนวลที่บินอวดโฉมกางปีกสวยให้เราได้ชมอย่างใกล้ชิดบนสะพานสุขตา

แม้จะผ่านมากว่า 70 ปีแล้ว แต่สถานที่แห่งนี้ยังเปี่ยมไปด้วยความทรงจำแสนหวานมากมาย...ที่บางปู

จุดดูนกที่บางปู

บึงน้ำ
เป็นบ่อกุ้งเก่า มีต้นแสมขึ้นหนาแน่น สามารถเดินดูนกได้โดยรอบตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ บริเวณนี้เป็นที่หากิน และสร้างรังของนกตีนเทียน ในฤดูหนาว เป็นที่หากินของนกชายเลนอพยพอีกหลายชนิด ได้แก่ นกปากแอ่นหางดำ นกทะเลขาแดงธรรมดา นกทะเลขาเขียว นกชายเลนปากโค้ง นกกระสานวล

ป่าแสม
ขึ้นหนาแน่น ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ บริเวณนี้สามารถพบเห็นนกขนาดเล็ก ได้แก่ นกแว่นตาขาวสีทอง นกกระจ้อยป่าโกงกาง นกอีแพรดแถบอกดำ นกกินเปี้ยว นกกินปลีคอสีน้ำตาล และสามารถพบนกอพยพผ่าน ได้แก่ นกแซวสวรรค์ นกจับแมลงตะโพกเหลือง

แนวหาดโคลน
ในฤดูหนาว สามารถดูนกได้ตลอดแนวคันกั้นทะเล พบนกชายเลนอพยพจำนวนมาก ได้แก่ นกปากแอ่นหางดำ นกปากแอ่นหางลาย นกอีก๋อยเล็ก นกอีก๋อยใหญ่ นกพลิกหิน นกชายเลนปากแอ่น นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานนกตีนเหลืองที่หายากอีกด้วย

สะพานสุขตา
เป็นจุดดูนกนางนวลธรรมดาและนกนางนวลขอบปีกขาวอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เดือนต.ค.-พ.ค. อีกทั้งยังมีโอกาสพบนกนางนวลหายากชนิดอื่น ได้แก่ นกนางนวลหลังดำพันธุ์รัสเซีย นกนางนวลหัวดำใหญ่ นกนางนวลหางดำ นกนางนวลปากเรียว








กำลังโหลดความคิดเห็น