xs
xsm
sm
md
lg

ดึงครอบครัวมาเจอเด็กด้วยหนังสือ งานของ "เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากคนหนุ่มที่ฝันอยากมีผลงานเขียนเป็นของตนเอง และเลือกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นทางเลือกเดียวสำหรับชีวิตเด็กเตรียมเอนท์ มาสู่ผู้ที่พลาดหวังการสอบครั้งสำคัญนั้น และหันเหมาเรียนรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง จนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจะเดินหน้าเข้าสู่เส้นทางของนักสังคมสงเคราะห์เป็นเวลานานนับ 20 ปี ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า เส้นทางชีวิตที่คนหนุ่มคนนั้นเลือกจะทำให้เขาสามารถตามฝันที่พลาดหวังกลับคืนมาได้หรือไม่ จนกระทั่งวันนี้ เขาได้กลับมาให้คำตอบถึงชีวิตและการทำงานที่ผ่านมาว่า เขาประสบความสำเร็จและสามารถทำความฝันให้เป็นความจริงแล้ว แถมในวันนี้ เขายังมีหน้าที่สร้างฝันดี ๆ ผ่านตัวหนังสือส่งต่อครอบครัวคนไทยด้วย

"เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป" หรือพี่ปอง กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กับโครงการหนังสือเล่มแรก (Bookstart) ที่ส่งต่อถุงหนังสือใบเขื่องนับ 5,000 ถุงแก่ครอบครัวของคนไทยในหลาย ๆ จังหวัดมาตลอดระยะเวลา 5 ปีของโครงการ เพื่อให้บรรดาคุณพ่อคุณแม่นำหนังสือเหล่านั้นไปอ่านให้ลูกน้อยฟัง และหวังว่าจะนำมาซึ่งความอบอุ่นในครอบครัวได้มากขึ้น

ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของพี่ปองถูกถ่ายทอดออกมาอย่างง่าย ๆ กับเส้นทางชีวิตที่เลือกแล้วว่า "เมื่อเรียนจบ พี่เลือกทำงานด้านเด็กมาตลอด โดยในช่วงปี พ.ศ. 2526 - 2548 งานของพี่จะเน้นที่กลุ่มเด็กด้อยโอกาส เป็นเด็กที่ผ่านสงครามอินโดจีนและอพยพมาอยู่ประเทศไทย พี่ซึ่งทำงานกับสำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (โคเออร์) เป็นองค์กรสาธารณกุศล งานของเราคือเปิดศูนย์ฝึกอาชีพให้พ่อแม่เขา มีตั้งแต่ สอนพิมพ์ดีด สอนตัดผม สอนซ่อมเครื่องยนต์ เพื่อให้เขามีทักษะ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในภายหลัง ส่วนกลุ่มเด็ก ๆ เราก็เปิดศูนย์เด็กเล็ก สอนหนังสือให้เขามีความรู้ด้วย เพราะไม่เช่นนั้น เขาก็จะวิ่งเล่นในศูนย์อพยพไปวัน ๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับตัวเองเลย"

สิ่งที่ผู้ชายคนนี้มองเห็นเมื่อมีโอกาสทำงานด้านเด็กก็คือ การสร้างฐานชีวิตของคน ๆ หนึ่งให้ดีต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ทั้งนี้มาจากความเชื่อที่ว่า เมื่อใดที่เด็กคนหนึ่งแข็งแรงพอที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โตขึ้น ไม่ว่าเขาไปอยู่ทีไหนก็ตาม เขาจะมีพลังก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าคนอื่น

ในช่วงเวลา 26 ปี ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือเด็กจากศูนย์อพยพเท่านั้น เขายังมีโอกาสทำงานกับเด็กด้อยโอกาสในชุมชนต่าง ๆ ของประเทศไทยด้วย ทำให้เขาพกประสบการณ์การทำงานด้านเด็กมามากมาย ก่อนจะเข้ามาทำงานกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กเมื่อปี พ.ศ. 2549

"กิจกรรมของมูลนิธิฯ ทำให้เราทำงานได้กว้างขึ้น ไม่เฉพาะเด็กด้อยโอกาส เด็กที่มีฐานะปานกลาง หรือมีฐานะดีก็เป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา ซึ่งเราเน้นที่การนำหนังสือเข้าไปสร้างความอบอุ่นให้เกิดขึ้นในครอบครัว ประสบการณ์ที่เราเคยได้ทำงานกับเด็กนั้นมีประโยชน์มาก ทำให้เรารู้ว่าปัญหาของเขาคืออะไร"

"ปัญหาหลัก ๆ ของเด็กสมัยนี้คือ การขาดความรักความอบอุ่น หรือที่เราเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า เด็กไร้รัก เด็กกลุ่มนี้จะวิ่งหาความรักจากสิ่งต่าง ๆ เพราะช่วงแรกของชีวิต (0-6 ปี) พ่อแม่ไม่ได้กอดเขา พอไม่มีคนให้ความรัก เด็กก็จะเหงา และต้องการการยืนยันว่าตนเองยังเป็นที่รัก ที่ต้องการของคนอื่น ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กคือ เขาจะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เกเร ทั้งหมดนี้ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ และเมื่อพ่อแม่ปรี่เข้ามาตีเขา เขาจึงจะรู้สึกว่าทำแบบนี้พ่อแม่จึงจะสนใจ แต่มันก็ส่งผลต่อไปอีก ว่าการตี หรือการลงโทษจากพ่อแม่ ทำให้เด็กไม่มีความสุขเมื่ออยู่กับพ่อแม่ เขาจะรู้สึกว่าอยู่บ้านแล้วถูกควบคุม ดังนั้น เด็กจะวิ่งไปหาที่ที่เขาสามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้บ้าง เช่น ไปเล่นเกม ไปเที่ยวเตร่ และอาจก่อปัญหาตามมา เกิดอยู่อย่างนี้เป็นวงจรไม่จบสิ้น"

ทางแก้ปัญหาเหล่านี้มีหลากหลาย แต่แนวทางของเขาในวันนี้ก็คือ การมอบ "หนังสือ" ให้กับครอบครัวผ่านโครงการหนังสือเล่มแรก ที่ริเริ่มโดยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เมื่อ 5 ปีก่อน รวมถึงการสอนวิธีใช้หนังสือเหล่านั้น สร้าง "ความสุขและรอยยิ้ม" ให้เกิดขึ้น ภายใต้ความเชื่อที่ว่า เด็ก ๆ ที่มีโอกาสนั่งตักพ่อแม่ และฟังพ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง จะเป็นเด็กที่มีความสุขและอบอุ่นมาก

"ภาพที่เกิดขึ้นกับครอบครัวที่มูลนิธิฯ ทำงานด้วยคือ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น พ่อแม่ใกล้ชิดลูกมากขึ้น เด็กโตเร็วและฉลาดขึ้น เพราะเด็กในวัยขวบปีแรกนั้นจะมีการเรียนรู้อย่างมากมาย การที่พ่อแม่อ่านหนังสือออกเสียงดัง ๆ จะยิ่งทำให้เด็ก ๆ สนใจใครรู้ เมื่อพ่อแม่ทำบ่อย ๆ อาจจะแค่วันละ 15 นาที เด็กจะเกิดการซึมซับน้ำเสียง สีหน้า และภาษาของพ่อแม่ ผลก็คือ พ่อแม่ลูกใช้เวลาร่วมกันมากขึ้นกว่าเดิม บรรยากาศของบ้านก็จะอบอุ่นสนุกสนานมากขึ้นด้วย"

จากสถิติของเด็กวัย 6 – 9 เดือนในโครงการหนังสือเล่มแรก จำนวน 2,526 คนที่มูลนิธิฯ เฝ้าติดตามพัฒนาการมาตลอดจนเด็กเข้าขวบปีที่ 4 พบว่าร้อยละ 93.75 มีพัฒนาการด้านจริยธรรมและคุณธรรม ไม่เกเร หรือแกล้งเพื่อน ๆ ร้อยละ 70.31 มีความกล้าหาญ สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างคนที่มองโลกในแง่ดี และเด็กร้อยละ 78.13 สามารถใช้เหตุผล มีทักษะทางคณิตศาสตร์มากขึ้น

ก้าวต่อไปของโครงการฯ ที่ผู้ชายคนนี้ตั้งความฝันเอาไว้ก็คือ การสร้างปรากฏการณ์ด้านหนังสือให้มากขึ้นกว่านี้ กระจายสู่เด็ก ๆ ได้กว้างมากกว่านี้ และไม่ถูกจำกัดด้วยงบประมาณ เพื่อให้เด็กไทยได้มีโอกาสจับหนังสือ และสัมผัสถึงความอบอุ่นจากพ่อแม่ได้มากกว่านี้

"เราทำโมเดลเอาไว้แล้ว และมีงานวิจัยรองรับว่าผลของโครงการเป็นเช่นไร ถ้าภาครัฐสนใจหยิบไปทำ พี่คิดว่าสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นกับครอบครัว และสังคมไทยอย่างนับไม่ถ้วน เพราะทุกวันนี้ยังมีสังคมที่เราเข้าไปไม่ถึงอีกมาก เด็กไทยเกิดปีละ 8 แสนคน แต่เรามีหนังสือแจกแค่หลักพัน"

ส่วนสาเหตุที่ต้องเป็นหนังสือนั้น พี่ปองเปรียบเทียบให้ฟังง่าย ๆ ว่า "ระหว่างการอ่านหนังสือกับการอ่านจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ความอุ่นใจจะต่างกัน หนังสือผลิตจากต้นไม้ ทำให้เด็กซึมซับความเป็นธรรมชาติ ซึมซับภาษาที่สละสลวย และทำให้เด็กรู้สึกเย็นกว่าการจับคอมพิวเตอร์ เพราะคอมพิวเตอร์จะร้อน เนื่องจากต้องใช้ไฟฟ้า ธรรมชาติของคอมพิวเตอร์ก็ต่างจากหนังสือ เพราะคอมพิวเตอร์เน้นความรวดเร็วในการแสดงผล ทำให้เด็กมีสมาธิ อดทนต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เท่ากัน ความสุขในการเรียนรู้ก็จะต่างกันด้วยครับ เราเลยทำโครงการที่เน้นให้เด็กได้จับหนังสือเป็นหลัก"

ทำงานมาแล้วนับเป็นปีที่ 26 บนเส้นทางของการพัฒนาเด็ก ถึงวันนี้ พี่ปองบอกว่า สิ่งที่เคยฝันไว้ เขาสามารถคว้ามาอยู่ในกำมือได้อย่างที่ต้องการ เมื่อเขามีพ็อกเก็ตบุ๊กผลงานการเขียนของตนเองและหนังสือนิทานสำหรับเด็ก ๆ อยู่ในแผงหนังสือนับ 20 เล่ม พร้อมรางวัลการันตีคุณภาพจากเวทีต่าง ๆ

"ความฝันนี้เริ่มขึ้นจากที่ครอบครัวพี่เป็นนักอ่านกันทุกคนเลย มันทำให้พี่อยากเรียนอักษรศาสตร์ ฝันอยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง ซึ่งพี่เชื่อว่า ชีวิตคนเราหล่อเลี้ยงด้วยความฝัน ความหวังนะ แม้ตอนไปเรียนรัฐศาสตร์เราจะยังไม่รู้ว่าฝันของเราจะเป็นจริงไหม แต่ทุกวันนี้ เราสามารถบอกตัวเองได้ว่า หน้าที่การงานของเรากับสิ่งที่เราฝันไว้ มันไปด้วยกันได้ครับ"
กำลังโหลดความคิดเห็น