xs
xsm
sm
md
lg

Music Designer: ใครว่าดนตรีออกแบบ (อารมณ์) ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์เรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางเสียงดนตรี 
เพราะไม่ว่าคุณจะไปที่ไหน เสียงเพลงต่างตามคุณไปทุกที่ ไม่ว่าจะเป็น..
เสียงเพลงคลอเคลียเบาๆ ยามคุณเดินย่ำวนอยู่ในร้านหนังสือ
เสียงเพลงชวนเคลิบเคลิ้ม หลับใหล ยามคุณอยู่ในสปา
เสียงเพลงชวนคึกคัก เลือดลมสูบฉีด ในผับบาร์
หรือเสียงเพลงเร่งเร้าในร้านเสื้อผ้า ที่ช่วยกระชับให้การซื้อขายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว


เสียงเพลงมีส่วนช่วยในการสูบฉีดสารเคมีจากสมองให้คุณสามารถแปรเปลี่ยนมันเป็นพฤติกรรมได้ โดยทั้งหมดอยู่เบื้องหลังการกำกับอารมณ์ของบุคคลที่เรียกว่า Music Designer

เอกพรรดิ นำนาผล ชายหนุ่มผู้บุกเบิกอาชีพ Music Designer ในไทย กับตำแหน่ง Entertainment Manager ที่ Service Residence TEN FACE เขายังเป็น Product Manager ในเรื่องดนตรีให้กับ True และเป็นที่ปรึกษาเรื่องเพลงของห้างสรรพสินค้า ร้านเสื้อผ้า โรงแรม สปา รีสอร์ตอีกหลายแห่ง

ก่อนที่บทสนทนาจะเริ่มขึ้น เราเริ่มสบายอารมณ์กับเสียงเพลงต้อนรับที่ Music Designer ผู้นี้บรรจงปรุงแต่งให้

*อะไรทำให้มาอยู่ในจุดนี้ได้?

อาชีพผมในตอนนี้ สื่อมวลชนจะเรียกกันว่า Music Designer คือคนที่ดูแลความเป็นไปของเพลงให้แก่ Product ทั้งหลาย เนื่องด้วยดนตรีมันเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ตัวผมเองเป็นคนชอบศิลปะในทุกแขนง ทั้งๆ ที่ผมจบการศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ที่สถาบันราชฏัฎสวนดุสิต ซึ่งไม่เกี่ยวกับดนตรีเลย แต่ตอนนั้นด้วยความที่อยากทำงานเกี่ยวกับเพลง เลยลองเดินไปสมัครงานที่คลื่นวิทยุชื่อ Pirate Radio

พอทำงานไปได้สักระยะหนึ่ง พี่ๆ ที่ทำงานด้วยกันก็ชวนทำร้านซีดี คือส่วนใหญ่คนที่ทำงานเกี่ยวกับวิทยุ หรือเพลง มักจะมีความฝันคล้ายๆ กันว่าอยากมีร้านซีดีเป็นของตัวเอง เลยหุ้นกันเปิดร้านซีดีที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ชื่อว่าร้าน Rate R Record เป็นร้านขายซีดีที่มีซีดีแปลกๆ มากมายหลากหลาย ช่วงนั้นก็จะเริ่มมีคนเข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องเพลง มีทั้งคนจากเอเยนซีโฆษณา ดีไซเนอร์ โคริโอกราฟเฟอร์ และอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้คนที่ทำงานอยู่ในธุรกิจบันเทิง เริ่มมีคนมาให้ออกแบบไลน์ดนตรีตามงานต่างๆ ให้

ลักษณะงานของผม คือการเสนอดนตรีให้เหมาะกับ Product ของเขา และด้วยความที่ผมมีพื้นฐานเกี่ยวกับดีเจอยู่แล้ว ก็เริ่มมีงานเปิดเพลงตามงานแฟชั่นโชว์เข้ามาบ้าง ได้รู้จักคนเยอะขึ้น เพราะมันเกิดจากการบอกต่อกันของลูกค้าที่ผมเคยดูแลงานดนตรีให้ แล้วเขาพอใจกับงาน

*ต้นทุนของคนที่จะเป็น Music Designer ต้องมีอะไรในตัวบ้าง?

น่าจะเป็นคนที่หูแสวงหา ฟังเพลงเยอะๆ และฟังได้หมดทุกประเภท อย่างตัวผมเองฟังเพลงมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ประกอบกับช่วงที่ทำร้านซีดี ยิ่งได้ฟังเพลงเยอะขึ้นอีก
บางครั้งฟังอย่างเดียวอาจไม่พอ คุณต้องมีความรู้เรื่องเพลงด้วย อย่างเพลงในเมืองไทยมันจะแบ่งเป็นที่มีลิขสิทธิ์ และไม่มีลิขสิทธิ์ เพลงที่มีลิขสิทธิ์ในเมืองไทย อย่าง Britney Spears ที่เราฟังกันอยู่ในปัจจุบัน เราจะถูกสื่อป้อนให้ฟังว่าเพลงพวกนี้มันคือปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้วทุกวินาทีในเวลาของโลกที่หมุนไป มันมีศิลปินนักร้องสร้างอัลบั้มให้เกิดขึ้น 3-4 อัลบั้ม

ฉะนั้นมันยังมีเพลงดีๆ อีกมากมาย ที่เขาไม่ได้เน้นว่าต้องออกโทรทัศน์ ลงหนังสือพิมพ์ เปิดตามคลื่นวิทยุ หรือออกสื่อต่างๆ เขาทำเพราะว่าเขาชอบ ฉะนั้นเพลงพวกนี้ถ้าเรานำมาป้อนให้ลูกค้า ชักนำในสิ่งที่เขาอาจไม่เคยรู้จักให้เขาได้รู้จัก และถ้าทั้งผมและเขาต่างก็ชอบในเพลงเหล่านี้ ผมก็ยิ่งสามารถบอกลูกค้าได้อย่างจริงใจว่าเพลงนี้มันเพราะจริงๆ

การฟังเพลงควรจะฟังตั้งแต่เพลงที่ฟังไม่รู้เรื่องที่สุด จนถึงเพลงที่ฟังง่ายที่สุด อย่างผมชอบฟังบอดี้สแลมมาก แต่ผมก็ยังชอบฟังเพลงไทยมากๆ เช่นเดียวกัน แล้วก็ยังฟังเพลงอย่างวงอาคิเทคเจอร์ หรือวงอย่างพวกออเท็ค ซึ่งเป็นเพลงที่ฟังยาก แต่ผมไม่เคยรู้สึกว่ามันฟังไม่รู้เรื่อง ผมมองว่าคนที่แต่งเพลงได้ มันต้องเป็นคนที่มีพื้นฐานดนตรี รู้จักห้องของดนตรีบ้าง

*กระบวนการทำงานเป็นยังไง?

อย่างถ้าเป็นงานดนตรีในร้านขายเสื้อผ้า เขาก็จะมาคุยว่าคอนเซ็ปต์ของเสื้อผ้าจะมีประมาณนี้ อยากได้เพลงแบบนั้นแบบนี้ ผมก็ต้องมานั่งศึกษาตัว Product และเลือกเพลง เลือกดนตรีให้เหมาะสมกับมันมากที่สุด บางคนมองว่ามันต้องใช้สิ่งที่เรียกว่าพรสวรรค์ แต่สำหรับผม มันจะเป็นลักษณะที่ว่าเวลาผมเห็นอะไรสักอย่าง ผมจะนึกออกมาเป็นภาพได้ในทันที

การทำงานนั้นจะต้องดูว่าจะสามารถ Feed อะไรให้เขาได้บ้าง แนวเพลงล่าสุดเลยไหม? แล้วมันจะมีผลอะไรต่อ Product เขาหรือเปล่า? อย่างถ้าเป็นเสื้อผ้าเท่ๆ แต่ราคาไม่สูงมาก ถ้าให้สิ่งที่เท่แบบสุดๆแก่เขา ลูกค้าที่เดินในร้านอาจจะไม่เกต เพราะราคามันจะแบ่งคนซื้อ แต่ถ้าเป็น High Product ก็สามารถจะใส่ดนตรีเล่นกับเขาได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นแนวเพลงมันก็จะมีทั้งแบบสุดขั้ว กลางๆ และฟังง่าย

ยกตัวอย่างร้านเสื้อผ้าที่ตัวแบรนด์มันมีความเท่เป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้าเดินเข้าไปในร้านแล้วการเปิดเพลงเขาฟังดูเฉิ่มมากๆ ตัวลูกค้าเขาก็จะหมดความเชื่อถือในตัวสินค้า หรือแบรนด์นั้น ด้วยความรู้สึกที่ว่า “เอ็งไม่เท่จริงนี่หว่า!” เพราะฉะนั้นร้านลักษณะนั้นจะต้องเปิดเพลงที่สุดขั้วจริงๆ แต่ถ้าเป็นอีกยี่ห้อหนึ่งที่มีทั้งความเท่และสวย แต่ราคาไม่ได้สูงมาก การเลือกเพลงก็ต้องเป็นเพลงเท่ๆ แต่จะฟังง่ายกว่าแบบแรก หรืออย่างงานแฟชั่นโชว์ประเทศที่มีชื่อเสียงด้านนี้ อย่างมิลาน ปารีส เขาอินกับเพลงแบบไหน ก็ต้องดูแนวทางของเขาด้วย

การจะทำงานครั้งหนึ่ง ผมต้องคุยงานกับเขานานเหมือนกัน อย่างงานเสื้อผ้าเราก็ต้องคุยกับดีไซเนอร์ว่าชอบอะไร Inspiration ของ Product คืออะไร และเขาชอบฟังเพลงแนวไหน เพื่อที่จะตีความออกมาเป็นงานได้ เพราะถ้าตัวดีไซเนอร์ไม่ชอบ ไม่เชื่อถือสิ่งที่ผมเลือกให้ ความถูกต้องมันก็จะลดทอนลงไป คือต้องได้คุยกับคนที่คุมคอนเซ็ปต์ของแต่ละงานให้ชัด อย่างถ้าเป็นงานแฟชั่นโชว์ ตามหลักเราก็ต้องไปคุยกับดีไซเนอร์ แต่ถ้างานนั้นถูกมอบหมายให้โคริโอกราฟเฟอร์ ก็ต้องไปคุยกับโคริโอกราฟเฟอร์

*เคยไปออกแบบดนตรีให้ที่ไหนมาบ้าง?

จะมีพวกงานอีเวนต์ ที่เรียกได้ว่าเป็นงานหลักของผมเลย เพราะงานอีเวนต์มันมีทุกวัน และส่วนใหญ่จะเป็นแฟชั่นโชว์ นอกจากนั้นจะเป็นพวกร้านกาแฟ ร้านเสื้อผ้า โรงแรม รีสอร์ต สปา และก็ยังมีดูแลเพลงตามห้างสรรพสินค้าย่านสยามสแควร์ และเอ็มโพเรียม ผมก็เป็นคนดูแลอยู่

*เพลงที่เอาเข้ามาใช้ในงานเป็นเพลงจากที่ไหน?

มีเพลงของทุกชาติ ตั้งแต่อังกฤษยันเวเนซุเอลา เพราะมันเคยมีกรณีที่อยากเปิดเพลงในร้าน แต่ไม่อยากจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ผมก็ต้องไปดูว่าบริษัทในไทยมันมีอะไรบ้าง มี Sony EMI Universal งานลิขสิทธิ์ของบริษัทพวกนี้หยิบมาใช้ไม่ได้ ผมก็ต้องศึกษา และไปใช้เพลงของคนพวกที่เป็นอินดี้ของอินดี้อีกที ซึ่งปัญหาลิขสิทธิ์ไม่มี ผมจึงหยิบไปทำให้ลูกค้าได้ ต้องคิดเยอะมาก เพราะบางที่เขามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณว่ามีให้เท่านี้ จ่ายค่าลิขสิทธิ์ไม่ไหว ฝากช่วยดูด้วย ขึ้นอยู่กับกรณีไป

*เคยเอาดนตรีไทยมาแมตช์ใช้กับงานบ้างไหม?

เคยนะ อย่างงานที่ผมภูมิใจที่สุดคือ งานปารีส แฟชั่น วีก ของพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ซึ่งผมช่วยทำดนตรีมาให้สามปีแล้ว ปีแรกผมเอาดนตรีไทยมามิกซ์ให้มัน Modern ขึ้น เท่ขึ้น ตามคอนเซ็ปต์ที่พระองค์ท่านทรงดีไซน์ไว้ ทรงวางไอเดียให้ไปทำ งานดนตรีที่ออกมาครั้งนี้จัดได้ว่ามีความเป็นไทยพอสมควร มีเสียงกลอง ระนาด แต่ซาวนด์ที่ออกมาไม่ได้จงใจสื่อว่ามันเป็นของไทย แต่ผมทำให้มันเป็น Instrument ของเอเชีย หรือตามงานแฟชั่นโชว์ต่างๆ ก็มีบ่อย

*มีคนทำอาชีพนี้เยอะไหม?

ในเมืองไทยคนที่ทำอาชีพเหมือนผมเลยจะไม่มี แต่ถ้าในต่างประเทศจะมี เขาจะทำเป็นเรื่องเป็นราวเลย เพราะเขาค่อนข้างมีความเคารพในอาชีพมาก อย่างอาชีพจัดดอกไม้ ก็ให้เขาจัดไปเลยไม่ต้องไปยุ่งกับเขา จะเป็นดีเจก็ดีเจไปเลย คือจะทำอะไรก็ควรเฉพาะทางไปเลย เพราะเขาเชื่อในความเป็นอาชีพของเขา จะเชื่อถือในแต่ละสายงานอาชีพ

*มีคนเคยบอกไหมว่า แค่เปิดเพลงใครๆ ก็ทำได้?

มันแล้วแต่คนจะมอง เพราะบางคนก็พูดว่าใครๆ ก็เปิดเพลงได้ ไม่ได้อยากจะเถียงว่ามันไม่จริง แต่คุณค่าของงานนี้มันอยู่ที่ความตั้งใจ และเอาใจใส่ศึกษา Product อย่างละเอียด ให้เพลงมันออกมาเป็นตัวตนของ Product ตัวนี้โดยเฉพาะ คือมันจะไม่มีอีกแล้ว เพราะถ้าเดือนต่อไปเขาเปลี่ยนเวอร์ชัน ดนตรีก็ต้องเปลี่ยนไปจากเดิม แบบเดิมมันจะไม่มีอีกแล้ว

ผมเชื่อว่าคนที่ซื้อเสื้อผ้า หรือเข้าไปในสถานที่ที่ผมทำเพลงให้ เขาน่าจะชอบบรรยากาศที่มีความตั้งใจในการสร้างสรรค์ดนตรี และมันก็เป็นความภาคภูมิใจเล็กๆ ที่ผมได้เข้าไปช่วยตรงนี้

*เดี๋ยวนี้โรงเรียนเปิดสอนการเป็นดีเจมีเยอะมาก ใครที่อยากเป็นดีเจ แค่ไปเรียนก็เป็นได้แล้ว?

หลายๆ คนที่อยากเป็นดีเจ วิธีการของเขาคือการไปเรียน แต่ถ้ามีคนมาจ้างให้คุณไปเปิดเพลงสามชั่วโมง คุณก็ทำไม่ได้ เพราะหนึ่งคุณไม่ได้ฟังเพลง คุณแค่ใช้เครื่องมือเป็นเท่านั้น ฉะนั้นคนที่รักอยากจะเป็นดีเจจริงๆ ก่อนอื่นต้องฟังเพลงให้เยอะก่อน ส่วนเทคนิคการเปิดเพลงอื่นๆ มันตามมาทีหลังได้ ดีเจสมัยก่อนในยุค 80 เขาไม่เคยใช้การมิกซ์เลย แต่เขาก็สามารถทำให้ผู้คนสนุกได้ แต่กับดีเจยุคปัจจุบันที่มิกซ์ได้คล่องแคล่ว แต่เปิดเพลงห่วย และไม่สามารถทำให้คนดูสนุกได้เป็นชั่วโมงๆ อย่างที่ดีเจสมัยก่อนทำได้

ล่าสุดผมได้ไปงานคอนเสิร์ตหนึ่งที่เชิญวงระดับโลกมาเล่น พอเริ่มก็มีดีเจคนไทยที่ขึ้นมาเปิดเพลงก่อน คือพอรู้ว่าวงระดับโลกจะมา ก็โชว์เต็มสูบเลย คือเขาเปิดเพลงดีนะ แต่สแครชเยอะมาก เยอะเสียจนเพลงยับหมดเลย ความสนุกมันเลยเริ่มหาย เพราะเพลงไม่มีบีทที่ดีในการเต้นรำเหลือเลย แต่พอวงนั้นขึ้น เขามีสแครชแค่นิดหน่อย ผิดบ้างยังมีเลย แต่ทำให้คนสนุกได้มากกว่า เอาคนดูได้อยู่หมัดกว่า

*เซนส์สำคัญไหมในการขับเคลื่อนไอเดียการดีไซน์เสียงเพลง?

ตัวผมเองจริงๆ ไม่ได้มีเซนส์อะไรเลย มันเหมือนต้องใช้ความจำ ความสนใจ อย่างเวลาเราไปฟังเพลงที่ไหนก็ตาม ที่มีดีเจเปิดให้ฟังแล้วเราชอบ ถามว่านี่เพลงอะไร ดีเจส่วนใหญ่มักจะตอบว่าเขาก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็ไรต์ต่อคนอื่นมาอีกทีหนึ่ง นั่นแสดงว่าเขาไม่ได้เคารพในตัวเพลงแล้ว แต่ถ้าเป็นผมจะต้องบอกเขาได้ว่าเพลงนี้ชื่อนี้ อยู่วงนี้ มาจากอัลบั้มนี้ อัลบั้มเก่าเขาทำแบบนั้นแบบนี้ จริงๆ แล้วเขาเป็นนักยูโดนะ แต่ชอบเล่นดนตรี คือจะต้องมีเรื่องราวมาเล่าให้คนฟังได้ มันไม่ใช่การรู้ลึก แต่มันเป็นการที่รู้ไปโดยปริยาย

อย่างถ้าเราชอบใครสักคน หรือชอบอะไรสักอย่างมันไม่ใช่แค่ชอบว่าเขาร้องเพลงเพราะ แต่บางครั้งเรายังรู้ไปถึงว่าเขาเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เคยเล่นภาพยนตร์เรื่องไหน คือถ้าอะไรที่เราชอบ มันก็จะพาเราไปรู้จักได้เอง และด้วยความที่ผมมีปริมาณความชอบที่เยอะ มันเลยไม่ได้เป็นการขัดขืนที่จะจำเรื่องราวของศิลปิน หรือดนตรีที่ชอบ เวลาเปิดเพลงแล้วลูกค้าชอบ เขามาซักถาม ผมจะภูมิใจมากที่ได้ให้ข้อมูลเพลง นักร้อง อะไรต่างๆ แก่เขา

ถามว่าคนทั่วไปที่สนใจอยากทำอาชีพนี้ จะทำได้ไหม? ทำได้ ถ้าใจคุณเปิดรับ ก็สามารถทำงานอาชีพนี้ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณฟังเพลงอะไรก็ตาม แล้วรู้สึกว่ามันไม่เพราะ มันเก่า มันไม่ดี นั่นคือจบแล้ว แต่ถ้าฟังเพลงแล้วคิดต่อไปได้ว่าจะเอามันไปแมตช์กับ Product ไหนได้บ้าง หรือเพลงนี้เหมาะกับใคร คนแบบไหน หรือควรไปฟังที่ไหน นั่นก็ถือว่าพอได้แล้ว

สิ่งสำคัญที่ต้องมีอีกอย่าง คือความเชื่อมั่นในตัวดนตรี ปัจจุบันนี้ตัวดนตรีมันถูกแยกเป็นหลายแนวมากเกินไป และแนวก็ถูกแยกด้วยการแต่งตัวอีกที แบบถ้าใส่เสื้อตัวหลวมๆ คนเขาก็จะมองว่า คนคนนี้ต้องฟังเพลงฮิปฮอปแน่ๆ เด็กปัจจุบันจะชอบทำตัวแบบนี้ ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่ง ไม่ว่าคุณจะแต่งตัวอย่างไรมันก็ไม่เกี่ยวกับว่าคุณจะฟังเพลงแนวไหน ขอให้เชื่อว่าเพลงทุกแนวมันมีดีของมัน ไม่อย่างนั้นมันก็คงไม่สามารถจะอยู่มาได้จนทุกวันนี้

*ดนตรีมันมีส่วนในการกำหนดอารมณ์ หรือคอนโทรลพฤติกรรมของมนุษย์ได้จริงหรือ?

มากๆ เลยครับ เพราะจริงๆ แต่เดิมร้านอาหารกับร้านเสื้อผ้าผมไม่ได้ทำ วันหนึ่งมีคนจากร้านเสื้อผ้าเข้ามาคุยกับผมแล้วบอกว่าอยากให้ช่วยหาเพลงที่สร้างความรู้สึกให้ลูกค้าที่เข้ามาดูของในร้าน รีบซื้อแล้วรีบออก ผมก็ต้องมานั่งศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าในร้าน แล้วลองทำดูโดยรวมก็มีฟีดแบ็กตอบกลับที่ดี บางแบรนด์ผมทำมา 5 ปีแล้ว เพราะเขาเชื่อว่าเพลงมันมีผลต่อเสื้อผ้าเขาจริงๆ หรืออย่างร้านอาหารบางร้านเขาก็ต้องการให้ลูกค้านั่งอยู่ในร้านให้นานที่สุด อยากให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ผมก็ศึกษาและทำดนตรีให้

ดนตรีมันเป็นศาสตร์ที่เอื้อ และละเอียดอ่อนมาก อย่างรีสอร์ตบางที่ที่ผมดูแล ยังมีต้องแก้งานเลย แบบงานที่เคยใช้เวลาทำแค่เดือนเดียว งานนี้กลับต้องทำถึงครึ่งปี เพราะต้องปรับเพลงไปเรื่อยๆ ให้มันดีที่สุด เคยมีอยู่กรณีหนึ่งเจ้าหน้าที่รีสอร์ตเขาโทรมาบอกผมว่า มีลูกค้าของเขาบอกว่าเพลงนี้หยาบ คือตอนที่ทำอาจไม่ได้นึก ผมแค่รู้สึกว่าเพลงนี้มันเพราะ จึงละเลยรายละเอียดตรงนี้ไป อีกอย่างมันเป็นเรื่องของกำแพงภาษาด้วย เพราะผมรู้แค่ภาษาอังกฤษ บางครั้งมีลูกค้าอิตาเลียน ญี่ปุ่น คอมเมนต์มา ผมก็ต้องมานั่งฟัง นั่งแก้งานไป

บางกรณีก็มีความไม่สมูทของเพลงบ้าง เพราะบางเพลงผมทำเอง มิกซ์เอง แต่เขาต้องการเปิดหนึ่งวัน คือสิบกว่าชั่วโมงโดยไม่หยุดเลย ในขณะที่บางร้านใช้แค่ 10 เพลงต่อเดือน แต่บางร้านต้องใช้ร้อยกว่าเพลงต่อหนึ่งวันก็มี ผมก็ต้องมานั่งมิกซ์ บางทีนั่งทำเยอะๆ มันก็เกิดความล้า มันเลยมีความไม่สมูทเกิดขึ้นได้เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็นั่งปรับแก้ให้งานออกมาดีที่สุด

*ดนตรีมีหลายแนว แต่ละแนวสามารถกระตุ้นอารมณ์คนในแง่ไหนได้บ้าง?

อย่างกรณีที่อยากให้ลูกค้าที่เข้ามาในร้าน รีบซื้อสินค้าแล้วรีบออก เพราะมันเป็นช่วงเซลส์ ผมก็ต้องทำให้เพลงมันมีความอึดอัดอยู่ในตัว ปัจจุบันอาจจะเรียกดนตรีประเภทนี้ว่าอิเล็กโทรแคลช หรือแนว IDM (Intelligent Dance Music) ที่เป็นเพลงประเภทเต้นรำแบบหนืดๆ เป็นเพลงเต้นรำชนิดที่ยังไม่ถึงขั้นต้องกระโดดออกมาเต้นรำ หรือพวกเพลงมินิมอล ที่อยู่ในแขนงอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมันเป็นเพลงประเภทเต้นรำที่ใช้สำหรับนั่งฟัง คือมันยังไม่ถึงขนาดทำให้เราลุกไปเต้นในฟลอร์ได้

ถ้าเป็นเพลงเบาๆ อย่างบอสซาโนวาที่เราได้ยินกันบ่อยๆ มันเป็นเพลงบราซิลเลียนแจ๊ซ เป็นแจ๊ซของพวกอเมริกาใต้ หรือเพลงอย่างพวกนิวเอจ มันก็เป็นเพลงเบาๆ ฟังดูล่องลอย โดยใช้เครื่องดนตรีจริงบ้าง ใช้ซินธิไซเซอร์บ้าง แต่ไม่ใช่ Chill Out เพราะ Chill Out มันไม่ใช่แนวเพลง มันเป็นแค่สิ่งที่ใช้เรียกความรู้สึกว่าฟังแล้วมัน Chill Out

เพราะความจริงแล้วชื่อแนวเพลงของมันจริงๆ คือดาวน์เทมโป มันไม่มีแนวเพลง Chill Out ในโลกนี้ คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดมาตลอด คือช่วงที่เพลงแทรนซ์ได้รับความนิยม เสียงมันจะตึ้งมาก มันจะบีบหัวใจ คนเที่ยวเสร็จก็เหนื่อย อยากจะพักกัน ก็จะมีห้องที่ชื่อว่าห้อง Chill Out ให้คนได้พัก ในนั้นก็จะเปิดแจ๊ซ โซลให้ฟัง คนก็นึกไปว่ามันคือเพลง Chill Out สาเหตุที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด เป็นเพราะสื่อบ้านเราไม่เคยป้อนข้อมูลความรู้อะไรให้คนฟัง

*คนไทยกับวัฒนธรรมการฟังเพลง ในสายตาคุณตอนนี้เป็นยังไง?

คนไทยเราไม่เคยมีความรักในเพลง เพราะถ้าคนที่รักและเคารพในเพลง เขาจะไม่ซื้อแผ่นปลอมกัน คือถ้าเรารักอะไรสักอย่าง เราจะไม่ทำร้ายเขาด้วยการซื้อของปลอม ความจริงการซื้อของปลอมมันก็ทำได้ แต่ขอให้เป็นอัลบั้มที่หายากจริงๆ ไม่มีขายในเมืองไทย แบบถ้าใช้ความพยายามในการหาแล้ว แต่มันหาไม่ได้จริงๆ แต่อยากฟังมากๆ เราก็ไม่ว่ากัน แต่มันต้องมาจากการพยายามขวนขวายเสาะหามันอย่างเต็มที่เสียก่อน แต่คนบ้านเราแม้กระทั่งเพลงปัจจุบันที่หาซื้อได้ง่ายๆ เขาก็ยังใช้วิธีโหลดเอา หรือซื้อแผ่นปลอมกัน เป็นเพราะมันไม่ได้มาจากความรักจริง

*********************************
เรื่อง – วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม
เอกพรรดิ นำนาผล Music Designer

กำลังโหลดความคิดเห็น