xs
xsm
sm
md
lg

จิมมี เพจ: ผู้อภิวัติ -ร็อค แอนด์ โรล-

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เนื่องในโอกาสที่นิตยสาร Rolling Stone ได้จัดธีม The 100 Greatest Guitar Songs of All Time ที่มีการนำมือกีตาร์ชั้นนำของโลกมาร่วมถ่ายภาพและอุทิศบทความเพื่อผลงานกีตาร์อันโดดเด่นของโลกตลอดเวลาที่ผ่านมาบนเส้นทางดนตรี ซึ่งรวมไปถึงเปิดใจสัมภาษณ์กันในหัวข้อ Secrets of the Guitar Heroes

และผู้ที่ขาดไปไม่ได้ไม่พ้น จิมมี เพจ ยอดมือกีตาร์จากวง Led Zeppelin ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนดนตรีร็อก ที่เพิ่งจะมาเยือนเมืองไทยให้เหล่าสาวกชาวไทย(แม้จะส่วนน้อยก็ตาม)ได้ชื่นใจกันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังจากแฟนเพลงทั่วโลกประจักษ์ในความยิ่งใหญ่ของการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของ Led Zeppelin กับ 3 สมาชิกดั้งเดิมกันไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่แฟนเพลงชาวไทยส่วนใหญ่จะได้ยลโฉมการแสดงครั้งแรก(และอาจครั้งสุดท้าย)ในเมืองไทยหรือไม่ คงต้องวัดใจทางค่ายเพลงต้นสังกัดในไทย, ผู้จัดชาวไทย รวมไปถึงตารางทัวร์ของวงว่าชาตินี้แฟนเพลงจะได้เห็นการแสดงที่แท้จริงของ Led Zeppelin หรือจะเพียงแค่ติดตามความยิ่งใหญ่ของพวกเขาเพียงแค่จากตัวหนังสือเท่านั้น

RT: ทุกๆ เพลงที่คุณเล่นในคอนเสิร์ตคืนชีพของ Led Zeppelin ที่ลอนดอนเมื่อปีที่แล้ว มักจะโหมโรงหรือเน้นท่อนริฟฟ์อย่างดุดันมากๆ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท่อนริฟฟ์ของเซปพลินยอดเยี่ยมเช่นนี้

JP: มันเกี่ยวกับเรื่องสัญชาตญาณ ผสมผสานกับพลังและทัศนคติ รวมทั้งเรื่องทางเพศด้วย มันเป็นความมุ่งมั่นส่วนตัวของผมที่จะสร้างวงที่มีริฟฟ์เป็นรากฐาน อิทธิพลของผมมาจากวงบลูส์ที่มีริฟฟ์อันเข้มข้นจากชิคาโกเมื่อยุค 50 ทั้งผลงานของ มัดดี วอลเตอร์ส, ฮาวลิน วูลฟ์ และ บิลลี บอย อาร์โนลด์ หรือเพลง Boogie Chillen ของ จอห์น ลี ฮุคเกอร์ นั่นแหล่ะยอดแห่งริฟฟ์ แต่คุณนำมันมา, ซึมซับมัน แล้วปรับให้เข้ากับสไตล์ของคุณ จากนั้นมันก็จะเป็นอะไรที่แตกต่าง

RT: เกิดอะไรขึ้นกับท่อนดวลกีตาร์ของคุณกับเสียงร้องของ โรเบิร์ต แพลนต์ ในคืนนั้น โดยเฉพาะเพลง In My Time of Dying และ Nobody's Fault But Mine ที่มันฟังสดใหม่มากๆ มันเกิดขึ้นสดๆ เลยหรือเปล่า

JP: ในโชว์ของเซปพลินช่วงยุค 60 และ 70 เซ็ตลิสต์เพลงแต่ละคืนจะซ้ำกันตลอด แต่ทุกๆ อย่างมันไม่มีอะไรมากำหนดตายตัวได้ ถ้าผมลองเล่นอะไรที่ดูเข้าท่าและน่าสนใจ ผมจะลองเอามาใช้อีกครั้ง แต่เซปพลินเป็นวงที่ยึดถือการทำงานตามอารมณ์ความรู้สึกเป็นหลัก แม้แต่ในตอนที่เราซ้อม เช่นเดียวกันกับการซ้อมก่อนการแสดงที่ลอนดอนในวันนั้น ที่มันออกมาแตกต่างอย่างชัดเจนทั้งเนื้อหาและจิตวิญญาณ ทำให้โชว์วันนั้นมีเอกลักษณ์ของตัวมันเอง

RT: มันยากแค่ไหนที่จะหาเพลงของศิลปินบลูส์จากฝั่งอเมริกาสำหรับชาวอังกฤษสมัยที่คุณโตขึ้นมาในยุค 50

JP: การที่คุณจะได้ฟังเพลงใหม่ๆ คุณต้องหมุนไปที่คลื่น AFN ซึ่งเป็นคลื่นของทหารในยุโรป และหวังว่าคุณจะได้ยินชื่อเพลงหรืออะไรก็ได้หลังจากที่พวกเขาเล่นเพลงนั้นจบ เราไม่มีวันได้เห็นหน้าเอลวิสจนกว่าจะมีใครเอาหนังของเขามาฉาย แต่คนที่หลงใหลในร็อก แอนด์ โรล จริงๆ จะเป็นพวกสะสมแผ่น และศึกษาว่าตอนนี้มีอะไรใหม่ๆ มาจากอเมริกาบ้าง ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่ไม่สนใจเพลงของใครเลยถ้ามันไม่ได้มาจากศิลปินผิวดำเท่านั้น

ตอนนั้นมีวงท้องถิ่นที่เล่นเพลงบลูส์บ้างแล้ว แต่เพลงที่ได้ยินมันยังไม่ใช่ของแท้ ทั้งทัศนคติและการเล่น มันเลยเหมือนกับเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ไปในตัว ที่คุณต้องออกศึกษาและตามหาจากแผ่นต่างๆ เพื่อไปให้ถึงต้นกำเนิดที่แท้จริงของเพลงๆ นั้น

RT: แล้วคุณก็แกะตามแผ่นไปเลย?

JP: มันเป็นสิ่งที่มือกีตาร์อังกฤษส่วนใหญ่ทำในเวลานั้น คุณจดจ่อกับท่อนโซโล เล่นแผ่นวนไปวนมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั้งผมสามารถที่จะหากีตาร์ที่ดีพอ ที่ทำให้ความสามารถในการแกะเพลงของผมก็รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

RT: ประสบการณ์ที่คุณเคยทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินมากมายในยุค 60 มีผลต่อการเขียนเพลงของคุณสำหรับเซปพลินบ้างหรือเปล่า

JP: ผมได้แรงบันดาลใจมาจากวงร้องประสานเสียงจากยุค 50 ผมชอบรายละเอียดของกีตาร์ในซาวด์ของพวกเขา บลูส์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดสำหนับผลงานเปิดตัวของเซปพลิน แต่สมัยเป็นมือปืนรับจ้างผมก็เล่นกีตาร์อคูสติกพอๆ กับกีตาร์ไฟฟ้า และผมสนใจมือกีตาร์อย่าง เจมส์ เบอร์ตัน ที่เป็นมือกีตาร์ห้องอัดชื่อดังของอเมริกาสมัยนั้น ผมไม่ค่อยสนใจแจ๊สมากนัก ผมชอบอะไรที่ดิบๆ มากกว่า

RT: มีช่วงเวลาสั้นๆ ที่คุณและ เจ็ฟ เบ็ค ต่างเป็นมือกีตาร์ให้กับวง Yardbirds ร่วมกัน มีบ้างไหมตอนที่อยู่ใน Led Zeppelin ที่คุณอยากจะได้มือกีตาร์มาอยู่ในวงอีกซักคน

JP: ผมและเจ็ฟเล่นริฟฟ์ประสานกันใน Yardbirds ซึ่งเสียงที่ออกมามันฟังเหมือนกับวงบิ๊กแบนด์กับเครื่องทองเหลืองทีเดียว เป็นการใช้กีตาร์ในการปลดปล่อยพลังที่วิเศษ แต่ใน Led Zeppelin ผมไม่เคยคิดที่จะเบิ้ลเสียงอะไรทั้งนั้น เพราะเราเป็นวงที่มีความเป็นเอกเทศอย่างมาก เรารู้สึกว่าพวกเราสามารถเล่นอะไรก็ได้ โดยเฉพาะในการบันทึกเสียง จนกระทั้งผมเอาเพลงไปเล่นในคอนเสิร์ตที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของดนตรี โดยเฉพาะในเพลงที่บันทึกเสียงกีตาร์เอาไว้หลายตัว เราเคยเล่น Ten Years Gone ที่อัดเสียงกีตาร์ไว้หลายตัว และกลายเป็นเวอร์ชันแสดงสดที่น่าใจทีเดียว (ใช้กีตาร์ตัวเดียว) จนกระทั้งตอนที่ผมไปร่วมเล่นกับพวก The Black Crowe ในปี 1999 ที่ผมได้ฟังท่อนกีตาร์ทั้งหมดในการแสดงสดจริงๆ เป็นครั้งแรก มันน่าขนลุกมากๆ

RT: ช่วยให้คำจำกัดความโทนกีตาร์ของคุณได้ไหม หรือโทนไหนที่คุณชอบที่สุด

JP: มันหลากหลาย ผมลองใช้เอฟเฟคก้อน (Pedal Effect) มากมายตั้งแต่สมัยก่อนร่วมวง Yardbirds ด้วยซ้ำ ผมเคยใช้ fuzzbox สมัยเป็นมือปืนรับจ้าง แต่ซาวด์เอ็นจิเนียร์ยุคนั้นเขาไม่เข้าใจ อะไรก็แล้วแต่มีฟังดูแตกต่างพวกนี้จะไม่เอาด้วยเลย สมัย Yardbirds ผมลองใช้คันชักไวโอลินกับ wah-wah ใช้ distortion กับ echo หลังจากนั้นผมก็ใช้ phase pedals และ chorus pedals หลายๆ รุ่นที่ออกมาในแต่ละยุค

RT: อะไรทำให้คุณหันมาสนใจกับคันชักไวโอลิน มันเป็นเอกลักษณ์ของเพลง Dazed and Confused ในเวลาต่อมา

JP: มันเกิดขึ้นสมัยที่ผมทำงานในห้องอัดเสียง มีนักไวโอลินคนหนึ่งในกลุ่มนักดนตรีเครื่องสายวันนั้นที่เป็นพ่อของเดวิด แม็คคอลลัม ดาราคนที่แสดงในรายการ The Man From U.N.C.L.E. ที่เข้ามาคุยกับผม ปกติแล้วพวกเครื่องสายเขาไม่ค่อยสุงสิงกับใคร แต่คนนี้เขาเป็นมิตรกับผม วันหนึ่งเขาบอกกับผมหลังจากเสร็จจากการบันทึกเสียงว่า "คุณเคยลองคันชักไวโอลินกับกีตาร์บ้างไหม" ผมก็บอกเขาไปว่ามันไม่น่าจะเวิร์ค เพราะสายมันไม่ได้ขึงให้โค้งออกมาจากตัวกีตาร์เหมือนกับที่สายไวโอลินเป็น เขาก็บอกว่า "ลองดูเถอะน่า" แล้วเขาก็ยืนคันชักให้ผม ทันทีที่ลองมันผมก็รู้ว่าได้เจอของดีเข้าให้แล้ว ผมจำไม่ได้ว่าเคยลองใช้มันสมัยเป็นนักดนตรีห้องอัดหรือเปล่า แต่ผมลองใช้มันทันทีกับ Yardbirds (โดยเฉพาะในซิงเกิลปี 1967 Little Games)

RT: เป็นที่ถกเถียงกันมากว่าท่อนโซโลที่ยอดเยี่ยมที่สุดของคุณอยู่ในท่อนจบของ Stairway to Heaven คุณใช้เวลาเท่าไหร่ก่อนที่จะลงมือบันทึกเสียงเพลงนี้

JP: ผมไม่ได้วางแผนอะไรเลยน่ะ(หัวเราะ) ผมมีจุดเริ่มต้น ผมรู้ว่าจะไปที่ไหนและจะเริ่มต้นอย่างไร แล้วก็ลงมือเล่นเลย มันมีแอมป์ในห้องอัดที่ผมลองใช้อยู่ที่ให้สุ่มเสียงที่เข้าท่ามากๆ ผมเลยบอกกับตัวเองว่า "โอเค หายใจลึกๆ แล้วเล่นมันเถอะ" ผมเล่นมัน 3 เทคแล้วเลือกเอา 1 ในนั้น ทั้ง 3 แตกต่างกันไป ท่อนโซโลดูมีโครงสร้างก็จริงอยู่ แต่มันเกิดจากสิ่งที่พลั่งพลูออกมา ณ ช่วงเวลานั้นจริงๆ สำหรับผมแล้ว ท่อนโซโลเป็นเหมือนกับการได้โบยบินอย่างอิสระ แต่ต้องเป็นไปตามเนื้อหาของตัวเพลงด้วย

RT: นักกีตาร์รุ่นเยาว์มากมายที่หัดเล่นกีตาร์ด้วยการศึกษาจากทั้งท่อนริฟฟ์และโซโลของคุณ ยังมีอะไรเหลือให้คุณค้นพบในการเล่นกีตาร์อีกไหม

JP: ยังมีเรื่องอีกมากมายที่ผมสามารถทำได้และน่าจะทำ หัวใจคือเรื่องของคุณภาพ ผมตั้งมาตรฐานเอาไว้สูงกับทุกอย่างที่ผมเล่น สิ่งเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือการทุ่มเทในการเล่น คุณต้องลงทุนมากเพื่อจะให้ผลตอบแทนที่มากตาม

สิ่งที่ยอดเยี่ยมสำหรับกีตาร์ เมื่อตอนที่ผมอายุ 12 ขวบ ก็คือมันเป็นเครื่องดนตรีที่พกพาไปไหนก็ได้ ทำให้ดนตรีอยู่กับผมในทุกที ผมสามารถเอามันไปกับเพื่อนๆ ผมได้ และก่อนที่คุณจะรับรู้คุณก็ซึมซับจิตวิญญาณทางดนตรีอันลุ่มลึกไปเสียแล้ว แม้แต่กับเด็กๆ ที่เล่นกีตาร์ไม่กี่คอร์ดก็ตาม ทุกวันนี้คุณสามารถสร้างสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ที่ผมสนใจคือการที่คุณได้รับจิตวิญญาณเหล่านั้นมาจากการเล่นกีตาร์ เพราะว่ามันเป็นเครื่องดนตรีที่ผมได้เลือกแล้ว


Immigrant Song
กำลังโหลดความคิดเห็น