xs
xsm
sm
md
lg

Homeless Rangers ‘ชายขอบ’ ผู้พิทักษ์โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนไร้บ้านกำลังคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล
ถ้าตอนเด็กๆ คุณเคยดูการ์ตูนจำพวกขบวนการ 5 สี ผู้คอยแปลงร่างออกมาพิทักษ์โลกจากเหล่าร้ายด้วยลูกถีบสกายคิก ถึงตอนนี้เราคงมีเรื่องเศร้าที่ต้องบอกคุณ 2 เรื่อง เรื่องแรก-นี่คือช่วงเวลาวิกฤตที่สุดของมนุษยชาติที่จำเป็นต้องมีฮีโร่มาช่วยพิทักษ์โลกจริงๆ เรื่องที่ 2 ซึ่งเศร้ากว่าเรื่องแรกมากๆ ก็คือเราต้องการฮีโร่เพื่อปกป้องโลกจากน้ำมือของพวกเราเอง

แต่มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่กำลังปกป้องโลก พวกเขามีมากกว่า 5 คน แปลงร่างไม่ได้ ไม่มีสีประจำตัว นอกเสียจากที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเลือกให้พวกเขา ซึ่งก็มักจะเป็นสี ‘ดำ’ ไม่มีลูกถีบสกายคิก ไม่มีดาบเลเซอร์ ที่สำคัญ พวกเขาไม่มีบ้าน

ถ้าอยากเจอพวกเขา ต้องไปหาแถวสนามหลวงหรือหัวลำโพงซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่คนกลุ่มนี้ใช้พักพิงหลับนอน-มีฟ้าเป็นมุ้ง มียุงเป็นเพื่อน มีผืนดินเหมือนดังผืนเรือน-พวกเขาไม่เคยปิดบังตัวเอง เว้นเสียแต่เราต่างหากที่จะปิดบังตัวเองจากพวกเขา

พวกเขาถูกเรียกว่า ‘คนไร้บ้าน’ หรือ ‘Homeless’

ขยะมหาศาล

ก่อนที่จะเข้าใจว่านี่คือการอำกันครั้งมโหฬาร ลองมาดูข้อมูลเหล่านี้กันก่อน

จากรายงานสถานการณ์มลพิษในปี 2549 ของกรมควบคุมมลพิษ รายงานว่ามีปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 14,629,930 ตัน หรือประมาณวันละ 40,082 ตัน เฉพาะขยะในเขตกรุงเทพฯ ประมาณวันละ 8,473 ตัน คิดเป็นร้อยละ 21 ของทั้งประเทศ หมายความว่าเราทิ้งขยะกันปีละ 232 กิโลกรัมต่อปี

ในบรรดาขยะที่ว่านี้ จำแนกได้อีกว่าคนไทยใช้ขวดพลาสติกปีละ 3,855 ล้านใบ หรือปีละ 61 ใบต่อคน และใช้ถุงพลาสติกและโฟมรวมกันปีละ 4,000 ล้านกิโลกรัม หรือ 64 กิโลกรัมต่อคน

(ข้อมูลจากนิตยสารสารคดี ปีที่ 24 ฉบับที่ 277 มีนาคม 2551)

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขที่ระบุด้วยว่าการตั้งต้นผลิตใหม่ เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม ฯลฯ เทียบกับการรีไซเคิลแล้ว การรีไซเคิลจะใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตใหม่ ส่วนต่างของพลังงานที่ได้สามารถนำมาใช้ทำอะไรได้อีกหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น

-รีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียม 1 ใบ ประหยัดพลังงานเท่ากับเปิดโทรทัศน์นาน 3 ชั่วโมง

-รีไซเคิลขวดแก้ว 1 ใบ ประหยัดพลังงานเท่ากับเปิดหลอดไฟขนาด 100 วัตต์ นาน 4 ชั่วโมง

-รีไซเคิลขวดพลาสติกแกลลอน 1 ใบ ประหยัดพลังงานเท่ากับเปิดหลอดไฟขนาด 100 วัตต์ นาน 11 ชั่วโมง

-รีไซเคิลตั้งหนังสือพิมพ์สูง 1 ฟุต ประหยัดพลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อการเปิดเครื่องทำความร้อนนาน 17 ชั่วโมง


(ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2550 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม)

ตัวเลขดังกล่าวบอกเล่าอะไรได้มากมาย เราต่างทิ้งอะไรบางอย่างทุกวันเพื่อให้โลกนี้แบกรับแทน โดยแทบไม่เคยไยดีเลยว่าขยะเกินกว่าครึ่งที่เราทิ้งสามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือหาวิธีจัดการที่มีประโยชน์ได้มากกว่าทิ้งไปเฉยๆ ขณะที่วิกฤตโลกร้อนกลายเป็นแฟชั่นสุดฮิต ผู้คนแห่แหนใช้ถุงผ้าเพื่อประกาศให้ทุกคนรู้ว่า ‘ฉันรักโลกมั่กๆ’ ไหนจะองค์กรต่างๆ อีกพะเรอเกวียนที่หากินอย่างเป็นล่ำเป็นสันจากความป่วยไข้ของโลก

แต่คนชายขอบกลุ่มหนึ่งกำลังช่วยโลกนี้อยู่โดยไม่เคยได้รับคำชื่นชม

คนเก็บขยะ

คุณเคยรอรถเมล์ แล้วบังเอิญมีคนถือถุงใบใหญ่ๆ เดินเข้ามาคุ้ยเขี่ยถังขยะเก็บขวดแก้ว ขวดพลาสติกหรือเปล่า หนำซ้ำบางทีก็ยกขวดที่มีน้ำเหลือขึ้นดื่มอีกต่างหาก ...แล้วเราใช้สายตาแบบไหนในการมองคนประเภทนี้

ในบรรดาคนชายขอบที่อยู่แสนไกลจากอำนาจและโอกาส คนไร้บ้านหรือ Homeless คงอยู่เกือบริมสุด

“สำหรับคนคนหนึ่ง ปัจจัยที่ผลักให้ต้องเป็นคนไร้บ้านไม่ได้มีแค่ปัจจัยเดียว แต่มีหลายๆ ปัจจัยซ้อนทับกัน เหตุผลที่ว่ามีหลักๆ คือพื้นฐานทางครอบครัวที่ไม่มีเครือญาติหนุนช่วย เผชิญวิกฤตในชีวิต ตกงาน และเป็นคนที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพร่างกาย มีโรคประจำตัว บางคนก็มีปูมหลัง เช่น เพิ่งพ้นโทษมา ประการสุดท้ายคือคนที่รักอิสระ” บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกถึงปัจจัยที่เสือกไสคนคนหนึ่งให้ออกจากบ้านและอธิบายเพิ่มว่า

“คนไร้บ้านอาศัยอยู่ในเมืองโดยแทรกตัวอยู่ตามช่องว่างของเมือง ดูเหมือนกับว่าคนเหล่านี้ไม่มีต้นทุนจะประกอบอาชีพในเมืองได้ แต่คนไร้บ้านเหมือนกับมดที่เดินไปทุกซอกทุกมุมแล้วเขาเจอช่องว่างหนึ่งที่เขาสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยคือการคัดแยกขยะ เก็บของเก่า ซึ่งถ้าไม่มีคนคัดแยกออกมาของสิ่งนั้นก็ต้องถูกนำไปฝังกลบหรือเผา แต่เขาแยกออกมาให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล นี่เป็นคุณูปการซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนไร้บ้านอย่างเดียว แต่คนจน คนสลัมอีกจำนวนไม่น้อยที่ประกอบอาชีพนี้ แสดงให้เห็นว่าแรงงานของคนชั้นล่างมีคุณค่าต่อเมืองด้วยเช่นกัน”

ประมาณกันว่าครึ่งหนึ่งของคนไร้บ้านค้ำจุนชีวิตด้วยการเก็บขยะและของเก่าขาย หมายความว่าขยะกว่า 8 พันตันต่อปีของกรุงเทพฯ จะต้องมากกว่านี้ ถ้าไม่มีพวกเขาคอยคัดแยกขยะที่รีไซเคิลได้ออกไปจากการทิ้งรวมๆ กันของพวกเรา

พูดให้สมฐานะ Homeless Ranger ก็คือคนไร้บ้านเป็นฟันเฟืองหลักตัวหนึ่งในการรีไซเคิลขยะและปกป้องโลกนี้จากการผลาญทรัพยากรอย่างหน้ามืดตามัว

Homeless Rangers

สุชิน เอี่ยมอินทร์ หรือที่เครือข่ายคนไร้บ้านเรียกว่า ลุงดำ ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มคนไร้บ้าน เล่าให้เราฟังว่าเขากลายเป็นคนไร้บ้านตั้งแต่ปี 2544 เพราะตกงาน นอนตากน้ำค้างอยู่สนามหลวง จนถึงที่สุดความหิวก็บีบคั้นให้เขาต้องเดินเก็บขวดตามถังขยะ ถามว่าอายมั้ย ลุงดำสวนกลับว่าอายกับอดจะเลือกอะไร อย่างน้อยวันนั้นก็ไม่ต้องอดตาย ส่วนวันนี้ลุงดำไม่เคยสนสายตาใครอีกแล้ว คนจะเยอะ จะน้อย ก็จะเก็บ เพราะมันเป็นอาชีพสุจริตอย่างหนึ่ง (เรานึกในใจว่ายังดีกว่านักการเมืองคอร์รัปชัน)

“ส่วนใหญ่ผมจะออกตอนเช้าๆ ประมาณ 9 โมงก็เอารถออกแล้วรอบหนึ่ง แต่ก่อนผมชอบออกตอนกลางคืนนะ มันเย็น บางทีกลับถึงบ้าน (ศูนย์คนไร้บ้านที่ตลิ่งชัน) ประมาณตี 1 เดี๋ยวนี้ตามันแย่ รถก็เยอะ เลยต้องวิ่งหากลางวันบ้าง แต่ไม่ค่อยได้ของ บางทีก็ดูของคนอื่น ถ้าเขาวิ่งไป 2 รอบแล้วไม่ค่อยได้ของกลับมา ผมก็ยังไม่ออก เพราะค่าน้ำมันร้อยหนึ่งต้องได้ของ ผมจะขอเสี่ยงตอนกลางคืนดู

“เก็บทุกอย่าง ขวดพลาสติกใส ขุ่น ขวดเบียร์ กระป๋องเบียร์ กระป๋องโค้กจะหายากเพราะมันเป็นอะลูมิเนียม มันแพง พลาสติกรวมเป็นสีๆ ก็กิโลฯ 10 กว่าบาท กระดาษ เหล็กเดี๋ยวนี้ก็หายาก เหล็กแพง ตอนนี้กิโลฯ 78 บาท ถ้าฟลุกๆ ก็ได้สายไฟตามอู่รถยนต์ที่เขาทิ้ง ลุงก็มาปอกเอาแต่ทองแดงกิโลฯ 200 กว่าบาท”

รถซาเล้งติดเครื่องที่ลุงดำพูดถึงไม่ใช่ของแก แต่เป็นรถของศูนย์คนไร้บ้านที่ต้องผลัดกันใช้ หมี เกิดเจริญ คนไร้บ้านอีกคนที่ออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 15 ก็มักจะขี่ซาเล้งออกไปหาของเก่าเหมือนกัน

“ใหม่ๆ ผมไปเก็บตรงป้ายรถเมล์ มีคนยืนอยู่ ถังขยะตั้งอยู่ ผมอายนะ แต่ผมคิดว่าบางคนอาจจะมองว่าผมยังสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ แต่ไม่รู้ว่าบางคนเขามองผมในมุมไหน มองว่าคนแบบผมเห็นอาหารก็จะเก็บกิน เห็นน้ำดื่มก็จะยกกิน อันนี้เป็นนิสัยผมอยู่แล้ว ถ้าผมหิวน้ำแล้วเห็นน้ำมันเย็น ถ้าคุณกินเหลือแล้วไม่ใส่ยาพิษให้ผมตาย ผมก็กินได้ ไม่ว่าจะป้ายรถเมล์หรือตรงไหน ผมก็หยิบกินต่อหน้าคนเยอะๆ เลย เก็บไปเก็บมา คนที่ยืนอยู่ต้องถอยห่างไป” หมีเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ

แต่ในยุคน้ำมันแพงบ้าเลือดแบบนี้ แม้แต่การเก็บของเก่าก็ยังเป็นเรื่องลำบาก ถ้าโชคร้ายเจอคนรับซื้อโกงตาชั่งก็ถือว่าซวยซ้ำซ้อน

ลุงดำเล่าให้ฟังว่าบางวันก็ได้ของ บางวันก็ไม่ได้ รายได้ต่อเดือนจึงตกอยู่ที่ 2-3 พันบาท เช้าซดกาแฟ กินข้าวเฉพาะมื้อเที่ยงกับเย็น กินก็กินอย่างประหยัดประเภทโครงไก่ต้ม น้ำพริก เกลือ น้ำปลา หันไปถามหมีว่ามีเงินเก็บบ้างหรือเปล่า เขาบอกว่าไม่มี ต้องอยู่แบบวันชนวัน จะออกเก็บของสะสมไว้เยอะๆ แล้วขายก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีข้าวกิน

ถ้าไม่มีพวกเขา...

เราไปหาคนรับซื้อรายใหญ่เจ้าหนึ่งละแวกซอยสวนผัก ตลิ่งชัน ปรีชา อึ้งสิทธิพูนพร เจ้าของกิจการ ป.เจริญค้าของเก่า เขาบอกกับเราว่าเขาก็ไม่รู้ว่าคนที่เอาของมาขายให้เขา ใครเป็นคนไร้บ้านบ้าง แต่ถ้าเป็นคนที่เขามองว่ายากจนจริงๆ ก็มีอยู่สัก 30 เปอร์เซ็นต์

“ลุงดำมาขายที่นี่ประจำ ถ้านับต่อรอบ เฉลี่ยรอบหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 200-300 บาท โดยยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายนะ ถ้าหาได้น้อยก็อาจจะรวมๆ กัน 2 วัน 3 วันมาทีหนึ่ง”

แต่ที่น่าตกใจคือปริมาณของเก่าและขยะที่ปรีชาเล่าให้เราฟัง

“ขวดแก้วเฉลี่ยวันละตันกว่าๆ เดือนหนึ่งก็ตกประมาณ 30-40 ตัน กล่องกระดาษเดือนหนึ่งก็ประมาณ 30-40 ตันเหมือนกัน หนังสือพิมพ์เดือนหนึ่งประมาณ 20 ตัน จะน้อยหน่อย เศษกระดาษก็ 20 กว่าตัน ส่วนขวดน้ำพลาสติกใสประมาณ 2 วัน 500 กิโลฯ เดือนหนึ่งก็ประมาณ 10 กว่าตัน ถ้าเป็นพวกพลาสติกรวมคือพวกกะละมัง ถังพลาสติกแตกๆ ทั้งหลาย ถ้าพวกนี้จะอยู่ประมาณ 20 กว่าตัน เศษเหล็กขั้นต่ำเดือนละประมาณ 50-60 ตัน”

ที่ว่านี่เฉพาะละแวกตลิ่งชันเท่านั้น ลองนึกดูว่าเราใช้ทรัพยากรวันหนึ่งมหาศาลขนาดไหน ปรีชาบอกว่าของที่ได้เขาจะส่งให้โรงงานรับซื้อเศษเหล็กเพื่อรีไซเคิล ซึ่งมีแหล่งใหญ่ที่ย่านพระประแดง พลาสติก กระดาษก็ส่งโรงแหล่งรับซื้อที่กระจายอยู่ทั่วไปเพื่อผ่านกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่

สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่ประสานงานกลุ่มคนไร้บ้าน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย บอกว่า เฉพาะใน กทม. น่าจะมีคนไร้บ้านอยู่ประมาณ 2,000-2,500 คน และ 50 เปอร์เซ็นต์เลี้ยงชีวิตด้วยการเก็บของเก่าขาย ถ้าเราสันนิษฐานจากคำพูดของปรีชาว่าคนยากจน 30 เปอร์เซ็นต์ที่เขาพูดถึงคือคนไร้บ้าน ก็แปลว่าถ้าไม่มีคน 2,000 กว่าคนที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ กลุ่มนี้ ขยะจำนวนไม่น้อยจะหายไปจากสารบบ ทั้งที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถหาตัวเลขใดๆ มาอ้างอิงได้ เพราะดูเหมือนจะไม่เคยมีการเก็บข้อมูลสถิติตัวเลขของคนไร้บ้านที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแปรรูปขยะอยู่เลย นั่นอาจเป็นเพราะ...

มองแบบนักเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าคนไร้บ้านจะเป็นกำลังสำคัญในภาคการแปรรูปขยะรีไซเคิล แต่จะด้วยเหตุผลใดไม่ทราบได้ คนเหล่านี้กลับไม่เคยถูกนับรวมอยู่ในกระบวนการทางเศรษฐกิจ พวกเขากลายเป็นสิ่งไม่มีตัวตนในสายตาของวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค

“สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์นับได้ เขาอาจไปนับที่ปลายทางว่าในร้านรับซื้อของเก่าสามารถแปรรูปได้กี่ตัน ต่อเดือน ต่อปี แต่เขาไม่รู้ว่าที่เขาแปรรูปมานั้น ต้นทางคนที่เก็บมาจากไหนบ้าง อาจเป็นเพราะคนเหล่านี้ทำงานที่ไม่ได้มีการจดทะเบียน รัฐจึงไม่สามารถนับรวมได้ว่าแรงงานของเขามีส่วนเท่าไหร่ แต่อาจจะบอกว่าปลายทางอยู่ตรงนี้ แต่บอกต้นทางไม่ได้” บุญเลิศตั้งข้อสังเกตและเพิ่มเติมว่า

“ในวงจรธุรกิจของเก่ามันกินกันหลายชั้นมาก จากคนเก็บรายย่อยไปถึงคนรับซื้อรายย่อย แล้วไปถึงร้านค้า ร้านค้าที่เราเห็นเป็นห้องแถว มีไม่กี่ร้านที่จะส่งตรงไปยังโรงงานได้ ต้องมีรายใหญ่ที่รับซื้อและคัดแยก ถามว่าคนเก็บของเก่าเก็บได้แล้วไปขายที่ไหน เขาไปขายให้คนรับซื้อรายย่อยซึ่งมีอีกหลายขั้นตอนกว่าจะไปถึงโรงงาน แต่ว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่จะไม่เดินไปหาคนรับซื้อใหญ่ๆ แต่จะไปหาแหล่งรับซื้อใกล้ๆ เพราะคนไร้บ้านไม่มีความสามารถเอาของไปขายรายใหญ่ ต้องขับรถเสียค่าน้ำมัน”

เมื่อไม่มีตัวตนในระบบเศรษฐกิจ คนไร้บ้านจึงแทบเข้าไม่ถึงสิทธิอย่างคนอื่นๆ

เพิ่มพลัง

การเก็บของเก่าอาจดูเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ แต่ปัจจุบันนี้กลับพบว่ามีการแข่งขันค่อนข้างสูง ถังขยะใบหนึ่งอาจถูกค้นทุกๆ 10 นาที ทำให้คนไร้บ้านทำมาหากินลำบากมากขึ้น ความที่กระจัดกระจายเป็นรายย่อยก็ทำให้ไม่มีอำนาจในการต่อรองกับผู้รับซื้อ

“ปัจจุบันนี้ รายได้จากการเก็บของเก่าของคนไร้บ้านถือว่าน้อย วันละ 60-80 บาท แม้ว่าตอนนี้ราคาของเก่าจะสูงขึ้น แต่คนเก็บมีเยอะขึ้น ซึ่งต่างกับที่ผ่านมาที่ราคาของเก่าอาจจะไม่สูง แต่คนเก็บสามารถเก็บได้เยอะ” สมพรอธิบาย

จึงเป็นที่มาของโครงการที่ทางมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมก่อตั้งขึ้น

“คนไร้บ้านที่ออกเก็บของเก่าจะมีอยู่ 3 แบบ แบบแรกคือพวกที่มีรถซาเล้ง ไม่ว่าจะเป็นรถถีบหรือใช้เครื่อง แบบที่ 2 คือใช้รถเข็น และแบบที่ 3 คือประเภทที่เดินเก็บ คนเหล่านี้เมื่อเก็บของมาได้ก็ต่างคนต่างขาย เอาไปขายร้านที่ตัวเองรู้จัก แต่ละรายที่เก็บของย่อมได้ปริมาณไม่เยอะ เมื่อของน้อยอำนาจในการต่อรองก็ต่ำ เผลอๆ นอกจากโดนกดราคาแล้วยังโดนโกงตาชั่งอีก

“อีกประการคือคนไร้บ้านไม่ค่อยได้รับการยอมรับและความไว้วางใจจากสังคม โครงการของกลุ่มอาชีพเก็บของเก่า เราจึงจะรวมเขาเป็นกลุ่มอาชีพหรือสหกรณ์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ให้เขาเป็นเครือข่ายกับตำรวจในการป้องปรามอาชญากรรม ให้เขามีสวัสดิการ มีเงินปันผล และดูแลกันเอง สกรีนมิจฉาชีพที่แอบแฝงเข้ามาด้วยตัวของเขาเอง ด้วยการตั้งกดด้วยตัวเขาเอง” นาวาเอกมนตรี ชูนามชัย ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เล่าให้เราฟังถึงโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่

โครงการดังกล่าวเปิดรับสมัครคนเก็บของเก่าที่สนใจ ซึ่งขณะนี้ในส่วนของเครือข่ายคนไร้บ้านกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบประวัติ โดยได้รับความร่วมมือจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย คนไร้บ้านที่มีรถเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะซาเล้งหรือรถเข็นก็จะได้เสื้อโครงการ ป้ายทะเบียนรถ และบัตรประจำตัว ส่วนคนที่ใช้วิธีเดินเก็บจะได้เพียงบัตรประจำตัวอย่างเดียว

“นอกจากจะออกเก็บของเก่า เรายังเป็นหูเป็นตาให้ตำรวจด้วย แนวทางนี้ดี ออกหากินโดยไม่ต้องกลัวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับ เพราะซาเล้งออกมาวิ่งมันก็ผิดกฎ ทุกวันนี้ออกหากินเป็นเวลา บ่าย 3 โมงก็ออกไม่ได้แล้ว แล้ว 4-5 ทุ่มต้องเข้าบ้านแล้ว แต่ถ้าเรามีเสื้อ คราวนี้จะรับรองโดยภาครัฐ” ลุงดำกล่าวเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว

นาวาเอกมนตรีอธิบายต่อว่า นอกจากนี้ ทางสถาบันฯ และมูลนิธิเพื่อที่อยู่อาศัยยังได้ร่วมกันวางแนวทางก่อตั้งกลุ่มสหกรณ์ของคนไร้บ้าน สำหรับรับซื้อของเก่าจากกลุ่มคนไร้บ้านด้วยกันเองในราคาที่เป็นธรรม

“สมาชิกจะนำของที่เก็บได้มาขายที่ศูนย์ฯ ของเขา ซึ่งจะมีการประกาศราคารับซื้ออย่างเป็นธรรม จะได้ราคาตามที่ประกาศ ไม่ถูกกดราคา แต่มันมีจุดอีกจุดหนึ่งที่จะดึงดูดสมาชิก นั่นก็คือเงินปันผลและสวัสดิการที่เราเซตระบบขึ้นมา ถ้าไปขายที่ศูนย์ฯ ได้เยอะ ตอนสิ้นปีก็จะได้เงินปันผลเยอะ มากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณที่นำมาขายที่ศูนย์ฯ โดยเงินปันผลนี้มาจากส่วนต่าง เช่น รับซื้อจากสมาชิก 45 ขาย 50”

ส่วนต่างดังกล่าว นอกจากเป็นเงินปันผลแก่คนไร้บ้านแล้ว ส่วนหนึ่งจะถูกจัดสรรเป็นสวัสดิการยามเจ็บไข้และเป็นเงินค่าฌาปนกิจกรณีที่มีญาติเสียชีวิต

“ศูนย์ฯ นี้เป็นศัตรูกับร้านรับซื้อมั้ย ไม่เป็นครับ เพียงแต่ว่าร้านรับซื้อจะต้องแฟร์กับคนไร้บ้าน ถ้าร้านไหนให้ราคาดี เขาก็ขายให้ ถือเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรอง”

แค่ไร้บ้าน ไม่ใช่ไร้ค่า

บุญเลิศบอกว่าขณะนี้ภาครัฐและ กทม. เริ่มให้ความสำคัญต่อปัญหาคนไร้บ้านมากขึ้นและพยายามเข้ามาดูแล อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่รัฐจะต้องทำคือการสร้างความไว้วางใจเพื่อให้คนไร้บ้านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมาพวกเขาถูกกระทำจากรัฐเสียจนเข็ดขยาด

“สวัสดิการที่จำเป็นที่สุดคือทำอย่างไรให้คนไร้บ้านมีที่พักอาศัย หลังจากมีที่พักอาศัยแล้วกระบวนการอื่นๆ จะตามมา จะส่งเสริมทักษะอาชีพที่ดีขึ้นได้อย่างไร จะทำให้เขามีการรวมกลุ่ม มีองค์กร ชุมชนทางสังคม เพื่อรับสวัสดิการได้อย่างไร แต่ถ้าไม่มีที่พักพิงแล้ว อย่างอื่นมันเริ่มยาก คุณให้เขาไปฝึกอาชีพ แล้วเครื่องมือจะไปเก็บที่ไหน อบรมเสร็จแล้วจะไปสมัครงานได้ยังไงเมื่อไม่มีทะเบียนบ้าน ดังนั้น สวัสดิการเรื่องที่อยู่อาศัยจึงเป็นเรื่องแรกที่จำเป็นมากๆ แต่ว่าก็ต้องมีอย่างอื่นเสริม” บุญเลิศอธิบาย

บางทีเราคงต้องย้อนกลับมาดูตัวเองว่าเรารักโลกกันแบบไหน และเรามองคนชายขอบด้วยสายตาและท่าทีแบบไหน

“ตอนตั้งกลุ่มใหม่ๆ ผมบอกเด็กๆ ว่าเรากำลังช่วย กทม. ลดปริมาณขยะลงไม่ให้ล้นถัง เราช่วยทำความสะอาด ไม่ให้ขยะมันเพิ่ม กับบอกว่า รู้มั้ย พวกเธอจะช่วยชาติได้มาก คือเอาขยะเหล่านี้ไปรีไซเคิลโดยไม่ต้องไปสั่งวัตถุดิบจากเมืองนอก” ลุงดำทิ้งท้าย

ในธรรมชาติทุกสิ่งมีคุณค่าและหน้าที่เสมอ ตั้งแต่ช้างถึงจุลินทรีย์ ในสังคมมนุษย์ก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่เรามีมายาภาพมากมายเหลือเกินที่คอยบดบังไม่ให้เห็นกันและกัน แย่ยิ่งกว่าคือเรามักเสือกไสกันออกไปแสนไกล จนหลงลืมไปว่าคนไร้บ้าน ไม่ได้แปลว่าพวกเขาเป็นคนไร้ค่า

************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
อุปกรณ์หากินของคนไร้บ้าน รถซาเล้งที่ใช่ว่าจะมีกันได้ทุกคน

เอาของเก่ามาขาย
ลุงดำ หรือ สุชิน เอี่ยมอินทร์ จากเครือข่ายคนไร้บ้าน
หมี เกิดเจริญ คนไร้บ้านที่มีอาชีพเก็บของเก่า
สภาพความเป็นอยู่ที่ศูนย์คนไร้บ้าน ตลิ่งชัน
กำลังโหลดความคิดเห็น