xs
xsm
sm
md
lg

‘ฟ๐นต์’ เส้นอักษรที่มากกว่าแค่ตัวอักษร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากคุณเป็นมนุษย์ที่มีการทำงาน เกี่ยวพันอยู่กับตัวอักษร ภาษา ในการทำงานบนคอมพิวเตอร์
คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักฟอนต์อย่าง Angsana, Cordia, Browallia, PSL ฯลฯ
แล้วฟอนต์ชื่อแปลกๆ ZoodRangmah (สุดแรงม้า), แจ๋ว, Layiji มหานิยม, SP ThunderFox หรือฟอนต์ตระกูล iannnnn ที่เริ่มออกอาละวาดตามที่ต่างๆ ล่ะ เคยเห็นบ้างไหม?
ถึงชื่อจะฟังดูแปลก แต่รับรองได้ว่าฟอนต์เหล่านี้มีอยู่จริง

มันไม่ได้เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ หรือเกิดจากมวลอากาศที่ก่อรวมตัวกันแต่อย่างใด
ฟอนต์ทุกตัวในบรรทัดบน..ล้วนมีเจ้าของ
ขอเชิญลากเส้นสายตาไปหาเส้นอักษร แล้วลากรวมกันให้พ้นกรอบความคิดเดิม ไปกับความโค้งเว้าของฟอนต์เก๋ๆ ณ บัดนี้


ฟ๐นต์.คอม
“ตอนเรียนสถาปัตย์ฯ เวลาทำงานส่งอาจารย์ต้องมีการสเกตช์งาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้คอมพิวเตอร์ทำ แต่มาวันหนึ่งนึกอยากให้มีลายมือตัวเองอยู่ในงานบ้าง บวกกับเริ่มรู้ว่ามีวิธีทำลายมือเราด้วยคอมพิวเตอร์ได้ จึงลองทำดู จนได้ฟอนต์ออกมาตัวหนึ่ง ก็นำไปใส่ในงาน อาจารย์และเพื่อนๆ ก็ฮือฮา เลยลองให้เพื่อนๆ โหลดไปใช้กัน”
“จากนั้นก็เอาฟอนต์ไปปล่อยในเว็บไซต์ส่วนตัว คือที่ iannnnn.com ก็เริ่มมีคนเข้ามาโหลดมากขึ้น มีฟีดแบ็กกลับมาดี ระหว่างนั้นก็เริ่มมีคนมาร่วมแจมด้วย พอเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงตัดสินใจทำเป็นเว็บไซต์ใหม่เลยคือ f0nt.com โดยมีลักษณะคล้ายกับสหกรณ์ของคนที่สนใจในเรื่องฟอนต์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกแบบ ผู้ที่ต้องการใช้ หรือผู้ที่อยากได้ความรู้ด้าน Typography Design” ปรัชญา สิงห์โต เว็บมาสเตอร์ f0nt.com เล่าถึงชนวนคิดอันซุกซนให้ฟัง
พวกที่เข้ามาที่นี่ น่าจะเป็นพวกดีไซน์เนอร์ ฉันนึก
“มันน่าแปลกใจที่ว่าเด็กประถมยังสนใจ เด็กที่สุดรู้สึกจะอยู่ชั้นป.6 เขาเข้ามาเพื่อออกแบบฟอนต์อย่างจริงจังเลย เคยออกแบบไว้เยอะด้วย”
ปรัชญาเล่าว่า ประเทศไทยไม่เคยมีวงการไหนที่เล่นกับเรื่องฟอนต์เท่าวงการสิ่งพิมพ์ อันเป็นวงการของมืออาชีพ ส่วนวงการของมือสมัครเล่นยังไม่เคยมีมาก่อน
พอมีเว็บนี้คนที่เข้ามาจะมีตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงนักออกแบบ นั่นคือกลุ่มเป้าหมายที่คาดหวังไว้ แต่ก็มักจะได้คนข้างเคียงของคนกลุ่มนี้มาด้วย ตอนนี้มีหมดทั้งครู ทหาร พยาบาล ตำรวจ เกษตรกร หมอ ทุกคนเข้ามาที่นี่ด้วยความคิดที่คล้ายกันว่า ‘ถ้ามีลายมือของตัวเองอยู่บนคอมพิวเตอร์มันก็คงจะเท่ดี’
“และด้วยความที่หลายๆ คนไม่ได้มีอาชีพเกี่ยวกับการออกแบบโดยตรง ทำให้ผลงานที่ได้มีความหลากหลายมาก” เสียงนักศึกษาหนุ่ม สัมพันธ์ สิทธิวรรณธนะ นักศึกษาสาขาวิชามีเดียอาร์ต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งในสาวกยุคบุกเบิก
เขาเล่าถึงการพบรักกับตัวอักษรว่า
“ช่วงสมัยมัธยมต้น ด้วยความที่อยากได้แบบอักษรสวยๆ เก็บไว้เยอะๆ เพื่อเอาไปใช้ทำรายงาน ผมจึงชอบเก็บสะสมฟอนต์ไทยที่มีกระจัดกระจายในอินเทอร์เน็ต” “ตอนนั้นเก็บรวบรวมได้จำนวนมาก ประกอบกับได้เรียนวิธีการสร้างเว็บไซต์ จึงเกิดไอเดียอยากทำเว็บไซต์ให้คนมาดาวน์โหลดฟอนต์ไปใช้ได้ฟรีๆ เมื่อมีเว็บไซต์ก็ได้คนคอเดียวกันช่วยส่งฟอนต์เข้ามาสมทบอยู่เรื่อยๆ"
"หลังจากเก็บสะสมฟอนต์ของคนอื่นมาสักระยะ จึงมีความคิดว่าน่าจะทำฟอนต์เป็นของตัวเองดูบ้าง เลยลองศึกษาเรื่องวิธีการสร้างฟอนต์ด้วยตัวเอง โดยฟอนต์ในยุคแรก เป็นการเอาฟอนต์ของคนอื่นมาแก้ไขนิดๆหน่อยๆ ให้มีลักษณะต่างออกไปจากเดิม คิดย้อนกลับไปแล้วรู้สึกผิดมาก เพราะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่น”
“จนถึงวันที่ได้รู้จักกับคุณปรัชญา เขาชักชวนให้เป็นพันธมิตรกัน เพื่อสร้างฟอนต์ให้ชาวโลกได้ใช้กันฟรีๆ ไม่คิดเงิน จึงเกิดเป็นเว็บไซต์ f0nt.com ขึ้น” สัมพันธ์เล่าย้อนไปถึงสายสัมพันธ์ที่เขามีกับฟอนต์

สนามไซเบอร์คนชอบฟอนต์
คงคล้ายๆ กับวงการอื่นที่มักสร้างพื้นที่อิสระให้คนได้สร้างสรรค์
“จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ คือคนที่ทำฟอนต์จริงๆ จะมีอยู่กลุ่มหนึ่ง พวกที่มีอาชีพเป็นนักออกแบบฟอนต์เลยก็มี แต่อาจจะได้ยินน้อยในบ้านเรา เพราะมันเป็นวิชาชีพที่ค่อนข้างเฉพาะทาง คนจ้างก็น้อย เพราะจะต้องรอให้ค่านิยมที่ว่าฟอนต์เป็นของฟรีหมดไปเสียก่อน” ปรัชญาผู้ดูแลสนามตอบ
“นอกจากจะเป็นพื้นที่สำหรับปล่อยของ มันยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้นักออกแบบรุ่นใหม่ด้วย ทำให้คนที่เข้ามาดาวน์โหลดฟอนต์ไปใช้ มองเรื่องของการออกแบบว่าไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอย่างที่คิด” สัมพันธ์เด็กหนุ่มขาประจำเสริม

ฟอนต์ : ฉันเป็นลูกมีพ่อมีแม่!
ย้อนกลับไปเรื่องลิขสิทธิ์ เราในฐานะคนนอกวงการกราฟิกดีไซน์ กำลังนั่งงงกับคำถามนี้
ฟอนต์มีลิขสิทธิ์ด้วยหรือ?
“ยอมรับว่าสมัยที่รู้จักกับฟอนต์แรกๆ ผมก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน แถมยังไปละเมิดเขาอีกต่างหาก” สัมพันธ์เล่ากลั้วเสียงหัวเราะและเล่าต่อว่าเขาเองเพิ่งจะมาเข้าใจถ่องแท้เพราะได้มีความรู้เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์มากขึ้น
สัมพันธ์มองว่าการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต ยังไม่ได้รับการแก้ไขในทางที่ดีขึ้น อาจเพราะเมืองไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมายลิขสิทธิ์เท่าใดนัก คนทั่วไปจึงยังขาดความเข้าใจอยู่
ส่วนเจ้าของลิขสิทธิ์รายย่อยที่ถูกละเมิด มีน้อยรายนักที่คิดดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ละเมิด ทำให้คนเหล่านี้ยิ่งได้ใจ นำผลงานไปเผยแพร่ ทำซ้ำมากขึ้น แม้แต่ฟอนต์ในเว็บนี้ ที่ถึงแม้ว่าจะแจกให้คนโหลดใช้ได้ฟรี แต่ก็ยังมีคนเอาไปรวมใส่แผ่นซีดีขาย สัมพันธ์เล่าด้วยสีหน้าเศร้าใจ
“คนส่วนใหญ่ไปติดว่าฟอนต์คือของฟรี ภาษาไทยคือภาษาของชาติ ใครจะใช้ก็ได้ แต่จริงๆ มันก็คืองานออกแบบอย่างหนึ่ง” เสียงจากหนุ่มหน้าตี๋ นำโชค สินมงคลรักษา Managing Director บริษัท เอ็กซ่า สตูดิโอ จำกัด อีกหนึ่งในสาวกที่รักฟอนต์เสริม
“คนไทยเราพอเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์มาก็มี Windows (เถื่อน) อยู่แล้ว เปิดดูฟอนต์ก็มีไว้ให้หมดทุกอย่าง จนวันหนึ่งได้มีการเผยแพร่ความรู้ว่าตัวฟอนต์มันต้องมีคนทำขึ้น มันไม่ได้แถมมากับ Windows ก็เลยเริ่มมีคนสนใจและให้ความสำคัญกับตรงนี้”
“แต่มีบางคนบอกว่าฟอนต์ไม่มีลิขสิทธิ์ ฟอนต์มันเป็นภาษาไทย คือคนยังแยกไม่ออกเลยว่าระหว่างรูปแบบของตัวอักษรที่เราต้องนั่งออกแบบเอง กับตัวอักษรภาษาไทยที่เป็นสมบัติของชาติ มันคือคนละส่วน คนละประเด็นกัน เพราะการออกแบบฟอนต์มันเป็นการดัดเส้นโค้ง เส้นตรง การวางน้ำหนัก การวางช่องไฟ รวมถึงด้านโปรแกรมมิ่งเบื้องหลังซึ่งค่อนข้างซับซ้อนเพราะต้องใช้กับภาษาไทย อีกทั้งเรื่องการเชื่อมกับมาตรฐานของโลกอีก ด้วยความคิดแบบนี้ มันทำให้วงการออกแบบฟอนต์ซบเซาไปหลายปี คนที่ออกแบบก็เริ่มท้อ” เว็บมาสเตอร์f0nt.com กล่าว
เป็นเพราะในตอนนี้กฎหมายเรื่องฟอนต์ยังไม่มี?
“ฟอนต์ถูกมองเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์” ปรัชญาตอบเสียงเรียบ เขาเล่าว่านั่นคือชื่ออย่างเป็นทางการตามภาษากฎหมาย เพราะมันประกอบไปด้วยส่วนประกอบต่างๆ เหมือนเป็นซอฟต์แวร์ตัวหนึ่ง ที่โหลดมาเป็นไฟล์ แล้วนำไปใช้งานได้เหมือนโปรแกรม อีกทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุให้มันเป็นโปรแกรมมันจึงไม่เคยมีคำจำกัดความ จะไปบอกว่ามันเป็นงานศิลป์ก็ไม่เชิง เพราะตัวกฎหมายในบ้านเรายังมองว่ามันเป็นโปรแกรม
แต่ทำไม..เราถึงได้ยินการละเมิดในประเด็นนี้ น้อยกว่าการละเมิดในซอฟต์แวร์ตัวอื่น?
“เป็นเพราะมันยังมีน้อย อย่างพวกเรื่องละเมิดเพลงในไทย มันมีเป็นหมื่นเป็นแสน แต่เทียบกับฟอนต์ยังมีแค่หลักร้อยหลักพัน”
“แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะละเมิดได้ ดังนั้น จงอย่าคิดว่าฟอนต์เป็นของฟรี” นำโชคย้ำท้าย

ทำลายกำแพงด้วยฟอนต์
ฟอนต์ต้องมีส่วนของโปรแกรมมิ่งด้วย?
มันหมายความว่าอย่างไร? เราทำหน้างงถาม
ใช่ , ตัวฟอนต์มันไม่ใช่แค่ที่เราเห็นกันบนโปสเตอร์ ที่ใครจะเขียนก็เขียนได้ เวลามันอยู่ในคอมพิวเตอร์มันต้องมีคำสั่ง เมื่อก่อนฟอนต์ที่ใช้ใน Word กับ Photoshop มันคือคนละตัวกัน มันไม่มีทางใช้ด้วยกันได้ แต่วันหนึ่งก็มีคนตั้งเป็นมาตราฐานใหม่ขึ้นมาให้ฟอนต์สามารถใช้ได้กับทุกระบบปฎิบัติการ จะเป็นโปรแกรมเก่า-ใหม่ก็ใช้ได้หมด เว็บมาสเตอร์หน้าเข้มให้คำตอบ
“ฟอนต์ที่อยู่เว็บไซต์เราก็ยังไม่ถึงมาตรฐานนั้น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มันคือการแก้ปัญหาที่ทำให้คนไทยทุกคนสามารถใช้ฟอนต์เดียวกันได้ในทุกโปรแกรม เพราะมันจะเชื่อมโยงกับหลายวงการ อย่างงานโรงพิมพ์ งานเว็บไซต์ หรือคนที่ใช้ระบบปฎิบัติการอื่นๆ เราจะต้องทำลายกำแพงนั้นก่อน ซึ่งตอนนี้มันก็สำเร็จบ้างแล้ว แต่ถ้าจะให้ตรงตามมาตราฐานเลย คงต้องรออีกระยะหนึ่ง จนกว่าทุกโปรแกรมจะขยับมาตรฐานมาถึง”
ในเมื่อมันเป็นงานจากมันสมองทำไมไม่ทำเชิงพาณิชย์? “ถ้าทำขาย ความสนุกมันอาจจะหมดไป เพราะมันจะมีรายละเอียดเรื่องเงินเข้ามา” ชายหนุ่มในตำแหน่งMD บริษัทออกแบบตอบ
“ผลตอบแทนอาจไม่ได้อยู่ในรูปของตัวเงิน แต่มันเป็นความภูมิใจ เวลาที่เราไปไหนมาไหนแล้วพบเห็นฟอนต์ของเราปรากฏอยู่ตามที่ต่างๆ อย่างเรื่องใกล้ตัวที่สุดที่เจอคือ ฟอนต์ป้ายชื่อห้อยคอที่รุ่นพี่ทำให้ผมตอนรับน้อง เขาไม่รู้ว่ามันคือฟอนต์ที่ผมทำ มันทำให้เรายิ้มและภูมิใจลึกๆ” สัมพันธ์เล่าด้วยใบหน้าที่เปื้อนยิ้ม
“สำหรับเรามันเหมือนงานอดิเรก เมื่อได้ออกแบบมันไปแล้ว วันหนึ่งได้ไปเจอมันไปโผล่อยู่ตามที่ต่างๆ หัวใจมันพองโตดี อย่างที่ผ่านมาจะมีเว็บไซต์ที่ติดต่อมา ทั้งขอใช้ และขอซื้อฟอนต์จากเราก็มี Sanook, Dek-d, Yahoo.co.th แต่ทั้งหมดก็ได้รับอนุญาตให้นำไปใช้ได้ฟรี เพราะถ้าเกิดเราคิดเงิน ความรู้สึกตรงนี้มันจะหายไปเลย มีเพียง เกม SPORE เท่านั้นที่เขาดึงดันจะจ่ายเงินให้ได้” เว็บมาสเตอร์ตัวกวนเล่าด้วยหัวใจที่พองโต
แสดงว่าฟอนต์ทุกรูปแบบในเว็บไซต์สามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้ทั้งหมด เจ้าของอนุญาตแล้ว?
“มันถือเป็นข้ออนุญาตร่วมกัน และฟอนต์แต่ละตัวก็จะเป็นลิขสิทธิ์ของเจ้าของคนนั้น ไม่ได้เป็นของในนามเว็บไซต์ เพราะเว็บไซต์เราทำหน้าที่เป็นเพียงพื้นที่เท่านั้น” ปรัชญานอนยันอีกครั้ง

ฟอนต์ : ตัวอักษร : ภาษา : วัยรุ่น
ระหว่างบทสนทนา เสียงเรียกเข้าจากโปรแกรม MSN ดังขึ้น พร้อมๆ กับข้อความตามประสาวัยโจ๋
“หวัดเด่ะเพ่”
หัวข้อสนทนาประสาฟอนต์กับความวิบัติของภาษาจึงเริ่มขึ้น
ทั้งปรัชญาและนำโชค ช่วยกันเล่าว่าตอนนี้ที่ชุมชนหลังบ้านของเว็บไซต์ (ฟอนต์ฟอรั่ม) มีการรณรงค์ในเรื่องนี้อยู่ “อย่างเวลาเข้ามาในเว็บบอร์ดเพื่อพูดคุย คุณจะต้องใช้ภาษาให้ถูกต้อง เป็นกฎที่ต้องยอมรับร่วมกัน คือมันจะมีเส้นแบ่งระหว่างความน่ารักกับความวิบัติอยู่ ขึ้นอยู่กับจังหวะ เวลา และกาละเทศะ
มันไม่ได้หมายความว่าต้อง “ค่ะ” ต้อง “ครับ” ตลอด อย่างบางคนเข้ามาหัวเราะว่า “ฮิฮิ” อันนี้ยังโอเค แต่มีบางคนพูดว่า “คริคริ” คือชีวิตจริงเราไม่ได้ใช้พูดกันอยู่แล้ว บางทีมันก็ดูขัดหูขัดตา”นำโชคเปิดประเด็น
“เป็นกติกาว่าถ้าอยากคุยที่ไหนก็คุยไปจะพูด “อ่ะนะ” จะใช้ภาษาวิบัติอย่างไรที่ไหนก็ได้ แต่เมื่อเข้ามาในนี้แล้วคุณควรเคารพกติกา มาคุยกันด้วยภาษาไทยที่ถูกต้อง คือเราคุยกับคนจริงๆ อย่างไรก็อยากให้เราคุยกับคนในเว็บบอร์ดอย่างนั้น เราอยากปลูกฝังค่านิยมลงไปในตัวเว็บบอร์ด” ปรัชญากล่าวเสริม
 
โปรแกรมแอนตี้วิบัติภาษา
แล้วมันมีไหม? โปรแกรมที่จะช่วยบล็อกคำที่เขียนไม่ถูกต้องเหล่านี้
“จริงๆ มันทำได้ แบบถ้าเราพิมพ์คำที่ผิด ที่วิบัติปุ๊บ มันจะแก้ให้ทันที ถ้านึกภาพไม่ออกให้นึกถึง MSN เวลาเราพิมพ์คำว่า “อ่ะนะ” มันจะขึ้นเป็นกระพริบๆ แต่นี่เราสามารถเปลี่ยนตัวกระพริบนั้นเป็นคำว่า “ครับ ค่ะ” ได้เลย” ปรัชญาตอบ
“แต่ว่าเราไม่ทำ เพราะเรามองว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ” นำโชคต่อบทสนทนา
“เรามองว่าปัญหาภาษาวิบัติ มันเป็นปัญหาระยะสั้นของวัยรุ่น ซึ่งฟอนต์ไม่ใช่ตัวที่จะไปแก้ปัญหาตรงนั้น เพราะฟอนต์ทำมาแล้ว มันก็จะอยู่ถาวร มันไม่ได้อัปเดตตามกระแส อย่างเช่นคำว่า ‘บายบาย’ ก็เปลี่ยนเป็น ‘บ่ะบุ๋ย’คือภาษามันจะเปลี่ยนไปเรื่อยตามธรรมชาติของเด็กที่เล่นอินเทอร์เน็ต” ปรัชญาให้เหตุผลแทน
เขาอธิบายต่อว่าสมมติเราจะทำฟอนต์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาตรงจุดนี้ ก็จะเกิดคำถามที่ว่า “แล้วทำไมคนต้องมาเลือกใช้ฟอนต์ตัวนี้ด้วย?” อย่างเด็กที่เขาสนุกกับการพิมพ์ ทำไมเขาจะต้องเลือกใช้ฟอนต์นี้ด้วย ทั้งๆ ที่ยังมีฟอนต์อื่นๆ อีกเป็นร้อยเป็นพัน
“เผลอๆ มันอาจทำให้ภาษาวิบัติขึ้นกว่าเดิมก็ได้ อย่างพวกที่เล่นเกมเขาจะด่ากันว่า ‘สัด’ พอServer จัดการแบน เขาก็เปลี่ยนใหม่เป็น ‘แสด’ พอเจอแบนอีกก็เปลี่ยนอีกเป็น ‘แสรด’ เขาก็หาทางกันจนได้ มันยิ่งจะเละขึ้นกว่าเดิมเพราะวิธีแบน” เว็บมาสเตอร์อธิบาย
ตัวอย่างนี้เป็นข้อยืนยันได้ดีต่อคำพูดที่ว่า ‘คนเราชอบแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ’

อะไรๆ ก็กราฟิกดีไซน์เนอร์
เดี๋ยวนี้สายงานกราฟิกดีไซน์ เริ่มถูกเด็กรุ่นใหม่มะรุมมะตุ้มกันมากขึ้น มันเป็นเรื่องของเทรนด์สังคม หรือใจรักจริงกันแน่?
“ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเทรนด์ ผมยังเป็นแบบนั้นเลย” สัมพันธ์ตอบให้ฟังฮาๆ
เขามองว่าอิทธิพลที่มีผลทำให้เด็กวัยรุ่นสนใจด้านนี้เยอะขึ้น อาจเป็นเพราะภาพลักษณ์ที่ว่าการเรียนออกแบบหรือเรียนกราฟิกดีไซน์ เรียนแอนิเมชั่น คือสาขาวิชาที่เรียนแล้วดูเท่ ใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน ไม่ต้องปวดหัวกับวิชาคำนวณ จบมาทำงานฟรีแลนซ์ มีอิสระไม่ต้องมีกฎระเบียบคอยบังคับ หากใครจะมองแบบนี้มันก็ไม่ผิด แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อมีโอกาสเรียนหรือทำงานด้านนี้แล้ว จะต้องทุ่มเทกับมันจริงๆ สัมพันธ์ว่าที่กราฟิกดีไซน์ในอนาคตให้ความเห็น
“ถ้านับเป็นเทรนด์ของผู้ปกครอง ตอนนี้ผู้ปกครองยุคเก่าก็เหลือน้อยแล้ว จะมีคนอีกรุ่นที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ปกครองของเด็กยุคถัดไป ความเชื่อและทัศนคติก็จะเปลี่ยนไป อย่างคนที่เคยจบม.6แล้วอยากเข้านิเทศฯ ตอนนี้เขาก็จะกลายเป็นผู้ปกครอง เวลาเขาสอนลูกจะเป็นอีกแบบหนึ่ง” ปรัชญาตอบ
“สำหรับผมอะไรที่มันเกี่ยวกับการออกแบบมันดีหมด อยากให้มีการส่งเสริมกันมากขึ้น วงการศิลปะมันควรจะอยู่ในทุกแขนง กับผู้ที่บริหารบ้านเมืองก็ด้วย” นำโชคสนับสนุนตบท้าย
ถ้ากระแสกราฟิกดีไซน์กำลังมา พัฒนาการวงการออกแบบในบ้านเราก็น่าจะดีขึ้นด้วย?
“ไม่เสมอไป เพราะอะไรก็ตามที่ต้องจ่ายค่าสมอง คนมักจะจ่ายยาก บ้านเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการออกแบบ จะมีแค่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น คนที่หาเช้ากินค่ำจะไม่สนใจเลย แต่ช่วงหลังเริ่มมีการปลูกฝัง ตามมหาวิทยาลัยมีการเปิดสอนกันมากขึ้น ทำให้ความคิดเรื่องการพัฒนาในสายออกแบบก้าวหน้าขึ้นบ้าง” ปรัชญากล่าว
“สายงานด้านการออกแบบของบ้านเรา มักถูกทิ้งให้เผชิญอยู่ในสังคมตามยถากรรม ขาดการสนับสนุนของภาครัฐ การออกแบบของไทยจึงเป็นไปแบบจับฉ่าย คือมีงานอะไร ถ้าทำได้ก็รับทำหมด ส่วนในต่างประเทศมีการแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจน ภาครัฐให้การสนับสนุนเต็มที่ ทำให้การออกแบบของต่างประเทศโตเร็วกว่าบ้านเรามาก”
“ตอนนี้ที่เห็นจะมีก็แต่ภาคเอกชนและธุรกิจที่เริ่มให้ความสนใจ มีการจัดเวทีการประกวดให้นักเรียนนักศึกษาได้แสดงความสามารถทางด้านการออกแบบอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งว่ากันตามจริงมันก็คือส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการตลาดของเขานั้นเอง” สัมพันธ์สมทบ

ศาสตร์การออกแบบ : สังเวียนนอกสายตา
บทสนทนาว่าด้วยการสนับสนุนอันน้อยนิดของรัฐ พานทำให้วงสนทนาเงียบลงไป
แต่ความรู้สึกของคนออกแบบ ที่ถูกรัฐมองว่าเป็นม้านอกสายตากำลังเริ่มต้น
“เห็นว่าภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับศาสตร์การออกแบบเหมือนกัน นี่ก็เห็นว่าจะออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกแล้ว” สัมพันธ์เอ่ยเรียกเสียงหัวเราะจากตลกร้าย
ก่อนกล่าวต่อว่าฝีมือการออกแบบของไทยไม่ได้เป็นรองชาติใด มีงานหลายชิ้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีนานาชาติ แต่มันมาจากการที่นักออกแบบไปลุยด้วยตัวเอง ซึ่งความจริงแล้วรัฐบาลสามารถผลักดันอุตสาหกรรมการออกแบบ และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสายงานออกแบบควบคู่กันไปได้
“แต่ก็น่าเสียดาย...ที่รัฐบาลกลับนำเม็ดเงินในส่วนนี้ไปทุ่มให้กับสิ่งอื่น จนทำให้เราขาดโอกาสอะไรหลายๆ อย่างไป” สัมพันธ์ตอบด้วยอารมณ์เศร้า
ก่อนที่อารมณ์เศร้าปนเซ็งจะกลบวงสนทนา เราจึงต่อบทสนทนาสุดท้าย
คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ จะช่วยสร้างพัฒนาการให้วงการออกแบบได้อย่างไร?
“ถ้ามองในภาพรวม เมื่อก่อนงานออกแบบในบ้านเรามันซ้ำซากมาก ไม่ค่อยมีคนใช้ภาษาไทยในงานออกแบบ ส่วนหนึ่งเพราะมันอาจมีตัวเลือกน้อย อันนี้ก็พอจะเข้าใจได้ และบางครั้งภาษาไทยชอบเกิดปัญหาการใช้งาน แต่ถ้ามีคนเข้ามาช่วยกันหาทางออก ปัญหาก็คลี่คลายได้”
“การที่ฟอนต์จากเว็บไซต์เราไปปรากฎตามที่ต่างๆ มันช่วยพลิกโฉมได้เสี้ยวหนึ่ง ให้คนอื่นๆ ได้เห็นฟอนต์จากเว็บเรา หรือฟอนต์ที่ซื้อขายถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ที่สำคัญคือเราจะเห็นงานออกแบบที่มีภาษาไทยมากขึ้นด้วย” ปรัชญาตอบทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

########################
เรื่อง – วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม

ปรัชญา สิงห์โต เว็บมาสเตอร์ f0nt.com
นำโชค สินมงคลรักษา
สัมพันธ์ สิทธิวรรณธนะ
เกม SPORE อีกหนึ่งแห่งที่ฟอนต์จากเว็บไซต์ได้อวดโฉม
อ่านก่อนดาวน์โหลดฟอนต์
ตัวอย่างกรณีละเมิดลิขสิทธิ์
SIPA Fonts ฟอนต์ลิขสิทธิ์จากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า)
ชุดฟอนต์ตระกูล iannnnn
ชุดฟอนต์ตระกูล NP(Naipol)
ชุดฟอนต์ตระกูล SP
ฟอนต์ SP ThunderFox
ชุดฟอนต์ตระกูล ZF
ฟอนต์ Layiji มหานิยม
ฟอนต์ ZoodRangmah(สุดแรงม้า)
ฟอนต์ แจ๋ว (can_Jaew)
ฟอนต์ Saruns Gothic
ฟอนต์ AH_LuGDeK_R
ฟอนต์ Saruns Indianna Jone
กำลังโหลดความคิดเห็น