xs
xsm
sm
md
lg

“พี่ซุป” ซูเปอร์จิ๋ว เรื่องเด็กๆที่ยิ่งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซูเปอร์จิ๋ว รายเด็กที่อยู่ยงคงกระพันมานานนับ 18 ปี
นับด้วยปี พ.ศ.นานถึง 18 ปีเต็มแล้วที่ผู้ชายคนนี้ วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ ถูกเรียกว่า “พี่ซุป”ของเด็กๆ
แม้ไม่ใช่นิคเนมของเขามาตั้งแต่กำเนิด แต่นิคเนมนี้ได้เป็นชื่อประจำตัวของเขาไปแล้ว ในฐานะพิธีกรและเจ้าของรายการเด็ก “ซูเปอร์จิ๋ว”

ในวันนี้ของพี่ซุป เขายังทำหน้าที่พิธีกรเหมือนเช่นเดิม บทสนทนาของเขาในมุมมองของการพัฒนาเด็กไทยน่าสนใจไม่น้อยในฐานะที่อยู่กับเด็กๆมานาน ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของเขาใคร น้อยคนจะรู้ว่าเขาคือผู้บริหารอารมณ์ดีที่มีหลักการบริหารที่น่าสนใจ


พี่ซุป ไม่ใช่คนรักเด็กเหมือนพวกนางงาม แต่การก้าวสู่เส้นทางผลิตรายการเพื่อเด็กๆ จากครั้งแรกๆเมื่อ 18 ปีก่อนในหน้าที่พิธีกรรายการ มาสู่บทบาทเจ้าของผู้ผลิตรายการเอง เขาบอกว่า เป็นจุดเริ่มต้นของความผูกพันกับเด็กๆ และนิคเนมใหม่ที่ถูกเรียกว่า “พี่ซุป”

ชื่อนี้เขาชอบนะ... พี่ซุป บอกกล่าว แม้ชื่อเล่นจริงๆจะชื่อ “เหรียญ” แต่เขาก็ดูจะชอบชื่อที่ตั้งใหม่มากกว่า และวันนี้ชื่อนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

“เด็กๆเรียกผมว่า พี่ซุป แต่พอทำรายการมานานๆเด็กบางคนเรียกผมว่า น้าซุป อาซุป แต่ในอนาคตผมอยากเป็น ปู่ซุป ของเด็กๆ นั่นหมายถึงเรายังอยู่ในเส้นทางนี้ไปอีกนาน”

พี่ซุป เล่าด้วยรอยยิ้มว่า ผมจบเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ เพื่อนรุ่นเดียวกันไปทำแบงก์บ้าง ทำธุรกิจบ้าง แต่ผมเลือกเส้นทางนี้ เพราะทำแล้วมีความสุข นั่นแหละเป็นจุดหนึ่งของชีวิต เมื่อทำงานที่มีความสุขแล้วจะสนุก และมีแรงต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรค

รายการซูเปอร์จิ๋ว เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง เป็นรายการหรือเวทีกิจกรรมให้เด็ก ซึ่งพี่ซุป ยอมรับว่า ภูมิใจมากที่รายการนี้อยู่ยงคงกระพันมานานเกือบยี่สิบปีแล้ว และเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงมาก

“ผมทำงานและเรียนรู้กับเด็กๆมานาน มีสิ่งค้นพบหลายอย่าง จุดหลักๆที่อยากให้สังคมได้รู้คือ เด็กไทยนั้นมีความสามารถมาก มีเด็กจำนวนมากเก่งเข้าขั้น “อัจฉริยะ” แต่พวกเด็กๆหลายๆคนขาดโอกาสที่ดี ไม่มีเวทีแสดงออก บางคนไม่กล้าแสดงออก ซึ่งเวทีซูเปอร์จิ๋ว ถือเป็นเทียนเล่มเล็กๆ จุดพลังให้พวกเด็กๆเหล่านี้”

จินตนาการของเด็กนั้น น่าสนใจไม่น้อย พี่ซุป เล่าต่อว่า เคยให้เด็กออกแบบจินตนาการด้านสิ่งแวดล้อม มีเด็กคนหนึ่ง ออกแบบว่าอยากจะสร้างหมู่บ้านเปลือกหอย บริเวณจุดที่เสี่ยงการเกิดคลื่นสึนามิ หมู่บ้านเปลือกหอยของเด็กคนนั้นคือ เมื่อเกิดคลื่นสึนามิ หมู่บ้านทรงเปลือกหอย จะทำหน้าที่หุบตัวเหมือนหอยที่ปิดฝา คอยป้องกันคลื่นยักษ์

“สิ่งที่ผมยกตัวอย่างนั้น บางคนมองว่าเป็นจินตนาการที่เพี้ยนหรือเปล่า ผมมองว่า จินตนาการของเด็กไม่ใช่เรื่องเพี้ยน แต่เป็นเรื่องดีที่เด็กได้คิด อนาคตไม่แน่สิ่งที่พวกเด็กๆคิดอาจเป็นไปได้”

ในฐานะผู้ผลิตรายการเด็ก จุดสำคัญคือ การสร้างสรรค์ให้เด็กรู้จักคิด เป็นเวทีให้เด็กเรียนรู้ เช่น ซูเปอร์จิ๋วทำกิจกรรมแข่งขันฟุตบอลพลาสติก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว ซึ่งเป็นกีฬาที่เหมาะสมกับช่วงปฐมวัย สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากจะให้เด็กรู้จักออกกำลังทางสมองแล้ว ต้องออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย

เด็กบางคนเล่นกีฬาเก่ง แต่เรียนไม่เก่ง อยากมีกิจกรรมกีฬาที่จัดขึ้น อยากให้เหงื่อทุกเม็ดที่ออกจากตัวเขา เป็นแรงผลักดันให้เขาเกิดความมั่นใจ อยากค้นหาตัวเองให้พบ จุดนี้สำคัญมาก มีนัยให้เด็กรู้จักคิด

ระหว่างการสนทนาสะท้อนมุมมองถึงเด็กไทย ในฐานะผู้ผลิตรายการเด็ก พี่ซุป พาเดินไปชมตู้โชว์ช่างฝันของเขา...

ตู้โชว์ช่างฝันของเขามีขนาดใหญ่ ตั้งเป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งสถานที่ทำงานของ บริษัท ซูเปอร์จิ๋ว จำกัด เหล่าของเล่นตัวการ์ตูนชื่อดังในอดีต ตั้งเรียงรายเต็มพื้นที่ของตู้ มีทั้งโดราเอมอน...ไอ้มดแดง ...เกตเตอร์วัน ทู ที...อาราเร่...หลากหลายเหล่าตัวการ์ตูน

พี่ซุป บอกว่า ตู้โชว์นี้บรรจุจินตนาการของเขาในวัยเด็ก เป็นของสะสมที่เขาเติบโตขึ้นมาทำงานเจียดเงินซื้อมาเก็บไว้ ถือเป็นสัญลักษณ์ของความสุขในช่วงวัยเด็กที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจหลายอย่างๆ

“ผมว่า จินตนาการมีส่วนพัฒนาการเด็ก ในยุคของผมตัวการ์ตูน และเหล่าฮีโร่แปลงกายหลากหลาย ถือเป็นจินตนาการในยุคของผม และมันสร้างความคิดเชิงสร้างสรรค์หลายอย่าง ให้นำมาสู่การสร้างกิจกรรมให้เด็กๆ”

พี่ซุป มองว่า ตัวการ์ตูนสมัยก่อนคลาสสิกมาก สังคมยุคนั้นยังไม่ฟู่ฟ่าไปด้วยเทคโนโลยี เด็กๆต่างเฝ้าหน้าจอทีวี เพื่อชมการ์ตูนและบรรดาเหล่า ฮีโร่พิทักษ์โลก หรือเด็กบางคนมักจะสร้างจินตนาการผ่านการอ่านหนังสือการ์ตูน แตกต่างจากเด็กสมัยนี้ถามเด็กๆได้ ส่วนใหญ่จะมีจินตนาการไปตามเทคโนโลยีและ เกมคอมพิวเตอร์

ในสมัยนั้น เด็กบางคนค้นพบ ตัวเองว่า สามารถเป็นนักเขียนการ์ตูนได้ บางคนใช้จินตนาการของตัวการ์ตูนไปสร้างสรรค์เป็นนักเขียน ดังนั้น จะเห็นว่า เหล่าตัวการ์ตูนยุคนั้นมีอิทธิพลมาก

“เด็กไทยยุคนี้ ตัวการ์ตูนจะลดบทบาทลงไปบ้าง เพราะต้องยอมรับว่าเด็กยุคนี้โตเร็วขึ้นกว่ายุคอดีต มีความคิดไปตามเทคโนโลยี รวดเร็ว และมีจินตนาการสูงมาก ดังนั้นอยู่ที่ผู้ใหญ่จะเปิดมุมมอง หรือกระตุ้นให้ได้มีโอกาสหรือไม่”

ถึงวันนี้ ซูเปอร์จิ๋ว ได้กลายเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงมาก ทุกคนรู้จักพี่ซุป ในฐานะเจ้าของบริษัท บอกว่า ส่วนสำคัญคือ ทีมงานที่ดี และลองนึกย้อนไปตั้งแต่วันแรกของการเปิดบริษัท มีพนักงานเพียง 8 คนมาถึงวันนี้มีถึง 120 คน ธุรกิจขยายตัวทั้งผลิตรายการทีวี ทำธุรกิจอีเวนต์

“ผมให้ความสำคัญในการวางแผนมากที่สุด ต้องมีแผน A, B และ C รองรับ” พี่ซุป ย้ำว่า อย่างธุรกิจผลิตรายการที่เขาทำ จุดนี้สำคัญ เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา และต้องคิดปรับเปลี่ยนคอนเทนต์รายการตลอดเวลา ดังนั้นการวางแผน และทีมงานสำคัญมาก

ซูเปอร์จิ๋ว เป็นองค์กรที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่จุดที่อยากให้เป็นคือ การทำงานที่มีความสุข เหมือนเพื่อน พี่น้อง ครอบครัวเดียวกัน จุดนี้ต้องทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกอยากทำงาน อยากทุ่มเท ดังนั้น ผู้บริหารต้องแสดงให้เห็นด้วยว่า เราใส่ใจ ให้ความรู้สึกที่ดีต่อกัน

“อย่างเราเห็นว่า พนักงานซูเปอร์จิ๋ว เริ่มลงพุง เราก็ลองมาหากิจกรรมนอกเหนือจากงานว่าเราจะลดพุงอย่างไรให้ทุกคนเสนอมา สิ่งเหล่านี้แหละเป็นการทำงานที่อยู่กันแบบสนุกและมีความสุข”

ความใฝ่ฝันของผู้สร้างสรรค์รายการซูเปอร์จิ๋วผู้นี้ ทิ้งท้ายว่า อยากให้ซูเปอร์จิ๋วเป็นสถาบันสำหรับเด็กๆ และครอบครัวในสังคมไทย มีส่วนช่วยในการเลี้ยงดูเด็กๆ เป็นสถาบันที่พ่อแม่ฝากความหวังในการพัฒนาเด็กให้เป็นคนดีที่มีความสามารถ



กำลังโหลดความคิดเห็น