xs
xsm
sm
md
lg

สารคดีซีไรต์ ปลายทางอยู่หนใด?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ผมไม่เคยสนใจ ไม่เคยให้ ‘ค่า’ กับรางวัลซีไรต์”

เรืองรอง รุ่งรัศมี พญามังกรแห่งยุทธภพน้ำหมึก คือเจ้าของถ้อยคำนั้น คำปรารภที่เสียดเย้ยอย่างหนักแน่น ภายใต้ท่าทีเรียบเรื่อย ไม่อินังขังขอบต่อสิ่งใด เป็นคำตอบสั้นกระชับก่อนจางหายอย่างรวดเร็วราวลมรำเพยท่ามกลางผู้คนพลุกพล่าน ณ งานประกาศผลรางวัลวรรณกรรมรางวัลหนึ่ง....เมื่อนานนับปีที่ผ่านมา

ถ้อยคำนั้นผุดพรายขึ้นมาอีกครั้งจากความทรงจำ เมื่อถึงคราที่เวทีซีไรต์ หรือ รางวัลวรรณรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน THE S.E.A WRITE AWARD เดินทางมาสู่เครื่องหมาย 'ปุจฉา' ตัวเบ้อเริ่ม พร้อมกับการจัดวางงานเขียนประเภท 'สารคดี' เข้าสู่หมวดหมู่ของการคัดสรรมอบรางวัล นอกเหนือไปจากเรื่องสั้น นวนิยาย และกวีนิพนธ์

นึกถึงคำหยันอหังการดังกล่าวขึ้นมาก็เนื่องจากว่า นาทีนี้ ใครต่อใครล้วนให้ค่า ถามหาความหมาย ไต่ถามถึงคำจำกัดความของงานเขียนประเภทใหม่ที่ถูกบรรจุไว้บนเวทีซีไรต์ที่ว่ากันว่า...ทรงเกียรติยิ่งนัก

ถามไถ่กันให้ควั่ก ‘สารคดีซีไรต์เจ้าเอย ปลายทางอยู่หนใด?’

ใครบ้างหนอจะไม่ไยดี แล้วแสดงท่าทีเพิกเฉยเช่นนั้นได้...หยิ่งผยอง แล้วเอื้อนเอ่ยน้ำเสียงเรียบๆ

“ผมไม่เคยให้ค่ากับรางวัลซีไรต์”

สารคดีซีไรต์ ควร ‘ให้’ อะไรกับคนอ่าน?

“ผมมองว่าสารคดีเป็นงานเขียนที่มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าวรรณกรรม”

จิตติ หนูสุข กรรมการบริหารสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย แสดงทัศนะทั้งตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจไม่น้อย หลังเวทีแถลงการณ์ระดมความคิดเห็นของคณะกรรมการซีไรต์ ณ ห้อง Embassy Room โรงแรมโอเรียนเต็ล เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา

“สำหรับผม วรรณกรรมที่ดีและมีคุณค่าควรเป็นงานที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางมโนทัศน์หรือก่อเกิดแรงผลักดันบางอย่างทางจิตวิญญาณ”

ต้องถึงขั้นสั่นสะเทือน เหมือนถูกค้อนทุบหัว อย่างที่ ฟรานซ์ คาฟคา กล่าวไว้ไหม? เราเอ่ยถาม

จิตติ ยิ้มเล็กน้อย ก่อนแสดงความเห็นต่อจากที่ค้างไว้

“นั่นคือสิ่งที่งานวรรณกรรมควรจะมี ไม่ใช่สิ ต้องใช้คำว่ามันคือสิ่งที่งานวรรณกรรม ‘ต้อง’ มี คนอ่านเขาได้รับอะไรจากงานของคุณ อ่านแล้วได้อะไร? มันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรทางทัศนคติ มันพาเขาก้าวข้ามไปสู่จิตสำนึกอะไรบางอย่างที่เติบโตขึ้น กว้างไกลขึ้นไหม? สำหรับผม งานเขียนชิ้นไหนที่อ่านแล้วไม่ทำให้คนอ่านรู้สึกได้อย่างนั้นก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์”

แล้วงานเขียนประเภทสารคดีจำเป็นต้องก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดทางจิตสำนึกหรือจิตวิญญาณไหม?

“จำเป็นแน่นอน ผมถึงย้ำว่าสำหรับผม ผมให้ค่าสารคดีไม่ต่างจากวรรณกรรม ตัวผมเองก็ต้องการสารคดีที่เมื่ออ่านจบแล้ว ทำให้ผมรู้สึกว่าผมได้อะไรจากการอ่านงานชิ้นนั้น”

แล้วสารคดีแบบไหน ในสายตาคุณที่น่าสนใจ พอจะมีที่ยืนบนเวทีซีไรต์

“งานของคุณ อรสม สุทธิสาคร ก็น่าสนใจ ผมชอบวิธีการถ่ายทอด ชอบการใช้ภาษา งานของ ประชาคม ลุนาชัย เรื่อง 'ยาย' ซึ่งเป็นสารคดีถ่ายทอดชีวิตของยายไฮด้วยการใช้วรรณศิลป์ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน แต่ที่ผมกำลังสนใจเป็นพิเศษ คืองานในกลุ่มตีแผ่ชีวิตของสาวไซด์ไลน์ ที่สำนักพิมพ์ ANIT ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ผมว่ากลวิธีการนำเสนอมันดึงความสนใจได้นะ แล้วอ่านจบก็รู้สึกว่ามันก็ตอบอะไรกับสังคม ทำให้รู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่”

สารคดีตีแผ่ชีวิตของคนกลางคืน หรือที่ใครๆ มักเรียกว่า 'มุมมืด' ของสังคม มีอยู่มากมาย ใช่เพียงสำนักพิมพ์ ANIT เสียเมื่อไหร่? ด้วยความสงสัย เราจึงเอ่ยถาม อรสม สุทธิสาครก็เคยเขียนสารคดีชีวิตผู้คนเหล่านั้น สารคดีของพิมพ์บูรพาก็มีไม่น้อย มิใช่หรือ?

“ที่คุณว่ามาก็เข้าข่ายความน่าสนใจทั้งนั้น แต่ที่ผมว่าสำคัญกว่านั้นก็คือ ‘ความจริง’ หรือ ‘ข้อเท็จจริง’ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของสารคดี เรื่องราวเหล่านี้ ควรตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษว่าเราจะตรวจสอบข้อมูลความจริงได้อย่างไร ซึ่งก็ยากนะ โดยเฉพาะงานจำพวกสาวไซด์ไลน์ของสำนักพิมพ์ ANIT ถ้าข้อมูลที่เขาตีพิมพ์คือเรื่องจริงก็น่าสนใจ แต่ด้วยกลวิธีที่เขาใช้มันคงทำให้ตรวจสอบยาก เราก็อดที่จะเกิดคำถามไม่ได้ว่า เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า”

แน่ล่ะ สำหรับสารคดี สิ่งแรกสุดที่คุณต้องยึดถือคือ ‘ความจริง’ คือ ‘ข้อเท็จจริง’ ที่มิใช่การตีขลุมหรือหยิบจับอย่างเลื่อนลอย หากต้องผ่านการรับรู้ทั้งทางประสบการณ์จริงของผู้เขียน ผ่านการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เก็บเกี่ยวฐานข้อมูลและบริบทที่เชื่อมโยงจากทั้งประสบการณ์จริง ประสบการณ์อ้อม กระทั่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นตกผลึก...จึงกลั่นออกมาเป็นสารคดีที่คงไว้ซึ่งเรื่องราวของความจริง ผ่านกลวิธีการนำเสนออันแยบคายตามแต่สไตล์ของนักเขียนแต่ละคน อาจไม่ใช่ 'หัวใจ' ของทั้งหมด แต่ไม่ว่าอย่างไร 'ความจริง' ก็คือสิ่งสำคัญที่ควรยึดถือ..หาก ทว่า บนเวทีซีไรต์ นั่นจำเป็นยิ่งกว่าสิ่งใดหรือเปล่า

“ความจริงเป็นสิ่งสำคัญ ข้อมูลคือสิ่งจำเป็น แต่ผมขอถามว่า ถ้าคุณเขียนสารคดีขึ้นมาสักเรื่อง เช่น เรื่อง 'แสตมป์' โดยที่มีข้อมูลครบถ้วน แต่เมื่ออ่านจนจบแล้ว สารคดี เรื่องนี้ ‘ให้’ อะไรกับคนอ่าน”

ก่อนจบบทสนทนา จิตติยังคงย้ำอย่างหนักแน่น ในมุมมองของเขาที่ว่า สารคดีไม่ต่างจากวรรณกรรม ที่ควรก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือก่อเกิดบางสิ่งข้างในตัวตน จิตวิญญาณของคนอ่าน

'วรรณศิลป์' กับ 'ความจริง' เส้นแบ่งเด่นชัดหรือพร่าเลือน

“ผมกำลังเขียนถึงประเด็นที่ว่าด้วยพรมแดนของวรรณศิลป์กับข้อเท็จจริงในงานสารคดี”

อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนที่มีผลงานรวมเรื่องสั้นเข้ารอบสุดท้ายของการตัดสินรางวัลซีไรต์ในปีนี้ เอ่ยขึ้นในบ่ายวันหนึ่ง ประเด็นที่ว่านั้นก็คือเนื้อหาที่เขาตระเตรียมเพื่อถ่ายทอดในคอลัมน์ 'คนกับหนังสือ' ที่เขารับผิดชอบเดือนเว้นเดือนในนิตยสาร 'สารคดี'

ความละเมียดละไมในเชิงวรรณศิลป์จะลดทอนคุณค่าของความเป็นจริงในรูปแบบของงานสารคดีหรือเปล่า? เมื่อเอ่ยถาม อนุสรณ์ก็ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า สำหรับเขา ความละเมียดละไมในเชิง 'วรรณศิลป์’ คือสิ่งจำเป็นสำหรับสารคดี และไม่ได้มีส่วนลดทอนคุณค่าของความจริงแต่อย่างใด ทั้งยกตัวอย่างว่า งานเขียนเชิงอัตชีวประวัติของนักเขียนรางวัลโนเบลระดับโลกก็เรียกได้ว่าเป็นสารคดีประเภทหนึ่ง ทั้งยังมากด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ กระนั้น ก็ไม่ได้ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเรื่องราวที่ได้อ่าน ได้สัมผัส จะถูกความงามของภาษาลดทอนคุณค่าลงแม้แต่น้อย

บทสนทนาระหว่างเรากับนักเขียนหนุ่ม เป็นไปอย่างเรียบง่าย ต่างจากวันแถลงข่าว ณ โรงแรมโอเรียนเต็ล ที่ร้อนแรงพอสมควร ภายหลังจาก ชมัยพร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการดำเนินการรางวัลซีไรต์ เปิดประเด็นว่าด้วยการวางกรอบของสารคดีบนเวทีซีไรต์ ให้อยู่บนพื้นฐานของการเป็น 'สารคดีเชิงวรรณศิลป์'

กอปรกับ ผศ.ประทีป เหมือนนิล ตั้งคำถามต่องานสารคดีทำนองว่า

“สร้างสรรค์ พอจะให้ซีไรต์ไหม?”

เป็นประเด็นที่สะกิดใจมากพอสำหรับการเปิดให้ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี หย่อนความเห็นลงพร้อมกับกระแสบางอย่างในน้ำเสียงที่บอกไม่ถูก ฟังไม่ชัดนักว่าขุ่นข้องหรือน้อยใจ

“หากคุณจำกัดคำว่า สารคดีเชิงวรรณศิลป์ หมายความว่ามันมีสารคดีอื่นๆ ที่ไม่มีวรรณศิลป์อย่างนั้นใช่ไหม การที่มันมีความเป็นวรรณศิลป์อยู่แล้ว ผมว่าประด็นนี้มันก็มีคุณค่าของความสร้างสรรค์มากพอที่จะให้รางวัลซีไรต์ มันมีคนอ่านมากพอ มีคนสนใจมากพอ เมื่อมีคนสนใจอยู่แล้ว ผมว่าเราไม่ต้องสนใจเลยกับคำว่ามีวรรณศิลป์หรือไม่มี”

“ผมเพียงแต่สงสัยว่า ถ้าซีไรต์กล้าที่จะให้ รางวัล ‘สารคดีซีไรต์’ ทำไมสารคดี ถึงต้องมีคำว่าเชิงวรรณศิลป์ ผมคิดว่ากรรมการมีวิจารณญาณที่จะพอรู้ว่าสารคดีเรื่องไหนน่าอ่านหรือไม่น่าอ่าน อย่าไปตัดสินที่คำว่า เชิงวรรณศิลป์ เพราะคำว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ มันไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดความอยู่แค่การใช้ภาษา เพราะการทำงานก็มีความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง”

วันชัย ย้ำว่า 'วรรณศิลป์' หรือ 'ภาษา' นับเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของสารคดีอยู่แล้ว

“ถ้าใครคิดว่า สารคดีไม่เป็นงาน Creative writing ผมขอค้านหัวชนฝา ผมคิดว่าถ้ารางวัลซีไรต์ไม่อยากให้รางวัลสารคดีก็ไม่เป็นไร แต่อย่ามาบอกว่างานสารคดีไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ผมรับไม่ได้”

............

หากน้ำสีอำพันช่วยปลดปล่อยความจริงจากจิตใต้สำนึก

ค่ำคืนหนึ่งข้างแก้วใส ศิริโชค เลิศยะโส อดีตช่างภาพและนักเขียนฝีมือดีของนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย ก็ได้เผยความจริงจากส่วนลึกที่คนสารคดีอย่างเขาต้องการอย่างแท้จริง เปล่าหรอก เราไม่ได้ถกเถียงกันเรื่องสารคดีซีไรต์ ประเด็นน้อยนิดมี ก็เพียงแค่...ชอบอ่านสารคดีแบบไหน?

"ไม่รู้สิ เราก็แค่อยากอ่านงานสารคดีที่คนเขียน เขียนสนุก"

.........

เป็นอีกครั้ง ที่ถ้อยคำของใครบางคนในน้ำเสียงไม่ยี่หระ หากโอหังชัดเจนในแนวทางของตน บอกกล่าวด้วยน้ำเสียงสุดแสนธรรมดาว่า ผมไม่เคยให้ ‘ค่า’ กับรางวัลซีไรต์

****************

เรื่อง-รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล

หมายเหตุ ขอบคุณ สุเจน กรรพฤทธ์ ผู้เอื้อเฟื้อบันทึกงานแถลงข่าวจากเวทีระดมความเห็น ‘สารคดีซีไรต์’

กำลังโหลดความคิดเห็น