xs
xsm
sm
md
lg

หล่อเทียน หลอมใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากเศษขี้ผึ้งและน้ำตาเทียนชิ้นน้อย หลอมรวมกลายเป็นเทียนพรรษา...ที่พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาจัดทำขึ้น เพื่อถวายแด่ภิกษุสำหรับจุดในโบสถ์ในช่วงระยะเวลานับตั้งแต่ต้นกล้าเริ่มแตกกอ ไปจนถึงช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นเวลาที่พระสงฆ์ประจำอยู่ที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน ไม่ออกแสวงบุญจาริกไปยังที่ใด

ในอดีตชาวพุทธจะทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย โดยการเอารังผึ้งร้างมาต้มเอาขี้ผึ้ง แล้วฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวเป็นคืบ หรือเป็นศอกแล้วใช้จุดบูชาพระ ซึ่งหากเป็นเทียนพรรษา ก็จะมีขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น แต่ในปัจจุบัน การหล่อเทียนพรรษากลายเป็นเพียงความทรงจำในอดีต หลายชุมชนเลือกซื้อเทียนพรรษาที่จัดทำสำเร็จรูป แทนการหลอมเทียนถวายวัดในช่วงเข้าพรรษา ภาพความสามัคคีในชุมชนและแก่นแท้ของวันสำคัญทางศาสนาเริ่มห่างหายไป เหลือแต่เพียงเปลือกนอกของพิธีกรรม การแห่แหนเฉลิมฉลองที่กลายเป็นอีกเทศกาลหนึ่งเท่านั้น

แสงเทียนส่องธรรม

เทียนพรรษา เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไปถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจแสงสว่างของดวงเทียน

การทำเทียนพรรษา มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จากการนำรังผึ้งมาต้มเอาขี้ผึ้งไปฟั่นเป็นเทียนนำไปถวายพระภิกษุ เอาเทียนเล่มเล็กๆ หลายๆ เล่ม มามัดรวมกันเป็นลำต้นคล้ายกับ ต้นกล้วย หรือลำไม้ไผ่ แล้วนำไปติดกับฐาน ซึ่งการมัดรวมกันแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นิยมเรียกว่า ต้นเทียน หรือต้นเทียนพรรษา

ในทางพระพุทธศาสนา กล่าวถึงการทำบุญเข้าพรรษาว่า เป็นเรื่องของการ “หยุด” เพื่อจะได้พักทบทวนตัวเองเกี่ยวกับเรื่องการประพฤติปฏิบัติ ซึ่งในหลักของชาวพุทธนั้น มีหลักของการทำบุญอยู่สามประการ คือ หนึ่ง เพื่อทำให้ได้ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา สอง เพื่อศึกษาหลักธรรม และสาม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งนั่น พระมหาสง่า ธีรสังวโร แห่งวัดผาลาด จังหวัดเชียงใหม่บอกว่า นับเป็นอานิสงส์ของการทำบุญเข้าพรรษา

“ถ้าเรานึกถึงกรอบสังคมในอดีต ช่วงนอกพรรษาจะเป็นฤดูของการทำไร่ทำนา เป็นช่วงเวลาของการลงไร่ พอเสร็จแล้วถึงช่วงของการเข้าพรรษาส่วนใหญ่จะปลูกข้าวเสร็จแล้ว รอแต่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวหลังจากออกพรรษาเสร็จ ในระหว่างนี้ก็จะเป็นช่วงที่พระสงฆ์เองหยุดการเดินธุดงค์ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่ชาวบ้านจะได้ถือโอกาสนี้เข้าวัดในวันพระ จะได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ขณะที่พระสงฆ์เองก็จะได้มีเวลาหยุดเพื่อทบทวนศึกษาหลักธรรมในพระไตรปิฎก และก็เมื่อถึงวันพระจะได้นำหลักธรรมต่างๆ ในพระไตรปิฎก เอาความรู้ที่ได้จากการจาริกธุดงค์มาเล่าและเทศน์ให้บรรดาญาติโยมได้ฟัง” พระมหาสง่าอธิบายให้เห็นถึงหัวใจสำคัญของช่วงเวลาเข้าพรรษาของพุทธศาสนิกชนในอดีตให้ฟัง

ซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบันนี้ชาวบ้านจะยึดติดกับประเพณีมากกว่า พอถึงฤดูกาลเข้าพรรษาก็นำเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนไปถวายพระสงฆ์ เพราะความเข้าใจว่าเทียนพรรษา พระสงฆ์จะนำไปส่องธรรมเข้าศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย อานิสงส์ก็คือจะทำให้ได้สติปัญญา แล้วในขณะเดียวกันพระสงฆ์ไม่มีผ้าสำหรับเปลี่ยนในการสรงน้ำ การถวายผ้าอาบน้ำจึงเพื่อไม่ให้พระสงฆ์มีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับของผ้านุ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วกรอบสังคมของอดีตที่ผ่านมากับปัจจุบัน เรื่องของการถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนก็ยังคงมีอยู่ ถือว่าในส่วนของประเพณีชาวพุทธในปัจจุบันยังได้ยึดถือเอาไว้

“แต่ในส่วนของการปฏิบัติเป็นส่วนที่เราต้องทำความเข้าใจว่า การจุดเทียนเพื่อส่องธรรม ชาวพุทธควรจะถือโอกาสนี้จุดเทียนส่องชีวิต หยุดในเรื่องของบาปกรรมทั้งหลายในช่วงของการเข้าพรรษา ตลอดระยะเวลาที่เราได้ทำไร่ไถนา เราอาจจะได้ไปล่วงเกินชีวิตสรรพสัตว์ หรือดื่มเหล้าสรวลเสเฮฮา พอถึงฤดูกาลเข้าพรรษาอย่างน้อยที่สุดก็สามเดือน หยุดในเรื่องของเหล้า การตกปลาล่าสัตว์ ทุกอย่างจะหยุดหมดในช่วงสามเดือน โดยประเพณีนี้เราไม่รู้ว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ในเมืองไทยชาวพุทธแม้คนที่ดื่มเหล้าจัดๆ พอถึงฤดูกาลเข้าพรรษาก็หยุดกันได้”

วันเข้าพรรษา วันแห่งการบำเพ็ญตน

วันเข้าพรรษา นอกจากมีขึ้นเพื่อให้พระสงฆ์ได้ศึกษาธรรมพัฒนาจิตแล้ว ชาวบ้าน ญาติโยมก็จะได้พัฒนาจิตใจ ได้ร่วมกันเลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา ดังนั้นการโครงการลดเหล้าเข้าพรรษา จึงเป็นโครงการเริ่มต้น ที่จะตั้งใจร่วมกันที่จะบำเพ็ญตน ถือศีล และลดละเลิกอบายมุขในช่วงบำเพ็ญภาวนานี้ ดังนั้นก่อนที่จะส่งเสริมพุทธศาสนาหรือสิ่งอื่นใด เราชาวพุทธควรต้องส่งเสริมตนเองเสียก่อน ดังที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนให้คนละเว้นซึ่งสิ่งที่ไม่ดีก่อน แล้วถึงจะแนะวิธีการว่าควรทำอย่างไร

พระมหา ดร. ดวงจันทร์ คุตตฺสีโล มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ บอกถึงหลักที่พุทธศาสนิกชนควรยึดถือปฏิบัติในวันเข้าพรรษา คือ การยึดถือใน ทาน ศีล ภาวนา ส่วนพระภิกษุสงฆ์ก็จะยึดถือใน ศีล สมาธิ ปัญญา เช่นเดียวกัน ตามที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงเส้นทางสู่การประสบความสำเร็จของภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชน 3 ประการข้างต้น

“การทำทานทำอย่างไรถึงจะร่ำรวย เหตุปัจจัยประกอบด้วย 3 อย่าง คือ ผู้ให้ ผู้รับ มีศีล และวัตถุที่ให้ทานนั้นเป็นสิ่งบริสุทธิ์ ดังนั้นเมื่อเราให้ทานทำบุญ ก็เสมือนการกินยา เพราะเราเชื่อมั่นในยา ก็ทำทานก็เพราะเชื่อว่าทานนั้นเปรียบดังยาวิเศษ”

ส่วนอานิสงส์ในการถวายเทียนก็เพื่อให้หมดสิ้นแก่เวรกรรม พระสงฆ์จุดเทียนเพื่ออ่านพระธรรมเพื่อให้ก่อเกิดซึ่งปัญญา ดังนั้นพุทธศาสนิกชนที่ถวายเทียนแก่พระสงฆ์ก็เปรียบเสมือน เป็นผู้ให้ซึ่งปัญญาแก่พระภิกษุสงฆ์เช่นเดียวกัน

ทางด้านพระมหาสง่าสรุปว่า ประเพณีเข้าพรรษามีส่วนดีที่คนโบราณได้วางแนวทางไว้ว่า เราต้องหยุดการเข่นฆ่า หยุดการเสพสุรายาเสพติดและอบายมุขทุกชนิดในตลอดระยะเวลาช่วงสามเดือนนี้ ซึ่งการงดดื่มสุราในพิธีกรรมช่วงวันเข้าพรรษานี้ ก็เป็นการนำเอาประเพณีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม มาประยุกต์ใช้กับแนวคิดใหม่ของสังคมชาวพุทธ

“ปัจจุบันศีลธรรมของคนหายไป เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ลืมวันสำคัญทางพุทธศาสนา ไม่ทราบคุณค่าหรือความหมายของประเพณีเข้าพรรษา เด็กรุ่นใหม่บางคนไม่รู้จักคำสวดมนต์ในพุทธศาสนา อาราธนาศีล อาราธรรม ซึ่งเป็นธรรมพื้นฐานไม่เป็น เราจะส่งเสริมศีลธรรมในชุมชนของตนเองได้อย่างไร พิธีวันนี้เราเห็นถึงธรรมะ แม่พิมพ์คือศีล บรรดาศีล 5 ข้อ ศีลข้อ 5 สำคัญที่สุด ดังนั้นคนเราหากไม่มีสติ ทุกอย่างก็หมด”

การเริ่มต้นที่ศีลข้อ 5 คือ ลด ละ เลิกอบายมุข โดยเฉพาะเหล้าได้ จะทำให้ศีลข้ออื่นๆ ที่เหลือปฏิบัติได้ง่ายขึ้น นั่นคือ ศีลข้อ 5 ชาวพุทธต้องเอาไปปฏิบัติอย่าแค่ท่องอย่างเดียว

หล่อเทียน หลอมใจ ไร้แอลกอฮอล์

เสียงกลองดังก้องนำมาแต่ไกลบนเส้นทางมุ่งหน้าสู่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ขบวนแห่ขี้ผึ้งที่ประกอบไปด้วยโคม ตุง อันเป็นสิ่งมงคลตามความเชื่อของชาวล้านนา ค่อยๆ เคลื่อนมาตามถนนอย่างสงบ ชุดขาวแบบพื้นเมืองที่ทุกคนพร้อมใจสวมใส่สะท้อนแสงแดดยามเช้าเป็นประกายขรึมขลัง ป้ายผ้าผืนใหญ่เขียนข้อความโครงการ “ลด ละเหล้าเข้าพรรษา” ประกาศการปวารณาตัวของพุทธศาสนิกชนเหล่านี้ว่า พวกเขาขอถือศีลข้อ 5 ตลอดช่วงระยะเวลาของการเข้าพรรษานี้

จากความสำเร็จของการทำงานในโครงการ “ม่วนงัน สันเล้า ปลอดเหล้า ปลอดภัย ม่วนใจ๋ปี๋ใหม่เมือง” เพื่อรณรงค์สงกรานต์ไร้แอลกอฮอล์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โครงการสื่อพื้นบ้านเพื่อการลดละเลิกเหล้า (สพล.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่างเห็นควรให้มีการทำงานต่อเนื่องในเรื่องการรื้อฟื้น คุณค่า ความหมาย และสืบทอดประเพณีเข้าพรรษา พร้อมทั้งให้มีการรณรงค์ลด ละเลิกเหล้า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาอันเป็นช่วงแห่งการถือศีล ทำบุญกุศล และถือเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการลด ละเลิกเหล้ากันมาก ร้านค้าในชุมชนต่างให้ความร่วมมือที่จะงดขายเหล้าอย่างเด็ดขาดในช่วงวันเข้าพรรษาที่ 18 กรกฎาคม

“โครงการหล่อเทียน หลอมใจ ไร้แอลกอฮอล์” มีตัวแทนของชุมชนและวัดในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่จำนวนทั้งหมด 21 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ ทุกชุมชนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า นอกจากการปฏิบัติตนในการร่วมกันทำบุญถือศีลลด ละเลิกเหล้าแล้ว การถวายเทียนในช่วงเข้าพรรษาเพื่อใช้จุดเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ในระหว่างพรรษาแก่พระสงฆ์ นับเป็นสิ่งสำคัญที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมา จึงเห็นควรให้มีการจัดพิธีกรรมเพื่อหล่อเทียนและร่วมถวายเทียนที่หลอมจิตใจทุกคนในชุมชน

อดุลย์ ดวงดีทวีรัตน์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานโครงการนี้ขึ้นว่า เกิดจากการตั้งคำถามถึงคุณค่าของประเพณีชาวพุทธต่างๆ และพบว่าชาวบ้านส่วนมากไม่รู้คุณค่า รู้แต่รูปแบบ จึงทำการรื้อฟื้นสืบทอดประเพณีการหล่อเทียนและถวายเทียนเข้าพรรษา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ ความเข้าใจในคุณค่า ความหมาย อานิสงส์ผลบุญในช่วงเข้าพรรษา อันจะเป็นแรงบันดาลใจให้มีความศรัทธา และมีความเชื่อมั่นในการทำงานมากยิ่งขึ้น

“ในอดีตมีการเอาดอกไม้และน้ำตาเทียนที่เหลือแต่ละบ้านมารวมกัน เพื่อหลอมทำเทียนพรรษาง่ายๆ ถวายวัด เรื่องของความสวยงามไม่คิด คิดอย่างเดียวคือความสามัคคี เพราะในอดีตประเพณีการหลอมเทียนพรรษาเป็นเวทีให้คนที่มีความขัดแย้งในชุมชนให้เลิกแล้วต่อกัน เรื่องเก่าๆ ก็ให้จบไป เข้าพรรษาแล้วทุกคนก็อยู่กันแบบสมานฉันท์ แต่ปัจจุบันเมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป จากการหลอมเทียนก็เปลี่ยนมาซื้อเทียนเอา เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ชี้ให้เห็นว่าคนเดี๋ยวนี้ไม่เห็นคุณค่าของประเพณีเก่าๆ ต่างคนต่างซื้อเทียนแล้วก็เอามาถวาย คุณค่าที่หายไปในประเพณีทำให้เราเห็นภาพของคนในชุมชนที่มีความแตกแยก เพราะประเพณีเข้าพรรษาและพิธีหลอมเทียนไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน”

เช่นเดียวกับ ประทีป บุญมั่น ประธานชุมชนหัวฝาย จ.เชียงใหม่ ที่บอกว่าในสมัยก่อนแต่ละชุมชนจะไปเก็บขี้เทียนจากบ้านของชาวบ้านทุกหลังคาเรือนมาหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ในปัจจุบันแต่ละชุมชนจะได้รับแจกเทียนพรรษาจากหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐ ทำให้การสืบทอดประเพณีหลอมเทียนพรรษาหายไป เหลือแต่พิธีกรรมการแห่เทียนไปถวายวัดเท่านั้น

“งานหล่อเทียนครั้งนี้ทั้ง 21 ชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของ จะเน้นที่กระบวนการให้ชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อความสามัคคี ซึ่งแตกต่างจากที่เทศบาลทำเพราะเทศบาลจะซื้อเทียนมาแล้วนัดให้ประธานชุมชนไปรับ หลังจากที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมรื้อฟื้นพิธีหลอมเทียนร่วมกับทางชุมชน ทุกวันนี้มีเด็กรุ่นใหม่ไปวัดช่วยกันหลอมเทียนพรรษา เอาทั้งกายและใจทำ”

การมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น ขี้ผึ้งและเทียนที่จะนำมาหล่อ ชุมชนจะรวบรวมจากชาวบ้านในชุมชนแล้วเอามารวมกันที่วัดโดยเขาใช้คำว่า “เพื่อสร้างความสามัคคี” ทั้งกับคนในชุมชนและทั้ง 21 ชุมชนที่ร่วมกัน นั่นคือชุมชนได้นำความรู้ที่ได้รับจากช่วงเช้า คือรูปแบบคุณค่าของการหล่อเทียนเอามาปรับใช้ หรือแต่ละชุมชนมีของดีอะไรจะนำมาสบทบร่วมทำบุญ เช่นบางชุมชนที่มีโคมเขาจะเอาโคมมาร่วม บางชุมชนจะเอาตุงมาร่วม บางชุมชนเอากลองมาร่วมให้สนุกสนานโดยไม่มีเหล้า และบางชุมชนจะเอาการแสดงมาร่วม เป็นต้น

งานนี้สนุกด้วยแต่ไม่มีแอลกอฮอล์นั่นคือ ผู้เข้าร่วมเสนอว่ามีการแห่ขบวนเทียนจากหน้าประตูวัดเข้ามาในวัดเป็นการสนุกแต่ไม่มีเหล้า ประธานชุมชนหัวฝายบอกว่างานนี้ไม่มีเรื่องการเมืองหรือนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวกับเทศบาลซึ่งทุกครั้งยากที่จะหลีกเลี่ยงการเลี้ยงเหล้าในงานพิธีต่างๆ ได้ ทำให้ทุกชุมชนสามารถเข้ามาร่วมโดยไม่ต้องมีเรื่องการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งไร้สิ่งมึนเมา

“การหลอมเทียนต้องมีจุดสำคัญจุดหนึ่ง ไม่ใช่ใครอยากจะทำก็ทำได้ อย่างน้อยต้องมีวัดเป็นศูนย์กลาง เพราะไม่ใช่แค่การหลอมเทียนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปีนี้เราได้เอาคนทั้งหมดในชุมชนมาหลอมใจร่วมกัน” ประทีปกล่าว
ทิ้งท้ายด้วยคำสอนของพระมหาสง่าที่ฝากถึงพุทธศาสนิกชนในวันเข้าพรรษา ที่นับเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติอีกวันหนึ่งด้วย ว่าแท้จริงแล้วแก่นสำคัญของการถวายเทียนในประเพณีนี้ของชาวพุทธนั้น อยู่ที่ใด...

“เทียนพรรษาที่พุทธศาสนิกชนถวายจะนำไปจุดเพื่อเป็นพุทธบูชา ในเมืองที่มีไฟฟ้าใช้อาจจะดูว่าไม่ค่อยมีความจำเป็น แต่ก็จะมีการจุดในตอนทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นในการสวดมนต์ ในส่วนท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลที่ไฟฟ้าไปไม่ถึงอันนี้จำเป็น แม้ในบางจุดที่ไฟฟ้าไปถึงแต่ยังไม่สะดวก มีการดับไฟ เทียนก็เป็นสิ่งจำเป็น ฉะนั้น การถวายเทียนนอกจากที่มองว่าพระท่านจะได้นำไปใช้แล้ว อาจจะเป็นสิ่งที่ดีอันหนึ่ง ที่จะบอกว่าจริงๆ แล้ว การย้อนกลับไปสู่วิถีชีวิตที่ดั้งเดิม อาจจะเป็นความสุขที่แท้จริง”

“อยากให้ชาวพุทธเราได้ถือโอกาสนี้ในการศึกษาหลักธรรมของพุทธศาสนา ในการนำสิ่งที่ดีงามเข้ามาสู่ในชีวิต สิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นกับชาวพุทธเรามากๆ ก็คือ อยากให้เรานำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาพิจารณาทบทวนว่า ทำอย่างไรคนในสังคมไทยจะปฏิบัติต่อกันด้วยจิตที่มีเมตตาและรักสามัคคี พร้อมทั้งทำความดี ถือศีลภาวนาในช่วงเข้าพรรษานี้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และถวายอานิสงส์ของการทำความดีในครั้งนี้เป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ และสมเด็จพระพี่นางเธอฯ”










กำลังโหลดความคิดเห็น