xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ใหญ่ชายขอบกับงานบริหารโรงเรียนป่า...โรงเรียนแห่งชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จักรพงษ์ มงคลคีรี ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด
"การทำงานใด ๆ ก็ตาม ต้องมีอุดมการณ์ ถ้าเราไม่มีอุดมการณ์ต่อให้มีค่าตอบแทนสูงแค่ไหน เราก็ไม่มีทางทำสำเร็จ แต่ถ้าเรามีอุดมการณ์ แม้ไม่มีเงินสักบาท งานชิ้นนั้นก็สำเร็จได้"

คำกล่าวข้างต้นได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านตัวตนของชายวัย 40 ปี "จักรพงษ์ มงคลคีรี" ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จังหวัดตาก หรือที่ชาวบ้านแถบนั้นเรียกกันติดปากว่า "พ่อหลวง" กับบทบาทที่เป็นทั้งผู้ใหญ่บ้านและ "ครู" ผู้สอนชาวบ้านในเรื่องการอยู่ร่วมกับป่าได้เป็นผลสำเร็จ

แต่ความสำเร็จในวันนี้นั้น ไม่ได้เริ่มต้นมาอย่างสะดวกสบาย จักรพงษ์เปิดเผยถึงเรื่องราวในอดีตให้ฟังว่า ชุมชนห้วยปลาหลดเป็นชาวมูเซอดำที่อพยพมาจากจังหวัดเชียงรายตั้งแต่ประมาณ 60 ปีก่อน และมาปักหลักสร้างถิ่นฐาน ตลอดจนทำไร่เลื่อนลอยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ดี การใช้พื้นที่ป่าโดยขาดความรู้ของชาวบ้านส่งผลให้ป่าแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม จนทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชดำเนินการขอพื้นที่คืนจากเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ในปี พ.ศ.2527 และจะอพยพชาวบ้านทั้งหมดไปอยู่ในที่ที่ทางการจัดเตรียมไว้

"ทางการจะให้เราไปอยู่กับแม้วแดง คนเฒ่าคนแก่ไปดูพื้นที่มาแล้วก็บอกว่า มันอยู่ไม่ได้ ไม่มีน้ำไม่มีป่าให้เราใช้เลย ก็เลยตกลงกันว่าเราจะขออยู่ที่นี่ และเราจะช่วยดูแลป่าต้นน้ำให้กับทางการด้วย"

คำขอร้องดังกล่าวเป็นเรื่องท้าทายเจ้าหน้าที่ทางการในขณะนั้นไม่ใช่น้อย แต่การยอมให้ชาวมูเซอดำแห่งห้วยปลาหลดอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติก็ถือเป็นการตัดสินใจถูกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทุกวันนี้ พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมบริเวณหมู่บ้าน 5,000 ไร่ ได้ถูกพลิกฟื้นให้มีชีวิตขึ้นใหม่ในสภาพของป่าสมบูรณ์ ผืนดินชุ่มน้ำ สัตว์ป่าหลายชนิดกลับเข้ามาอาศัย กลายเป็นบทพิสูจน์ที่ดีถึงแนวทางการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าจากภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง
ทุ่งมะระหวานที่ปลูกร่วมกับผืนป่า
จักรพงษ์เล่าว่า "เราหยุดการทำไร่เลื่อนลอย และสร้างกฎในการใช้ป่าร่วมกันของคนในหมู่บ้าน โดยแบ่งเป็นโซนสำหรับการเพาะปลูก โซนสำหรับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ โซนห้ามล่าสัตว์ป่า รวมถึงจำกัดช่วงเวลาในการเข้าไปเก็บของป่าในแต่ละฤดูด้วย กฎทั้งหลายเหล่านี้เราตั้งใจทำเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราอยู่ร่วมกับป่าได้ เมื่อเวลา 20 ปีผ่านไป จะเห็นได้ว่า ป่าบริเวณนี้เขียวชอุ่ม อากาศเย็นสบาย มีน้ำใช้ตลอดปี สัตว์ป่า เช่น ไก่ป่า นกยูง หมูป่า หมีควาย เสือ กลับเข้ามา แตกต่างจากภาพของป่าเสื่อมโทรมในอดีตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เราต้องต่อสู้ทำความเข้าใจทั้งกับคนในชุมชนและคนภายนอกอย่างมาก"

"เราค่อย ๆ ปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่ เมื่อมีป่า เราก็เหมือนมีซูเปอร์มาร์เก็ต เราเข้าไปเก็บหน่อไม้ เก็บเห็ด เราก็มีกินแล้ว นอกจากนั้นเราก็ปลูกผักแซมไปด้วย ซึ่งผักของหมู่บ้านเราจะปลูกรวม ๆ กัน 4 - 5 ชนิดใน 1 แปลง ซึ่งมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ทำให้ดินไม่เสียเหมือนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และกลิ่นของผักชนิดหนึ่งอาจช่วยไล่แมลงไม่ให้มากินผักชนิดอื่น ๆ ได้"

ผักที่ชาวบ้านปลูกและเก็บไปขายสร้างรายได้ให้ครอบครัวมีตั้งแต่ พลู มะระหวาน พริกไทย บล็อกโคลี่ ไผ่หวาน ปวยเล้ง ลูกเนียง อะโวคาโด และกาแฟ โดยปลูกแซมไปกับต้นไม้ใหญ่ในป่า หรือตามพื้นที่ราบ โดยไม่ต้องตัดไม้ในป่าแต่อย่างใด

อาจกล่าวได้ว่า จักรพงษ์เป็นชาวมูเซอดำยุคใหม่ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคุณภาพของห้วยปลาหลด แม้เขาจะจบการศึกษาแค่ชั้น ม.6 แต่เขาก็สามารถนำความรู้มาต่อยอด เกิดเป็นโครงการดี ๆ ได้มากมาย ซึ่งล้วนแต่ทำให้พื้นที่ของ "ห้วยปลาหลด" แตกต่างจากพื้นที่ข้างเคียง แน่นอนว่า เขากำลังดำเนินการขั้นต่อไป ก็คือการถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้กับเด็กรุ่นใหม่ ทั้งภายในหมู่บ้านและภายนอกหมู่บ้าน

"สำหรับเด็ก ๆ เราสอนให้เขารู้จักคัดแยกขยะ ผ่านโครงการธนาคารขยะ ซึ่งจะช่วยลดขยะ พลาสติก ขวด เศษเหล็กในหมู่บ้านลงได้ นอกจากนั้น เรามีแผนจะสร้างศูนย์เรียนรู้ขึ้นในหมู่บ้าน สำหรับเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้เรื่องการจัดการระบบนิเวศต้นน้ำให้กับหมู่บ้านอื่น รวมถึงหางบประมาณเพื่อพาเด็ก ๆ ในหมู่บ้านออกไปเรียนรู้โลกภายนอก เพื่อให้เด็ก ๆ มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนจากต่างเมือง"

"เพราะหมู่บ้านเราเป็นชุมชนเล็ก ๆ ตกเย็นเราก็สามารถมานั่งสอนเด็ก ๆ ในหมู่บ้านได้ ซึ่งผมจะสอนให้เขามีจิตสำนึกในการใช้ป่าอย่างยั่งยืน ให้เขาตระหนักในความสำคัญของป่า และแหล่งน้ำ เด็กในหมู่บ้านจะคัดแยกขยะเป็น ก่อนจะขายให้พ่อค้าที่เข้ามารับซื้อ ซึ่งก็ถือเป็นกิจกรรมดี ๆ ที่ทำเพื่อชุมชน สังคมแคบ ๆ อย่างนี้ ถ้าไม่มีที่ให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรม เด็กก็จะใช้เวลาไปกับสิ่งไม่ดีได้ เราเลยอยากแนะนำให้เขารู้จักสิ่งดี ๆ ก่อนจะไปพบกับสิ่งไม่ดีครับ"

จากความพยายามของชาวบ้านห้วยปลาหลดในการพลิกฟื้นผืนป่าขึ้นมาในครั้งนี้ ยังได้ทำให้ผู้แวะมาเยือนหมู่บ้านดังกล่าวบางคนเกิดความรู้สึกต้องตาต้องใจบรรยากาศของหมู่บ้าน และนำมาซึ่งการเสนอเงินเพื่อแลกกับสิทธิในการอยู่อาศัยด้วย

"ปัจจุบันมีคนมาเสนอเงินแลกกับสิทธิในการปลูกบ้านในห้วยปลาหลดเยอะ แต่เราไม่ให้ เพราะเรามีกติกาว่าห้ามขายพื้นที่ให้คนภายนอก ซึ่งในจุดนี้ ผมรู้สึกว่าหมู่บ้านเราสร้างจิตสำนึกชุมชนสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง ถ้าเป็นที่อื่นอาจกลายเป็นรีสอร์ทไปแล้วก็ได้ ความเข้มแข็งของชุมชนในจุดนี้ได้ทำให้คนภายนอกเข้าใจ และเห็นคุณค่าของงานรักษาป่าที่พวกเราทำมากขึ้นด้วยครับ"

จากความสำเร็จของงานรักษาป่า ส่งผลให้มีหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนด้านเครื่องไม้เครื่องมืออย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด หมู่บ้านห้วยปลาหลดได้รับคอมพิวเตอร์ครบชุด กล้องดิจิตอล พร้อมอุปกรณ์จีพีเอส (Global Positioning System) สำหรับสร้างระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ของชุมชน นอกจากนั้นยังมีโปรแกรม ออสซี่เอ็กพลอเรอร์ (OziExplorer) โดยเป็นโปรแกรมโอเพ่นซอร์ส ไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งาน และแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมไอโคนอส จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมูลนิธิโคคา-โคล่า ประเทศไทย พร้อมรับการสนับสนุนด้านอบรมการใช้งานซอฟต์แวร์ ซึ่งหลังจากอบรมเสร็จสิ้นแล้ว ทางชุมชนจะเป็นผู้ทำแผนที่ดังกล่าวด้วยตนเอง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลดห่วงมากที่สุดก็คือเรื่องการศึกษา "เด็กที่มีความรู้เขาจะน่ารัก อยากให้รัฐบาลคิดถึงเรื่องการให้การศึกษาแก่คนชายขอบบ้าง ถ้าเขามีความรู้เขาจะรักษาพื้นที่ แต่ถ้าไม่มีความรู้ เขาจะเตลิดเข้าไปในเมือง แล้วสุดท้ายป่าก็จะไม่มีคนดูแล เรื่องของครูก็เช่นกัน นโยบายการพิจารณาส่งครูเข้ามาควรจะเน้นเรื่องนี้ด้วย ถ้ารัฐส่งครูที่ไม่มีความรู้เรื่องการจัดการป่า และไม่ยอมมาเรียนรู้ร่วมกับชุมชนก็ไม่มีความหมาย"

"ผมเชื่อว่าแต่ละชุมชนจะมีสิ่งดี ๆ ของเขาอยู่แล้ว แค่ดึงความรู้เหล่านั้นมาผนวกกับวิชาการสมัยใหม่ที่เหมาะสม ไม่ใช่นำคนในพื้นที่ไปเรียนร่วมกับหลักสูตรของคนเมือง มันไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับชุมชนของเรา"
กำลังโหลดความคิดเห็น