xs
xsm
sm
md
lg

ม้าเหล็กกู้ชาติ’ อีก 1 หน้าประวัติศาสตร์ ‘พันธมิตรฯ ด้ามขวาน’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การชุมนุมใหญ่ยึดทำเนียบรัฐบาลแสดงจุดยืนโค่นระบอบทักษิณ ไล่รัฐบาลหุ่นเชิด ของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา มีพี่น้องประชาชนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางเข้าร่วมชุมนุมในครั้งนี้ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของการเคลื่อนไหว ได้เข้าร่วมชุมนุมเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องพันธมิตรฯ จากภาคกลาง เหนือ อีสาน และตะวันออก เป็นจำนวนนับพันนับหมื่นคน

พี่น้องชาวใต้บางส่วนเดินทางด้วยรถยนต์ในรูปแบบส่วนตัว ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภาคใต้ ได้ทำการ ‘ยึดรถไฟ’ ขบวนรถเร็วที่ 170 ยะลา–กรุงเทพฯ เข้าร่วมกับการชุมนุมในครั้งนี้ เป็นการแสดงอารยะขัดขืนอีกครั้ง หลังจากที่กลุ่มนักเรียนเทคนิคยะลาเคยปฏิบัติการลักษณะเดียวกันมาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน เพื่อคัดค้านการเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนเทคนิคเป็นวิทยาลัยเทคนิคดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การเมือง อารยะขัดขืน และรถไฟ จึงเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งในประวัติศาสตร์ของพี่น้องชาวภาคใต้ นี่คืออีก 1 หน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองภาคประชาชน และเป็นอีก 1 หน้าประวัติศาสตร์ของ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งคนไทยที่รักความเป็นธรรมทั้งประเทศ

17 มิถุนายน 2551

พลันสิ้นเสียงนกหวีดสัญญาณระดมพลมวลพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้เดินทางไปร่วมชุมนุมใหญ่ยึดทำเนียบรัฐบาลเพื่อแสดงพลังต่อต้านคณะผู้บริหารนอมินีระบอบทักษิณ ที่ทำการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยสาขาหาดใหญ่ จึงถูกใช้เป็นวอร์รูมสำหรับกำหนดยุทธวิธีการฯ ต่อสู้ในสงครามทางปัญญาของพันธมิตรสงขลาเพื่อประชาธิปไตย และพี่น้องพันธมิตรในจังหวัดอื่นๆ ทั่วทั้งแผ่นดินด้ามขวาน

ที่ประชุมสรุปให้มีการเคลื่อนขบวนรณรงค์ไปทั่วเมืองหาดใหญ่เพื่อแจ้งข่าวให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบข่าวสารการระดมพลโดยทั่วถึงกัน เรานัดหมายพี่น้องประชาชนให้มาพร้อมกันเวลา 13.00 น. ที่ลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ หรืออีกชื่อหนึ่งคือมหาวิทยาลัยชุมทางหาดใหญ่ ห้องเรียนการเมืองภาคประชาชนซึ่งดำรงอยู่ในขณะนี้

18 มิถุนายน 2551

พี่น้องประชาชนทยอยเดินทางมาพร้อมกันตามนัดหมาย ธงสีแสด–ดำ ผ้าโพกศีรษะ และใบปลิวประชาสัมพันธ์การรณรงค์ถูกแจกจ่ายไปทั่วถึงกัน มีสื่อมวลชนหลายสำนักมาร่วมทำข่าว

“เราขอประกาศว่า พอกันที!”

คือข้อความที่ปรากฏในใบปลิวเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ

เวลาประมาณ 13.15 น. ทุกอย่างพร้อม เราเคลื่อนขบวนเข้าสู่ใจกลางเมืองหาดใหญ่ ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่ได้ตระเตรียมกันไว้ พ่อค้า แม่ค้า ประชาชนทั้ง 2 ข้างทางส่งเสียงโห่ร้องต้อนรับอย่างอบอุ่น หลายคนตะโกนว่า

“สู้ สู้! เอาประเทศไทยกลับคืนมาให้ได้” เราจึงยิ่งฮึกเหิมกับกำลังใจที่ได้รับ

ออกจากย่านใจกลางเมืองหาดใหญ่เข้าสู่หาดใหญ่ใน หรือที่ใครหลายคนขนานนามว่า ‘ฝั่งธน’ พี่น้องประชาชนยังคงให้การตอบรับเป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน หลายคนเข้ามาขอใบปลิว ธง ผ้าโพกศีรษะ และร่วมบริจาคเงินสมทบทุนในการเดินทาง

ขบวนรณรงค์เคลื่อนกลับมาในย่านธุรกิจของนครหาดใหญ่ ผ่านหน้าโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย น้องๆ นักเรียนชาย-หญิงเมื่อได้ยินเสียงประกาศจากเครื่องขยายเสียงต่างวิ่งกรูกันมายืนข้างกำแพง พร้อมโห่ร้องต้อนรับอย่างสนุกสนาน โรงเรียนแห่งนี้เป็นที่รวมของนักเรียนหัวกะทิ หลายคนมีความรู้ความเข้าใจทางการเมืองการปกครองเป็นอย่างดี

“ขอให้พ่อแม่พี่น้องที่จะเดินทางไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ เตรียมตัวให้พร้อม แล้วไปรวมตัวกันที่ลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ เราจะเดินทางขึ้นไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ ด้วยการยึดขบวนรถไฟ นั่งรถไฟฟรีไปร่วมโค่นระบอบทักษิณ ขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิด!” เราประกาศก้องไปทั่วเมือง สิ้นเสียงประกาศ เสียงโห่ร้องก็ดังขึ้นรับอย่างฮึกเหิม

19 มิถุนายน 2551

ดวงใจของนักสู้ผู้รักความเป็นธรรมทั้งในจังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง มารวมกันอยู่ ณ ลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ตามเวลานัดหมาย มีทั้งศิลปิน พ่อค้า แม่ค้า และประชาชนทั่วไป จำนวนที่เห็นมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ทุกคนมีผ้าโพกศีรษะสีแสด–ดำเป็นสัญลักษณ์

ก่อนเดินทางเราได้จัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยประกาศชัดเจนถึงจุดยืนทางการเมืองและปฏิบัติการที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาไม่ช้าหลังจากนั้น มีสื่อมวลชนหลายสำนักรวมทั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และ ASTV เดินทางมาร่วมทำข่าวและบันทึกภาพประวัติศาสตร์ครั้งนี้ และแน่นอน หน่วยข่าวราชการหลายหน่วยสะพายกล้องพกสมุดจดมาร่วมทำข่าวในครั้งนี้ด้วย

ก่อนเดินทางมีพ่อค้า แม่ค้า ในตัวเมืองหาดใหญ่ที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมด้วย นำเงินมาสมทบทุนเป็นระยะๆ มีร้านขายดอกไม้แห่งหนึ่งนำดอกกุหลาบสีแดงและสีชมพูมามอบเป็นกำลังใจให้แก่พี่น้องที่จะเดินทางไปร่วมชุมนุม ก่อนเคลื่อนขบวนเข้าสู่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ มีรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจขับเข้ามาจอด ณ ลานประวัติศาสตร์ นายตำรวจที่ก้าวลงมาจากรถคือ พ.ต.อ.ศุภวัฒน์ ทับเคลียว ผกก.สภ.หาดใหญ่ ในเครื่องแบบสีกากีเต็มยศ

“แค่มาเยี่ยม ไม่มีอะไร” ผกก.สภ.หาดใหญ่ แจ้งความประสงค์ ขณะนั้นมีหลายคนถอนหายใจด้วยความโล่งอก เราไม่ต้องการอะไรจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากความเข้าใจ เพราะการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นไปตามสิทธิภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ

เราเคลื่อนขบวนเข้าสู่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ โดยมีพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้เดินทางไปด้วยตามมาส่งถึงชานชาลา

“ตอนนั่งอยู่ดูเหมือนน้อย แต่ทำไมตอนนี้มันดูเยอะขนาดนี้” คนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างคนหนึ่งเอ่ยขึ้นมาเมื่อเห็นทัพประชาชนจำนวนมากยาตราผ่านหน้าไป

ดวงใจแห่งการต่อสู้ย้ายไปรวมกันอยู่ตรงชานชาลาที่ 1 ของสถานีรถไฟ แม่ค้าแม่ขายนำผลไม้และอาหาร เท่าที่จะพอเจียดได้มอบให้พี่น้องประชาชนที่ยืนรอรถไฟกันอยู่ พร้อมกับบอกให้สู้ สู้ และให้ได้รับชัยชนะ บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น

เราทราบข่าวว่าขบวนรถไฟที่ออกจากยะลาได้นำพี่น้องนักสู้จากปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ร่วมเดินทางมาด้วย เวลาประมาณ 13.55 น. ขบวนรถเร็ว 170 ยะลา–กรุงเทพฯ ก็เข้าเทียบที่ชานชาลาที่ 1 พี่น้องประชาชนทยอยขึ้นไปจับจองที่นั่ง เรามีตั๋วส่วนหนึ่งจัดไว้ให้กับสตรีและผู้อาวุโส เพื่อการันตีว่าพวกเขาจะมีที่นั่งอย่างแน่นอน ส่วนคนไม่มีตั๋วแยกย้ายกันไปจับจองที่นั่งตามโบกี้ที่กำหนดไว้ ด้วยความร่วมมืออย่างดีของพี่น้องสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ทำให้ปฏิบัติการครั้งนี้ไม่มีปัญหาตามที่หลายคนกังวล

แต่ปฏิบัติการครั้งนี้ยังไม่สมบูรณ์ตามแผนที่วางไว้ เรานำป้ายไวนีลสีแสดผืนใหญ่พิมพ์ตัวอักษรสีดำ ‘กองทัพคนใต้กู้ชาติ’ เตรียมนำไปติดที่หัวรถจักรเพื่อให้ปฏิบัติการ ‘ยึด’ ครั้งนี้สมบูรณ์แบบ สิ่งที่คำนึงมากที่สุดคือไวนีลที่นำไปติดจะต้องปลอดภัยไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินรถ เราทราบดีว่าขบวนรถคือสมบัติที่พี่น้องชาวแรงงานรถไฟหวงแหนเท่าชีวิต ทันทีที่เห็นเรานำเชือกผูกเตรียมไว้ที่แผ่นไวนีล เจ้าหน้าที่iรถไฟไทยนายหนึ่งเดินปรี่เข้ามาถาม

“จะเอาไปติดตรงไหนนี่”

“ติดหัวรถจักรครับ” เราตอบ

“เฮ้ย! จะเอาแบบนั้นเลยเหรอ” แกอุทานด้วยความตกใจ

เราพยักหน้าเป็นคำตอบ เข้าใจความรู้สึกของแกดี สำรวจจุดที่จะติดตรงหัวรถจักรเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยที่สุด ใครคนหนึ่งแนะนำให้ติดด้านหน้าของหัวรถจักรพร้อมยืนยันว่าไม่มีปัญหา เขาเป็นคนรถไฟเราจึงเชื่อถือในคำแนะนำ รีบนำป้ายไวนีลไปติดอย่างหนาแน่นจนเสร็จสมบูรณ์ ขบวนรถเร็ว 170 ยะลา–กรุงเทพฯ จึงกลายเป็นพาหนะของนักสู้กู้ชาติตั้งแต่วินาทีนั้น เพื่อใช้เดินทางไปทวงคืนประเทศไทยจากรัฐบาลโจร ปฏิบัติการเสร็จสมบูรณ์ในเบื้องต้น

เวลา 14.18 น. ม้าเหล็กกู้ชาติเคลื่อนออกจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ ท่ามกลางคำอวยพรของพี่น้องประชาชนอีกจำนวนมากที่เดินทางมาส่ง และตลอดสองข้างทางมีพี่น้องประชาชนโบกไม้โบกมือโห่ร้องให้กำลังใจพันธมิตรฯ ภาคใต้อย่างคึกคัก รถไฟจอดรับพี่น้องพันธมิตรฯ พัทลุง ทุ่งสง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เพราะเป็นเส้นทางผ่านและทุกคนมีอุดมการณ์เดียวกัน

นอกเหนือจากขบวนรถเร็ว 170 ยะลา–กรุงเทพฯ แล้ว ยังมีขบวนรถเร็ว 168 กันตัง–กรุงเทพฯ ขบวนรถเร็ว 178 หลังสวน–ธนบุรี ที่ถูกยึดเป็นพาหนะในครั้งนี้ด้วย ม้าเหล็กทั้ง 3 ขบวน ทำหน้าที่ดุจม้าศึกนำพาหัวใจแกร่งนับพันดวงเข้าสู่สนามรบทางปัญญาครั้งสำคัญนี้ เราโชคดีที่มีพี่น้องศิลปินเดินทางไปด้วย 5 วง นำโดย แสง ธรรมดา นายหัวใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิตสายใต้ ร่วมด้วย วงคีรีธาร, ภู–เล, หยาดน้ำค้าง และ วง ฅ.คน ทั้งหมดสลับสับเปลี่ยนกันบรรเลงบทเพลงรองเง็งซึ่งเป็นท่วงทำนองแห่งชีวิตของชาวใต้ และอีกหลายบทเพลงกล่อมนักสู้บนขบวนรถ

20 มิถุนายน 2551

เช้าวันเผด็จศึก ระหว่างที่ขบวนรถไฟกู้ชาติเข้าจอดที่สถานีชุมทางบางซื่อ ซึ่งรู้กันดีว่าแท็กซี่บริเวณนั้นให้การสนับสนุนระบอบทักษิณ ระหว่างที่เราลงไปตรวจตราความเรียบร้อยของขบวนรถ คนขับแท็กซี่คนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า

“รถไฟขบวนนี้บรรทุกหมามาเยอะแยะเลยเว้ย เดี๋ยวเหอะ เดี๋ยวเจอกับคนอีสาน”

ทุกคนได้ยินแต่ไม่มีใครสนใจกับเสียงเห่านั้น แม้ลึกๆ ในใจจะรู้สึกไม่พอใจก็ตาม เราไม่ได้เดินทางไปสู้รบกับพี่น้องประชาชนชาวภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง หรือภาคตะวันออก แต่เราไปสู้รบกับระบอบทักษิณที่สร้างความเสียหายให้แก่คนไทยทั้งประเทศ

ขบวนรถมุ่งหน้าต่อไปจนถึงที่หมาย เราประสานงานกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้หยุดรถที่ป้ายหยุดรถยมราช เมื่อม้าเหล็กจอดสนิทพี่น้องกองทัพคนใต้กู้ชาติจึงทยอยกันลงมาจากรถ เวลาผ่านไปเกือบ 20 นาทีนักสู้คนสุดท้ายจึงได้ลงจากรถ เราตื่นเต้นกับจำนวนพี่น้องที่มีไม่ต่ำกว่า 1 พันคน

พวกเราตั้งแถวแล้วเคลื่อนขบวนไปตามถนนพิษณุโลก มุ่งหน้าไปยึดพื้นที่หน้าสนามม้านางเลิ้ง จึงพบว่ามีตำรวจไม่ต่ำกว่า 500 นายวางแผงกั้นสกัดการเคลื่อนขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล แม้จะมีแกนนำหลายคนเข้าไปเจรจากับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มาบัญชาการเพื่อขอผ่านทางแต่ก็ไม่เป็นผล เราจึงตั้งเวทีชั่วคราวขึ้นโดยใช้รถปิกอัพของสหภาพฯ เป็นเวที มีการส่งตัวแทนพี่น้องประชาชนจากจังหวัดต่างๆ ขึ้นปราศรัยสลับกับการเล่นดนตรีของศิลปินกู้ชาติ ระหว่างนี้มีพี่น้องพันธมิตรฯ จากจังหวัดต่างๆ เดินทางมาสมทบมากขึ้นทุกขณะ

ระหว่างที่เพื่อนเราคนหนึ่งกำลังร้องเพลง ‘แองเตอร์นาซิอองนาล’ หรือ ‘สามัคคีนานาชาติ สามัคคีประชาชน’ ในท่อนสุดท้ายอยู่นั้น เสียงโห่ร้องก็ดังกระหึ่มขึ้นเมื่ออีกด้านหนึ่งของถนน ทัพหลวงซึ่งนำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนำกำลังไม่ต่ำกว่า 3 พันคนมาสมทบ ไม่กี่อึดใจ สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำอีกคนก็มาถึง หน้าสนามม้านางเลิ้งจึงคึกคักขึ้นเป็นอย่างยิ่งเมื่อพี่น้องประชาชนจากทุกสารทิศหลอมรวมกำลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ความระทึกใจเกิดขึ้นเป็นระยะ เมื่อโฆษกบนเวทีรายงานความคืบหน้าในการฝ่าด่านสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจสำเร็จทีละด่าน ทีละด่าน จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งด่านอยู่หน้าสนามม้านางเลิ้งก็ถูกบีบเป็นแซนด์วิช สุดท้ายก็ยอมถอนกำลังออกไปในที่สุด ท่ามกลางเสียงโห่ร้องในชัยชนะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้รับในการเคลื่อนไหวใหญ่ล้อมทำเนียบรัฐบาลครั้งนี้

เวทีชั่วคราวถูกตั้งขึ้นหน้าสนามม้านางเลิ้ง กลุ่มศิลปินกู้ชาติจากภาคใต้นำโดยแสง ธรรมดา และศิลปินคนอื่นๆ ร่วมกันบรรเลงเพลง ‘วีรชนคนใต้’ และเพลง ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ เนื้อเพลงที่ว่าพันธมิตรฯ “คือผู้ชัยชาญ โค่นล้มทุนสามานย์ ทำสงครามครั้งสุดท้าย” กระหึ่มไปทั้งถนนพิษณุโลก ทุกคนรู้ดีว่าสงครามครั้งนี้จะยังไม่จบสิ้นง่ายๆ

ก่อนกลับมาจัดทัพใหม่เราเข้าไปหายายคนหนึ่งผู้ซึ่งอาวุโสที่สุดบนขบวนรถ แกเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกับเรา ถามว่าจะกลับไปปักษ์ใต้ก่อนหรือไม่

“ยายยังจะอยู่ที่นี่ ไม่กลับจนกว่าชนะ” คำตอบชัดเจนออกจากใจคุณยายวัย 79 ปี

สำหรับพี่น้องชาวใต้หลายคนต่างรอคอยให้เสียงนกหวีดดังขึ้นอีก เมื่อถึงเวลานั้นดวงใจของนักต่อสู้ผู้รักชาติรักความเป็นธรรมจะมารวมกันอีกครั้ง เพื่อควบม้าเหล็กกระโจนเข้าสู่สนามรบศักดิ์สิทธิ์ ทำสงครามทางปัญญาโค่นล้มทุนสามานย์ สร้างสังคมใหม่ที่เป็นธรรมให้ปรากฏเป็นความจริง

*******************

เรื่อง-ณขจร จันทวงศ์ ศูนย์ข่าวหาดใหญ่








กำลังโหลดความคิดเห็น