xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อเสื้อกาวน์จับปากกาเล่าเรื่อง "หมอกอล์ฟ-สิทธา ลิขิตนุกูล"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การประกอบวิชาชีพแพทย์กับ "การให้ความรู้แก่คนในสังคม" อาจไม่ใช่สิ่งที่จับคู่กันได้อย่างลงตัวนักในประเทศไทย หลายคนยังจำกัดการทำงานของแพทย์เอาไว้ในโรงพยาบาล วุ่นอยู่กับการตรวจรักษาคนไข้นับร้อยนับพัน

จากเหตุข้างต้น ผลของมันก็คือ คนไทยยังขาดความรู้อีกมากในการดูแลรักษาตัวเอง รวมถึงขาดความตระหนักในการป้องกันตนเองจากภัยต่าง ๆ ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาด้านสุขภาพ (ทั้งกายและใจ) ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น การเยียวยาจากคุณหมอฝีมือดี อาจไม่ทันการสำหรับสังคมแห่งนี้แล้วก็เป็นได้

นั่นจึงเป็นที่มาของกิจกรรมต่าง ๆ ที่ "หมอกอล์ฟ" นายแพทย์สิทธา ลิขิตนุกูล หมอหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่หลายคนเริ่มคุ้นชื่อของเขาตามสื่อต่าง ๆ ทั้งอินเทอร์เน็ต วิทยุ ทีวี และสื่อสิ่งพิมพ์ริเริ่มขึ้น เมื่อในวันนี้ มือของเขานอกจากเขาจะจับอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว ยังได้หันมาจับปากกาเขียนหนังสือถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาลหลายแง่มุม รวมถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าอบรมด้านการบำบัดยาเสพติดแก่คนไข้ของสถาบันธัญญารักษ์ซึ่งกลายมาเป็นหนังสือเล่มล่าสุด "น้ำมนต์" และได้เข้าสู่โครงการหนังสือเฉลิมพระเกียรติห่างไกลยาเสพติด แจกจ่ายสู่โรงเรียนทั่วประเทศโดยกระทรวงศึกษาธิการด้วย

หมอกอล์ฟเล่าถึงที่มาที่ไปของหนังสือในโครงการดังกล่าวว่า "ต้นเหตุที่ทำให้เขียนหนังสือเรื่องน้ำมนต์มาจากปัญหาหลักของประเทศไทย นั่นก็คือ ปัญหายาเสพติด ซึ่งมีแนวโน้มว่า ปัญหาดังกล่าวจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเขาทำกันเป็นขบวนการ โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดง โอกาสที่คนในชุมชนจะติดยาเสพติดมีสูงมากไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ กระทั่งโรงเรียนบางแห่ง แม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดง แต่ขบวนการเหล่านี้ก็ยังแทรกซึมเข้ามาได้ ทำให้โอกาสที่เยาวชนไทยจะติดยาเสพติดมีมากขึ้นครับ"

ขณะที่อีกเหตุผลหนึ่งนั้น คุณหมอเล่าว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตรากตรำพระวรกายเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดมายาวนาน เลยเกิดคำถามว่า เหตุใดตนเองไม่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหายาเสพติดด้วย ทั้งความรู้ในด้านการบำบัดยาเสพติดก็มีอยู่ จึงตัดสินใจเขียนออกมาเป็นหนังสือในที่สุด

"เรื่องน้ำมนต์ เราใส่ความเป็นบันเทิงผสมลงไป (เพราะถ้าเป็นหนังสือเครียด ๆ หมอกอล์ฟเกรงว่าเด็ก ๆ จะไม่อ่านกัน) ตัวเอกเป็นคนเรียนเก่ง หน้าตาดี ครอบครัวอบอุ่น แต่ก็ยังพลาดตกเป็นทาสยาเสพติด ตัวน้ำมนต์เองก็มีจิตสำนึกดีต้องการแก้ไขความผิดพลาด แต่ว่าเขาก็ต้องพบอุปสรรคหลาย ๆ อย่าง ซึ่งกว่าจะถึงตอนจบของเรื่อง เชื่อว่าผู้อ่านจะได้รับความบันเทิงไปพร้อม ๆ กับความรู้มากมายหลายด้าน และการเขียนในแนวบันเทิงจะทำให้คนอ่านเกิดความรู้สึกอยากติดตามต่อ เมื่อเขาติดตามต่อเราก็สามารถป้อนข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติด การบำบัดรักษาลงไปได้ง่ายมากขึ้นครับ"

สำหรับเหตุผลที่ว่าทำไมจึงเจาะจงให้ความรู้ในด้านปัญหายาเสพติดแก่ประชาชนนั้น หมอกอล์ฟบอกว่า ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าอบรมที่สถาบันธัญญารักษ์และการได้พูดคุยกับผู้เข้ารับการบำบัดเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ประกอบกับการทำงานที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้บำบัดจริง ทำให้เมื่อมีโอกาสเขาจึงอยากตอบแทนสังคมด้วยการให้ความรู้กลับคืนบ้าง

"ผมอาจจะเป็นหมอแนวใหม่ ที่ชอบออกหาคนฟัง ไม่ได้อยู่แค่ในโรงพยาบาลอย่างเดียว แต่ชอบทำกิจกรรมนอกโรงพยาบาลด้วย ซึ่งส่วนมากเป็นวิทยากรบรรยายในประเด็นต่าง ๆ เช่น ให้ความรู้เรื่องการป้องกันและการบำบัดยาเสพติดแก่นักเรียน ให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ แนะแนวทางเด็กมัธยมเรื่องการเรียนต่อแพทย์ในระดับมหาวิทยาลัย ฯลฯ ขณะที่การจับปากกาเขียนหนังสือก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการให้ความรู้ และช่วยลดช่องว่างระหว่างแพทย์กับคนไข้ อ่านแล้วจะเข้าใจได้ว่าหมอเองก็เป็นคนธรรมดา ๆ มีเรื่องเฮฮา - ตลกเหมือนกัน ไม่ใช่หมอที่คอยแต่ดุคนไข้เพียงอย่างเดียว"

"สำหรับการรักษาคนไข้บำบัดยาเสพติดนั้น ผมจะไม่โกรธคนไข้ถ้าเขายอมรับตรง ๆ ว่าเขาแอบไปฉีดมา แต่จะใช้วิธีให้กำลังใจว่า ให้พยายามนะ ไม่จำเป็นอย่าไปยุ่งกับเข็มเลยดีกว่า เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ถ้าเราไปโกรธคนไข้ เขาอาจจะรู้สึกไม่ดีกับเรา ไม่ยอมบอกความจริง และทำให้การรักษายากขึ้น"

ปัจจุบัน หมอกอล์ฟเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ของโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล พหลโยธิน ซึ่งนอกจากจะดูแลคนไข้แล้ว เขายังมีผลงานในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การเขียนคอลัมน์ให้กับนิตยสารต่าง ๆ หรือการเป็นวิทยากรรับเชิญให้กับกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องยาเสพติด

เมื่อถามถึงหลักในการดำเนินชีวิต และการทำงานของหมอกอล์ฟ เขาบอกเพียงสั้น ๆ ว่า "สำหรับผมเองมีหลักในการดำเนินชีวิตอยู่สองประการ ประการแรกคือ เราทุกคนสามารถทำความดีได้ แม้จะมีอาชีพที่แตกต่างกัน ขอเพียงเราตั้งใจทำงานของเราให้ดี ก็จะมีผู้ได้รับประโยชน์จากงานของเราแล้ว อีกข้อหนึ่งคือ เราต้องมองโลกตามความเป็นจริง โลกเรานั้นมีทั้งแง่ดีและแง่ร้าย สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตก็เปรียบเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน ถ้าเรามองแต่ด้านปัญหาก็จะเครียด หาทางออกไม่เจอ แต่ถ้าเรามองตามความเป็นจริง เราก็อาจสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ครับ"

คนหลายคนอาจรอจนมีหน้าที่การงานมั่นคง ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วจึงหันมาใช้ชีวิตในบั้นปลายทุ่มเททำงานเพื่อตอบแทนสังคม แต่กรณีที่คนรุ่นใหม่จะลุกขึ้นทำตอบแทนสังคมไปพร้อม ๆ กับการทำงานที่ได้รับมอบหมายก็ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่สร้างรอยยิ้มให้เกิดแก่สังคมไทยได้ไม่แพ้กัน ซึ่งเราเชื่อว่า ตัวตนและผลงานของหมอหนุ่มคนนี้จะเติบโตและเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของชาติได้เป็นอย่างดี โดยเขาได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า

"จากประสบการณ์ของหมอที่ผ่านมาได้สอนให้เรารู้ว่า คุณธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าเงิน หมอจะไม่ทำเงินบนความทุกข์ของผู้อื่น อีกทั้งการทำงานเพื่อให้ได้เงินมานั้น เราจะต้องตอบแทนสังคมกลับไปด้วยครับ"
กำลังโหลดความคิดเห็น