ศิลปะนั้นเหมือนอากาศ ที่ต้องหายใจเข้าทุกวัน ถ้าขาด ชีวิตเหมือนจะไร้สิ่งหล่อเลี้ยง
ปาล์ม - ปรียวิศว์ นิลจุลกะ นักร้องนำ วง INSTINCT เจ้าของเพลง “โปรดส่งใครมารักฉันที” เปิดปากให้การไว้ทำนองนั้น
ภาพของนักร้องเพลงร็อคบนเวทีคอนเสิร์ต ทำให้น้อยคนนักที่จะรู้จักเขาในฐานะศิลปินหรือคนทำงานศิลปะที่ใช้เวลาเขียนภาพไปพร้อมๆกับการเขียนเพลง
“ที่ต้องทำสองอย่างไปพร้อมกันเพราะถึงเวลาที่เพลงวางตลาด ผมต้องทัวร์คอนเสิร์ต จะไม่มีเวลาเขียนภาพเลย”
หนุ่มปาล์มเดาเอาว่า เขาคงเป็นยีนผ่าเหล่า เพราะคนในครอบครัวไม่มีใครสักคนที่หันมาเอาดีทางนี้
บุตรชาย พลเอกนันท์ - ทิพย์มาศ นิลจุลกะ และหลานตาของ เทียมบุญ อินทรบุตร (อดีตโปรโมเตอร์มวยผู้สร้าง "หมัดซ้ายทลายโลก" อย่าง แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์) เล่าว่า เมื่อรู้ตัวว่าอยากเรียนศิลปะ พ่อแม่ก็พยายามสนับสนุนทุกทาง นอกจากนี้ยังส่งไปติวเข้มกับศิลปิน เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ถึงเมืองเชียงราย จนหนุ่มปาล์มเอ็นติดได้เข้าเรียนที่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สมความตั้งใจ
“ถ้าคุณพ่อกับคุณแม่ไม่ตามใจ ป่านนี้ผมคงลำบาก เพราะฝ่ายคุณพ่อ เป็นทหารกันเกือบหมด มีผมที่ผมยาว เขียนรูปอยู่คนเดียว คุณลุงเขาอยากให้ผมเป็นสจ๊วต เพราะได้ตังค์เยอะกว่า ลูกพี่ลูกน้องผมเขาก็เป็นสจ๊วต รวยกว่าผมประมาณ 50 เท่า แต่ทำไงได้ เราเลือกแล้ว เกิดมาทั้งทีเราก็อยากทำในสิ่งที่เราชอบ”
ปาล์มเห็นว่าคนทำงานศิลปะ ถ้าจะเลี้ยงตัวเองให้รอด ต้องทำอาชีพอื่นควบคู่กันไปด้วย สิ่งที่เขาทำอยู่ทุกวันนี้ก็ถือว่าใช่ แต่บังเอิญว่าอีกอาชีพที่เขาเลือกทำมันคือการร้องเพลง ซึ่งมันก็ไม่ได้ทำเงินสักเท่าไหร่
“เพลงชุดที่แล้วอย่างเพลง โปรดส่งใครมารักฉันที ถ้าเป็นแปดปีที่แล้ว ผมซื้อบ้านได้แล้วนะครับ เดี๋ยวนี้ซ่อมรถยังไม่ได้เลย เพราะไม่มีใครซื้อซีดีกันแล้ว การเป็นนักร้องทางเดียวที่จะทำเงิน คุณต้องเป็นวงที่ดังระดับท็อป วง INSTINCT พูดตรงๆ มันก็ยังเป็นวงระดับกลางๆอยู่ มีแฟนเพลงอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ดังแบบบอดี้แสลม ซึ่งเราต้องพยายามดันตัวเราเองให้เป็นที่ยอมรับให้ได้”
ทั้งงานเพลงและงานเขียนภาพ นอกจากทำเพราะความชอบแล้ว เป้าหมายสูงสุดแล้วเจ้าตัวยอมรับว่าอยากดัง แต่เพราะไม่เชื่อว่าการเป็นศิลปินเพลงในบ้านเราที่เมื่ออายุมากแล้วจะยังเป็นที่ยอมรับ โอกาสข้างหน้าเขาจึงตั้งใจว่าจะฝึกฝนตัวเองเพื่อเอาดีกับการเขียนรูปมากกว่า
“ผมไม่ถือว่าการทำงานศิลปะเป็นฮอบบี้ อยากจะไป ให้ไกลที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพราะผมรู้ว่าอาชีพดนตรี ต่อให้เพลงผมประสบความสำเร็จมากๆ ผมก็พีคได้อีกแค่ประมาณสองสามชุดเท่านั้นแหล่ะ”
วงการศิลปะในเมืองไทย เปิดโอกาสให้กับศิลปินรุ่นใหม่ได้แจ้งเกิดมากแค่ไหน ไม่ใช่ปัญหาที่เขาต้องครุ่นคิด แต่เขาเห็นว่าศิลปินควรจะมีทัศนะต่อศิลปะให้ถูกต้อง ไม่เชิดชูว่าศิลปะเป็นของสูงที่ใครก็แตะต้องไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรมีอีโก้สูงจนหาเลี้ยงชีพไม่เป็น
“ศิลปินก็คือคนทำงาน เอาสตางค์ไปใช้ หาเลี้ยงครอบครัว อย่าพูดเลยว่าทำงานขึ้นมาโดยไม่คิดเรื่องสตางค์ เหมือนทำเพลงหนึ่งอัลบั้ม ยังต้องวางแผนเลยว่าห้าเพลงโปรโมทอีกห้าเพลงไม่โปรโมทก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าตั้งใจขายจ๋า สนองเพื่อความต้องการของทุกคน เพราะสิ่งที่เป็นส่วนตัวเรามันก็ต้องมี
ศิลปินไทยหลายคนอยากสบาย อยากเขียนภาพที่ตัวเองชอบแล้วมีคนมาซื้อ มองโลกง่ายไป ถ้าคุณอยากได้สตางค์ คุณก็ต้องเหนื่อย ต้องทำงาน ตามระบบกลไกที่เขาต้องการ จะมีอีโก้บ้างก็ได้ แต่ก็ต้องมองตลาดด้วย”
ผลงานศิลปะชุดแรกของปาล์ม ชิมลางสายตาผู้ชมด้วยผลงานในรูปแบบจิตรกรรมไทยประยุกต์ ที่เล่าถึงความเชื่อ ก่อนจะเปลี่ยนมานำเสนองานศิลปะร่วมสมัยที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเซ็กส์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่า โดยเฉพาะผลงานชุดล่าสุด Sideline สะท้อนปัญหาสังคมเรื่องการขายบริการทางเพศของนักเรียนและนักศึกษาวัยรุ่นหญิงบางกลุ่ม เพื่อบอกกับผู้ชมว่าเรื่องราวเหล่านี้มีอยู่รอบตัวเรา เป็นปัญหาที่ไม่มีทางแก้ไขให้หมดไป
แม้แต่ตัวเขาเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บรรดาผู้ที่มาคลั่งไคล้เขาในฐานะแฟนคลับ ส่วนหนึ่งนั้นก็ประกอบไปด้วย ผู้ที่อยากเสนอตัว
“เซ็กซ์มันมีอำนาจทำให้คนทำอะไรเพี้ยนๆได้ ทำให้ผู้หญิงบางคนแกล้งทำเป็นรถเสียอยู่หน้าออฟฟิศ รถเสีย..มาหาหน่อย”
ปาล์มยกตัวอย่าง ราวกับเรื่องพวกนี้เพิ่งเกิดขึ้นกับตัวเขาเองเมื่อไม่นาน ก่อนจะอ้างไปถึงบรรดาผู้ชายที่ใช้มือถือรุมถ่ายภาพบรรดาพริตตี้สาวด้วยอาการเลือดกำเดาแทบไหล และบรรดาสาวๆที่นำภาพ คิกขุ แอ๊บแบ้ว ของตัวเองไปโพสต์ตาม HI 5 อินเตอร์เน็ต ตลอดจนนิตยสารวัยรุ่นมากมาย สิ่งเหล่านี้ถ้ามองลึกลงไป มันเป็นมากกว่าความสนุกสนานที่เกิดขึ้นท่ามกลางยุคของเทคโนโลยีอันทันสมัย
“ก่อนหน้านี้ผมไปทำวิจัยกับบรรดาแม่เล้า และน้องๆที่เขาทำงานอาชีพขายบริการ ถามเขาว่าทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร มันได้อะไร ได้คำตอบมาหลายอย่าง ส่วนมากตอบว่า อยากได้ตังค์ไปใช้ ไปเที่ยวส่วนตัว ส่วนน้อยที่จะนำเงินไปใช้เพื่อการเรียน ค่าใช้จ่าย และเมื่อเสียตัวไปแล้ว จะเสียอีกทีจะเป็นไร”
ผู้หญิงในภาพของเขาส่วนใหญ่ทำตาโตบ้องแบ๊ว ส่วนผู้ชายนั้นมีอุปกรณ์ปิดปาก สื่อถึงผู้หญิงที่ไม่แสดงตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ขณะที่ผู้ชายก็ไม่ได้เปิดพูดความจริง
เมื่องานเล่าเรื่องของการตะลบตะแลงทั้งสองฝ่าย สีสันของภาพที่ออกมาจึงดูใสปิ้งเกินจริง เหมือนเป็นภาพของการ์ตูนมากกว่าจะภาพของมนุษย์ที่มีชีวิต
“งานของผมมันเป็นแค่ประโยคบอกเล่าเฉยๆ เหมือนเรามานั่งกินเหล้ากันแล้วก็ คนก็คุยกันว่า เฮ้ย ..น้องคนนี้น่ารักมากๆ ขายนะโว้ย จริงเหรอ ไม่น่าเลย ถ้าเป็นมึง มึงเอาไม๊ ไม่ได้มาชักชวนให้คนมาช่วยกัน ดูแลสังคมให้มันดีขึ้น แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ผมว่าไอ้สิ่งเหล่านี้ มันไม่หายไปจากโลกหรอก อยากให้ดูกันขำๆ ถ้าดูแล้วกระทบใจ หนูจะไม่ขายตัวอีกแล้ว ก็โชคดีไป”
ก่อนที่งานเพลงชุดล่าสุดจะวางแผง หนุ่มปาล์มขอโหมโรงด้วยการเชิญบรรดาแฟนคลับ ไปชมภาพเขียนฝีมือเขา ที่นำมาจัดแสดง ระหว่างวันนี้ – 10 สิงหาคม พ.ศ.2551 ณ หอศิลป์เที่ยว +น้ำฟ้า ชั้น 3 อาคาร เดอะสีลม แกลเลอเรีย สอบถาม โทร.0 - 2237 5568